Skip to main content
sharethis

นักศึกษา ปี 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำแคมเปญ "ยืนหยุดโซตัส" เป็นเวลา 7 วัน วันละ 10 นาที ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2565 บริเวณหน้า มช. เรียกร้องให้ยกเลิกระบบโซตัสภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ชี้ โซตัสเป็นระบบที่ละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจ

 

28 มิ.ย. 2565 นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาเชียงใหม่ ออกแคมเปญ "ยืนหยุดโซตัส" วันละ 10 นาที เป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2565 เวลา 18.00 – 18.10 น. บริเวณหน้าประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกร้องให้ยกเลิกระบบโซตัสภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นระบบที่กดขี่และละเมิดสิทธิผู้อื่น

นักศึกษาที่ริเริ่มแคมเปญ 

ถั่วเขียว นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มแคมเปญ "ยืนหยุดโซตัส" ระบุว่า รุ่นพี่มักจะอ้างว่าระบบโซตัส (Sotus) จะทำให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่รุ่นพี่รุ่นน้อง “ถึงแม้มันจะดูรุนแรง แต่ผลลัพธ์มันดีกว่าที่น้องคิด” ก่อนหน้านี้ช่วง ม.ปลาย ตนเองเคยเผชิญกับการโซตัสที่โรงเรียนเก่า โดยรุ่นพี่บังคับยึดข้าวกล่องของรุ่นน้องไประหว่างพักเที่ยงตอนทำกิจกรรม โดยให้เหตุผลว่ากินข้าวในกล่องด้วยช้อนไม่อร่อยเท่าการกินข้าวในถุงโดยใช้มือ

“เขา (รุ่นพี่) ยึดข้าวกล่องเราไป แล้วไปเทใส่ถุงพลาสติกใบใหญ่ใบเดียว แล้ววันนั้นมี 30 กว่าคน ต้องเอามือจับข้าวในถุงใบนั้นกินให้หมด ตอนนั้นเราก็ไม่กล้าจะแย้งเขา เรารู้สึกว่าเขามีอำนาจมาก แม้มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่เราควรทำ แต่ทำไมเราถึงมีความกลัวไม่กล้าจะแย้งเขาออกไป เราได้แต่ตั้งคำถามอยู่ในใจ” ถั่วเขียว กล่าว

 

จนกระทั่งเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยถั่วเขียวพบว่า ระบบโซตัสยังคงแทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเอง

“ถึงแม้มหาวิทยาลัยจะบอกว่าให้ยกเลิกระบบโซตัสในทุกสาขาแล้ว แต่ว่ากลิ่นอายของการโซตัสและการใช้อำนาจเหนือยังมีอยู่ในมหาวิทยาลัย บางคณะเพื่อนเรายังโดนโซตัสมาจากรุ่นพี่ แต่เขาไม่กล้าที่จะแย้งเหมือนกัน เขามาปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไร เราจึงเกิดแคมเปญ "ยืนหยุดโซตัส" หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงตอนนี้เรายังโดนโซตัสกับตัวเองในมหาวิทยาลัย แต่เราพยายามที่จะแสดงออกให้กับทุกคนๆ ที่เขากำลังเผชิญกับการโซตัสอยู่และไม่กล้าออกมา เราจะเป็นปากเป็นเสียงให้เขา” ถั่วเขียว กล่าว

บรรยากาศการรณรงค์แคมเปญ "ยืนหยุดโซตัส" บริเวณอ่างแก้ว

วันที่ 28 มิ.ย. 2565 ภาพโดย สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์

 

ถั่วเขียว ระบุว่า ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขณะนี้รุ่นพี่ยังมีการนัดรุ่นน้องมารวมกันและทำการว้ากอยู่ หรือการบังคับในนักศึกษาปี 1 แต่งกายตามระเบียบของคณะ ใส่กระโปรงทรงเอ ไหว้รุ่นพี่ ถ้าใครไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษ เช่น ให้วิ่งรอบสนาม เป็นต้น “บางคนก็มาร้องในกลุ่มลูกช้าง มช. ว่าเมื่อไหร่รุ่นพี่จะเลิกบังคับให้ใส่ทรงเอสักที มันปั่นจักรยานลำบาก”

เมื่อถามว่า ระบบโซตัสละเมิดสิทธิเสรีภาพของรุ่นน้องที่เพิ่งเข้ามาเรียนอย่างไรบ้าง ถั่วเขียว ตอบว่า โซตัสเป็นระบบที่ละเมิดทั้งร่างกายและจิตใจ “การที่รุ่นพี่นัดมาตอนเที่ยงเราก็ไม่ได้กินข้าว ส่งผลต่อร่างกายแล้ว และการว้าก สายตา ท่าทางที่ดูมีอำนาจบาตรใหญ่ ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เราดูเป็นคนตัวเล็กๆ แล้วเขาเป็นยักษ์ตัวโต”

ถั่วเขียว คิดว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน และรุ่นพี่กับรุ่นน้อง สามารถเกิดขึ้นได้จากกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่โซตัส และสภาแวดล้อมการเรียนภายในมหาวิทยาลัยก็จะเอื้อให้คนภายในคณะเดียวกันได้ทำความรู้จักกันมากขึ้นอยู่แล้ว “มันจะบังคับให้เรารู้จักกันอยู่แล้วในการเรียน เราไม่จำเป็นต้องไปเต้น ไปร้องเพลง หรือไปทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อสานสัมพันธ์อะไรเลย”

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ถั่วเขียวไม่ต้องการส่งต่อระบบโซตัสให้แก่รุ่นถัดไปที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เนื่องจาก “เราอยู่ในยุคที่ทุกคนพยายามเรียกร้องสิทธิ และพร่ำบอกว่าคนเท่ากัน แต่กลับยังคงสืบทอดอำนาจ วัฒนธรรม และปลูกฝังทางความคิดโซตัสให้รุ่นน้อง แต่เขาก็ยังบอกเราว่าคนเท่ากัน โดยที่เขาไม่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง รุ่นพี่เองก็เคยโดนรับน้องมาก่อน เราอย่าลืมสิ่งที่เราเคยโดนแล้วหลงระเริงไปกับระบบโซตัส”

ภาพโดย สิ้นฝุ่น สูญศักดิ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net