มองปัญหาผู้ลี้ภัยในไทย-ปลุก ปชช.ตื่นตัวและรณรงค์ทางการเมือง เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย

เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก เมื่อ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า ร่วมกับหลายองค์กร จัดงานเสวนา “วิกฤตที่มองไม่เห็น : สถานการณ์ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมาร์ หลังรัฐประหาร” อัปเดตสถานการณ์การจัดการผู้ลี้ภัยเมือง และชายแดน พร้อมชวนประชาชนให้ความสำคัญกับการรณรงค์ทางการเมือง อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้ลี้ภัย

  • Fortify Rights อัปเดตสถานการณ์ปัญหาผู้ลี้ภัยชายแดนตะวันตก ติดกับเมียนมา เผยรัฐไทยไม่มีระบบการคัดกรองผู้ลี้ภัย และมีการพยายามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง
  • ศักดิ์ดา แก้วบัวดี เผยปัญหาชะตาชีวิตของผู้ลี้ภัยเมือง การยื่นเรื่องไปประเทศที่ 3 และสภาพห้องกัก ตม. อันย่ำแย่ 
  • การแก้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย สามารถเริ่มได้จากการมองว่า ‘คนเท่ากัน’ และทุกคนควรสิทธิได้รับการช่วยเหลือโดยไม่แบ่งแยก  
  • ธนาธร ปลุกประชาชนให้ตื่นตัวและรณรงค์ทางการเมือง จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านผู้ลี้ภัย และอื่นๆ 

 

เมื่อ 20 มิ.ย.ประจำทุกปี ถือเป็นวันผู้ลี้ภัยโลก คณะก้าวหน้า ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านผู้ลี้ภัย ได้แก่ Fortify Rights, องค์กรสมาชิกอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) และสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา และนิทรรศการภาพ “วิกฤตที่มองไม่เห็น : สถานการณ์ผู้หนีภัยชายแดนไทย-เมียนมาร์ หลังรัฐประหาร” ณ ตึกกิจกรรมสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ภายในงานมีการร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ล่าสุดของผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร และการรณรงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายผู้ลี้ภัยของรัฐไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้ราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสากล องค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ปี 64 กรกนก วัฒนภูมิ จาก Fortify Rights และมี พรรณานิการ์ วานิช จากคณะก้าวหน้า เป็นพิธีกรดำเนินรายการ 

วงเสวนาวันผู้ลี้ภัยโลก

ปัญหาผู้ลี้ภัยทั่วโลกยังรุนแรง 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า แม้โลกจะก้าวมาสู่ศตวรรษที่ 21 แต่สถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเพียงเพราะความแตกต่างด้านความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ และสีผิว ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก บ่อยครั้งผู้ลี้ภัยต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงถึงชีวิต ทั้งจากการเดินทางและจากการปฏิบัติของรัฐ เช่น ในกรณีของโรฮีนจา ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์โดยเจ้าหน้าที่กองทัพเอง และการสร้างความเกลียดชังอย่างเป็นระบบโดยรัฐไทย ที่ทำให้คนไทยจำนวนมากนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮีนจา ที่ต้องถูกฆ่านำไปฝัง หรือปล่อยทิ้งกลางทะเล หากไม่มีเงินจ่ายให้เจ้าหน้าที่ 

ธนาธร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ลี้ภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เห็นว่าโลกนี้ยังมีความหวัง เมื่อบรรดารัฐบาล รวมทั้งพลเมืองของประเทศต่างๆ ในยุโรป ต่างกางแขนต้อนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนและให้สถานะแก่พวกเขา ซึ่งขณะที่คนไทยหลายคนชื่นชมยินดีเรื่องราวนี้ แต่กลับไม่มีใครรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่พรมแดนฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ที่หลังการรัฐประหารในเมียนมา และการปะทะสู้รบ การโจมตีทางอากาศ ทำให้เกิดคลื่นผู้หนีภัยที่พยายามข้ามพรมแดนหาที่พักพิงชั่วคราวจำนวนมาก และสิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเขาเหล่านั้นถูกผลักดันกลับไป การช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากนโยบายเกี่ยวกับผู้หนีภัยอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขณะนี้มีคนที่อาศัยพักพิงอยู่ตามพรมแดน ในเขตป่าตามเขาริมแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินตามยถากรรม เข้าไม่ถึงอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค โดยเมื่อต้นเดือน องค์กรสหประชาชาติสำรวจพบว่าผู้หนีภัยจากสถานการณ์ในเมียนมา มีจำนวนถึง 1.038 ล้านคน อพยพไปต่างประเทศกว่า 980,000 คน โดยในจำนวนนั้นอยู่ในประเทศไทยถึง 96,000 คน

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

"ในฐานะคนธรรมดา เราสามารถช่วยเหลือผู้หนีภัยเหล่านี้ได้ ตั้งแต่การบริจาคบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการรณรงค์ทางการเมือง ให้ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบาย รวมทั้งการรณรงค์เพื่อปกป้องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ เพราะสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ รวมถึงสถานการณ์ผู้หนีภัยในขณะนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย

“ดังที่ มินอ่องหล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หากนายกรัฐมนตรีไทยไม่ใช่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะมินอ่องหล่าย เชื่อว่าประยุทธ์จะให้การสนับสนุนและจะมีนโยบายในการผลักดันผู้ลี้ภัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นไปได้คือพลังของสังคม อย่าเชื่อว่าเราคนเดียวทำอะไรไม่ได้ การช่วยกันรณรงค์สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลได้ เราอยากเห็นประเทศไทยที่ไม่สนใจโลก เอาแต่ตัวเราเองรอดก็เพียงพอ หรือเราอยากเห็นปะเทศไทยที่คำว่าโอบอ้อมอารีไม่ใช่เป็นแค่คำขวัญ แต่เป็นการปฏิบัติจริงด้วย” ธนาธร กล่าว

การกดดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย

กรกนก วัฒนภูมิ สมาชิกองค์กรภาคประชาสังคม “Fortify Rights” กล่าวถึงปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่ผ่านมามีหลายประเด็น โดยเฉพาะการผลักดันผู้ลี้ภัยจากเมียนมากลับประเทศต้นทาง ทั้งที่สถานการณ์ยังมีการปะทะ และปัญหาการไร้ระบบคัดกรองผู้ลี้ภัย ทำให้ชาวเมียนมาทุกคนถูกเหมารวมเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2564-ต้นปี 2565 กองทัพพม่าใช้การโจมตีทางอากาศบริเวณเมืองเลเกะก่อ ทางทิศใต้ของเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้มีประชาชนเมียนมาหนีภัยสงครามข้ามแม่น้ำเมย มาฝั่งไทยจำนวนมาก โดยตัวเลขอาจสูงถึง 5,000 คน โดยฝ่ายความมั่นคงของไทยจะพาผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว 'คอกวัวเมยโค้ง'

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบคือการดูแลผู้ลี้ภัยที่คอกวัวฯ เป็นไปอย่างย่ำแย่ พบปัญหาอาหารบูด ห้องน้ำไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการถูกลูกหลงจากกระสุนปืนใหญ่ เพราะอยู่ใกล้ชายแดนฝั่งพม่า 

กรกนก วัฒนภูมิ จาก Fortify Rights

ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐไทยมักแถลงต่อสื่อว่าผู้ลี้ภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวมีการเดินทางกลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจจนหมด แต่สมาชิก Fortify Rights ตั้งข้อกังขาต่อคำว่า 'การเดินทางกลับโดยสมัครใจ' ที่รัฐแถลง ผู้ลี้ภัยหลายคนอาจถูกกดดันกลับประเทศต้นทาง แม้ว่าจะมีการปะทะด้วยอาวุธสงครามในพื้นที่ เมื่อถูกผลักดันกลับ แต่ไม่สามารถกลับไปอาศัยถิ่นฐานเดิมได้ ทำให้ประชาชนเลือกตั้งแคมป์ที่พื้นที่ 'No Man Land' ริมแม่น้ำเมย 

ก่อนหน้านี้ ประชาชนที่อาศัยริมลำน้ำเมย ต้องประสบความขาดแคลนทั้งน้ำ อาหาร และยา ซึ่งได้ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมในไทยส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามแดนให้ โดยจะนำของมาวางริมแม่น้ำเมยฝั่งไทย และผู้พลัดถิ่นภายในจะเดินข้ามมารับของ และนำไปแจกจ่ายภายในค่าย   

อย่างไรก็ตาม พบว่าช่วงหน้าฝนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเมยสูงขึ้น การเดินข้ามมาเอาเสบียง และความช่วยเหลือ เป็นไปด้วยความยากลำบากจนแทบเป็นไปไม่ได้ ทำให้สถานการณ์ของพวกเขาอาจประสบปัญหาขาดแคลนของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 

ขณะที่พรรณิการ์ กล่าวเสริมว่า องค์กรระหว่างประเทศบริเวณชายแดนมีงบประมาณพร้อมที่จะส่งความช่วยเหลือข้ามแดน แต่ติดตรงที่ฝ่ายความมั่นคงไม่อนุญาต โดยไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด

นอกจากพื้นที่ จ.ตาก สมาชิก Fortify Rights เล่าปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-เมียนมา ฝั่งบ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา หลังทำรัฐประหารไม่กี่เดือน กองทัพพม่าตอบโต้กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA โดยการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดบริเวณพื้นที่กองพล 5 ของ KNLA ส่งผลให้มีชาวบ้านอพยพใช้เรือข้ามแม่น้ำสาละวิน มาตะเข็บชายแดนฝั่งไทย แต่ชาวบ้านอยู่ได้ 2-3 วัน พอเสียงปืนเงียบ ฝ่ายความมั่นคงไทยจะผลักดันกลับไปทันที ทำให้ชาวบ้านพม่าเลือกอาศัยริมแม่น้ำสาละวินแทน เนื่องจากไม่สามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ และหวั่นเกรงการทิ้งระเบิดของกองทัพพม่า

ความไร้ระบบจัดการผู้ลี้ภัย

ขณะที่ปัญหาของผู้ลี้ภัยในเมือง กรกนก ระบุว่าก็พบเจอปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ อย่างเช่น กรณีของแม่สอดเมื่อช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าว AP ของต่างประเทศ รายงานว่าตำรวจไทยมีการเก็บส่วยที่เรียกว่า “บัตรตำรวจ” โดยให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการอยู่ในดินแดนไทย ต้องจ่ายเงินให้กับตำรวจ ราคา 350 บาทต่อเดือน และจะได้บัตร เพื่อยืนยันว่าได้จ่ายเงินกับตำรวจแล้ว 

นอกจากที่แม่สอด Fortify Rights ยังพบปัญหาเรื่องการจัดการผู้ลี้ภัยในจังหวัดตะเข็บชายแดนอื่นๆ เช่น กาญจนบุรี ระนอง และเชียงราย 

กรกนก ยกกรณีเชียงรายมาพูดคุยว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยเข้ามาเยอะขึ้นโดยมีทั้งนักการเมือง ผู้ถูกออกหมายจับจากกองทัพพม่า และอื่นๆ แต่ก็มีเหตุแจ้งเข้ามาว่า มีผู้ลี้ภัยถูกจับกุมจำนวนเยอะขึ้น โดยข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย 

สมาชิก Fortify Rights ระบุว่า ระบบที่เชียงราย ผู้ถูกจับจะถูกพาตัวไปที่ห้องกักของตำรวจตระเวนชายแดน และรอผลักดันกลับประเทศต้นทางเมื่อด่านชายแดนกลับมาเปิดหลังจากช่วงโควิด-19 แต่ในระหว่างที่รอด่าน จำนวนชาวพม่าที่ถูกกัก และรอผลักดันกลับก็มีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องจนล้น

แม้ว่าผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมจะสามารถได้รับการประกันตัวได้ แต่เงื่อนไขก็เป็นไปโดยยาก เนื่องจากกฎหมายไทยกำหนดว่า ต้องมีนายประกันเป็นคนไทยจำนวน 1 ราย และต้องจ่ายเงินอีก 5 หมื่นบาทตามใบเสร็จ เพื่อเป็นค่าประกันตัว ซึ่งปัญหาลักษณะนี้กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดอื่นๆ ที่จะมีอาณาเขตติดกับประเทศเมียนมา 

กรกนก มองปัญหาการจัดการผู้ลี้ภัยของรัฐไทยว่า ‘ติดกระดุมผิดเม็ดแรก’ เนื่องจากไทยไม่เคยยอมรับสถานะผู้ลี้ภัย ส่งผลให้ชาวพม่าที่หนีการประหัตประหารจากกองทัพพม่าเข้ามาในไทยมีสถานะ ‘ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย’ และเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเอาเปรียบ 

กรกนก มองด้วยว่า การจัดการผู้ลี้ภัยของไทยยังเต็มไปด้วยความไร้ระบบ แต่ละจังหวัดมีการจัดการที่ต่างกัน และไม่มีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าใดนัก 
 
“รัฐไม่มีกระบวนการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ แต่ละจังหวัดดำเนินการไม่เหมือนกัน ไม่มีระบบที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยประหัตประหารสามารถบอกเล่าปัญหาสภาพความเป็นจริงของชีวิตเขาได้ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมันถูกซุกอยู่ใต้พรม และมีอุปสรรคอย่างมากในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม …ไม่มีการคัดกรองว่าคนนี้เป็นผู้ลี้ภัย หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ ทุกคนถูกเหมารวมว่าเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” 

“เขาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็จริง แต่เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัย เขาไม่ได้ตั้งใจผิดกฎหมายคนเข้าเมือง เขาหนีภัยประหัตประหารความตาย เขาก็จะทำยังไง พอดีมีการเปิดลงทะเบียนแรงงาน เขาเป็นคนเมียนมา ก็เลยไปลงทะเบียนเป็นแรงงานข้ามชาติแทน เลยเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่ผสมทั้งแรงงานและผู้ลี้ภัย จริงๆ มันควรมีระบบที่ชี้แจงว่าเขาเป็นผู้ลี้ภัย เพราะถ้าเป็นผู้ลี้ภัยจะมีหลักการห้ามส่งกลับ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญ” กรกนก กล่าว 

ชะตาชีวิตผู้ลี้ภัยเมือง

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดง และผู้มีส่วนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยเมืองที่เข้ามาในไทยมีประมาณมากกว่า 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวปากีสถาน ซึ่งลี้ภัยเข้ามา เพราะปัญหาการกีดกันทางศาสนา 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้านับถือศาสนาคริสต์ในปากีฯ เขาจะถูกตามฆ่า และทำร้ายร่างกาย และรองลงมา เป็นชาวม้ง จากเวียดนาม ซึ่งถ้าทางการเจอหรือพบเห็น เขาจะถูกฆาตกรรมด้วยเช่นกัน

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดง และผู้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

แรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาเดินทางมาที่ไทย เพราะได้ยินข่าวว่า สำนักงาน 'ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ' (UNHCR) ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และตั้งใจจะทำเรื่อง เพื่อไปประเทศที่ 3  

ศักดา ระบุว่า กระบวนการการขอไปประเทศที่ 3 กับทาง UNHCR จะสามารถขอได้ 2 ครั้ง แต่ถ้าถูกปฏิเสธทั้ง 2 ครั้ง ผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถไปที่ประเทศที่ 3 ได้อีกต่อไป หรือเรียกว่า 'เคสโดนปิด' ซึ่ง 99% จะถูกปฏิเสธ 

