Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐคือตัวแทนโลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบใดแบบหนึ่งหรือไม่? หากรัฐเป็นตัวแทนโลกทัศน์ทางศีลธรรมแบบใดแบบหนึ่ง กรณีปัญหาการทำแท้ง รัฐก็ต้องทำหน้าที่ให้คำตัดสินทางศีลธรรมว่าผิดหรือถูก เช่น ถ้าเป็นรัฐศาสนาก็ชัดเจนว่ารัฐเป็นตัวแทนโลกทัศน์ทางศีลธรรมของศาสนานั้นๆ รัฐจึงทำหน้าที่ตัดสินว่าการทำแท้ง คุมกำเนิด รักร่วมเพศผิดศีลธรรมและกฎหมาย

แต่รัฐเสรีประชาธิปไตยบางรัฐที่ออกกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้ง ต้องทำหน้าที่ตัดสินหรือไม่ว่า หลักศีลธรรมของศาสนาใดๆ ก็ตามที่ห้ามทำแท้ง ห้ามคุมกำเนิด หรือห้ามเรื่องรักร่วมเพศย่อมเป็นหลักศีลธรรมที่ผิด

โดยทั่วไปแล้วรัฐเสรีประชาธิปไตยจะไม่ตัดสินเช่นนั้น เพราะถือว่ารัฐต้อง “เป็นกลาง” ทางคุณค่าหรือความเชื่อเกี่ยวกับศีลธรรม การมีชีวิตที่ดีตามหลักศาสนาต่างๆ หรือความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา เช่นปรัชญาศีลธรรมต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย มีทั้งที่แตกต่างกัน สอดคล้องและขัดแย้งกัน

การเป็นกลางทางศีลธรรม ในกรณีการทำแท้งและสมรสเท่าเทียม ก็คือการที่รัฐรับรองสิทธิหรือเสรีภาพให้พลเมืองทุกคน “เลือกได้” ว่าเขาจะทำแท้งหรือแต่งงานเพศเดียวกันหรือไม่ หากเขาเชื่อว่าผิดศีลธรรมเขาก็ไม่เลือกทำแท้งหรือแต่งงานเพศเดียวกัน หากเขาเห็นว่าไม่ผิด ก็เลือกที่จะทำแท้งหรือแต่งงานเพศเดียวกันได้

บางคนโต้แย้งว่า การที่รัฐออกกฎหมายรับรองสิทธิทำแท้งและสมรสเท่าเทียม ก็เท่ากับรัฐได้ “เลือกข้าง” ฝ่ายที่เชื่อว่าการทำแท้งและสมรสเพศเดียวกันไม่ผิดศีลธรรมไปแล้ว เพราะนอกจากรัฐจะออกกฎหมายรับรองสิทธิให้ทำแท้งและสมรสเท่าเทียมได้แล้ว รัฐยังต้องเตรียมการอื่นๆ รองรับ เช่น จัดเตรียมระบบการทำแท้งทางการแพทย์ที่ปลอดภัย การวางระเบียบต่างๆ ทางกฎหมายรองรับสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ที่เลือกทำแท้ง และเลือกแต่งงานเพศเดียวกัน

ข้อโต้แย้งข้างบน เราเถียงได้ตรงไปตรงมาว่า การที่รัฐไม่ให้สิทธิหรือเสรีภาพที่พลเมืองทุกคนเลือกได้เท่าเทียมกันต่างหากคือความไม่เป็นกลาง ส่วนการจัดเตรียมความปลอดภัยทางการแพทย์ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ รองรับ ก็เป็นเพียงการวางระบบให้พลเมืองทุกคนได้รับความสะดวกหรือประโยชน์ที่พึงได้ตามสิทธิพลเมืองเท่าเทียมกันเท่านั้น ไม่ใช่การไม่เป็นกลางแต่อย่างใด

ประเด็นคือ การที่รัฐให้สิทธิหรือเสรีภาพที่แต่ละคนจะเลือกได้ (ในทางศีลธรรม) ไม่ใช่การที่รัฐทำหน้าที่ตัดสินว่า การทำแท้งและแต่งงานเพศเดียวกันถูกหรือผิดศีลธรรม แต่คือการที่รัฐปล่อยให้การตัดสินทางศีลธรรมเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเอง

เหตุผลที่รัฐต้องปล่อยให้การตัดสินทางศีลธรรมเป็นความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล ก็เพราะ

  1. ประเด็นปัญหาทางศีลธรรมเป็นเรื่องซับซ้อน เกินความสามารถของรัฐที่จะทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดได้ เพราะในสังคมประชาธิปไตยมีความคิดความเชื่อทางศีลธรรมที่แตกต่าง หลากหลาย มีทั้งแง่มุมที่สอดคล้อง และขัดแย้งกัน ความเชื่อทางศีลธรรมของศาสนาต่างๆ และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา เช่นปรัชญาศีลธรรมต่างๆ ล้วนแต่ยืนยันว่าความเชื่อของตนถูก ความเชื่อแบบอื่นผิด หากนำประเด็นปัญหาที่เถียงกันไม่ลงเช่นนี้มาให้รัฐเป็นผู้ตัดสิน ย่อมเกิดปัญหายุ่งยากที่แก้ไม่ตก ดังนั้น เรื่องศีลธรรมควรปล่อยให้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องที่พลเมืองทุกคนมี “อิสรภาพ” (autonomy) ในการตัดสินด้วยตนเองมากกว่า
  1.  ในโลกของความเป็นจริงมักจะมีปัญหา “ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางศีลธรรม” (moral dilemma) คือ ปัญหาที่ตัดสินใจได้ยากมาก เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ผิด เช่น ถ้าเลือกทำแท้งก็ผิด เพราะทำลายชีวิตมนุษย์ (ลูก) แต่ถ้าเลือกไม่ทำก็ผิดถ้าหากตนเองมีปัญหาสารพัดที่ทำให้ไม่พร้อมจะมีลูกและเลี้ยงดูเขาให้เติบโต

ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกทำนองนี้มันไม่มีคำตอบทางศีลธรรมตามความเชื่อทางศาสนาหรือปรัชญาใดๆ สามารถตอบได้อย่างกระจ่างชัด เป็นที่พึงพอใจและเห็นพ้องของทุกคนได้จริง นี่คือข้อจำกัดของเหตุผลหรือปัญญาของมนุษย์ ที่ในที่สุดแล้วเราอาจจะต้องใช้ “ความรู้สึก” หรือสัญชาตญาณในการตัดสิน ซึ่งเป็น “เรื่องส่วนบุคคล” อย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำแท้ง ผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อความรู้สึกผิดทางศีลธรรมก็คือตัวบุคคลคนนั้นเอง เพราะเหตุนี้ รัฐจึงเป็นตัวแทนโลกทัศน์ทางศีลธรรมที่ทำหน้าตัดสินถูก-ผิดทางศีลแทนปัจเจกบุคคลทั้งหลายไม่ได้

แต่ในมุมมองของอาริสโตเติล นักปรัชญากรีกยุคคลาสสิก รัฐไม่ได้เป็นกลางทางศีลธรรม หมายถึง รัฐไม่สามารถเป็นกลางเกี่ยวกับความหมายของการมีชีวิตที่ดี เพราะรัฐมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน หรือจัดการให้พลเมืองบรรลุเป้าหมายการมีชีวิตที่ดีในด้านต่างๆ และพลเมืองในฐานะที่เป็นมนุษย์ ทุกคนก็มีเป้าหมายเพื่อการมีชีวิตที่ดีที่สุดอยู่แล้ว การที่เราเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะพลเมือง ก็เพื่อที่จะผลักดันให้รัฐตอบสนองต่อการมีชีวิตที่ดีด้านต่างๆ ของตนเอง

มุมมองดังกล่าวมาจากความคิดพื้นฐานที่ว่า มนุษย์มีธรรมชาติอันเป็น “แก่นสาร” (essence) ที่แน่นอนอยู่แล้ว นั่นคือ “เหตุผล” (reason) หรือปัญญา การมีชีวิตที่ดีก็คือการบรรลุความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปได้ด้วยการพัฒนาศักยภาพทางเหตุผลหรือปัญญา จนสามารถใช้เหตุผลหรือปัญญาควบคุมอารมณ์ ความต้องการต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข อันได้แก่ ชีวิตที่มีดุลยภาพบนการนำทางของเหตุผลหรือปัญญา

ดังนั้น รัฐที่ดีจึงเป็นรัฐที่ต้องตอบสนองต่อการมีชีวิตที่ดีดังกล่าว ซึ่งมักไม่ใช่รัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (แบบเอเธนส์) ที่อำนาจการปกครองขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองที่เป็นคนจน ประชาธิปไตยเช่นนี้แม้จะเลวน้อยกว่าระบอบทรราชและคณาธิปไตยที่ขาดศีลธรรม แต่ก็ไม่ใช่ระบอบที่พึงปรารถนาเท่าระบอบมัชฌิมาธิปไตย (Policy) ที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง มีการศึกษาดี มีคุณธรรม รู้บทบาทหน้าที่ของพลเมืองเป็นฝ่ายมีอำนาจนำทางการเมือง

จะว่าไปแล้ว รัฐฮินดู รัฐพุทธ รัฐคริสเตียนในอดีต หรือรัฐอิสลามในอดีตและปัจจุบัน ต่างเป็นรัฐที่อยู่บนความคิดพื้นฐานว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่แน่นอน และมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน รัฐมีหน้าที่ตอบสนองต่อธรรมชาติ และเป้าหมายชีวิตที่แน่นอนนั้นๆ ทว่ารัฐที่อยู่บนความคิดพื้นฐานดังกล่าวมักระแวง “ประชาธิปไตย” (democracy) เพราะไม่เชื่อว่าเสียงข้างมากจะตอบสนองเป้าหมายทางศีลธรรมได้

เช่น ถ้าเชื่อแบบอาริสโตเติลว่า รัฐที่ดีต้องสนับสนุนให้พลเมืองบรรลุการมีชีวิตที่ดีอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะเป็น “สัตผู้มีเหตุผล” (rational being) นั่นคือ การเป็นผู้มีความเป็นเลิศทางปัญญาและศีลธรรม ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องให้บุคคลหรือคณะบุคคลที่ทรงปัญญาและศีลธรรมเป็นผู้ปกครอง ซึ่งประชาธิปไตย (อย่างน้อยแบบเอเธนส์) อาจไม่มีหลักประกันที่จะทำให้ได้ผู้ปกครองเช่นนั้น (แต่ก็ชัดเจนแล้วในทางประวัติศาสตร์ว่าระบอบกษัตริย์ทรงคุณธรรม ก็ไม่สามารถให้หลักประกันการได้ผู้ปกครองที่ดีได้จริง)  

หากคิดแบบรัฐศาสนาต่างๆ ผู้ปกครองก็ต้องมาจากผู้รู้และผู้ทรงคุณธรรมตามหลักความเชื่อของศาสนานั้นๆ การบัญญัติกฎหมายและอื่นๆ ก็ต้องสอดคล้องกับหลักปรัชญาการเมือง หรือหลักศีลธรรมของศาสนานั้นๆ ซึ่งในประวัติศาสตร์และปัจจุบันก็ไม่มีรัฐศาสนาหรือรัฐกึ่งศาสนาแบบใดๆ เป็นประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ ความคิดแบบรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย (liberal democracy) จึงเสนอว่า การมีชีวิตที่ดีตามความเชื่อทางศีลธรรมแบบศาสนาต่างๆ และความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา (เช่น การมีชีวิตที่ดีตามแนวคิดปรัชญาศีลธรรมแบบอาริสโตเติล, สุขนิยม, ประโยชน์นิยม, กฎศีลธรรมสากลแบบคานท์ ฯลฯ) มันมีความแตกต่างและหลากหลายมาก มีทั้งแง่มุมที่สอดคล้อง และขัดแย้งกัน แต่ละความเชื่อต่างก็ยืนยันว่าความเชื่อแบบตนเองถูกที่สุด ดีที่สุด ท่ามกลางความเชื่อทางศีลธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย เต็มไปด้วยข้อถกเถียงที่ซับซ้อนเช่นนั้น รัฐไม่ใช่ “สัพพัญญู” ที่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะตัดสินชี้ขาดได้ว่าทัศนะทางศีลธรรมแบบไหนถูกที่สุดหรือดีที่สุด

วิธีการหนึ่งที่นักปรัชญาเสรีนิยม เช่น จอห์น รอลส์พยายามเสนอคือ ให้แยกระหว่าง “คุณค่าทางศีลธรรม” (moral values) ตามความเชื่อทางศาสนาต่างๆ และความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนาหรือปรัชญาต่างๆ กับ “คุณค่าทางการเมือง” (political values) เช่น หลักความยุติธรรมสาธารณะ ได้แก่ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม หลักการกระจายโอกาสด้านต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั่วไป และสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ให้เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยคุณค่าทางการเมืองต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ รัฐมีหน้าที่รักษาและปกป้องคุณค่าทางการเมืองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน ส่วนในเรื่องคุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล รัฐต้องเป็นกลาง ไม่แทรกแซงทั้งในทางขัดขวางหรือสนับสนุน แต่ให้หลักประกันสิทธิหรือเสรีภาพที่พลเมืองทุกคนจะเลือกคุณค่าทางศีลธรรมตามความเชื่อใดๆ ก็ได้ ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น

ระบบการปกครองของบ้านเรา คือระบบที่รัฐ (หมายรวมถึงรัฐธรรมนูญ, รัฐบาล, กองทัพ, ศาล, ระบบการศึกษา หรือระบบราชการโดยรวม) ไม่สามารถสถาปนา, รักษา และปกป้อง “คุณค่าทางการเมือง” อันได้แก่ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน และหลักความเป็นธรรมด้านสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ได้ เพราะเป็นรัฐที่ไม่เป็นกลางทางศีลธรรม

เนื่องจากรัฐไทยเป็นรัฐตัวแทนทางศีลธรรมแบบศาสนา คือ ศีลธรรมแบบเน้นความจงรักภักดีต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อำนาจอธิปไตยของปวงชน และหลักความเป็นธรรมด้านสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นจนชินคือ คุณทำถูกและดีเสมอ หากระทำการใดๆ ในนามความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และคุณอาจผิดหรือเลวได้เสมอ หากกระทำการใดๆ ในนามความภักดีต่อประชาชน สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นคน ซึ่งไม่ถึงขนาดจะไปขัดขวางความเชื่อเรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์อะไรเลย แค่ตั้งคำถามต่ออุดมการณ์นั้นก็ผิดแล้ว

จนกว่าสังคมเราจะมีวุฒิภาวะพอที่จะถือว่า ความเชื่อทางศีลธรรมแบบต่างๆ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล และถือว่าคุณค่าทางการเมืองเป็นคุณค่าแกนกลาง หรือคุณค่าหลักที่พลเมืองทุกคน รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งองคาพยพต้องยึดถือปฏิบัติตาม ปัญหาความสับสนระหว่างคุณค่าทางศีลธรรมกับคุณค่าทางการเมืองจึงจะเบาบางลง หรือการเรียนรู้คิดหา “ความสอดคล้อง” เข้ากันได้ หรือสนับสนุนกันได้ระหว่างคุณค่าทางศีลธรรมกับคุณค่าทางการเมืองจึงจะเกิดขึ้น

แต่ทั้งนี้ คุณค่าทางการเมืองต้องถูกยึดถือเป็นคุณค่าหลัก ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย การอ้างศาสนา ศีลธรรมจึงจะไม่สามารถลดทอน คัดค้าน และขัดขวางสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net