Skip to main content
sharethis

'สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน' (สนส.) พร้อมทนายความหญิงที่เคยถูกศาลตำหนิจากการสวมกางกางขณะว่าความ ร้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตรวจสอบข้อบังคับสภาทนายความฯ ที่ห้ามทนายความหญิงสวมกางเกงขึ้นว่าความ เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

 

30 มิ.ย. 2565 วานนี้ (29 มิ.ย. 2565) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) พร้อมทนายความหญิงที่เคยถูกศาลตำหนิจากการสวมใส่กางกางขณะที่ว่าความ เข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อตรวจสอบว่า ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 ระบุว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น...” ว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศหรือไม่ อย่างไร

สนส. รายงานว่า จากกรณีที่มีทนายความหญิงได้แจ้งมาที่ สนส. ว่าถูกศาลตำหนิกรณีสวมใส่กางเกงในเวลาว่าความ ซึ่งขณะนั้นเป็นการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ (พิจารณาคดีออนไลน์) ซึ่งทนายความหญิงถูกผู้พิพากษาตำหนิตามที่มีรายงานกระบวนพิจารณาคดี โดยระบุว่า “...เนื่องจากในวันนัดพิจารณาเพื่อไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยาน.....ทนาย....ซึ่งเป็นผู้หญิงสวมกางเกงขณะปฏิบัติหน้าที่และศาลได้มีหนังสือแจ้งสภาทนายความแล้วจึงกำชับทนาย...ให้แต่งกายให้ถูกต้องตามคำบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ. 2529 ข้อ 20 (2) และ (4) และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 16 วรรคสอง (2) แม้จะเป็นการดำเนินการดำเนินกระบวนพิจารณาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หากตรวจพบว่าทนาย....ซึ่งเป็นผู้หญิงสวมกางเกงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งจะพิจารณาสั่งตามที่เห็นสมควรต่อไป...”

จากข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 5 มรรยาทในการแต่งกาย ข้อ 20 ระบุว่า “ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ (2) ทนายความหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีสุภาพไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น...” และหากพิจารณาตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 ระบุว่า “ทนายความต้องประพฤติตนตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ การกำหนดมรรยาททนายความให้สภาทนายความตราเป็นข้อบังคับมรรยาททนายความ...” และมาตรา 52 ระบุไว้ว่า “โทษผิดมรรยาททนายความมี 3 สถานคือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ...” ทำให้เห็นว่าหากทนายความหญิงสวมกางเกงเวลาว่าความ จะเป็นการแต่งกายที่ผิดข้อบังคับมารยาททนายความ และมีโทษตามมาตรา 52 ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่ร้ายแรงเกินสมควรในกรณีการแต่งกายที่ผิดมารยาทตามข้อบังคับบังคับดังกล่าวข้างต้น

ขณะที่ ข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ข้อ 17 ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 กล่าวคือ สามัญสมาชิก สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตตามกฎหมายว่าด้วยเสื้อครุยเนติบัณฑิต เมื่อสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต สมาชิกจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

(1) สมาชิกที่เป็นชาย แต่งตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาว ผ้าผูกคอสีดำแบบเงื่อนกลาสี รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล หรือดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า

(2) สมาชิกที่เป็นหญิง แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่นซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด เสื้อสีขาว หรือสีตามกระโปรง รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาล สีดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย...”

 

นอกจากนั้น สนส. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากทนายความหญิงที่สวมใส่กางเกงในเวลาว่าความ ถูกตำหนิจากผู้พิพากษา ทั้งนี้แม้จะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา แต่การที่ทนายความหญิงผู้สวมใส่กางเกงในเวลาว่าความ ถูกผู้พิพากษาตำหนิ ตลอดจนถึงถูกทนายความด้วยกันเองตำหนิ หรือถูกเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ตั้งคำถาม เป็นการทำให้ทนายความหญิงที่แต่งกายใส่กางเกง มีปัญหากับการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ และข้อบังคับของสภาทนายความฯ และข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาดังกล่าง ซึ่งกำหนดการแต่งกายให้เพศชายใส่กางเกง และเพศหญิงใส่กระโปรงนั้นเป็นการแบ่งแยก กีดกันและจำกัดสิทธิของทนายความหญิง

เกี่ยวกับการแต่งกายของทนายความหญิง สนส. ได้ดำเนินการยื่นขอแก้ไขข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529  แล้วแต่สภาทนายความ  สภาทนายความฯ ได้มีหนังสือตอบกลับสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน วันที่ 22 กรกฎาคม 2563  “…เนื่องจากในข้อบังคับฯ ดังกล่าวมิได้ห้ามทนายความหญิงมิให้สวมใส่กางเกงว่าความไว้ ในชั้นนี้เห็นว่ายังไม่มีเหตุผลอันสมควรในการแก้ไขข้อบังคับฯ” นอกจากนี้สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานประธานศาลฎีกาให้ประกาศแนวปฏิบัติว่าทนายความหญิงสามารถแต่งกายโดยสวมกางเกงว่าความในศาลได้ สำนักงานประธานศาลฎีกาได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เนื้อความระบุว่า “…การแต่งกายของบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความในเวลาว่าความนั้น หากบุคคลนั้นมีสิทธิสวมครุยเนติบัณฑิต ย่อมต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย ตามข้อ 20(4) ของข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 รวมทั้งต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ด้วย”  และ วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังได้ยื่นหนังสือถึงเนติบัณฑิตยสภา ให้แก้ไขข้อ 17 แห่งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 แต่ทางเนติบัณฑิตยสภายังไม่มีการดำเนินตอบกลับแต่อย่างใด

ข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ. 2529 และตามข้อ ๑๗ ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507  ขัดต่อ มาตรา 27 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ซึ่งรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน  ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้  เนื่องจากข้อบังคับดังกล่าวนั้นกำหนดให้ชายและหญิงแต่งกายตามเพศกำเนิด ซึ่งสาระสำคัญของอาชีพทนายความหรือการเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภานั้นเป็นเรื่องความรู้ความสามารถ มิใช่การแต่งกายตามเพศกำเนิด การกำหนดว่าเพศใดต้องแต่งกายลักษณะใดทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะในการทำงานย่อมถือว่าเป็นการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญเหมือนกัน แตกต่างกันเพราะเหตุแห่งเพศ การเลือกปฏิบัติทางเพศนั้นยังขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ใน #ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 2 ซึ่งรับรองว่า “ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวง ตามที่กําหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการ แบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือ ทางอื่น พื้นเพทางชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจาก จะไม่มีการ แบ่งแยกใดบนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของ ประเทศ หรือ แดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้ จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครอง ตนเอง หรือ อยู่ภายใต้ การจำกัด อธิปไตยอื่นใด”

หลักการห้ามเลือกปฏิบัติยังรับรองอยู่ในอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women)  ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ ๑๑  ของอนุสัญญาดังกล่าวยังรับรองว่า “รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัด การเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการจ้างงาน เพื่อที่จะประกันสิทธิอย่าง เดียวกันบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.....( ค ) สิทธิในการเลือกอาชีพและการทำงานได้อย่างเสรี สิทธิในการได้เลื่อนตำแหน่ง ความปลอดภัยในการทำงาน และผลประโยชน์รวมทั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริการทั้งปวง และสิทธิที่ได้รับการฝึก และการฝึกซ้ำด้านอาชีพ รวมทั้งภาวะการเป็นผู้ฝึกงาน การฝึก และการฝึกซ้ำด้านอาชีพระดับสูง...”  ผู้ร้องขอเรียนต่อคณะกรรมการวลพ.ว่า สิทธิในการแต่งกายนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้ผู้ร้องจะอยู่ภายใต้การควบคุมทางวิชาชีพซึ่งเป็นมาตรฐานสังคม แต่การแต่งกายของผู้ร้องนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสาระสำคัญในวิชาชีพของผู้ร้อง ผู้ร้องถูกเลือกปฏิบัติจากการแต่งกายเพราะเหตุทางเพศซึ่งไม่อาจยอมรับได้ ผู้ร้องและเพื่อนร่วมวิชาชีพไม่ควรตกภายใต้การบังคับใช้ของกฎเกณฑ์ที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ไม่ได้ส่งผลใดๆต่อความสามารถทางวิชาชีพ อันเป็นสาระสำคัญของความเป็นวิชาชีพแต่อย่างใด

ทั้งนี้หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม เช่น องค์กรอัยการ ซึ่งมีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับงานว่าความของทนายความเช่นเดียวกัน ได้กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการแต่งกายของข้าราชการอัยการหญิงไว้ในระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายของข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2556 ข้อ 26(1)(ง) ซึ่งกำหนดให้ข้าราชการอัยการหญิงสวมกางเกงปฏิบัติงานได้ โดยกำหนดว่า “…(ง) กางเกง กระโปรงข้าราชการอัยการชาย ให้ใช้กางเกงขายาวสีดำหรือสีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ ไม่พับปลายขา ทรงสุภาพ คาดเข็มขัดแบบสุภาพ ข้าราชการอัยการหญิง ให้ใช้กระโปรงทรงสอบหรือทรงตรง ความยาวระดับเข่า หรือกางเกงขายาวสีดำหรือ สีกรมท่าเข้มหรือสีสุภาพ…” แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานราชการเองก็มีการปรับการแต่งกายของข้าราชการหญิงให้เข้ากับยุคสมัยและบริบทของการทำงานในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากข้าราชการตำรวจ พนักงานอัยการ และหน่วยงานราชการอื่นๆที่ข้าราชการหญิงสวมเครื่องแบบเป็นกางเกงชุดกากีตามแบบข้าราชการชายได้เช่นเดียวกัน และการแต่งกายดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ตามวิชาชีพแต่อย่างใด

ข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 และตามข้อ 17 ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 เข้าข่ายนิยามตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.ข้อบังคับดังกล่าว เป็นการกระทำที่แบ่งแยก กีดกัน และจำกัดสิทธิของผู้ร้องโดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่ทนายความหญิงมีเพศกำเนิดเป็นหญิง อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เรื่องเสร็จที่ 04/2565  ซึ่งแม้ว่ากรณีดังกล่าวผู้ร้องจะมีเพศกำเนิดเป็นชาย และมีเพศสภาพเป็นหญิงก็ตาม แต่สาระสำคัญของคดีนั้นเป็นการบังคับการแต่งกายเพราะเหตุแห่งเพศ โดยไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะงานตามวิชาชีพเช่นเดียวกัน อนึ่งการทำหน้าที่ทนายความไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งกาย ทนายความหญิงและเพื่อนร่วมวิชาชีพยังยินดีที่แต่งกายสุภาพตามแบบสากลเช่นเดิมการแต่งกายของทนายความหญิงที่สวมใส่กางเกง ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณา การดำเนินคดีในชั้นศาลควรเน้นเรื่องการอำนวยความเป็นธรรม ความเป็นมืออาชีพของทนายความมากกว่าการแต่งกายตามเพศกำเนิด

ทนายความหญิง จึงมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการให้ดำเนินการขจัดอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ตามวิชาชีพ เพราะเหตุการณ์แบ่งแยก กีดกัน และจำกัดสิทธิอันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศโดยไม่เป็นธรรม หากการกระทำในลักษณะดังกล่าว หรือข้อบังคับข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความพ.ศ.2529  และข้อ 17 ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ยังดำรงอยู่ต่อไปข้อบังคับดังกล่าวก็จะกลายเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญของการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม

 

คำขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ดำเนินการ ดังนี้

 

(1) ขอให้คณะกรรมการ วลพ. ทำหนังสือชี้แจงต่อ สำนักงานศาลยุติธรรม สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา ว่าการบังคับใช้ข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ  พ.ศ.2529  และตามข้อ 17 ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

(2) ขอให้สภาทนายความฯ แก้ไขข้อ 20 ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเสนอให้สภาทนายความฯ กำหนดการแต่งกายของสมาชิกให้เป็นการแต่งกายสุภาพตามแบบสากลโดยไม่กำหนดเพศ ตัวอย่างเช่น โดยเสนอให้ใช้ถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ทนายความ แต่งกายตามแบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเขาหรือกางเกงทรงสากลไม่พับปลายขา ร้องเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด”

(3) ขอให้เนติบัณฑิตยสภา แก้ไขข้อ 17 ของข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยเสนอให้เนติบัณฑิตยสภา กำหนดการแต่งกายของสมาชิกให้เป็นการแต่งกายสุภาพตามแบบสากลโดยไม่กำหนดเพศ ตัวอย่างเช่น โดยเสนอให้ใช้ถ้อยคำดังต่อไปนี้ “ เมื่อสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต สมาชิกจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย  แต่งกายตามแบบสากลนิยมหรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาว กระโปรงยาวคลุมเขาหรือกางเกงทรงสากลไม่พับปลายขา ร้องเท้าหุ้มส้น ทั้งนี้เครื่องแต่งกายต้องเป็นสีสุภาพไม่ฉูดฉาด”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net