Skip to main content
sharethis

'ซูการ์โน มะทา' กมธ.การกระจายอำนาจฯ เสนอมหาดไทยให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แนะนำร่องภาคละ 1-2 จังหวัดก่อนได้แก่ 'เชียงใหม่-โคราช-ระยอง-ชลบุรี-ภูเก็ต-ยะลา' เพื่อลดกระแสตีกลับ - วงเสวนาหนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น - แถลงการณ์ ครป. 90 ปี ประชาธิปไตยไทย แนะกระจายอำนาจทางการเมือง การปกครองออกไปสู่ท้องที่ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 Thai PBS รายงานว่านายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาของกรรมาธิการว่า มีข้อเสนอไปยังรัฐบาล พร้อมระบุเป้าหมายของกรรมาธิการ ที่จะยกร่างกฎหมายจังหวัดจัดการตนเอง คาดว่ารายงานจะเสนอต่อที่ประชุมสภาฯทันสมัยประชุมนี้ ที่แนบร่างกฎหมายประกอบการพิจารณาด้วย

“สาระสำคัญ คือการเปิดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนำร่องภูมิภาคละ 1-2 จังหวัด โดยเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองให้ความสำคัญเรื่องการการจายอำนาจ ที่มีการปฏิรูปมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จาก เวียง-วัง-คลัง-นา เป็นระบบราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรรมาธิการเห็นว่ายังไม่ตอบโจทย์ประชาชน”

โดยกลุ่ม We are Votetor ได้เปิดแคมเปญเข้าชื่อในเว็บไซต์ที่มีคนร่วมสนับสนุน 55,557 คน ซึ่งมีข้อเสนอที่ตรงกับกรรมาธิการฯ ในการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการเอง ซึ่งกรรมาธิการยังจัดเวทีรับฟังความเห็น และต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเอง ซึ่งอ้างอิงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ว่าราชการที่มาจากระบบราชการส่วนภูมิภาคกับผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยเฉพาะ หลังการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

“โดยหลักการร่างฯ จังหวัดจัดการตนเอง ตามร่างที่เสนอ มากว่า 100 มาตรา ส่วนหนึ่งที่เสนอในบทเฉพาะกาล คือ ยกเลิกการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและให้เป็นการรวมอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและ นายก อบจ.เข้าด้วยกัน ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียว”

และหลังจากที่เชิญ นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการสำนักคณะกรรมการการกระจายอำนาจ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะตัวแทนกระทรวงมหาดไทย คาดว่า ผลสรุปคือสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ออกกฎหมาย และข้าราชการมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากทุกพรรคการเมืองยกร่างการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เชื่อว่าคนไทยจะมีโอกาสเลือกผู้ว่าราชการของตัวเอง

“ยอมรับว่า ห่วงกระแสตีกลับ หากมีการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว จึงเสนอแนะข้อสังเกตว่า ควรมีการนำร่องภูมิภาคละ1 จังหวัด ภาคเหนือที่ เชียงใหม่ ,ภาคอีสานอาจจะเป็น ขอนแก่น หรือ อุดรธานี หรือนครราชสีมา หรือที่ภาคใต้เป็นภูเก็ต หรือที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ส่วนข้อมูลที่กระทรวงมหาดไทยกังวล เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเลือกตั้ง จะกระทบกับความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ เชื่อมั่นว่าด้วยคุณวุฒิของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง

“แนวคิดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน แต่หากฝ่ายการเมืองให้ความเห็นชอบ ผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าข้าราชการก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม”
ประเทศไทยมีการปกครองแบบรัฐซ้อนรัฐมานาน การเสนอจังหวัดจัดการตนเองเป็นการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็กำหนดไว้

วงเสวนาหนุนเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2565 ว่าเครือข่ายภาคใต้มูฟออน และเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปลดพันธการ...เดินหน้า เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ” พร้อมเสวนา “ถอดรหัสผู้ว่าฯ กทม. สู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” โดยมี รศ.ดร.ประพาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. พรรคก้าวไกล นายจตุพร พรมพันธ์ อดีตผู้นำนักศึกษา (พฤษภา 35) และประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายสันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้ง We’re All Voters ร่วมเสวนา ในโอกาสเดียวกันนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ และนายปกรณ์ อารีกุล ผู้แทนคณะก้าวหน้า ยังได้เดินทางมาให้กำลังใจ และรับมอบ 5,000 รายชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ปลดล็อคท้องถิ่น” ด้วย ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีการผลักดันมานาน แต่ไม่สำเร็จ หรือเป็นการกระจายอำนาจที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เกิดจากปัญหา 2 ประการ คือ 1.ทัศนคติการปิดกั้นกดทับ และการผลิตซ้ำในทางมายาคติว่ากระจายอำนาจท้องถิ่นมีแต่เรื่องการทุจริต ความรุนแรง ไร้ประสิทธิภาพ ก่อปัญหามากกว่าแก้ปัญหา 2.ปัญหาโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้ไม่สามารถปลดล็อคการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เพราะกำหนดโครงสร้างรัฐของประเทศไทยให้มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ ต้องมีส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และระบุให้ผู้ว่าฯ ต้องสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหากไม่ปลดล็อคตรงนี้ ถึงจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็เกรงว่าจะเสมือนการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ยกระดับขึ้นมา สุดท้ายยังเป็นแขนขา มือไม้ของกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นจุดตั้งต้น ต้องปลดล็อคตรงนี้ก่อนไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งนี้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นตัวสะท้อนการเมืองภาพใหญ่ ทั้งความชอบธรรมในการเข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด รวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนด้วย

“ทั้ง 2 อย่างนี้ คือหัวใจหลักที่ทำให้การกระจายอำนาจไม่สามารถออกจากกรงขังได้ ขังสิทธิชุมชนท้องถิ่น ขังโอกาสท้องถิ่น ขังกระบวนการพัฒนาของท้องถิ่น ขังความเชื่อมต่อชุมชนกับรัฐและขังประชาชนเอาไว้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นความหวังของประชาชน” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

นายจตุพร กล่าวว่า การผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ มีมากว่า 30-40 ปี แล้ว แต่ไม่สำเร็จโดยส่วนกลางอ้างว่าถ้าประชาชนเลือกจะได้คนไม่ดี เสี่ยงแบ่งแยกดินแดน อำนาจตกในมือผู้มีอิทธิพล แต่แท้จริงเป็นการหวงอำนาจ ทั้งๆ ที่ควรจัดการให้การเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม เคารพความเห็นประชาชน ทั้งนี้กรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนให้เห็นว่า ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงจริง และรวดเร็ว เพราะทำงานไม่มีวันหยุด ต่างจากคนที่มาจากการแต่งตั้งตามระบบราชการ แม้กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรีเองที่ทำงานตามเวลา มีวันหยุด ในขณะที่ปัญหาของประชาชนไม่มีวันหยุด การพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้ประชาชนลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั้งประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นการเอาอำนาจมาจากกระทรวงมหาดไทย ต้องมีแรงต้านมากแน่นอน แต่หากประชาชนยืนหยัดสู้จริงๆ ฝ่ายการเมืองเอาจริง ทุกภาคส่วนเอาจริง เชื่อว่าสามารถทำได้ ประชาชน 76 จังหวัดควรมีความเท่าเทียมคนกทม. คนกทม.เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ทำไมคนต่างจังหวัดจะเลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้ เพราะเราต่างก็กินข้าวเหมือนกัน

“อย่ากลัวว่าถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วจะได้คนไม่ดี เพราะคนที่มาจากการแต่งตั้งก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป ขณะที่ผู้ปกครองที่มาจากประชาชนจะแคร์ความรู้สึกประชาชน แตกต่างจากการแต่งตั้ง ซึ่งไม่ต้องแคร์ใครเลย แคร์แค่เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาที่ให้คุณให้โทษเท่านั้น ท้ายที่สุดไม่ได้แคร์ประชาชน กรณีนายชัชชาติก็เป็นคำตอบแล้วว่าถ้าผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากคนที่มาจากการแต่งตั้งอย่างไร ซึ่งพิสูจน์โดยตัวมันเอง และใช้เวลาไม่นาน” นายจตุพร กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า ควรให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นสิทธิที่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีส่วนในการกำหนดยุทธศาสตร์เมืองร่วมกัน มองและจัดลำดับปัญหาร่วมกัน มีส่วนร่วมเลือกผู้มาแก้ปัญหาร่วมกัน มีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของคนที่เลือกมาร่วมกันด้วย หากสอบไม่ผ่าน อีก 4 ปีก็มาว่ากันใหม่ กำหนดอนาคตของเมืองอีกครั้ง นี่คือการขับเคลื่อนเมืองโดยไม่ต้องมานั่งทำเอกสารจำนวนมากแบบที่มีการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเก่า ไม่ได้ผล ทั้งนี้ กรณีที่มองว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งถูกข้าราชการประจำกดทับนั้นจริงๆ ไม่ใช่ อย่างปรากฏการณ์นายชัชชาติ เข้ามาไม่มีใครกดทับ เพราะมีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ และตนอยากแนะนำให้นายชัชชาติเร่งแก้ปัญหาที่แหลมคมอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโรงขยะอ่อนนุช เพราะประชาชนพร้อมเดินเคียงข้าง

สำหรับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ จะได้ยินการปล่อยวาทะกรรมด้อยค่านักการเมืองว่า นักการเมืองเลว เพื่อให้ประชาชนที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กอ่อน และลังเลในตัวคนที่เลือก แล้วทำให้อำนาจคนที่มาจากการแต่งตั้งทรงอิทธิพลกว่า อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้มองว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นคนไม่ดี เพราะคนดีๆ มี แต่ถึงมีคนดีประชาชนยังไม่มีสิทธิรั้งเอาไว้ หากผู้ว่าฯ ที่ดีแต่ไม่ตอบสนองอำนาจ ก็ถูกสั่งย้ายได้โดยที่ประชาชนไม่สามารถช่วยเป็นกำแพงให้ได้ จึงมีไม่น้อยที่ผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งเลือกตอบสนองต่ออำนาจ แล้วเมื่อทำอะไรให้ก็จะถือเป็นบุญคุณ ต่างจากผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง การทำอะไรต่างๆ ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ดังนั้นวันนี้หากมีแต่นักการเมืองขาดข้าราชการ ก็ทำงานไม่ได้ มีแต่ข้าราชการ ขาดนักการเมืองการบริหารก็ขาดทะเยอทะยานขาดการโอบรัดปัญหาประชาชน หมดเวลาทะเลาะกันแล้วมาร่วมกันทำงานดีกว่า

ด้าน นายสมโชติ มีชนะ ผู้ประสานงานเครือข่ายใต้มูฟออน กล่าวว่า เครือข่ายอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ให้ดีกว่าเดิมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม จึงหวังว่ากิจกรรมวันนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ 1.เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงความสำคัญในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้กับประชาชน 2.เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศและการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ3.กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันทุกจังหวัด ทั้งนี้เชื่อว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เป็นการเพิ่มอำนาจให้การปกครองท้องถิ่น จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการพัฒนาประเทศในท้ายที่สุด

แถลงการณ์ ครป. 90 ปี ประชาธิปไตยไทย แนะกระจายอำนาจทางการเมือง การปกครองออกไปสู่ท้องที่ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

26 มิ.ย. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ส่งแถลงการณ์ 90 ปีประชาธิปไตยไทยถึงสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาระบุว่าในโอกาสครบรอบ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และวันประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับแรกของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ครบรอบ 90 ปีที่ผ่านมานั้น

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และภาคพลเมืองไทยซึ่งได้รณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ และมุ่งเน้นการกระจายอำนาจเพื่อกำหนดอนาคตตนเองของประชาชน ประเทศไทยผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างเข้มข้น ภายใต้ความขัดแย้งภายในของคนไทยด้วยกัน และกอรปกับอุดมการณ์รัฐที่ผูกขาดผลประโยชน์ของชนชั้นนำ เราผ่านสงครามกลางเมืองมาหลายครั้ง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 อันนำมาซึ่งความสูญเสียของพี่น้องร่วมชาติและบาดแผลของแผ่นดินมาอย่างยาวนาน

90 ปีประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา ถือว่าเราได้เดินทางมาไกลมากแล้ว เหลือเพียงแต่หล่มอำนาจที่ประเทศไทยติดอยู่ไม่กี่ประการ ท่ามกลางผู้นำที่หลงระเริงในอำนาจแบบสามทรราชย์ในอดีตช่วงปี 2514 -2516 ระบอบ รสช. ช่วง 2534-2535 จนมาถึงยุคสมัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ที่พยายามจ    ะปกครองประเทศด้วยระบอบอำนาจนิยม โดยอาศัยกลุ่มพรรคพวกตนเองสร้างระบอบคณาธิปไตยในยุคใหม่ขึ้น โดยไม่ใส่ใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและความเป็นมาที่ประชาชนไทยต่อสู้เพื่อความเป็นไท มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยของไทยพัฒนาต่อเนื่องต่อไปสู่สังคมแห่งภราดรภาพและสมานฉันท์ บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขและเกิดความเป็นธรรมในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องปรับเปลี่ยนระบอบอำนาจนิยมในปัจจุบันไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนโดยการกระจายอำนาจทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การเงินการคลัง โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม มีการแบ่งปันเพื่อสังคมและใส่ใจในสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขความขัดแย้งโดยรวมที่เกิดขึ้นจากผู้นำจำนวนหนึ่งในกองทัพที่ยังคงหลงผิดที่ผ่านมา ดังนี้

1. ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย และนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชนพลเมืองไทย เพื่อสร้างกติกาประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างแท้จริง

ครป. หวังว่าสมาชิกวุฒิสภาและพรรคการเมืองจะตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้ และผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวาระเฉพาะหน้าโดยเร็ว ภายหลังที่มีประชาชนหลายหมื่นคนลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ เร็วๆ นี้ เพื่อปรับเปลี่ยนจาก "ระบอบประชาธิปไตยแบบผูกขาด" ไปสู่ "ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและสมบูรณ์" มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีมาจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริงดังเช่น รัฐธรรมนูญ 2540 

2. ต้องมีการกระจายอำนาจทางการเมือง การปกครองออกไปสู่ท้องที่ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจและการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดตั้งประชาธิปไตยทางตรงและสภาพลเมืองในแต่ละท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด หรือยุบเลิก โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่และมีอำนาจทั้งหมดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด

3. ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หยุดการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่และสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่ประเทศไทยดำรงอยู่ภายใต้รัฐบาลทุนนิยมประชารัฐ ถึงเวลาต้องประยุกต์และทบทวนองค์ความรู้การจัดการระบบเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นแบบสังคมรัฐสวัสดิการ แบบสังคมนิยม ฯลฯ ขึ้นมาปรับใช้ในสังคมไทยได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของ ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้หมายรวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องใส่ใจในด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อำนวยให้เกิดความยุติธรรมในทุกมิติ ตลอดจนหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข  การขนส่งสาธารณะ การติดต่อสื่อสาร การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

กล่าวสำหรับระบอบทุนนิยมเผด็จการพรรคการเมือง หรือทุนนิยมประชาธิปไตยที่กลุ่มทุนครอบงำพรรคการเมือง ก็ต้องทยอยแก้ไขไปเป็นพัฒนาการการปฏิรูปการเมือง พร้อมกับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดจากกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งที่ผ่านมามีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจากระบอบอุปถัมภ์ค้ำชู ระบบพรรคพวก เครือญาติ ความเอื้อประโยชน์ทางการเมืองจนนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนทางนโยบาย และการเอื้อกฎหมาย ในการผูกขาดสัมปทาน ต่ออายุสัมปทานหรืออาชญาบัตร หรือยกให้ ทำให้กลุ่มทุนใหญ่มีอำนาจเหนือการเมือง และควบคุม ครอบงำระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีภายในประเทศ จนคนกลุ่มน้อยเพียง 10% มีโภคทรัพย์รวมกันมากกว่า 67% ของประเทศที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ ยังผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล่ำที่สูงสุดในประวัติการณ์ สะท้อนถึงความไร้สมรรถภาพ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงขององค์กรรัฐ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net