ข้อสังเกตบางประการกรณีให้ประกันโดยมีเงื่อนไข

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กรณี ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมอิสระ วัย 20 ปี อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวในคดี ม. 112 หลังถูกศาลอาญาเพิกถอนประกัน โดยต่อมาศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวมีกำหนดเวลา 1 เดือนพร้อมตั้งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นผู้กำกับดูแล และกำหนดเงื่อนไขหลายประการ ได้แก่ การติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล[2] นั้น ก่อให้เกิดคำถามว่าการให้ประกันโดยมีเงื่อนไขเช่นนี้เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหลักสากลและกฎหมายหรือไม่

หลักการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9[3] ระบุว่า มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี  แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะกลับมาปรากฎตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของการพิจารณา และจะมาปรากฎตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29[4] วรรค สอง ที่ว่าการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี จากหลักดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการคุมขังผู้ต้องหา จำเลยในระหว่างการพิจารณาเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากจะคุมขังต้องเป็นกรณีที่เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนีเท่านั้น อันเป็นไปตามหลักการ ให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิด presumption of innocence

เมื่อมาดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการให้ประกันตามมาตรา 108[5] ซึ่งกำหนดให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งปล่อยชั่วคราวได้ 7 ประการ และในวรรคสามได้เพิ่มเติมเงื่อนไขอีกหลายประการ ได้แก่ เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ มาตรา 108 วรรคสามนี้เพิ่งได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2558 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2558 ที่มีเหตุผลประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมที่สำคัญ คือ สมควรให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบังคับเพื่อติดตามตัวผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ถ้ามีการทำลายอุปกรณ์ดังกล่าวหรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวนั้นหนีหรือจะหลบหนี และมิให้เรียกหลักประกันเกินสมควร เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่นี้มีความมุ่งหมาย “เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น”

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขการให้ประกันตามมาตรา 108 วรรคสาม มีข้อสังเกตที่ควรพิจารณา กล่าวคือ กฎหมายใช้คำว่า หรือ เพื่อให้เป็นทางเลือกของศาลในการพิจารณาว่าจะใช้เงื่อนไขข้อใดในการอนุญาตให้ประกัน ซึ่งมีให้เลือก ได้แก่ 1. เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือ 2.เงื่อนไขอื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว หรือ 3.ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว การที่กฎหมายใช้คำว่า หรือ นั่นย่อมแสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้บังคับใช้มาตรานี้เลือกว่าจะใช้เงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กฎหมายมิได้มีเจตนาจะอนุญาตให้กำหนดเงื่อนไขทุกข้อ เพราะกฎหมายต้องการ “เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น”

แต่เงื่อนไขที่ศาลกำหนดในการให้ประกันทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กลับมีมากมายหลายประการ โดยไม่ยึดโยงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้ผู้บังคับใช้มาตรานี้เลือกว่าจะใช้เงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ซึ่งหากกำหนดเงื่อนไขเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็เป็นการเพียงพอแล้ว เช่น  อนุญาตให้ประกันมีกำหนดเวลา 1 เดือน โดยให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM ไม่ต้องกำหนดเงื่อนไขข้ออื่นๆอีก ไม่ว่าห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล หากเป็นกรณีเจ็บป่วยให้แสดงหลักฐานทางการแพทย์ต่อศาลภายใน 3 วัน ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้รวมถึงเงื่อนไขที่ตั้งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นผู้กำกับดูแล ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ด้วย

ข้อสังเกตประการที่สอง  การห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อาจเข้าข่ายเป็นการนำกฎหมายว่าด้วยวิธีการเพื่อความปลอดภัย ในเรื่อง”การกักกัน”มาใช้ ซึ่ง “การกักกัน” [6] คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ  นำมาใช้สำหรับคดีที่ผู้นั้นเคยต้องโทษตามคำพิพากษาให้กักกันแล้ว หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง การห้ามออกนอกเคหสถานเป็นวิธีการกักกันประเภทหนึ่งที่ไม่ควรนำมาใช้ในกรณีนี้ เพราะทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ยังไม่เคยถูกศาลพิพากษาให้ต้องโทษกักกัน และไม่เคยถูกลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง มาก่อน ดังนั้นการห้าม ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ออกนอกเคหสถาน จึงอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่เกินเลยไปกว่าที่กฎหมายกำหนด

แม้ศาลยุติธรรมจะแถลงข่าวเรื่องการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวปี 2563[7] ว่าจำนวนคำร้องที่ยื่นพิจารณาทั้งสิ้น 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตจำนวน 217,094 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.26 ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดเงื่อนไขใดให้ผู้ได้รับการปล่อยชั่วคราวต้องปฏิบัติ หรือไม่ แต่กลับมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากมายให้ผู้จะได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดีการเมือง โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในคดี 112 ที่สมควรได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวโดยรวดเร็วและเป็นธรรมเช่นเดียวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยทั่วไป

ทั้งนี้ขอให้ศาลทบทวนการให้สิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราวในคดี 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญและหลักสากล“เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวมากขึ้น”  ตามหลัก ให้สันนิษฐานว่าไม่มีความผิด presumption of innocence  

 

 

อ้างอิง

[1] บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)ไม่จำต้องเห็นพ้องด้วย

[2] เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 https://www.matichon.co.th/politics/news_3367341

[3] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 9

     1. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย    บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้  บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้  ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

     2. ในขณะจับกุม บุคคลใดที่ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน

     3. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา  จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี  แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะกลับมาปรากฎตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนอื่นของการพิจารณา และจะมาปรากฎตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อถึงวาระนั้น

     4. บุคคลใดที่ถูกลิดรอนเสรีภาพโดยการจับกุมหรือการควบคุม มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อให้ศาลตัดสินโดยไม่ชักช้าถึงความชอบด้วยกฎหมายของการควบคุมผู้นั้น  และหากการควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวไป

     5. บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน

[4] มาตรา 29  บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้

ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใด ได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้

คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

[5] กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ

     (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา

     (2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

     (3) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

     (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

     (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

     (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่

     (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงาน อัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้

 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว หรือศาล อาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับ การนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้

ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึง สิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่น อย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น

[6] มาตรา 40  กักกัน คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ 

มาตรา 41  ผู้ใดเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกันมาแล้ว หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนมาแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งในความผิดดังต่อไปนี้ คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา 216

(2) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 224

(3) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ถึงมาตรา 246

(4) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 ถึงมาตรา 286

(5) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 290 มาตรา 292 ถึงมาตรา 294

(6) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 299

(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ถึงมาตรา 320

(8) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 340 มาตรา 354 และมาตรา 357

และภายในเวลาสิบปีนับแต่วันที่ผู้นั้นได้พ้นจากการกักกัน หรือพ้นโทษ แล้วแต่กรณี ผู้นั้นได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาที่ระบุไว้นั้นอีกจนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการกระทำความผิดนั้น ศาลอาจถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และจะพิพากษาให้กักกันมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่าสามปีและไม่เกินสิบปีก็ได้

ความผิดซึ่งผู้กระทำได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้น มิให้ถือเป็นความผิดที่จะนำมาพิจารณากักกันตามมาตรานี้

[7] 'โฆษกศาล' เปิดสถิติปล่อยชั่วคราวนักโทษคดีอาญาย้อนหลัง 4 ปี ส่วนปี 64 จำนวน 18,076 ,เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ 22 มีนาคม 2564 https://www.bangkokbiznews.com/politics/928622

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท