สงครามปกป้องสถาบันที่ไม่มีวันจบของอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ผีทักษิณ กับสิ่งที่ทิ้งไว้ในการเมืองไทย

จากมุมมองเชิงอุดมการณ์ ขบวนการพันธมิตรฯ และ กปปส. ยืนอยู่ฝั่งขวา แต่ยังขวาไม่พอสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ที่มุ่งปกป้องสถาบันหลัก-ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สงครามที่ไม่มีวันจบลงได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคนชื่อทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นภัยคุกคามหนึ่งที่เรียกมวลชนได้ดี มรดกบาปที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วทิ้งไว้คือการดึงทหารกลับเข้าสู่การเมือง

  • กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วคือกลุ่มที่มีอุดมการณ์มุ่งเน้นการปกป้อง 3 สถาบันหลัก ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้นกว่าการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มนี้ประกอบด้วยสันติอโศกและนายทหารเกษียณ
  • บทบาทของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วในพันธมิตรฯ และ กปปส. คือการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและการระดมทรัพยากรในการชุมนุม
  • วสุชนแบ่งพัฒนาการของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่สันติอโศกกับกลุ่มนายทหารยังไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ให้การสนับสนุนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการจัดการชุมุนม ช่วงที่ 2 เป็นช่วงหลังจบการยึดสนามบินของพันธมิตรฯ โดยทั้งสองกลุ่มเห็นตรงกันว่าการปกป้องสถาบันยังไม่จบ จึงร่วมมือเชื่อมโยงกัน ช่วงที่ 3 คือช่วงที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเกิดความขัดแย้งกับปีกอื่นๆ ในอดีตพันธมิตรฯ โดยมีประเด็นเขาพระวิหารเป็นประเด็นหลัก และช่วงที่ 4 ที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเรียนรู้ว่าการทะเลาะกับกลุ่มอื่นในปีกเดียวกันไม่ส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหว ทำให้หวนกลับไปสมานความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นอีกครั้งและชูการต่อต้านทักษิณ
  • กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเปิดทางให้ทหารกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้อีกครั้งโดยไม่เคอะเขิน
  • สำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว โดยเฉพาะกลุ่มสันติอโศกการปกป้องสถาบันเป็นภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด จากความเชื่อเรื่องบาป-บุญที่ว่า คนจะเกิดมาในชนชั้นใดเป็นผลจากบาปและบุญ ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใดย่อมเป็นผู้มีบุญที่ต้องปกป้อง

นับจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ขบวนมวลชนใหญ่ที่สร้างเงื่อนไขการรัฐประหารทั้งสองครั้ง เราอาจมองว่าทั้งสองกลุ่มเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มุ่งปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ วสุชน รักษ์ประชาไท อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสน์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งคำถามว่าอาจไม่เป็นอย่างนั้น

‘กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว’ เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งในร่มเงาใหญ่ที่มีอุดมการณ์ชัดเจนในการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ทักษิณ ชินวัตร เป็นภัยคุกคามหนึ่งของสงครามที่ไม่มีวันจบ เพียงแค่ ‘ผีทักษิณ’ เรียกมวลชนได้ดีกว่า ‘ขวาสุดขั้ว’

วสุชนชวนทำความรู้จักและเข้าใจ ‘กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว’ กับมรดกที่กลุ่มนี้ทิ้งไว้ให้กับสังคมไทย

อนุรักษ์นิยมสุดขั้วกับผีทักษิณ

จากความสงสัยส่วนตัวของวสุชนที่สังเกตเห็นญาติเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่ทักษิณ ชินวัตร แต่ก็มีการเลือกว่าการชุมนุมไหนจะไปหรือไม่ไป ทั้งที่ขบวนการต่อต้านทักษิณก็มีเพียง 2 ขบวนใหญ่คือพันธมิตรฯ และ กปปส. ต่างก็มีแนวทางอนุรักษ์นิยมเหมือนกัน กล่าวคือมีการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

หรือว่าความเป็นอนุรักษ์นิยมยังมีขบวนการย่อยๆ ที่มีลักษณะปกป้องชาติ ศาสนา กษัตริย์ของขบวนการต่อต้านทักษิณในภาพใหญ่ เป็นขบวนการย่อยๆ ที่ออกมาปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่เข้มข้นกว่าการต่อต้านทักษิณ เข้มข้นกว่าพันธมิตรฯ หรือกระทั่ง กปปส. ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว’

“จากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ กลุ่มที่เรียกว่าสุดขั้วมีทั้งกลุ่มสันติอโศก ทั้งในส่วนของแกนนำและมวลชนเอง รวมไปถึงกลุ่มนายทหารอาวุโส ทหารเกษียณที่เขามาอยู่ในเวทีการชุมนุม ขึ้นเวทีบ้าง อยู่หลังเวทีบ้าง พวกเขาเหล่านี้เห็นว่าการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มีความสำคัญมากกว่าการขับไล่ระบอบทักษิณ”

ขณะที่กลุ่มไม่สุดขั้วมุ่งไปที่การขับไล่ทักษิณเป็นหลัก อาจชูเรื่องการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นองค์ประกอบเพราะเชื่อว่าทักษิณต้องล้มล้างสถาบัน ผิดกับสันติอโศกและกลุ่มทหารอาวุโสที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป้าหมายหลักไม่ใช่ระบอบทักษิณ แต่ต้องการออกมาปกป้องสามสถาบันหลักของชาติ ซึ่งวสุชนเห็นว่าจุดนี้คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมปกติ

‘ประชาไท’ ซักถามว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วต้องการปกป้องสามสถาบันหลักจากอะไร?

“จากภัยอันตราย Everything” วสุชนตอบ ก่อนขยายความเพิ่ม “ต่อให้ไม่มีทักษิณเขาจะปกป้องจากอะไร หากย้อนไปช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ มีกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติปกป้องดินแดนออกมาเคลื่อนไหว ผมมีโอกาสไปสัมภาษณ์คนที่อยู่อุบลราชธานี ใกล้กับกลุ่มคนที่อยู่จังหวัดศีรษะเกสใกล้เขาพระวิหาร เขาก็ยังคิดว่าต้องปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่เพราะภัยสามารถมาได้ทุกรูปแบบ เคสนี้ที่ไปสัมภาษณ์เขาเล่าไปถึงขนาดว่าการเสียดินแดนเขาพระวิหารจะทำให้ไทยเสียดินแดนอื่นต่อๆ หรือว่าเสียเอกราชอย่างในสมัยยุคสงครามเย็นเลย เขาก็ไปเชื่อมถึงยุคสงครามเย็น เขามีความรู้สึกว่าช่วงที่เขาอายุก่อน 6 ตุลา เขามีโอกาสเข้าร่วมกับลูกเสือชาวบ้าน ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ถึงยุคนี้เขาก็มีหน้าที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผมว่าน่าสนใจว่าไม่มีทักษิณทำไมเขายังปกป้องอยู่ ทุกคนเหมือนเป็นแนวเดียวกันว่าทักษิณเป็นภัยหนึ่ง ถ้ามีม็อบเด็ก ม็อบอื่น ต่างชาติ เขาพร้อมปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

สันติอโศกกับนายทหารเกษียณ

ขบวนการต่อต้านทักษิณมีความต่อเนื่องยาวนานเป็นทศวรรษ ขบวนการพันธมิตรฯ ถึง กปปส. เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2557 มีการเคลื่อนไหวในลักษณะของขบวนการใหญ่ มีหลายองคาพยพรวมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งมีการเคลื่อนไหวใหญ่ 3 ครั้ง ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วมีความเคลื่อนไหวโดยตลอด เป็นที่มาของบทบาทในการสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะว่ามีกลุ่มคนเสื้อเหลืองชุมนุมอยู่ตลอด

“ผมมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มสุดขั้วเหล่านี้ต่อให้ไม่ได้เคลื่อนไหวแบบมาจำนวนเยอะๆ ต่อเนื่อง แต่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก การชุมนุมย่อยของเขาทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพเป็นการสร้างห้วงเวลาของการต่อต้านทักษิณไปเรื่อยๆ พันธมิตรฯ ปี 2551 กับ กปปส. ปี 2556 ถึง 2557 มันต่างกันตั้งสี่ห้าปี แต่ทำให้เรารู้สึกมีความต่อเนื่องกัน กปปส. คือภาคต่อของพันธมิตรฯ กลุ่มสุดขั้วที่เคลื่อนไหวย่อยๆ เขาสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะให้การต่อต้านทักษิณมันต่อเนื่องไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ”

บทบาทที่ 2 คือการระดมทรัพยากรให้แก่การชุมนุม หากดูการจัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสันติอโศก คนไทยหัวใจรักชาติ องค์การพิทักษ์สยามของบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธอ้าย กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ไม่มีมวลชนของตัวเองเป็นจำนวนมาก แต่มีความสามารถในการระดมทรัพยากรสนับสนุนการชุมนุม

วสุชนยกตัวอย่างชุมชนสันติอโศกว่า ในการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีการกำหนดว่าจะระดมคนจากชุมชนสันติอโศกจังหวัดใด มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน ทำให้ชาวสันติอโศกกลายเป็นด่านหน้าในการยึดพื้นที่และอยู่ในพื้นที่การชุมนุมต่อเนื่องยาวนานช่วยให้การชุมนุมในภาพรวมดำเนินไปในระยะยาวได้

ส่วนกลุ่มทหารอาวุโสทำหน้าที่ระดมทุนเป็นหลักโดยอาศัยเครือข่ายที่ตนมี

พัฒนาการ 4 ช่วงของอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว

“เขามีความคิดมาก่อนวิกฤตทักษิณเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ความคิดที่ว่าการเมืองคนดีหรือศาสนานำการเมือง อย่างสันติอโศกคิดว่าศาสนามีคุณค่ามากกว่าเรื่องทางการเมือง คนที่นับถือศาสนา คนที่ปฏิบัติธรรมควรมีสิทธิมากกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติธรรม ในขณะที่กลุ่มนายทหารเขามีการปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์การเมือง หมายถึงว่าเขาไม่ได้อยู่ในการเมืองแต่เป็นผู้พิทักษ์การเมือง เมื่อไหร่ที่เห็นว่าการเมืองไม่ดี สถาบันโดนคุกคาม เขาถือเป็นหน้าที่ของเขา เป็นสิทธิของเขาที่จะแทรกแซงการเมืองได้ เขามีความคิดนี้ก่อนจะมาเข้าขบวนการต่อต้านทักษิณแล้ว”

และกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเหล่านี้ก็ส่งผลให้ขบวนการใหญ่เดินออกขวามากขึ้นเรื่อยๆ วสุชนแบ่งพัฒนาการของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วไว้ 4 ช่วง

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่สันติอโศกกับกลุ่มนายทหารไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกันมาก่อน ต่างฝ่ายต่างมา วสุชนเล่าว่านายทหารที่สนับสนุนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรของสนธิ ลิ้มทองกุล ยังคงรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองเป็นผู้มาก่อนกาล ก่อนเกิดพันธมิตรฯ โดยทำหน้าที่ระดมทุนให้ ส่วนสันติอโศกสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการจัดการชุมุนม

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงหลังจบการยึดสนามบินของพันธมิตรฯ แม้ว่าพันธมิตรฯ ได้ประกาศสำเร็จภารกิจแล้ว แต่ทั้งสองกลุ่มเห็นตรงกันว่าการปกป้องสถาบันยังไม่จบ ต้องทำต่อเนื่อง เกิดการร่วมมือเชื่อมโยงกันผ่านจำลอง ศรีเมือง เกิดเป็นกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ มีการออกไปเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด ในชุมชนสันติอโศกตามจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ช่วงที่ 3 คือช่วงที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเกิดความขัดแย้งกับปีกอื่นๆ ในอดีตพันธมิตรฯ ด้วยกัน ตรงกับช่วงรัฐบาลอภิสิทธิปี 2554 โดยมีประเด็นเขาพระวิหารเป็นประเด็นหลัก

“ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่กลุ่มสุดขั้วมีความขัดแย้งกับปีกอื่นๆ มีการตั้งคำถามว่าทำไมปีกอื่นๆ ไม่ขวาเท่า บอกว่าคนที่เคยต่อต้านทักษิณมาด้วยกันหรือออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ไม่ใช่ของจริง ในขณะที่เขาคือตัวจริง สัมภาษณ์ตอนปลายปี 2562 เขาก็ยังคิดอยู่ว่าเขาคือตัวจริง ต่อให้เขาจะมารวมชุมนุม กปปส. แต่คนกรุงเทพฯ ที่ออกมาร่วมกับ กปปส. ไม่ใช่ตัวจริงแบบเขา เขาไม่ได้ยึดติดอยู่กับตัวบุคคล ที่ชื่นชอบพรคคประชาธิปัตย์ ต่อให้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะทำอะไรก็แล้วแต่เขาก็ยังด่าได้เหมือนเดิม ผมนั่งไล่คลิปในยูทูบที่มีการปราศรัยบนเวทีช่วงนั้นพบว่ามีการปราศรัยด่ารัฐบาลอภิสิทธิ์พอๆ กับทักษิณด้วยซ้ำ เพราะปล่อยให้ต่างชาติมายึดดินแดน ยึดเอกราชของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากของคนปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

ความขัดแย้งดังกล่าวนำมาสู่ช่วงที่ 4 ที่มีการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ องค์การพิทักษ์สยามของเสธ.อ้าย ในช่วงปี 2555 แต่จุดกระแสไม่ติด กลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วจึงเรียนรู้ว่าการทะเลาะกับกลุ่มอื่นในปีกเดียวกันไม่ส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหว ทำให้หวนกลับไปสมานความขัดแย้งกับกลุ่มอื่นอีกครั้ง หยุดโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ และหวนกลับมาชูการต่อต้านทักษิณ

“ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วย แต่อีกเหตุผลหนึ่งเราวิเคราะห์ไปได้ว่าเขาเหมือนทดลองแล้วว่าประเด็นเรื่องดินแดนไม่สามารถเรียกคนหรือออกมาปกป้องสถาบันได้เท่าเรื่องทักษิณ เรื่องทักษิณมันครองใจให้คน คนที่ไม่ได้ไปสุดขั้ว คนที่ไม่เอาทักษิณ แล้วเชื่อว่าทักษิณล้มเจ้า เรียกคนออกมาเคลื่อนไหวได้มากกว่า สะท้อนผ่านการเปลี่ยนประเด็นจากปกป้องชาติมาเป็นต่อต้านทักษิณ เขาตั้งกองทัพประชาชนโค้นระบอบทักษิณ จะเห็นว่าคำว่าทักษิณมันกลับมา คือคนไทยหัวใจรักชาติ ไม่มีคำว่าทักษิณ มันไปไม่รอด เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การพิทักษ์สยามก็ยังไปไม่รอด”

นอกจากนี้ ช่วงที่ 4 จุดสำคัญอีกประการคือการเปลี่ยนบทบาทตนเองในการเคลื่อนไหว โดยไม่ได้วางกลุ่มตนเป็นกลุ่มหลักในการเคลื่อนไหว แต่เพื่อปลุกกระแส สร้างสถานการณ์ว่าประเทศกำลังมีภัย เพื่อให้กลุ่มที่มีศักยภาพมากกว่าออกมาจัดการชุมนุมได้โดยชอบธรรมมากขึ้นซึ่งก็คือ กปปส.

“ถามว่าทำไมผมถึงวิเคราะห์อย่างนี้ เพราะจากการสัมภาษณ์แกนนำทหารในกลุ่มนี้ เขาอธิบายด้วยความภาคภูมิใจว่าในการเคลื่อนไหวมันมียุทธศาสตร์อยู่ เวลาทำม็อบต้องสร้างสถานการณ์บางอย่างเพื่อส่งไม้ต่อให้ม็อบอื่นด้วย ทำให้ผมไปเสิร์ชข่าวหรือการเคลื่อนไหวของม็อบประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ก็พบว่าการเคลื่อนไหวของเขาคือคนมาร่วมน้อยมาก เขาก็เคลื่อนไปเหมือนสร้างสถานการณ์ ส่งสัญญาณว่าม็อบอื่นๆ ขวาอื่นๆ คุณออกมาได้แล้ว เราเป็นตัวชนให้แล้ว ผมคิดว่ามันเป็นความสำคัญของช่วงที่ 4 ของกลุ่มสุดขั้ว สันติอโศกกับนายทหารที่ปรับตัวในแง่ประเด็นและแนวทางการเคลื่อนไหว”

สิ่งที่ทิ้งไว้

การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดขั้วนี้เองได้เปิดพื้นที่ให้ทหารมีบทบาททางการเมืองโดยไม่เคอะเขิน ภายหลังต้องกลับเข้ากรมกองไปนับตั้งแต่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

ผู้ชุมนุม กปปส. ที่มีสัญลักษณ์ทั้งจากพันธมิตรฯ แลก กปปส.

“กลุ่มสุดขั้วทำอย่างไร หากเราไปดูการชุมนุมจากปี 2549 ถึง 2557 จะเห็นว่าทหารมีส่วนร่วมบทเวทีชุมนุม หรือในการก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวมากขึ้นทีละสเต็ป อย่างตอนสนธิตั้งแต่ปี 2548 2549 เขาสนับสนุนหลังเวทีบ้าง ใส่ชุดปกติมาบ้าง แต่พอปี 2551 คุณปฐมพงษ์ เกษรสุข ใส่ชุดทหารเต็มยศขึ้นไปบนเวทีแล้วประกาศว่าเขาเป็นทหารผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

หลังจากนั้นก็มีนายตำรวจและนายทหารใส่เครื่องแบบทยอยขึ้นเวทีชุมนุมต่างๆ โดยต่อเนื่อง จากความผิดแปลกกลายเป็นความปกติ เกิดการยอมรับ เกิดความคิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แล้วก็เกิดรัฐประหารปี 2557 ขึ้นในที่สุด

“ผมถามว่าการปกป้องสถาบันคิดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คนสันติอโศกตอบว่ามันไม่มีสิ้นสุด เหตุผลสนับสนุนของเขาคือเรื่องบาปและบุญ มันเป็นความเชื่อของคนสันติอโศกที่หนักแน่นมาก เขาอธิบายว่าแต่ละคนที่เกิดมาอยู่ชนชั้นอะไรอยู่ที่บาปและบุญ เกิดมาเป็นคนใหญ่คนโตหรือเป็นกษัตริย์เขาต้องมีการสั่งสมบุญมาแล้ว เพราะฉะนั้นต่อให้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ใดคือหนึ่งเดียว คือผุ้มีบุญ เขาต้องปกป้องผู้มีบุญ”

วสุชนอธิบายในช่วงท้ายว่าการมองว่าพันธมิตรฯ และ กปปส. เป็นขบวนการที่มีมวลชนปกป้องสถาบันจำนวนมากอาจไม่เป็นจริง  เขาตั้งคำถามว่ามวลชนที่ออกมาจำนวนมากเพราะประเด็นเชื่อมโยงกับทักษิณหรือไม่ กล่าวคือถ้าไม่มี ‘ผีทักษิณ’ ประเด็นขวาสุดขั้วก็อาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในกลุ่มคนเสื้อเหลือง

“หากเราดูบริบทปัจจุบัน กลุ่มปกป้องสถาบันกลุ่มต่างๆ ยังมีคนร่วมไม่เยอะ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องพูดถึงทักษิณก็ได้ หมายถึงเขาอาจจะไม่ได้กลัวผีทักษิณขนาดนั้น แต่เป็นประเด็นที่ทำให้เขาต้องปกป้องสถาบันต่อหรือเปล่า อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ยังไม่รู้ว่าถูกหรือผิดเพราะไม่ได้ศึกษาเฉพาะ แต่เป็นข้อสังเกตเล็กๆ ที่น่าสนใจ เพราะพื้นที่สุดขั้วในสังคมจริงๆ ไม่ได้เยอะขนาดนั้น”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท