ผู้ว่าฯ กทม. รับข้อเสนอ 'สภาองค์กรของผู้บริโภค' ปมปัญหาอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. รับข้อเสนอขององค์กรของผู้บริโภค เรื่องราคาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดมีข้อสรุปอาทิตย์หน้า ด้านผู้บริโภคกรุงเทพฯ เสนอบูรณาการขนส่งมวลชนเชื่อมโยงทุกระบบ

29 มิ.ย.2565 วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม แวนด้า 4 ชั้น 2 โรงแรมรามาการ์เดน เขตหลักสี่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหารือการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมี ผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม 

สภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีข้อเสนอสำคัญต่อการแก้ปัญหาการกำหนดอัตราค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 6 ข้อ เพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อยุติไม่เป็นภาระและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

  • 1) ยุติแผนระยะสั้นในการเก็บค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดไม่เกิน 59 บาทโดยทันที
  • 2) เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดร่างสัญญาสัมปทานที่กำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุด 65 บาท และสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2584 และแก้ไขสัญญาจ้างเดินรถให้สิ้นสุดพร้อมกันในปี 2572
  • 3) กำหนดค่าบริการในอัตราสูงสุดใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกสายทุกระบบที่ 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  • 4) กำหนดสัดส่วนของค่าบริการขนส่งมวลชนต่อรายได้ขั้นต่ำของประชาชนต่อวันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงและใช้บริการได้
  • 5) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องเป็นผู้นำการเจรจาร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในการนำโปรโมชั่นเที่ยวเดินทาง 30 วันกลับมาดังเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภคและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงระบบบริการรถไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น
  • 6) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนผู้บริโภคตามกฎหมายร่วมเป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานด้านขนส่งและยานพาหนะของหน่วยงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อเสนอทั้งหมดสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณาแล้ว โดยในประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวลเรื่องราคา 59 กับ 44 บาท เป็นช่วงที่อยู่ในระยะสั้นก่อนหมดสัญญาสัมปทาน แต่ยังมีส่วนต่อขยายอีก 2 ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร ส่วนราคาตรงกลางคือ 44 บาท สูงสุดอยู่แล้ว ซึ่งต้องคำนวนตัวเลขดูว่ากรอบ 44 บาท หรือ 59 บาท ทางกทม.ต้องชดเชยเงินเท่าไร เพราะหากกำหนดให้ 44 บาทสูงสุด ก็คือวงเงินส่วนตรงกลางที่เอกชนได้สัมปทานอยู่ ถ้าวิ่งออกมาที่ส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย กทม.ก็จะไม่ได้เงินเลย เพราะกำหนดสูงสุดไว้ที่ 44 บาท จึงต้องคำนวนตัวเลขมาให้เปรียบเทียบกับสายอื่น ซึ่งต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าไร ส่วนเรื่องที่เสนอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมารวมถึงตั๋วนักเรียนต้องไปเจรจากับทางบีทีเอสต่อไป

สำหรับการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 - 2585 มีข้อหนึ่งในสัญญาห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ซึ่งต้องไปดูว่า กทม.มีสิทธิจะเปิดเผยหรือไม่ ขณะนี้ได้สัญญามาแล้ว ต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้กำหนดสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานของ กทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท ต้องไปดูรายละเอียดเช่นกัน โดยปัญหาหลักที่ค้ำอยู่คือการจ้างเดินรถปี 72 - 85 ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้ามานานแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่สูงประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งกำลังหาทางดำเนินการอยู่

“ต้องขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ทำให้เรามีจุดได้คุยกับตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้บีทีเอส ก็ต้องดูให้สมดุล เราไม่สามารถนำเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอสมาจ่ายให้กับคนที่ใช้บีทีเอสได้ ซึ่งจะต้องไปเรียนให้สภา กทม. ทราบด้วยว่า สุดท้ายแล้วถ้าเราใช้ราคา 44 บาท กทม.ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไร เงินส่วนนี้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้ ภายในสัปดาห์หน้า ทางกรุงเทพธนาคม (เคที) น่าจะมีข้อสรุป” ชัชชาติ กล่าว

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอให้.กทม.เปิดเผยสัญญาสัมปทานและสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว และเสนอให้ กทม. พิจารณา ตั๋วร่วมรถไฟฟ้าทุกสาย และเรื่องการบูรณาการการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ขอให้พัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีความเชื่อมโยงกันใช้บัตรเดียวกัน และสามารถใช้ระบบเชื่อมต่อได้ เช่น นั่งรถไฟฟ้าต่อรถเมล์ ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และที่สำคัญขอให้ราคารถไฟฟ้า ไม่เกิน 25 บาท

ที่มา : เฟซบุ๊กแฟจเพจ 'กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์', มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท