4 ลูกเรือประมง เดินทางกลับถึงไทย หลังถูก 'ลอยแพ' ทิ้งไว้มาเลเซียนาน 6 ปี

4 ลูกเรือประมงชาวไทยถูกเจ้าของเรือ 'ลอยแพ' ทิ้งไว้มาเลเซียนาน 6 ปี เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว โดยความช่วยเหลือของ LPN หลังปี 2558 รัฐบาลไทยใช้มาตรการเข้มงวดเรือประมงไทย ทำให้เจ้าของเรือที่ไปหาปลาในมาเลเซียยอมทิ้งเรือ เพราะไม่อยากยุ่งยากกับกระบวนการทางกฎหมายใหม่ ลูกเรือจึงเริ่มถูกลอยแพตามไปด้วย

25 มิ.ย. 2565 สำนักข่าวเบนาร์นิวส์ (Benar news) รายงานว่า ลูกเรือประมงชาวไทย 4 คน ถูกลอยแพไว้ที่เกาะบอร์เนียว รัฐซาราวัก ของมาเลเซีย กลับถึงไทยแล้วในเช้าวันนี้ (25 มิ.ย. 2565) หลังมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network : LPN) ให้ความช่วยเหลือตลอด 4 เดือน

บอย ทรงทรัพย์ หนึ่งในลูกเรือที่ได้รับการช่วยเหลือกลับ เล่าว่า ตนเองและเพื่อนเดือดร้อน เพราะถูกให้ไปทำงานบนเรือประมง แต่ไม่ได้ค่าแรง แล้วยังถูกลอยแพไว้บนเกาะ

บอย เล่าว่า ในปี 2558 รัฐบาลไทยใช้มาตรการเข้มงวดกับเรือประมงไทย เจ้าของเรือไทยหลายคนที่ไปหาปลาในมาเลเซียได้เริ่มทิ้งเรือให้พังเสียหาย เพราะไม่อยากยุ่งยากกับกระบวนการทางกฎหมายใหม่ และผลที่ตามมาคือ ลูกเรือแต่ละลำก็เริ่มถูกลอยแพ 

“ผมถูกทิ้งไว้ที่เมืองกูซิ่ง รัฐซาราวัก 6 ปีกว่า พอนายจ้างลอยแพ ทิ้งเรือ ต้องคอยเก็บของเก่าขายประทั่งชีวิต และไปอยู่ในตึกร้าง เพราะไม่มีเงินพอจะเช่าบ้าน”

อย่างไรก็ตาม บอยเคยมีประสบการณ์ถูกเรือประมงทิ้งมาก่อนแล้ว ครั้งที่ไปทำงานที่อินโดนิเซีย และเคยได้รับ LPN ช่วยเหลือ บอยจึงรู้ว่าควรติดต่อ LPN อีกครั้ง

“ผมก็คิดว่า ไปทำงานเป็นลูกเรือที่มาเลเซียจะไม่เหมือนกับที่อินโดนีเซีย แต่สุดท้ายก็โดนทิ้งเหมือนเดิม เราไปอยู่ที่นั้นก็ตั้งใจไปหาเงิน แต่กลับโดนทิ้ง ครอบครัวผมก็แย่ เพราะไม่ได้ส่งเงินกลับไปให้เลย” บอย กล่าว

 

 

บอย ระบุว่า เหตุผลที่เจ้าของเรือทิ้งลูกเรือน่าจะเพราะหากกลับไทยเจ้าของเรือในฐานะนายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนที่ค้างไว้ให้ลูกเรือทั้งหมด เรือแต่ละลำมีลูกเรืออย่างน้อย 10 คน ถ้าทำงาน 1 ปี จ่ายเงินเดือนคนละ 1 หมื่นบาท เท่ากับว่า เจ้าของเรือหนึ่งลำต้องจ่ายค่าจ้างลูกเรือทั้งหมด 1.2 ล้านบาทต่อลำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายหนี้ค่าจ้างเจ้าของเรือจึงใช้วิธีทิ้งลูกเรือไว้ที่มาเลเซีย

 

สำหรับลูกเรือทั้ง 4 คนที่ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ประกอบด้วย ชาวนครราชสีมา, นครพนม กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยหลังถึงประเทศไทยลูกเรือทั้งหมดต้องเข้าไปให้ปากคำที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ LPN จะดำเนินการส่งลูกเรือทุกคนกลับภูมิลำเนา

ปฏิมา ตั้งประเสริฐกุล ผู้อำนวยการ LPN กล่าวว่า การช่วยเหลือลูกเรือครั้งนี้ LPN ทำงานร่วมกับองค์กร Nadine Tenaganita ของกัวลาลัมเปอร์ และ Sarawak Dayak Iban Association รัฐซาราวัก ซึ่งที่ผ่านมาเป็นหน่วยงานที่ช่วยเรื่องอาหารและที่พักสำหรับลูกเรือไทย

 

“การช่วยเหลือกลับมาครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ ที่เป็นการดำเนินงานจากภาครัฐ เพราะถ้าหากภาครัฐของมาเลเซียดำเนินการเองจะเป็นการผลักดันกลับในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องรับโทษจำคุกก่อนอย่างน้อย 3 เดือนและปรับจากการ Overstay อีกกว่า 4,000 บาท แต่เราช่วยเพื่อนำเข้ากระบวนการแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ทำให้เมื่อกลับเข้ามาในไทยลูกเรือจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไทยตามกฎหมายอย่างเหมาะสม” ปฏิมา กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท