Skip to main content
sharethis

กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ วางแนวทางผู้ธุรกิจกัญชาหากเป็นนิติบุคคลต้องมีคนไทยถือหุ้น 2 ใน 3 มี สนง.ในไทย ป้องกันการกีดกันการทำธุรกิจกัญชาของประชาชน - สวนดุสิตโพลเผยคนค่อนข้างกังวัลเรื่องปลดล็อกกัญชา และกว่าครึ่งมองว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี - กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาชายแดนสั่งใช้กฎหมายลงโทษหนักสุด


แฟ้มภาพกรมวิชาการเกษตร

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายปานเทพ  พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง ผลการประชุมของ กมธ. ว่า ที่ประชุม กมธ.มีความห่วงใยในเรื่องของการเข้าถึงกัญชาของเด็กและเยาวชน โดยจะวางแนวทางร่างกฎหมายมุ่งให้การคุ้มครองเยาวชน พร้อมฝากขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในระหว่างการรวบรวมผลกระทบทั้งทางด้านบวกและข้อควรระวังต่างๆ จำเป็นจะต้องอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง อาทิ กรณีที่มีผู้เสียชีวิตและมีการนำเสนอข่าวว่าสาเหตุมาจากกัญชา แต่เมื่อตรวจสอบผลเลือดแล้วไม่พบสาร THC ซึ่งเป็นสารที่มาจากกัญชา หรือ การอาศัยช่วงสุญญากาศขณะนี้กล่าวโทษกัญชา เพราะเห็นว่าจะไม่เป็นยาเสพติด ทั้งที่มีการเสพยาชนิดอื่น อาจจะทำให้การนำเสนอข่าวนั้นได้ถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง จึงจำเป็นจะต้องช่วยกันตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนมีความเข้าใจ นอกจากนี้ กมธ.ยังได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมาให้ข้อมูลก่อนแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ว่าไทยจะมีวิธีการดูแลเรื่องปัญหายาเสพติด รวมถึงมาตรการปลดล็อกกัญชา อย่างไร ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่า จะใช้รูปแบบในต่างประเทศในการดูแลประชาชนในการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบทไทย
            
นายปานเทพ กล่าวว่า กมธ. ยังได้พิจารณาสาระสำคัญและเห็นพ้องกันในการบรรจุคุณสมบัติผู้ขออนุญาตในการทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ไม่ว่าจะเป็นจำหน่ายผลิตนำเข้า ส่งออก ขาย โดยเบื้องต้นกำหนดว่า บุคคลธรรมดาทั่วไป ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกคดีความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ยกเว้นมีบทเฉพาะกาลให้ไว้เกี่ยวกับความผิดกัญชา กัญชงและกระท่อมในอดีต และยังเปิดช่องให้กับผู้เคยเสพยาเสพติดหรือกระทำความผิดได้กลับมาเป็นพลเมืองดี หากพ้นโทษแล้ว 3 ปี สามารถมาประกอบธุรกิจกัญชาได้ สำหรับนิติบุคคลมีลักษณะคล้ายกับหลักการของบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่ผู้แทนนิติบุคคลจะต้องเป็นคนไทย คือ มีสัญชาติไทย และกรรมการนิติบุคคล หรือ ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 จะต้องมีสัญชาติไทยและมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ส่วนกรณีวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล ก็สามารถเป็นผู้ขออนุญาตได้เช่นเดียวกัน หรือ กรณีของหน่วยงานรัฐก็ได้ ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันการกีดกันการทำธุรกิจกัญชา ต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์ เข้าถึงง่าย ไม่ได้เอื้อต่อเครือข่ายธุรกิจนายทุน แต่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม

สวนดุสิตโพลเผยคนค่อนข้างกังวัลเรื่องปลดล็อกกัญชา และกว่าครึ่งมองว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี

26 มิ.ย. 2565 นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่าสวนดุสิตโพลได้สํารวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จํานวน 2,390 คน (สํารวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2565 พบว่า หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ประชาชนรู้สึกค่อนข้างวิตกกังวล ร้อยละ 37.78 รองลงมาคือ วิตกกังวลมาก ร้อยละ 32.85 โดยมองว่าการปลดล็อกกัญชามีผลเสียมากกว่าร้อยละ 52.76 มองว่ามีผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน ร้อยละ 30.17 ผลดี คือ เป็นการใช้ประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ ร้อยละ 74.96 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 46.46 ส่วนความกังวล คือ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม ร้อยละ 84.58 เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง ร้อยละ 82.16 สิ่งที่ควรดําเนินการ ณ วันนี้ คือ จํากัดการใช้ โดยเฉพาะเยาวชน สถานศึกษาควรเป็นแหล่งปลอดกัญชา ร้อยละ 88.38 มีมาตรการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ ในอาหาร ร้อยละ 82.26 ทั้งนี้ประชาชนคิดว่าการปลดล็อกกัญชาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่นอน ร้อยละ 60.54

จากผลโพลประชาชนมีความกังวลใจต่อการปลดล็อกกัญชาและมองว่ามีผลเสียมากกว่าถึงแม้จะเป็นประโยชน์ทาง การแพทย์หรือช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนแรกของการปลดล็อกกัญชาจึงเห็น “สีสันของกัญชา” ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น แต่ผลที่ตามมากลับไม่เป็นตามคาด การตลาดเกี่ยวกับกัญชามีสะดุดเพราะความไม่พร้อมของแนวทางมาตรการรองรับ กอปรกับข่าวรายวันจึงทําให้หลายฝ่ายกังวลต่อผลเชิงลบมากกว่า ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่หลายฝ่ายจะมองว่าการปลดล็อกกัญชา ครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือหวังผลทางการเมือง

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพร บู๊ฮวด อาจารย์ประจําหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสําอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ได้มีผลบังคับใช้ ทําให้สารสกัดจากพืชกัญชาไม่ผิดกฎหมาย ส่งผลให้สามารถนําส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา มาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสําอาง สมุนไพร และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมทั้งยังมีการ นํามาใช้ทางด้านสันทนาการ โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ ขาดคนดูแล จะเข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ง่าย ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง มาตรการเร่งด่วนที่ต้องทําคือ การจํากัดการเข้าถึง ของเด็ก เยาวชน สถานศึกษารวมถึงพื้นที่โดยรอบ ต้องเป็นเขตปลอดกัญชา ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือจะทําเพื่อ CSR ต้องให้ความรู้อย่างครบถ้วนด้วยภาษาและสื่อที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม ต้องมีการทุ่มเทจริงจังที่จะเสริมสร้างพื้นฐานการรับรู้ด้วยสติสัมปชัญญะของผู้คนอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยมาตรฐานสินค้าและบริการที่ใช้ได้จริงไม่ยุ่งยาก ตอบสนองกับความท้าทายในการใช้กัญชาและนําไปสู่การเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทรงคุณค่าทั้งด้านนวัตกรรมการผลิตและด้านอรรถประโยชน์ในการบริโภค

กรมวิชาการเกษตรคุมเข้มลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาชายแดนสั่งใช้กฎหมายลงโทษหนักสุด

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าตอนนี้ ทราบว่าจังหวัดชายแดนมีการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา และต้นกล้ากัญชาเป็นจำนวนมาก และขายทั้งเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าอย่างแพร่หลาย  ทั้งที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศควบคุมนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชาและควบคุมป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์อย่างเข้มงวด ซึ่งได้รายงานให้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรและป้องกันไม่ให้มีแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นติดเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตามข้อสั่งการ ดังนี้

(1) ด่านตรวจพืชทุกด่านตรวจการนำเข้าเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชาอย่างเข้มงวด และให้อธิบดีสนับสนุนอัตรากำลัง เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อการป้องกันการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้าน “เป็นการเฉพาะกิจ”
(2) ให้บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชาอย่างรุนแรงและทันที ตามโทษสูงสุดที่กฎหมายทุกฉบับที่บังคับใช้อย่างจริงจัง
(3) ให้ประสานงานทุกหน่วยราชการสังกัดกระทรวงเกษตรในพื้นที่ให้ช่วยบูรณาการจัดการการลักลอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชา และอำนวยความสะดวกกับทุกหน่วยงานที่สนับสนุน
(4) ให้ขอความร่วมมือ สนับสนุนและปฏิบัติการร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ สตช. เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อป้องกันการลักลอบ และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้เป็นงานสำคัญเร่งด่วน
(5) ให้รายงานผลการปฏิบัติงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบทุกระยะ พรัอมกับขอให้พี่น้องสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อเป็นหูเป็นตาให้ทางราชการด้วย
(6) ประชาชนสามารถรายงานตรงเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ได้ที่สายด่วน 1174 หรือ เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุกจังหวัด

“การนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ส่วนการนำเข้าที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกักพืช  นำเข้า/นำผ่านโดยไม่มีใบอนุญาตนำเข้า  ไม่นำเข้า/นำผ่านทางด่านตรวจพืช  มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net