Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

•    การใช้สารเสพติดในกลุ่ม LGBTQ+ นั้นมีอัตราสูงเมื่อเทียบกับเพศหญิงชาย หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเลือกใช้สารเสพติดคือประสบการณ์ด้านลบจากการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคม

•    การจะเข้ารับบริการบำบัดรักษายาเสพติดเป็นเรื่องยาก และยังตกเป็นเป้าของผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งมักใช้อำนาจในการละเมิดสิทธิ ส่วนกฎหมายเองก็มีส่วนสำคัญในการตีตราและกีดกันการเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ 

•    การทำความเข้าใจแนวคิดการลดอันตราย (Harm reduction) รวมทั้งการทำให้การใช้ยาเสพติดไม่ถือเป็นโทษทางอาญา (Decriminalisation) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนมุมมองอย่างแท้จริงเพื่อไม่เป็นการตีตราผู้ใช้และยังช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอีกด้วย

ในขณะนี้ที่การพูดถึงเรื่องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทยกำลังเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียม เราอยากส่องแสงไปถึงมุมเล็กๆ ในเรื่องที่ไม่เล็ก แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นต้องห้ามในสังคม นั่นก็คืออัตลักษณ์ทับซ้อนของกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีสถานะเป็นผู้ใช้สารเสพติดด้วย

รายงาน Situation Analysis of Substance Use Among LGBT Communities in Thailand ปี 2564 โดย United Nations Development Programme หรือ UNDP ประจำประเทศไทย ได้มีการสำรวจงานวิจัยจากหลายแหล่งที่มาซึ่งพบว่าการใช้สารเสพติดในกลุ่ม LGBTQ+ นั้นมีอัตราสูงเมื่อเทียบกับเพศหญิงชาย หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเลือกใช้สารเสพติดคือประสบการณ์ด้านลบจากการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคม ซึ่งมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือแนวคิดแบบ Binary (การมองเพศ 2 ขั้ว หญิง-ชาย)    

เมื่อพ่วงอัตลักษณ์การเป็นผู้ใช้ยาด้วยแล้ว การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคมยิ่งเข้มข้นขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือสังคม การจะเข้ารับบริการบำบัดรักษายาเสพติดก็เป็นเรื่องยากเพราะต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการที่ไม่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศและยังมีทัศนคติเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ ใช้คำพูดและประพฤติไม่เหมาะสม ไม่รักษาความลับ เป็นการลดทอนคุณค่าและทำให้คนไม่กล้าไปเข้ารับบริการ 

อีกหนึ่งอุปสรรคที่กลุ่ม LGBTQ+ ผู้ใช้ยาพบเจอคือการตกเป็นเป้าของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมักจะเกิดการละเมิดสิทธิระหว่างกระบวนการโดยเฉพาะการบังคับตรวจปัสสาวะ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ช่องทางจากอำนาจที่มีในการรีดไถสินบนแลกกับการปล่อยตัว ทั้งยังมีการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างที่ทำการคุมขังหรืออยู่ในเรือนจำ ท้ายที่สุดเมื่อพ้นจากเรือนจำก็จะมีประวัติคดีอาญาติดตัว ยิ่งถูกตีตรา ถูกเลือกปฏิบัติไม่สิ้นสุด 

“เมื่อเกี่ยวข้องกับยาเสพติดกลายเป็นผู้ใช้ยาก็ถูกมองเป็นคนไม่ดี เมื่อถูกจับต้องโทษก็กลายเป็นอาชญากรในสายตาของสังคม พอพ้นโทษออกมาก็หางานทำไม่ได้ ตกงาน จึงกลายเป็นคนเร่ร่อน ไร้บ้าน และวนเวียนเป็นวงจรชีวิตที่ไร้ศักดิ์ศรีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในดินแดนที่ถูกกล่าวว่าเป็นสวรรค์ของคนที่มีหลากหลายทางเพศ”

อันตรายที่เกิดขึ้นส่วนมากไม่ได้มาจากยาเสพติดเอง แต่เกิดจากกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย นี่คือคำบอกเล่าจากคุณทฤษฎี สว่างยิ่ง ผู้อำนวยการเครือข่ายสุขภาพและโอกาส (Health and Opportunity Network) ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่ม LGBTQ+ ผู้ใช้ยาในพื้นที่เมืองพัทยา เป็นการตอกย้ำว่ากฎหมายเองมีส่วนสำคัญในการตีตราและกีดกันการเข้าถึงโอกาสในด้านต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ 

ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ของไทย (พ.ศ. 2564) แม้จะมีการพูดถึงการเปลี่ยนมุมมอง “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย” และมาตรการเบี่ยงเบนคดี แต่ยังมีการกำหนดโทษแก่ผู้ใช้ยาเสพติดหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้ยาที่มีภาวะพึ่งพิงสารเสพติดถือเป็นส่วนน้อยจากทั้งหมด หลายคนสามารถควบคุมการใช้งานของตัวเองได้หากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารเสพติดที่ใช้ 

การทำความเข้าใจแนวคิดการลดอันตราย (Harm reduction) รวมทั้งการทำให้การใช้ยาเสพติดไม่ถือเป็นโทษทางอาญา (Decriminalisation) จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนมุมมองอย่างแท้จริงเพื่อไม่เป็นการตีตราผู้ใช้และยังช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอีกด้วย ทั้งนี้ศูนย์บริการต้องเรียนรู้ประเด็นความหลากหลายทางเพศและจัดให้มีบริการที่ครอบคลุมความเป็นอยู่ที่ดี และเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ต้องมีการจัดทำระบบรับเรื่องร้องเรียนและให้การช่วยเหลืออันเนื่องมาจากการละเมิดสิทธิทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือบุคคลอื่นใด

วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลกที่กำหนดขึ้นโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภาครัฐมักจะมีการรณรงค์ซึ่งเน้นไปที่การต่อต้านการข้องเกี่ยวกับยาเสพติดทุกรูปแบบ ส่วนภาคประชาสังคมที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้ยา ได้จัดตั้งแคมเปญในวันเดียวกันในชื่อว่า “Support. Don’t Punish.” (https://supportdontpunish.org/) โดยเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมในการสนับสนุนและไม่ลงโทษผู้ใช้ยา การสร้างความเกลียดชังไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปแบบคำพูด การกระทำ ตลอดจนนโยบาย ต่างสร้างผลกระทบทั้งสิ้น การสร้างความรู้ต่อสาธารณชนนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และเป็นพลังสำคัญในการลดอคติ ตลอดจนการตีตราระหว่างบุคคลอีกด้วย

ในโอกาสนี้ มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) และหน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Drug Policy Consortium) ขอเชิญคุณทำแบบสำรวจที่จะช่วยให้เข้าใจมุมมองของ LGBTQ+ ผู้ใช้ยาเพิ่มขึ้นได้ที่ลิงค์นี้: https://forms.gle/GigWx7Lt9XZprny27
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net