งานศึกษาชี้ 'เจ้าหน้าที่ดับเพลิง' เผชิญสารเคมีขณะปฏิบัติหน้าที่ สูงกว่าคนทั่วไป

สถิติชี้ 'เจ้าหน้าที่ดับเพลิง' ในสหรัฐฯ เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็จสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ถึง 14% งานศึกษาของมหาวิทยาลัยดุ๊กพยายามเก็บข้อมูลการสัมผัสสารเคมี 'PFAS' หรือ 'สารเคมีตลอดกาล' เพื่อช่วยไขคำตอบความเสี่ยงของอาชีพนี้ พบสัมผัสสารเคมีในขณะปฏิบัติหน้าที่ สูงกว่าคนทั่วไป


ที่มาภาพประกอบ: Los Angeles Fire Department (CC BY-NC-ND 2.0)

27 มิ.ย. 2565 ในสหรัฐอเมริกามีสถิติชี้ว่า 'เจ้าหน้าที่ดับเพลิง' เสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็จสูงกว่าอาชีพอื่นๆ ถึงร้อยละ 14 ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจถึงต้นเหตุการเกิดโรคมะเร็งในหมู่ผู้ประกอบอาชีพเจ้าหน้าที่ดับเพลิง

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้แผนกดับเพลิงเมืองเดอรัม ได้ติดต่อขอให้มหาวิทยาลัยดุ๊กเพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับการสัมผัสสารเคมีของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยใช้สายรัดข้อมือ (Wristbands) ราคาไม่แพงในการวัดช่วยวัดการดูดซับสารปนเปื้อนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

เจสสิก้า เลวาซเซอร์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก หัวหน้าโครงการวิจัยนี้กล่าวว่าเป็นครั้งแรกในประเภทนี้ที่ใช้สายรัดข้อมือซิลิโคนเหล่านี้เพื่อทดสอบสารเคมี 'PFAS' (Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances) หรือ 'สารเคมีตลอดกาล' (Forever Chemicals) [ข้อมูลเพิ่มเติม - PFAS เป็นกลุ่มสารเคมีที่ใช้แพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร และเสื้อผ้า ด้วยเพราะมีความเสถียร ทำให้ค่อยๆ สะสม-คงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลานานหลักร้อยปี]

"สายรัดข้อมือซิลิโคนจะดูดซับสารประกอบอินทรีย์กึ่งระเหยที่คุณสัมผัสได้ในขณะที่คุณออกไปยังที่ต่างๆ" เลวาซเซอร์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมักมีแบบแผนการสัมผัสสาร PFAS ที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากประชากรทั่วไป การใช้สายรัดข้อมือนี้จึงอาจจะช่วยตอบคำถามค้างคาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากงานของพวกเขา

"พวกเราส่วนใหญ่ไม่เดินเข้าไปในอาคารที่ถูกเพลิงไหม้" เลวาซเซอร์ กล่าว "ดังนั้น แม้ว่าจะมีสารเคมีที่เราไม่อาจสัมผัสได้ เพราะมันอยู่ในกำแพงที่ไหนสักแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ต้องสัมผัสกับสารเคมีนั้น"

ในระหว่างการศึกษาเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 20 คน จากแผนกดับเพลิงเมืองเดอรัม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกสวมสายรัดข้อมือขณะทำงาน อีกกลุ่มสวมสานรัดข้อมือในช่วงวันหยุด จากนั้นได้นำสายรัดข้อมือของทั้ง 2 กลุ่มไปทำการทดสอบเพื่อหาสารเคมีต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง 'PFAS' และ 'PAH' (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ผลการทดสอบพบว่าสายรัดข้อมือในกลุ่มที่ทำงานมีระดับสารเคมีสูงกว่ากลุ่มที่สวมในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำงานผจญเพลิง

เลวาซเซอร์กล่าวว่าข้อค้นพบจากสายรัดข้อมือเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้นในด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และสักวันหนึ่งอาจช่วยให้คนทำงานในทุกอาชีพมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงของพวกเขาในที่ทำงาน

"เราหวังว่าในการทำความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมีความเสี่ยงต่างกันอย่างไรในขณะที่พวกเขาอยู่ในที่ทำงาน จะทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่าทำไมอาชีพของพวกเขาจึงมีความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง" เลวาซเซอร์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการศึกษาในอนาคตอาจจะต้องขยายจำนวนประชากรที่ทำการทดสอบเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อนึ่งปัจจุบัน ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้พิจารณาใช้ 'มาตรการป้องกันไว้ก่อน' กล่าวคือการจำกัดการใช้งานสารเคมีที่เป็นอันตราย ออกกฎระเบียบเพื่อแบนการใช้งานสารเคมี PFAS ในทุกกรณี และหาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า

โดยแต่ละมลรัฐในสหรัฐฯ ก็ได้เริ่มแบนการใช้สารเคมี PFAS 'ในบางการใช้งาน' ไม่ว่าจะเป็นในผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร และโฟมดับเพลิง ส่วนบางธุรกิจอย่างธุรกิจค้าปลีกอาหารกับแคมเปญ Mind the Store ได้เริ่มเคลื่อนไหวจัดการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการหันมาใช้ทางเลือกอื่นแทนสารเคมี PFAS อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า เช่นเดียวกับที่ร้านค้าปลีก 18 ที่ อาทิ Taco Bell และ McDonald’s ทั่วทั้งสหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นที่จะยุติหรือลดการใช้ลง ทว่ายังจำเป็นต้องผลักดันให้มี 'ระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลกลาง' (federal regulations) ที่จะป้องกันการใช้กลุ่มสารเคมี PFAS และสารเคมีอันตรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้ที่อาจสะสมในน้ำนมแม่ผ่านสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงในน้ำดื่ม

ที่มา
Firefighters are exposed to higher levels of 'forever-chemical' on the job, study shows (Kelly Kenoyer, WHQR, 31 May 2022)
จำเป็นต้องยกเลิกการใช้สารเคมี PFAS ‘ในทุกกรณี’ เมื่อการศึกษาล่าสุดพบสารเคมี PFAS ในน้ำนมแม่ (Thiraphon Singlor, SDG Move, 12 January 2022) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท