กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรฯ อัด มติ ครม.ประยุทธ์ 'อัปยศ' อ้างปุ๋ยแพง เอื้อประโยชน์ บ.เหมืองแร่โปแตช

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกแถลงการอัด มติ ครม. ประยุทธ์ 'อัปยศ กดหัวชาวบ้าน' อ้างปุ๋ยแพง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเหมืองแร่โปแตช ลั่นจะต่อสู้ด้วยวิถีทาง

 

30 มิ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ออกแถลงการณ์ โดยระบุถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เอื้อประโยชน์ให้บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ อิตาเลียนไทย เข้ามาทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ กลุ่มจึงขอประกาศว่า “เราจะต่อสู้ด้วยวิถีทางของเรา เพื่อไม่ให้มันผู้ใดเข้ามาทำลายทรัพยากรบ้านเรา และเราจะปกป้องผืนดินอันอุดมสมบูรณ์นี้แก่ลูกหลานสืบไป...มึงสร้างกูเผา"

โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

 

สำหรับการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา นั้น ตามรายงานของเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม(อก.) เสนอดังนี้ 1. รับทราบผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ก่อนการดำเนินการคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินทั้ง 4 แปลง ในขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติเหมืองแร่ พ.ศ. 2560 ต่อไป

2. เห็นชอบทบทวนเพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2557 เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ได้นำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งในการอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น

โดยสาระสำคัญตามรายงานของเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า

1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 ธ.ค. 2557) รับทราบรายงานข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทำเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยว่า มีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชจำนวน 3 ราย และผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท และให้กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่โพแทชในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ผลดีและประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ในอนาคต และให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการข้างต้นต่อคณะรัฐมนตรีโดยจะต้องมีความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (29 ธ.ค. 2558) รับทราบผลการดำเนินงานเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทช ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 โดย อก. รายงานว่าได้อนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองแร่โพแทชแล้ว จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด และ อก. ได้เสนอผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโครงการเหมืองแร่โพแทช เฉพาะของ 2 บริษัท ดังกล่าว ยังเหลือผลการจัดการรับฟังความคิดเห็นในอีก 1 ราย คือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำขอประทานบัตรในพื้นที่

2. อก. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ภายหลังจากออกอนุญาตประทานบัตรให้บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด แล้วพบว่าทั้ง 2 บริษัท ประสบปัญหาในการดำเนินงานและยังไม่สามารถขุดแร่ขึ้นมาใช้ได้ ดังนี้

อย่างไรก็ตาม พื้นที่คำขอประทานบัตรทั้ง 2 รายข้างต้น ถือเป็นพื้นที่ที่มีแร่โพแทชคุณภาพต่ำ โดยมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 6 ส่วน ซึ่งต่างจากพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เสนอมาในครั้งนี้ ซึ่งมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วน และยังถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในจำนวนคำขอทั้งหมด 3 ราย คือ 2 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทช อีก 1 บริษัท คือ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด คำขอดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว และ อก. อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชดังกล่าว

 3. ในครั้งนี้ อก. ได้เสนอผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตรและผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทที่เหลือซึ่งยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งก่อนคือ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป (ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาอนุญาตประทานบัตร) ซึ่งภายหลังจากเสนอคณะรัฐมนตรีแล้ว คณะกรรมการแร่ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน) จะได้ดำเนินการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและส่วนราชการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว 

4. นอกจากนี้ อก. เสนอขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่กำหนดให้ อก. เสนอผลสัมฤทธิ์ของการสร้างความเข้าใจกับประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากเห็นว่ามีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เงื่อนไขเกี่ยวกับทำเหมืองแร่และการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ชนิดต่างๆ ไว้แล้ว เช่น กำหนดให้การอนุญาตประทานบัตรจะพิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่แล้วเท่านั้น รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตในแต่ละประทานบัตรอยู่ด้วยแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท