Skip to main content
sharethis

หลัง ครม.รับทราบผลทำ EIA ของ "เอเชียแปซิฟิคโปแตช" ลงทุนเหมืองโปแตชในอุดรฯ 'สุริยะ' เตรียมเร่งออกประทานบัตรให้คาดว่าเริ่มดำเนินการโครงการได้ภายใน 6 เดือน -1 ปี ส่งผลหุ้น "อิตาเลียนไทย"ที่ถือหุ้นในบริษัทนี้ขึ้น 20%

28 มิ.ย.2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(APPC) หลังได้รับสิทธิสำรวจแร่โพแทชในจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป สำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมาประกอบด้วย

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น 1)การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน 2)มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

รัชดากล่าวด้วยว่า พื้นที่เหมืองแร่โพแทช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโพแทชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้

รองโฆษกรัฐบาลระบุอีกว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

'ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด' เรียกร้องอำเภอเข้าตรวจสอบบริษัทเอกชนทำเหมืองโปแตชกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น กรุงเทพธุรกิจยังรายงานอีกว่าสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อทาง ครม.มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการได้แล้วตามที่กระทรวงเสนอ หลังจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะไปเร่งออกประทานบัตรต่อไป

รมต.อุตสาหกรรมกล่าวด้วยว่า คาดว่าทางภาคเออกชนก็อยากทำให้เร็วที่ที่สุดและคาดว่าจะสามารถเริ่มต้นดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยเหมืองแร่แห่งนี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปีและคาดการณ์ว่ามีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

สุริยะระบุอีกว่าทีผ่านมาบริษัทเอเซีย แปซิฟิคโปแตชนี้ยื่นขอประทานบัตรมาแล้วแต่รอขั้นตอนการอนุมัติจาก ครม.และการออกใบปะทานบัตรเพื่อดำเนินการทำเหมือง

หุ้นอิตาเลียนไทยขึ้น 20%

หลังจากการแถลงข่าวผลที่ประชุม ครม. อินโฟเควสต์รายงานถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกันว่า หุ้นของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นละ 1.85 บาทเป็น 2.22 บาทหรือ 20% มีมูลค่าการซื้อขาย 284.94 ล้านบาทเมื่อเวลา 15.30 น.ที่ผ่านมา

ในรายงานระบุว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯ นี้เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) มากถึง 90% โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร่วมอยู่ 10%

อินโฟเควสต์ยังรายงานถึงการวิเคราะห์ของสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ด้วยว่าจากสงครามยูเครนและรัสเซียที่ส่งผลให้ราคาปุ๋ยแพงขึ้น รัฐบาลจึงกลับมาสนบัสนุนการลงทุนเหมืองโปแตชในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยในประเทศ

นอกจากหุ้นของอิตาเลียนไทยฯ แล้วในรายงานยังรายงานถึงราคาหุ้นของบริษัททีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) ก็ขึ้นมา 28.57% หรือขึ้นมาจาก0.28 บาทเป็น 0.36 บาทมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 87.22 ล้านบาท

สำหรับบมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ (APOT) นี้มีโครงการเหมืองโปแตชใน ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งนอกจากจะมีบริษัททีอาร์ซีที่ถือหุ้นอยู่ 25% แล้ว ยังมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 20% และบริษัทอื่นๆ อีกได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ผาแดงอินดัสทรี, บริษัท เทพารักษ์อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัท ไทยเยอรมัน ไมนิ่ง, บริษัท อาซาฮีกลาส, บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์(สิงคโปร์), บริษัท กาเลนก้า(บริติชเวอร์จิน) บริษัทพีทีพีโทรคีเมีย กรีชิค(อินโดนีเซีย) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net