ถ้ากรณีที่โดน UNHCR ปฏิเสธ ส่วนใหญ่มีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง คือใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ และหาประเทศที่ 3 ไปให้ได้ แต่ต้องให้ UNHCR ช่วย กลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง หรือถูกคุมขังสถานกักขังที่มีสภาพเลวร้ายตลอดชีวิต 

"สภาพความเป็นอยู่ใน ตม. ไม่เหมือนคุกไทย เข้าไปเยี่ยมได้ …เหมือนโรงเชือด เอาไว้ขังหมา ห้องหนึ่งออกแบบอยู่ได้ประมาณ 70-80 คน ที่นั่นมีหลายห้องมาก บางห้องอยู่เป็น 100 คนก็มี มันไม่มีที่ให้นอน ถ้ามีคนลุกเข้าไปขี้ไปเยี่ยว คนอื่นก็ไปนอนแทน คือสภาพมันเป็นแบบนี้จริงๆ เราแค่ไปโดนขังสัปดาห์เดียวมันแทบจะทนไม่ไหวแล้ว บางคนอยู่ในนั้นหลายปี บางคนตายอยู่ในนั้นเลยก็มี ตายต่อหน้าต่อตากัน" ศักดา กล่าวเพิ่ม

ศักดิ์ดา ระบุว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ชีวิตผู้ลี้ภัยในสถานกัก ตม. ประสบปัญหามากขึ้น เนื่องจากมีการปิดไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาเยี่ยมได้เลย 

"ปกติเวลาเข้าไปเยี่ยมเราสามารถถือน้ำ ถืออาหารอะไรเข้าไปเยี่ยมเขาได้ อย่างที่เมื่อกี้คุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) บอก คือ ข้าวแตงกวา โครงไก่ อันนี้ไม่ใช่พูดเอาสนุก หรือพูดเล่น ทุกคนที่ผมเข้าไปเยี่ยมคือบอกว่า คุณโต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ช่วยเอาอาหารอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับแตงกวาได้ไหม เขาไม่สามารถกินอะไรอย่างนี้ได้แล้ว บางคนเป็นโรคขาดสารอาหารเสียชีวิตข้างในก็มี และเยี่ยมไม่ได้แล้วช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งอาหารจากข้างนอกก็เข้าไปข้างในไม่ได้" ศักดิ์ดา กล่าวเพิ่ม

ดันผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานข้ามชาติ?

หนทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยความไม่สงบ คือ นำพวกเขามาเป็นกำลังแรงงานและหัวสมองเพื่อพัฒนาประเทศไทย ซึ่งธนาธร กล่าวว่า การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยให้เขามาเป็นแรงงานข้ามชาตินั้นสามารถเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารประเทศเท่านั้น พร้อมยกกรณีที่อนาคตใหม่ เคยเข้าไปช่วยให้คนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง ที่อยู่ไทยมาหลาย 10 ปี ไม่เคยได้บัตรประชาชน หรือสัญชาติ กระทั่งอนาคตใหม่ไปตามเรื่องนี้ให้ และพวกเขาก็ได้บัตร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะคำนึงถึงจริงๆ 

“มันขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะบอกว่าเรื่องนี้มันสำคัญต้องทำ เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ เราต้องทำ นี่คือสิ่งที่ขาด สำหรับการเมืองไทย” ธนาธร กล่าว 

ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน

‘ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน’ หรือ ‘ไม่เอาไปเลี้ยงเองที่บ้าน’ นี่เป็นคอมเมนต์ที่คุ้นเคยเวลาพูดถึงประเด็นเรื่องการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ ระบุว่า กองสิทธิมนุษยชนสากล องค์การบริหารนิสิต จุฬาฯ เคยโดนปรามาสบ่อยเหมือนกันถึงเรื่องนี้ว่าทำไมไม่เอาเวลาไปช่วยคนในประเทศ แต่เขามองว่าการช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องของการคำนึงว่านี่เป็นเรื่องใกล้หรือไกลตัว แต่เป็นเรื่องผลลัพธ์มากกว่า

“คนข้างนอก คนข้างใน คนอะไรไม่สำคัญ ลงเงินไปแล้ว มันจะช่วยเขาได้มากที่สุด effective ได้มากที่สุดกับชีวิตเขา อันนั้นคือจุดที่เราต้องช่วย” เสฏฐนันท์ ระบุ

เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสากล องค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ ปี 64

ศักดิ์ดา ระบุว่า ตอนที่เขาเริ่มโพสต์เรื่องราวของผู้ลี้ภัย หรือขอความช่วยเหลือ ก็จะมีคนเข้ามาคอมเมนต์ต่อว่า ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ตอนแรกเขากะไม่ตอบอะไร เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้ลี้ภัย แต่พอนานวันเข้า เจอคำถามเดิมๆ ก็เลยตอบคำถามกลับไป

“คำถามนี้ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ไปช่วยใครก็ไม่รู้...ผมช่วยเพราะเขาไม่ใช่คนประเทศนั้น ประเทศนี้ เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมนุษย์คนหนึ่งมีสิทธิ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือเท่าเทียมกันทุกคน” ศักดิ์ดา กล่าว 

พรรณิการ์ ระบุว่า อาจไม่ต้องคิดเรื่องว่าทำไมต้องช่วยใคร ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกล แต่ถ้ามองเห็นว่า คนเท่ากัน และมองทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องถามว่าทำไมต้องช่วย 

พรรณิการ์ วานิช จากคณะก้าวหน้า

การติดตามและรณรงค์ทางการเมือง จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้ลี้ภัย

ด้านธนาธร กล่าวปิดงานโดยย้ำว่า การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจะเกิดขึ้นมาได้ หากประชาชนทุกคนเริ่มให้ความสนใจการเมือง และเริ่มรณรงค์ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม และจะส่งผลต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่

ประธานคณะก้าวไกล ระบุว่าอย่าไปยุ่งการเมือง เหตุผลเดียวที่คนพูดแบบนี้คือคนที่มีอำนาจอยู่ และเขาไม่ต้องการแบ่งอำนาจให้คนอื่น เขาไม่ต้องการให้คนเข้าใจเรื่องที่มาของอำนาจ เพราะเขาไม่ต้องการแบ่งผลประโยชน์ให้ประชาชน แต่ถ้าคุณเริ่มสนใจการเมืองเมื่อไร คุณติดตามการเมืองเมื่อไร คูณเริ่มรณรงค์เรื่องการเมืองเมื่อไร มันจะเปลี่ยนไป

ธนาธร กล่าวว่า อย่าเชื่อว่าประชาชนไม่มีพลัง อย่าเชื่อว่าไม่มีความหมาย การรณรงค์ทางการเมือง การสร้างความตระหนักรู้ เพื่อมาต่อสู้กับการเพิกเฉยในสังคมไทย การรณรงค์ทางการเมืองคือ การพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ กับคนใหม่ๆ คุณพูดเรื่องนี้วันหนึ่งอาจมีคนเข้าใจประเด็นปัญหาเพิ่มอีก 10 คน คุณพูดเรื่องนี้อีกวัน จะทำให้คุณเข้าใจประเด็นปัญหาเพิ่ม อีก 10 คนไปพูดต่อ อีก 10 คนไปพูดต่อ กลายเป็น 50 คน นี่คือความหมายของการรณรงค์ คุณทำสิ่งเดิมๆ เรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้คนเกิดความตระหนักรู้

“อย่าหลงลืมความสำคัญของการรณรงค์ อย่าลืมความใส่ใจทางการเมือง เพื่อปกป้องไม่ให้ความไม่เป็นธรรมมันเกิดซ้ำเกิดซากในสังคมนี้อีก” ธนาธร กล่าวทิ้งท้าย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท