ชัยชนะของพรรคฝ่ายซ้ายโคลอมเบีย หรือกระแส 'เลี้ยวซ้าย' กำลังจะเกิดในลาตินอเมริกาอีกครั้ง

ในช่วงปีนี้มีประเทศในลาตินอเมริกาหลายแห่งที่กลับมาสนับสนุนผู้นำฝ่ายซ้ายอีกครั้ง เช่น กรณีล่าสุดที่ 'กุสตาโว เปโตร' จากพรรคฝ่ายซ้ายโคลอมเบียชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอดีตผู้นำฝ่ายซ้ายบราซิลอย่าง 'ลูลา ดา ซิลวา' ก็มีคะแนนนิยมดีกว่าฝ่ายขวาจัด หรือนี่จะเป็นกระแสของ 'ซ้ายใหม่ที่ใหม่กว่า' ซึ่งต่างจากซ้ายอำนาจนิยมดั้งเดิม และซ้ายใหม่ระลอกแรกตรงที่พวกเขาไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยแบบซ้ายใหม่เท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณว่าจะคำนึงถึงคนชายขอบและสิ่งแวดล้อมด้วย

26 มิ.ย. 2565 บทวิเคราะห์จากหลายแห่งพูดถึงกรณีที่ประเทศโคลอมเบียเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ชนะการเลือกตั้งคือผู้นำพรรคฝ่าบซ้าย กุสตาโว เปโตร มีสื่อตะวันตกอย่างรอยเตอร์-ยาฮู ที่วิเคราะห์ว่าหรือกรณีนี้อาจจะแสดงให้เห็นถึง "การเลี้ยวซ้าย" หรือ "กระแสสีชมพู" (Pink Tide) ครั้งใหม่ในประเทศแถบลาตินอเมริกา ที่มีความเป็นไปได้บราซิลอาจจะได้ผู้นำฝ่ายซ้ายตามกระแสนี้ไปด้วยในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้

จอห์น เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสื่อเชิงวิเคราะห์การต่างประเทศ Foreign Policy in Focus (FPIF) ก็ชวนมองไปในทางเดียวกันว่าเปโตร ผู้ที่เป็นอดีตนักรบกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายในช่วงวัยรุ่นและเคยดำรงตำแหน่งเป็น ส.ว. อาจจะเป็น "ซ้ายใหม่ที่ใหม่กว่า" (New New Left) จากที่เขามีการเสนอนโยบายแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงคนชายขอบ

กุสตาโว เปโตร สามารถเอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในโคลอมเบียได้ด้วยคะแนนโหวตร้อยละ 50.44 เทียบกับผู้แทนฝ่ายขวาฟาสซิสต์ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ทรัมป์แห่งโคลอมเบีย" คือ โรดอลโฟ แฮร์นันเยซ ที่ได้คะแนนเสียงร้อยละ 47.04

สื่อยาฮูวิเคราะห์ว่าการที่โคลอมเบียมีผู้ไปลงคะแนนเสียงที่เต็มไปด้วยความโกรธเคืองไม่พอใจ เพราะถูกบีบรัดจากทั้งวิกฤต COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านี้ละทิ้งพรรคการเมืองกระแสหลัก หันมาหารัฐบาลที่จะเน้นการใช้งบประมาณรัฐไปเพื่อสวัสดิการทางสังคมมากขึ้น กลอเรีย ซานเชซ หนึ่งในผู้สนับสนุนเปโตรบอกว่ารัฐบาลฝ่ายซ้ายจะเป็นความหวังของโคลอมเบีย และบอกว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะมีรัฐบาลที่ "มองประชาชน มองคนจน เป็นมนุษย์ด้วยกัน"

มีการตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้าโคลอมเบีย ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่าง เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, ชิลี และ เปรู ก็มีการ "เลี้ยวซ้าย" มาก่อน และในบราซิล อดีตผู้นำฝ่ายซ้ายอย่าง ลูอิซ อิกนาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ก็มีคะแนนนิยมนำผู้นำขวาจัดคนปัจจุบันอย่าง จาอีร์ บอลโซนาโร อ้างอิงจากผลสำรวจโพลช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งปลายในปีนี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้งชิลีและโคลอมเบียต่างก็เคยเป็นแหล่งที่การเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีอำนาจมาก่อนแต่ในตอนนี้อำนาจเหล่านั้นก็ถูกโค่นล้มลงซึ่งอาจจะส่งผลต่อทรัพยากรต่างๆ ไปตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ไปจนถึงเหล็กกล้า และส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ กับความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและกับสหรัฐฯ ด้วย

กลุ่มนักการเมืองฝ่ายซ้ายอื่นๆ ในภูมิภาคก็พูดถึงเรื่องนี้ในแง่ที่ว่า กำลังมีกระแสการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา เช่น ส.ว. พรรคแรงงานของบราซิล อุมแบร์โต คอสตา กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันออกไปอยู่บ้าง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการเคลื่อนไหวของกระแสเลี้ยวซ้ายเกิดขึ้นในลาตินอเมริกา อดีตประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของโบลิเวีย เอโว โมราเลส ผู้เป็นสัญลักษณ์ของกระแสเลี้ยวซ้ายในระลอกแรกระบุถึงกรณีโคลอมเบียว่าได้แสดงให้เห็น "จิตสำนึกทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น และการยืนหยัดร่วมกันในการชูธงฝ่ายซ้ายของลาตินอเมริกา"

เปโตร เป็นนักการเมืองแบบไหน

เฟฟเฟอร์ ผู้อำนวยการของ FPIF ยังมองว่าเปโตรได้ให้สัญญาในแบบที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสัญญาว่าจะไม่ให้สัมปทานการสำรวจก๊าซจากพลังงานซากดึกดำบรรพเพิ่ม และจะยกเลิกการขุดเจาะปิโตรเลียมแบบทำลายธรรมชาติในแบบที่เรียกว่า Fracking และจะเลิกการพัฒนาการขุดเจาะเชื้อเพลิงนอกชายฝั่งด้วย

เปโตรประกาศเรียกร้องให้มีการ "เปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแห่งความตาย มาสู่ระบบเศรษฐกิจแห่งชีวิต" เขาบอกว่าจะไม่ยอมให้มีการสร้างความมั่งคั่งโดยอาศัย "สิ่งที่เป็นพิษกับผู้คนสามอย่าง" คือปิโตรเลียม, ถ่านหิน และโคเคน แต่การที่โคลอมเบียเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกโคเคนรายใหญ่และน้ำมันกับถ่านหินก็เป็นรายได้หลักของประเทศพวกเขา การเปลี่ยนผ่านในเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ไม่นับว่าพวกเขาต้องพยายามทำให้ประชาชนเชื่อเขาในเรื่องนี้ด้วย

แต่เฟฟเฟอร์ก็มองว่าเปโตรไม่เหมือนักการเมืองทั่วไป เปโตรเริ่มต้นหนทางการเมืองของตัวเองด้วยการเป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ M-19 ตั้งแต่อายุได้ 17 ปี เขาไม่เคยเป็นคนที่คลุกวงในของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้แต่ก็เคยต้องจำคุกจากการที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมใต้ดินต่อต้านรัฐบาล ในเวลาต่อมาเขาก็ผันตัวมาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เคยทำงานเป็น ส.ว. และเคยเป็นนายกเทศมนตรีของโบโกตา

ขณะเดียวกันเปโตรก็เป็นคนที่แสดงจุดยืนแบบไม่เกรงกลัวใคร เขาผ่านเสียงวิพากษ์วิจารณ์มามากและถูกเล่นงานหนักกว่านั้น เขาเคยแยกทางกับเพื่อนร่วมทางในสายการเมืองของตัวเองแล้วตั้งพรรคใหม่ในปี 2552 ในตอนที่เขาเป็น ส.ว. เขาเปิดโปงการทุจริตของ ส.ว. ด้วยกันในเรื่องที่พวกเขาเหล่านี้มีการติดต่อจ้างวานกลุ่มมือสังหารทางการเมือง และต่อมาก็มีการเปิดโปงพาดพิงไปถึงรัฐบาลอนุรักษ์นิยมของ อัลวาโร อูริบเบ กับหน่วยงานข่าวกรองของประเทศโคลอมเเบีย

ในช่วงที่เปโตรทำงานในสภาและเป็นผู้แทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงระหว่างปี 2553-2561 นั้นเขาก็ถูกขู่เอาชีวิตหลายครั้งมาก จากการที่เปโตรตกเป็นเป้าหมายเช่นนี้ ทำให้เขาต้องจ้างคนคุ้มกันและระวังในเรื่องความปลอดภัยมาก แม้กระทั่งในช่วงที่เขาเดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชน เลเทลเลียร์-มอฟฟิต ปี 2550 ที่วอชิงตันดีซีเขาก็ต้องคอยระมัดระวังตัว และในตอนที่เขาหาเสียงในปีนี้เขาก็ถึงขั้นจ้างให้คนถือโล่กันกระสุนขนาดใหญ่คุ้มกันไว้ตอนที่เขาปราศรัย จากสถิติตลอดช่วง 35 ปีที่ผ่านมามีผู้แทนทางการเมืองในโคลอมเบียถูกลอบสังหาร 4 ราย มี 3 ใน 4 ที่เป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย นอกจากนี้ในโคลอมเบียยังมีกรณีที่นักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนถูกสังหาร 138 ราย จากสถิติในปี 2564 ปีเดียว

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความรุนแรงจากฝ่ายขวาในโคลอมเบียที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับหลายที่ในลาตินอเมริกา รองประธานาธิบดีคนใหม่คือ ฟรานเซีย มาร์เกซ ผู้ที่ได้เป็นรองประธานาธิบดีคนผิวสีคนแรกของโคลอมเบียก็เคยแสดงความกล้าหาญโดยการนำการต่อสู้กับการทำเหมืองทองอย่างผิดกฎหมายในโคลอมเบียจนทำให้เธอได้รับรางวัลนักสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนไพรซ์

กระแสเลี้ยวซ้าย ของ "ซ้ายใหม่กว่า" ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน

เฟฟเฟอร์ตั้งข้อสังเกตว่าซ้ายใหม่เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมากกว่าซ้ายเก่าอย่างกลุ่มสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากการดำเนินนโยบายแบบโซเวียตเช่นคิวบาในยุคสมัยฟิเดล คาสโตร

ซ้ายใหม่ที่ทำให้เกิดกระแสเลี้ยวซ้ายก่อนหน้านี้ในลาตินอเมริกายุคปี 2543-2553 ยกตัวอย่างได้คือ รัฐบาลพรรคแรงงานของบราซิล และ ซัลวาดอร์ อัลเยนเด อดีตผู้นำชิลี พวกเขาปฏิบัติการอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้า ขณะเดียวกันในยุคสมัยนั้นก็มีซ้ายใหม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นโดยมีการคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มชุมชนชนพื้นเมืองและเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

อย่างไรก็ซ้ายใหม่ในยุคสมัยนั้นก็เริ่มเสื่อมถอยลงไม่ว่าจะเพราะถูกเล่นงานทางการเมืองหรือในบางกรณีเช่นในเอกวาดอร์รัฐบาลก็ยกเลิกคำสัญญาที่ให้ไว้เดิมในการอนุรักษ์แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพอย่าง อุทยานแห่งชาติยาสุนีแล้วหันมาเปิดให้บริษัทจีนเข้าไปดำเนินการขุดเจาะเชื้อเพลิงในปี 2559

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้นำซ้ายใหม่กว่าในยุคปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวทางสังคมในลาตินเมริกาก็ดูเหมือนกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำอย่างเปโตรก็บอกว่าเขาต้องการทำงานร่วมกับผู้นำฝ่ายก้าวหน้าคนอื่นๆ ในลาตินอเมริกาเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างระดับภูมิภาค หนึ่งในผู้นำที่เขาอยากร่วมทำงานด้วยคือ กาเบรียล บอริก ผู้นำฝ่ายซ้ายอีกคนหนึ่งที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งชิลีซึ่งมีวาระเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยที่บอริก ได้แต่งตั้ง ไมซา โรฮาส ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศเป็นรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผู้นำชิลีไม่ได้มองเรื่องวิกฤตโลกร้อนเป็นเรื่องนามธรรมไกลตัวอีกต่อไป

เรียบเรียงจาก
LATIN AMERICA’S NEW NEW LEFT, John Feffer, FPIF, 22-06-2022
Latin America's new 'pink tide' gains pace as Colombia shifts left; Brazil up next, Yahoo, 23-06-2022
Colombian 'Trump' threatens leftist's presidential ambitions, France24, 30-05-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Gustavo_Petro

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท