สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2565

‘ก้าวไกล’ โวย ‘นายก-รมว.แรงงาน’ เบี้ยวตอบกระทู้ปัญหาแรงงาน ถามมาตั้งแต่ปี 2563

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงกรณีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นกระทู้แยกเฉพาะเพื่อสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการจ้างเหมางานภาครัฐว่า มีประชาชนไม่น้อยกว่า 7 แสนคน รวมถึงลูกจ้างในรัฐสภาแห่งนี้อีกหลายคนที่เป็นลูกจ้างเหมางานของภาครัฐ ไม่สามารถมีเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและไม่สามารถหยุดงานได้ ต้องถูกหักเงิน เมื่อป่วยหรือไม่สบายจะต้องรักษาด้วยตนเองไม่มีสวัสดิการต่างๆ ซึ่งต่ำกว่าการจ้างแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนได้ยื่นกระทู้ถามตั้งแต่เมื่อปี 2563 และนายกรัฐมนตรีไม่มาตอบ โดยได้มอบหมายให้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาตอบแทนแต่นายสุชาติก็เลื่อนไม่มาตอบ

และต่อมาวันที่ 30 มิ.ย. ตนได้ยื่นเพื่อถามความคืบหน้าว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรอีกครั้งซึ่งได้รับคำชี้แจงจากนายสุชาติว่า ขอเลื่อน โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสุชาติ มาตอบแทน แต่ทั้งนี้นายสุชาติ ติดภารกิจร่วมกับนายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถมาตอบได้ ซึ่งไม่ทราบว่าที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายสุชาติ มาตอบกระทู้ และมีภารกิจร่วมกันนั้น มีเจตนาไม่มาตอบหรือตอบไม่ได้ ซึ่งความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 วรรค 2 ที่ระบุว่ารัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ ในหน้าที่ของตนเอง แต่นายกรัฐมนตรีไม่มีความรับผิดชอบตรงนี้เป็นการสั่งทิ้งสั่งขว้างหรือไม่

“นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 บอกว่าการสั่งแบบนี้เป็นการสั่งแบบทหาร ไม่ได้สั่งแบบการเมือง สั่งแบบไม่มีความรับผิดชอบ และเมื่อวานนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สั่งคนที่ออกงานพร้อมกัน หรืออีกเหตุผลหนึ่งคือ ท่านขลาดกลัวหรือไม่ที่จะตอบปัญหาหรือไม่มีข้อมูล ผมได้ตามปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2562 จนตอนนี้ปี 2565 ก็ยังไม่ทำอะไร จึงถามไปยังนายสุชาติ แต่ท่านบอกว่าอย่ามายุ่งกับผม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนมากกว่า 7 แสนคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ผมไม่ยุ่งไม่ได้ ผมจำเป็นต้องถามและท่านต้องมาตอบ แต่อยู่ดีๆ ท่านจะมาเลื่อนออกไปหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งท่านอาจจะไม่อยู่ตั้งแต่วันที่อภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้ นี่คือการหนีสภา หนีการตอบปัญหาของประชาชนอย่างน่าเกลียดที่สุด ผมขอให้ท่านมาตอบอย่าหนีอีก อย่าหวาดกลัวต่อการรับผิดชอบ” นายธีรัจชัย ระบุ

ที่มา: ไทยโพสต์, 1/7/2565

ก.แรงงาน ตรวจสอบ JSL กรณีเลิกจ้าง ช่วยเหลือพนักงานตามกฎหมาย

30 มิ.ย. 2565 จากกรณีที่ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด (JSL) แจ้งเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 89 คน โดยให้มีผลการเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เฝ้าระวังและให้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที

ในเบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัทมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 154 ซอยลาดพร้าว 107 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการผลิตรายการโทรทัศน์ สาเหตุการเลิกจ้างนั้นเนื่องจากบริษัทขาดทุนสะสมมาโดยตลอด เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสื่อ ทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจึงจะยุติการดำเนินงานบางส่วนลง

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทดังกล่าว โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคม พร้อมทั้งเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือหากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ทันที

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถยื่นคำร้อง คร.7 กรณี ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ 4 (เขตคันนายาว บางกะปิ ลาดพร้าว บึงกุ่ม วังทองหลาง) โทรศัพท์ 0 2510 2806 หรือยื่นคำร้อง คร.7 ผ่านระบบรับคำร้องอิเล็กทรอนิกส์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/6/2565

'นายก' เปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ กระตุ้นสังคมไทยร่วมสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน

30 มิ.ย. 2565 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งชาติ ครั้งที่ 34 THAILAND SAFE@WORK

โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรมว.แรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล นายสุทธิ สุโกศล จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ ประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับสถานประกอบกิจการที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จและน่าภาคภูมิใจ รัฐบาลได้วางโรดแมปสำคัญด้านแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เร่งแก้ไขปัญหาไปได้หลายเรื่อง เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเพื่อนบ้าน เป็นต้น

เราต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เดินหน้าในสิ่งเหล่านี้แล้ว เพื่อให้เกิดผลชัดเจนนำแรงงานที่ขาดแคลนเข้ามาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอฝากผู้ประกอบการ ขอให้ใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังทำลายระบบ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมและสิทธิประโยชน์กับแรงงานอย่างครบถ้วน

นายกฯ กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรายังต้องมุ่งเน้นความปลอดภัย ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมในการป้องกันทุกเรื่อง วันนี้ประเทศไทยต้องสร้างวัฒนธรรมการป้องกัน ทำให้ประเทศไทยสงบสุข มีเสถียรภาพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ตนขอสนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน 3 ประการ คือ การมีสติรู้ตัว มีวินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการในเวลานี้มากที่สุด เพื่อให้คนไทยที่อยู่ในกำลังแรงงานกว่า 37 ล้านคนมีความสุข ถ้ากระทรวงแรงงานทุ่มเทสร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานได้อย่างยั่งยืน เท่ากับว่าเรามั่นใจได้ว่าอย่างน้อย ประชากรครึ่งประเทศจะเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถดูแลตนเองและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง

โอกาสนี้ นายกฯ ยังมอบโล่แก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน มอบโล่ประกาศเกียรติคุณกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 2565 ระดับแพลทินัมให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 38 แห่ง มอบโล่ประกาศเกียรติคุณโครงการพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับแพลทินัม ให้กับสถานประกอบกิจการ จำนวน 27 แห่ง และมอบรางวัลการประกวดโครงงานพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ประจำปี 2565 จำนวน 5 รางวัล

ด้านนายสุชาติ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค. เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน”

ภายในงาน ประกอบด้วย พิธีมอบรางวัลแก่สถานประกอบกิจการที่ไม่มีอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างต้องหยุดงาน และมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อย่างเป็นระบบ มีการสัมมนาวิชาการในรูปแบบ On Site และ Online การแสดงนิทรรศการและการสาธิตด้านความปลอดภัยในการทำงาน การประกวดและสาระบันเทิงด้านความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้กลุ่มบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาการ พัฒนาแนวคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อการสร้างวัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน

โดยปีนี้จะขับเคลื่อนค่านิยมร่วมความปลอดภัย 3 ด้าน คือ การมีสติรู้ตัว วินัยถูกต้อง เอื้ออาทรใส่ใจ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ที่มา: ข่าวสด, 30/6/2565

สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานร้อง กมธ.แรงงาน หลังทำงานเกิน 100 ชม.ต่อสัปดาห์ ขอเวลาพัก 8 ชม.

30 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) นำโดยพญ.ชุตินาถ ชินอุดมพร ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมเรื่องชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

โดยพญ.ชุตินาถ กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อขอกำหนดชั่วโมงการทำงาน เนื่องจากปัจจุบันนี้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึง พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และสาขาอื่นๆ ที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพไทย มีปัญหาเรื่องชั่วโมงการทำงานเนื่องจากต้องทำงานหนัก คือทำงานหนักมากกว่า 100 ชั่วโมง โดยที่ทำงานติดต่อกันและไม่มีเวลาพักผ่อน โดยที่ผลกระทบดังกล่าว ทำให้เสียส่งผลกระทบถึงสุขภาพ ทำให้แพทย์หลายคนต้องลาออก และทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับชีวิต คนไข้ที่เราต้องดูแล โดยเราไม่สามารถดูแลผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพได้มากพอหลังจากที่เราไม่ได้นอนติดต่อกัน เกิน 100 ชม. ซึ่งเราไม่อยากให้ชีวิตคนไข้สูญเสีย ปัญหาที่เราสามารถป้องกันได้

พญ.ชุตินาถ กล่าวต่อว่าเรามีข้อเรียกร้องเบื้องต้น 3 ข้อคือ 1.หลังจากที่ลงเวรดึก คือการทำงานตั้งแต่ 00.00 – 08.00 น.และหลังจากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง รวมทั้งขอชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการปฏิบัติงานในวันต่อไป และลดโอกาสความผิดพลาดในการปฏิบัติงานที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงเพื่อรักษาสุขภาพของบุคลากรเองด้วย

ด้านนายพิธา กล่าวว่าเมื่อนำระบบสาธารณสุขของไทยไปเปรียบเทียบกับความเป็นสากลจะเห็นได้ชัดว่าการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข และต้องปรับโครงสร้างระบบสาธารณสุขให้มีระบบการบริการปฐมภูมิ (Primary Care) ในการคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นเพื่อไม่ให้งานทุกอย่างมาอยู่ที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในชั้น กมธ.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. ในฐานะประธาน กมธ. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว

ที่มา: มติชน, 30/6/2565

ก.แรงงาน ถอยแล้วยอมดึงร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ มาพิจารณาใหม่

นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย National Congress of Thai Labour (NCTL) นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย Labour Congress of Thailand (LCT) และ สหภาพแรงงานต่างๆที่มาจากหลายจังหวัดเดินทางมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อร่วมกันคัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผ่านทาง นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรมว.แรงงาน ณ กระทรวงแรงงงาน

นายพนัส กล่าวว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ที่ใช้มานาน ผู้ใช้แรงงานจึงเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขที่ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ร่วมกันยกร่างแก้ไข แต่เมื่อนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกฤษฎีกากลับมีการแก้ไขสาระสำคัญอย่างมากมายเหมือนยกร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบร่วมกันในไตรภาคี เนื่องจากส่งผลกระทบต่อลูกจ้างและขบวนการแรงงานอย่างมาก ลูกจ้างจะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นกติกาเพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้างอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี แต่การที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขจนไม่เหลือเค้าเดิม เหมือนเขียนกฎหมายใหม่ โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของนายจ้าง ลูกจ้าง และส่งผลเสียหาย เช่น เดิมการลงโทษใดๆ รวมถึงการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้างต้องขออำนาจศาลแรงงานก่อน แต่ร่างฉบับใหม่กำหนดเฉพาะการเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้างเท่านั้น ที่ต้องขออำนาจศาลเลิกจ้าง

นายพนัส กล่าวว่า เดิมกฏหมายห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้อง แต่ฉบับแก้ไขคุ้มครองเฉพาะลูกจ้าง ที่เป็นผู้แทนเจรจาเท่านั้น โดยไม่คุ้มครองสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายแรงงานมีเจตนาเพื่อคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เดิมมีการกำหนดโทษทางอาญา แต่ร่างกฎหมายฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการตัดโทษทางอาญา คงเหลือแต่โทษปรับเพียงเล็กน้อย โดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 การกำหนดโทษต้องเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ผู้ใช้แรงงานจึงร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานแก้ไขปัญหา โดยสาระสำคัญในหนังสือขอให้ปัดตกร่างกฎหมายที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ให้ใช้กฎหมายปัจจุบันที่ใช้อยู่ หรือหากสภาฯพิจารณารับหลักการในวาระแรก ที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขอให้เสนอชื่อผู้นำแรงงานจำนวน 2 คนร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญฝ่ายรัฐบาล เพื่อชี้แจงในการพัฒนาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวด้าน

ด้านนายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมพูดคุยหาทางออกของปัญหานี้ร่วมกับผู้นำแรงงาน โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมง โดยนายสุรชัย กล่าวภายหลังหารือว่า ขั้นตอนการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ เมื่อผู้นำแรงงานเห็นว่าหากมีการบังคับใช้จะสร้างปัญหาอย่างยิ่งแล้ว ตนจะแจ้งรมว.แรงงานให้พิจารณาเสนอต่อครม.ขอนำร่างที่ผ่านกฤษฎีกากลับมาทบทวนแก้ไขใหม่โดยไตรภาคี โดยจะยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในเรื่องนี้ได้สร้างความยินดีในกลุ่มผู้นำแรงงานที่สนับสนุน โดยระบุว่าหากไม่มีการแก้ไข ปล่อยให้กฎหมายเป็นไปตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศจะไม่ยอมอย่างแน่นอน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 29/6/2565

สวัสดิภาพและแรงงานเด็กต้องได้รับความเป็นธรรม CUT ชวนลงชื่อ-เสนอมาตรการ หวังเห็นความเปลี่ยนแปลง

‘เป็นดาราก็ดีออกมีแต่คนมารัก? บางคนคงเชื่อแบบนั้น แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเป็นเบื้องหน้าที่สวยงาม ประทับใจและสะเทือนอารมณ์ผู้ชม กระบวนการทำงานบางอย่างเรียกได้ว่าแทบจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม’ คือข้อความที่ปรากฏในเพจ CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ซึ่งขณะนี้ได้ทำแคมเปญรณรงค์เรื่อง สวัสดิภาพและการใช้แรงงานเด็กในกองถ่ายควรได้รับความเป็นธรรม

ทั้งนี้ข้อความที่เพจ CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ ให้รายละเอียดไว้คือ

‘เป็นดาราก็ดีออกมีแต่คนมารัก? บางคนคงเชื่อแบบนั้น แต่รู้ไหมว่ากว่าจะเป็นเบื้องหน้าที่สวยงาม ประทับใจและสะเทือนอารมณ์ผู้ชม กระบวนการทำงานบางอย่างเรียกได้ว่าแทบจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข้าข่ายใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม

ร่วมสะท้อนปัญหาแรงงานเด็กในกองถ่าย ภายใต้ความน่ารักกลับฉาบทับความเศร้านี้ไว้ ‘ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์’ แอ๊คติงโค้ช ร่วมสะท้อนปัญหาภายในกองถ่ายว่า “สถานการณ์บังคับให้เราต้องทำงานกับเด็กที่ไม่ผ่านการเทรนใดๆ และยังไม่รู้จักการใช้จินตนาการมาเป็นเครื่องมือ ทำให้เราต้องทำวิธีใดก็ได้ให้ถ่ายทำได้ จนบางครั้งรู้สึกว่าเด็กจะเจ็บปวดทางจิตใจไหม แม้ว่าเลิกกองถ่ายแล้วเราจะพยายามอธิบายให้เขาฟังว่าเมื่อตะกี้เป็นเพียงวิธีเพื่อให้หนูเล่นได้เท่านั้น แต่ก็ยังสงสารเด็กอยู่ดีที่อยู่ในสภาพจำยอม”

บางกองถ่ายด้วยความเร่งรีบนั้นอาจจะทำงานถึง 24 ชั่วโมงซึ่งไม่เหมาะกับพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก สอดคล้องกับ ‘สหจักร บุญธนกิจ’ ที่เคยให้ลูกทำงานนักแสดง เล่าถึงเบื้องหลังการถ่ายทำครั้งหนึ่งว่า “ผมเพิ่งรู้ทีหลังตอนเขาโตแล้วว่า หนังเรื่องแรกที่ต้องการให้เขาดูกลัว เลยจับเขาใส่ถุงผ้าขังไว้จนกว่าจะกลัวจริงๆ”

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวของเรื่องเล่าของชีวิตดาราเด็กในกองถ่ายเท่านั้น หากคุณเห็นว่าสวัสดิภาพและการใช้แรงงานเด็กในกองถ่ายควรได้รับความเป็นธรรมกับทาง CUT ร่วมลงชื่อได้ที่ change.org/daradek

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/6/2565

สว. ตั้งกระทู้ถาม รมว.แรงงาน ขอความชัดเจน ‘ประกันสังคม’ กรณีให้นำเงิน ‘ชราภาพ’ ออกมาใช้ก่อน

ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ได้เผยแพร่ “กระทู้ถามที่ 005 ร.’ เรื่อง นโยบายให้ผู้ประกันตนนำเงินกองทุนชราภาพ ประกันสังคมออกมาใช้ก่อน และใช้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งเป็นกระทู้ที่ตั้งโดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ถามไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อให้ตอบลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่ง นายสุชาติ ได้ตอบกลับมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นพ.อำพล ‘ถาม’

นพ.อำพล ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.แรงงาน ตอนหนึ่งว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าว รมว.แรงงาน มีนโยบายที่จะให้ผู้ประกันตนนำเงินสะสมเพื่อการชราภาพมาใช้ก่อนได้ โดยกำหนดเป็น 3 ทางเลือก คือ 1. เปลี่ยนจากการรับบำนาญรายเดือนมาเป็นบำเหน็จที่จ่ายครั้งเดียว 2. ลูกจ้างขอรับเงินคืน ร้อยละ 30 โดยไม่เสียดอกเบี้ย 3. ใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน เช่น ปิดบัตรเครดิตเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการบริโภคในปัจจุบัน

หลักการของการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เกษียณจากงานแล้ว มีความมั่นคงด้านรายได้ และมีบำนาญ หรือรายได้หลังเกษียณ "เพียงพอ" ต่อการใช้จ่ายที่จำเป็นตลอดช่วงอายุยามเกษียณจากการทำงานแล้ว ให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงวัยไม่ต้องเผชิญกับความเปราะบางในการดำรงชีวิตและเผชิญความเสี่ยงต่อความยากจน ระบบประกันสังคมที่มีอยู่ปัจจุบัน มีปัญหาสำคัญอยู่หลายประการ ได้แก่

ประการที่ 1 เป็นปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการเงินของกองทุน กล่าวคือ กองทุนชราภาพ ภายใต้กองทุนประกันสังคมเป็นแบบ Partial Funded โดยเรียกเก็บเงินสมทบ (Defined Contribution) ไม่สมดุลกับสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้ประกันตน (Defined Benefit) กองทุนเริ่มจ่ายบำเหน็จและบำนาญให้ผู้ทรงสิทธิตั้งแต่ปี 2557 เมื่อพิจารณาว่าผู้เกษียณอายุที่ถึงเกณฑ์รับบำนาญจำนวนมากขึ้นจึงเกิดภาระต้องจ่ายบำนาญเพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมประมาณการว่าเงินกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคมจะเริ่มลดลงในปี 2577 และเข้าสู่ "ภาวะติดลบ" ในปี 2587 ซึ่งกำลังหาแนวทางเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่กองทุนชราภาพในระยะยาว

ประการที่ 2 ระดับรายได้ทดแทนหลังเกษียณของกองทุนประกันสังคมไม่พอต่อการคงสถานะดำรงชีวิตทัดเทียมกับช่วงวัยทำงาน โดยรายได้ทดแทนหลังเกษียณจากกองทุนชราภาพของประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 6 เดือนเท่านั้น สุดท้ายหากจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 180 เดือน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ทุกการจ่ายสมทบ 12 เดือน แต่ด้วยการจำกัดเพดานของเงินเดือนที่จ่ายสมทบที่ 15,000 บาท ทำให้บำนาญขั้นต่ำอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น แม้ว่ายามเกษียณแล้ว ผู้สูงวัยจะมีแบบแผนค่าใช้จ่ายต่างจากวัยทำงานโดยรายจ่ายจำเป็นบางประการลดลง เช่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ดังนั้นแม้รายได้จากบำนาญหลังเกษียณจะน้อยกว่าช่วงทำงาน ผู้สูงวัยก็อาจยังคงมาตรฐานการดำรงชีวิตได้ ซึ่งรายได้ทดแทนหลังเกษียณที่เหมาะสมควรอยู่ที่ร้อยละ 5-6 ของรายได้เดิม เช่น ลูกจ้างที่มีเงินเดือน 60,000 บาท เมื่อเกษียณอายุแล้ว รับบำนาญจากทั้งประกันสังคม บวกกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบวกกับการออมโดยการสมัครใจอื่น ควรมีรายได้ทดแทนหลังเกษียณ เดือนละ 30,000-36,000 บาท ซึ่งจะเพียงพอในการดำรงชีวิตแต่ผู้มีรายได้น้อยอาจต้องการรายได้ทดแทนหลังเกษียณอยู่ที่ร้อยละ 80 เช่น ลูกจ้างที่มีเงินเดือน 15,000 บาท ควรมีรายได้หลังเกษียณ 12,000 บาท จึงจะสามารถคงมาตรฐานการดำรงชีพที่ดีได้เป็นต้น ดังนั้นบำนาญขั้นต่ำที่ 3,000 บาท จึงไม่เพียงพอ

ดังนั้น หากมีการดำเนินการตามนโยบายที่ปรากฏต่อสาธารณะข้างต้น กล่าวคือ 1. การเปลี่ยนจากบำนาญรายเดือนเป็นบำเหน็จที่รับครั้งเดียวได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าผู้เกษียณจะมีความมั่นคงด้านรายได้ตลอดช่วงอายุหลังเกษียณ

2. การให้ลูกจ้างขอคืนเงินออม ร้อยละ 30 ได้ ทำให้เงินกองทุนลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนบำนาญชราภาพของประกันสังคม และสร้างภาระทางการคลังของประเทศ เนื่องจากระบบบำนาญชราภาพของประกันสังคม เป็นแบบผสมผสานระหว่างการกำหนดเงินสมทบและกำหนดสิทธิประโยชน์ อีกทั้งแม้ว่าไม่มีการขอถอนเงิน หรือขอคืนเงินออม เงินกองทุนก็จะลดลงและติดลบอยู่แล้ว

3. การใช้เงินกองทุนเป็นหลักประกันเงินกู้ทำให้กองทุนเกิดความเสี่ยงทางการเงินที่ต้องชดใช้แทนหากผู้ประกันตนไม่สามารถชำระหนี้ได้ (กฎหมายประกันสังคมไม่อนุญาตให้ทำได้) อนึ่ง ประสบการณ์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีการออกใบรับรองบำนาญให้สมาชิกเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาศักยภาพในการชำระคืนเงินกู้ แต่การกู้เป็นความรับผิดชอบของผู้กู้กับสถาบันการเงิน มิใช่ภาระการค้ำประกันของกองทุนแต่อย่างใด จึงขอเรียนถามว่า

1. รัฐบาลได้คาดประมาณผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนบำนาญชราภาพของกองทุน ประกันสังคมหรือไม่ อย่างไร มีการปรับสิทธิประโยชน์บำนาญสำหรับผู้ที่ถอนเงินออมหรือไม่ อย่างไร เช่น การลดอัตราเงินทดแทนยามเกษียณ ซึ่งอาจจะกระทบต่อความพอเพียงของรายได้ยามเกษียณ

2. เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบกองทุน ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีข้อผูกพันว่าจะไม่มีการถอนเงินสมทบตลอดระยะการออมจนกว่าจะครบกำหนดรับบำนาญ ดังนั้นหากมีการถอนเงินก่อนกำหนด จะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีย้อนหลังด้วยหรือไม่ ได้มีการพิจารณาในประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร

3. กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของกองทุนจากการดำเนินตามนโยบายข้างต้น ซึ่งทำให้กองทุนเกิดความเปราะบาง และเร่งภาวะติดลบของกองทุนให้เร็วกว่าปี 2587 ที่ประมาณการไว้เดิม

รมต.สุชาติ ‘ตอบ’

นายสุชาติ ได้ตอบกระทู้ถามของ นพ.อำพล ผ่านราชกิจจานุเบกษา ตอนหนึ่งว่า ขอตอบกระทู้ถามของท่านสมาชิกผู้มีเกียรติ ดังนี้

1. กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้ออกแบบกฎหมายไว้ไม่ให้กระทบกองทุนในระยะยาว กล่าวคือกรณีที่ผู้ประกันตนขอคืนเงินออมโดยขอนำเงินชราภาพบางส่วนคืน ซึ่งเงินที่ผู้ประกันตนขอคืนทั้งหมดจะถูกหักออกจากสิทธิชราภาพในอนาคตรวมกับผลตอบแทนที่คาดว่ากองทุนจะทำได้

เช่น ผู้ประกันตนอายุ 30 ปี ขอเงินออมคืนไป 30,000 บาท อีก 30 ปีข้างหน้าเกษียณอายุแล้วมารับเงินชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจะหักเงินผู้ประกันตน 30,000 บาท และบวกค่าเสียโอกาสในการลงทุน (อัตราผลตอบแทนตามที่สำนักงานฯ ประกาศทุกปี) ฉะนั้นในระยะยาวจะไม่กระทบกับกองทุน แต่อาจกระทบกับเงินชราภาพของผู้ประกันตนที่จะได้รับลดลง

สำนักงานประกันสังคมคำนึงถึงความเพียงพอของสิทธิบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เบื้องต้น คือผู้มีสิทธิที่จะเข้าเงื่อนไขในการขอคืน/ขอกู้ จะต้องมีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน ผู้ประกันตนจะต้องใช้สิทธิได้ไม่เกิน 30 ของเงินสะสมชราภาพของผู้ประกันตนที่มีอยู่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถที่จะส่งเงินกลับคืนเพื่อให้ได้รับสิทธิชราภาพเต็มเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ประกันตนขอคืนเงินออมไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมยังคงจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

2. ผู้ประกันตนเป็นผู้ซึ่งจ่ายเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนจากกองทุน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งประโยชน์ทดแทนทุกกรณีได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มาตรา 42 (25)

ทั้งนี้ ไม่ว่าการจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนครั้งเดียว เช่น กรณีคลอดบุตร กรณีตาย กรณีบำเหน็จชราภาพ หรือหลายครั้ง เช่น สงเคราะห์บุตร กรณีบำนาญชราภาพ หรือกรณีการนำเงินกรณีชราภาพออกมาใช้ก่อนหรือใช้ค้ำประกันเงินกู้ ไม่มีผลกระทบต่อการเสียภาษีเงินได้ เพราะประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมทุกกรณีล้วนได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมารวมในการคำนวณเพื่อยื่นภาษีเงินได้ทั้งสิ้น

3. สำนักงานประกันสังคมคำนึงถึงความยั่งยืนของกองทุน และติดตามสถานการณ์ของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงได้ศึกษามาตรการที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพกองทุนในอนาคต ได้แก่ การขยายเพดานค่าจ้าง ขยายอายุเกิดสิทธิรับบำนาญ และปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบ เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้กองทุนมีความมั่นคงยั่งยืนแล้ว ในอนาคตยังทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีบางมาตรการอยู่ระหว่างดำเนินการและต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกันตน และจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกันตนจำนวนมากมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ การให้สิทธิในการขอคืน/ขอกู้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนและสร้างเสถียรภาพให้กับกองทุน

สำหรับกรณีขอใช้เงินออมเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ถูกออกแบบไว้ไม่ให้กระทบกองทุนในระยะยาว ซึ่งหากผู้ประกันตนผิดนัดชำระ สำนักงานประกันสังคมจะชดใช้เฉพาะเงินค้ำประกันตามที่ตกลง แต่จะไม่รวมส่วนของดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่เกินวงเงินค้ำประกัน ซึ่งทางธนาคารจะต้องตามหนี้จากผู้ประกันตน

ที่มา: The Coverage, 28/6/2565

ก.แรงงาน มอบเงินช่วยเหลือ 1.4 ล้าน ให้ญาติลูกจ้างเสียชีวิตเหตุไฟไหม้สำเพ็ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มอบหมายให้ น.ส.ธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นาย นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และนายเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง)เป็นตัวแทน มอบเงินค่าทำศพให้กับ ทายาทของ น.ส.จิราพัชร สุ่มมาตร์ ลูกจ้างห้างผ้าใบราชวงศ์ ที่เสียชีวิต จากเหตุเพลิงไหม้สำเพ็ง

ตัวแทน รมว.แรงงานและคระ ได้เดินทางไปร่วมพิธีศพ ที่วัดอ่างแก้ว ซอยเพชรเกษม 23 ถนนเทิดไท แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พร้อมมอบเงิน จากกองทุนเงินทดแทน เป็นเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ 134,653 บาท (ยังไม่รวมดอกผล) เงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,260,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,444,653 บาท ส่วนลูกจ้างที่เสียชีวิตอีก 1 คน คือ นาย PHEAK DOEUM ลูกจ้างห้างผ้าใบราชวงศ์ ชาวกัมพูชา อยู่ระหว่างการติดต่อญาติเพื่อมารับสิทธิต่อไป

ญาติผู้เสียชีวิต ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว และจะนำไปใช้จ่าย ในการทำศพ ขอขอบคุณรัฐบาและกระทรวงแรงงาน อยากให้สถานประกอบการทุกคนสมัครเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เพราะวันหนึ่งเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเรา อย่างน้อยสิทธิประโยชน์ความเป็นผู้ประกันตนในส่วนนี้จะเยียวยาความเดือดร้อนในเบื้องต้นได้ ซึ่งใครก็ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ที่มา: Thai PBS, 28/6/2565

'กรมการจัดหางาน' วิเคราะห์แนวโน้มเรียนสาย 'นิเทศศาสตร์-สายสังคมศาสตร์' อนาคตมีสิทธิตกงานสูง

28 มิ.ย. 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าจากการวิเคราะห์ตัวเลขผู้ประกอบการที่ต้องการลูกจ้างนั้น ผู้ที่เรียน สายสังคมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์ , เรียนครู บางสาขา เช่น เอกภาษาไทย ค่อนข้างหางานยาก แต่หากจบสายอาชีพวุฒิปวช.และปวส. ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี ช่างเทคนิคด้านช่างยนต์และด้านอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการที่มีกำลังผลิตเองหรือโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันคนที่จบช่างจะไม่ตกงาน

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเรียนสายสังคมศาสตร์จะเรียนง่าย เรียนให้สำเร็จการศึกษาและรับปริญญาไปก่อน แต่ไม่ได้ประเมินว่า จบออกมาแล้ว ตลาดแรงงานรองรับมากน้อยแค่ไหน เช่น คนที่เรียนสายบรรณารักษ์ สายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะสายสื่อสารมวลชน อดีตอาจจะมองว่า มีมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาที่เปิดสาขานี้จำนวนน้อย เมื่อจบออกมาแล้ว ก็จะมีงานทำแน่นอน แต่ปัจจุบันเกือบทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดสอนสาขานี้ มีนักศึกษาลงสมัครเรียนกันจำนวนมาก เพราะคิดว่าเรียนง่าย ประกอบกับธุรกิจวงการสื่อปิดตัวลงเรื่อยๆ มีนักข่าวโซเชียลเกิดขึ้นมากมาย นักศึกษาที่เรียนสาขานี้อาจจะต้องตกงานมากขึ้น จึงอยากให้ทุกคนทราบถึงความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 28/6/2565

"ก.แรงงาน" ปั้น “นักจัดหางาน” ตั้งเป้าส่งเสริมจ้างงานเต็มศักยภาพรับเปิดประเทศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมปรับโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น และปรับลดมาตรการต่างๆให้สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ สำหรับกระทรวงแรงงานเองมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันยุค ทันสมัย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการออนไลน์ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ตลอดจนสร้างการรับรู้งานบริการจัดหางานภาครัฐให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้ "นักจัดหางาน" ได้มีความรู้ มีทักษะ ที่จำเป็นพร้อมที่จะขับเคลื่อนบริการจัดหางานภาครัฐ ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพรับการเปิดประเทศ และเป็นที่ยอมรับ ไว้วางใจของคนหางาน และผู้ประกอบการ

“รัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีนโยบายปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยมีการแพร่ระบาดของโรคโควิดเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยต้องพัฒนาประสิทธิภาพ ยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหัวใจสำคัญคือ “บุคลากรภาครัฐ” การสร้างและพัฒนาคนจึงเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ”

น.ส.บุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2567 กระทรวงแรงงานมีแผนในการพัฒนาฐานข้อมูลกำลังแรงงานและความต้องการแรงงานของประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และบริษัทผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ Big Data ของกระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการแรงงานและวางแผนกำลังคนของประเทศ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงมีการพัฒนาบุคลากรตามหลักสูตร “นักจัดหางานมืออาชีพ” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือนักจัดหางานระดับต้น และนักจัดหางานระดับกลาง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้านจัดหางานในประเทศ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้นำความรู้ไปปรับใช้ในการส่งเสริมการมีงานทำ ให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ ตามความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และทักษะของตนเอง และนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้แรงงานที่ตรงตามความต้องการ และมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สามารถให้บริการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและผู้รับบริการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธาน เปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรนักจัดหางานระดับกลาง ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน พร้อมมอบกำลังใจแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการอบรมในรูปแบบออนไซต์ (Onsite) จำนวน 30 คน และออนไลน์ผ่าน VDO Conference จำนวน 53 คน รวมทั้งสิ้น 83 คน โดยขอให้ทุกคนเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ เพื่อนำไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการให้บริการจัดหางานภาครัฐต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 28/6/2565

กรมราชทัณฑ์สั่งยกเลิกงานอวน หลังมีข่าวนักโทษถูกบังคับใช้แรงงาน

กรมราชทัณฑ์สั่งยกเลิกผู้ต้องขังทำงานถักอวนทั่วประเทศ และเพิ่มค่าจ้างสำหรับบางงาน ภายใต้คำสั่ง "ปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขัง" หลังมีรายงานว่ามีการบังคับใช้แรงงานในเรือนจำให้ผลิตอวนให้กับบริษัทเอกชน

รายงานของมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) ซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้านี้พบว่าผู้ต้องขังในเรือนจำบางแห่งของไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนเพื่อส่งให้บริษัทเอกชน ภายใต้การถูกข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ และผู้ต้องขังบางคนไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงาน

นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค. กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือแจ้งให้เรือนจำหรือทัณฑสถานที่มีการรับจ้างทำของประเภทตาข่าย เฉพาะงานแห อวน และงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ยกเลิกการรับจ้างงานประเภทดังกล่าว

"ประเด็นเกี่ยวกับการจ้างงานผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่สังคมภายนอกมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้แรงงานผู้ต้องขังให้ผลิตแห อวน และมีความสงสัยว่าผู้ต้องขังอาจได้รับการบังคับขู่เข็ญเพื่อให้ทำงาน กรมราชทัณฑ์จึงได้มีการปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน" นายชาญ เขียนตอบบีบีซีไทย หลังจากที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ออกคำสั่งให้มีการปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขังในเดือนมีนาคม

รายงานของมูลนิธิธอมสันรอยเตอร์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำมีการลงโทษผู้ต้องขังด้วยการทุบตีด้วยกระบอง ไม่ให้อาบน้ำ หรือไม่ให้เลื่อนชั้นให้เป็นนักโทษชั้นดี ซึ่งจะส่งผลต่อการถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเร็วขึ้น หากผลิตไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด

กรมราชทัณฑ์ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการบังคับใช้แรงงานในเรือนจำแต่อย่างใด

ที่มา: BBC Thai, 28/6/2565

หางาน เกาหลีใต้ ทำงานอู่ต่อเรือ วีซ่าทักษะฝีมือ เงินเดือนสูงกว่า 7 หมื่นบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) และทีมงาน เจรจาหารือกับสมาคม KHOSHIPA เป็นสมาคมอู่ต่อเรือของสาธารณะรัฐเกาหลี และบริษัทฮุนได ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมอู่ต่อเรือของเกาหลี เพื่อขยายตลาดแรงงานไทย

นายสุชาติ กล่าวว่า ข่าวดีที่ในเดือน ก.ค. ทางการเกาหลีเตรียมส่งผู้แทนเยี่ยมชมการทดสอบสาขาช่างเชื่อมที่ประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยวีซ่าทักษาฝีมือไปทำงานในอุตสาหกรรมต่อเรือตามความต้องการของเกาหลีโดยเร็ว ซึ่งเมื่อปี 2020 สมาคมมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก

จึงจำเป็นต้องมีการจ้างแรงงานเพิ่มปีละ 10,000 คน ในสาขาช่างเชื่อม 4,000 คน ทาสี 1,400 คน ไฟฟ้า 1,800 คน แต่ปัจจุบันเกาหลีกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ เพราะอัตราการเกิดน้อย เป็นเหตุให้ขาดแคลนแรงงาน

โดยช่วงอายุ 15 - 64 ปี ซึ่งอยู่ในวัยกำลังทำงาน กลับมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปีนี้ลดลงถึง 3.5 แสนคน จึงจำเป็นต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานด้วยวีซ่า E-7 (วีซ่าทักษะฝืมือ) เป็นจำนวนมาก

โดยปีนี้รัฐบาลเกาหลีเพิ่มโควตานำเข้าแรงงานต่างชาติถึง 20% ของพนักงานของบริษัททั้งหมด ที่สำคัญต้องการแรงงานต่างชาติโซนฝั่งเอเชีย ทำให้แรงงานไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศเป้าหมายหลักที่ทางการเกาหลีต้องการ ช่วงอายุ 24-45 ปี เป็นจำนวนมาก เงินเดือนสูงกว่า 70,000 บาท

ด้าน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยได้มาทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งกระทรวงแรงงานเองมีความพร้อมทั้งกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามภารกิจ

สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ได้ให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ลงพื้นที่ไปหารือในรายละเอียดกับสมาคมและนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานไทย ขณะเดียวกันในเร็ว ๆ นี้ ทางการเกาหลีจะส่งผู้แทนเดินทางไปเยี่ยมชมการทดสอบสาขาช่างเชื่อมที่ประเทศไทยด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดส่งแรงงานไทยวีซ่าทักษะฝีมือไปทำงานในอุตสาหกรรมต่อเรือตามความต้องการของเกาหลีโดยเร็วต่อไป

ที่มา: TNN, 27/6/2565

ก.แรงงาน เร่งตรวจสอบช่วยเหลือแรงงานย่านสำเพ็ง บาดเจ็บจากเพลิงไหม้ พร้อมประสานชดเชยทายาทผู้เสียชีวิต 2 ราย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ทันที่ที่ทราบว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์บริเวณสำเพ็ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงมีความห่วงใยและเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบกิจการ พร้อมสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้างโดยเร่งด่วน ตนจึงเร่งสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยเข้าไปตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงและประสานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 (ตลิ่งชัน) ให้การช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง และสถานประกอบกิจการ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น

เบื้องต้นผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟคลอก ซึ่งเป็นลูกจ้างของร้านขายอุปกรณ์/ถุงพลาสติก 2 ราย เป็นชายสัญชาติกัมพูชา 1 ราย และหญิงไทย 1 ราย และมีผู้บาดเจ็บจากการสำลักควัน 9 ราย โดย 7 รายเข้ารับการรักษาที่ รพ.หัวเฉียว ตรวจสอบพบว่ามีประกันกลุ่มอุบัติเหตุ 4 ราย ได้แก่ นายศิรสิทธิ์ ศิลารักษ์, นายสมใจ อ่อนภิรมย์, นายจิรภัทร จรรยานุภาพ และนายพรชัย นามกระโทก เป็นผู้มีสิทธิประกันสังคม 1 ราย คือ นายศรัฌยพงศ์ กิตติโชควัฒนา และอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ 2 ราย คือ นายกิติชาติ การุณรัตนกูล อายุ 71 ปี และนางติงงิ้ม แซ่เฮ้ง อายุ 99 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกลาง ยังไม่ได้รับแจ้งจากทางโรงพยาบาล

สำหรับลูกจ้างที่เสียชีวิต 2 ราย รายแรก คือ น.ส.จิราพัชร สุ่มมาตร์ เป็นลูกจ้างของห้างผ้าใบราชวงศ์ สิทธิประโยชน์ที่ทายาทจะได้รับ เป็นค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนขาดรายได้จำนวน 1,260,000 บาท และบำเหน็จชราภาพกรณีตาย จำนวน 134,653 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 1,444,653 บาท รายที่สอง นาย PHEAK. DOEUM เป็นลูกจ้างสัญชาติกัมพูชา ของห้างผ้าใบราชวงศ์เช่นกัน ที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิทธิประโยชน์ที่ทายาทจะได้รับ เป็นค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนขาดรายได้จำนวน 722,904 บาท บำเหน็จชราภาพกรณีตาย จำนวน 17,512 บาท พร้อมดอกเบี้ย รวม 790,416 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จะได้ประสานความช่วยเหลือจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ทายาทโดยเร็วต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 27/6/2565

รมว.แรงงาน สหภาพแรงงาน เอกชน รัฐวิสาหกิจ เยือนเกาหลีใต้ หวังขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตแรงงานไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นำผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงาน ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานนายชอน แทอิล ณ สาธารณรัฐเกาหลี

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีความห่วงใยแรงงานไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานให้ดียิ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ท่านนายกจึงได้มอบหมายให้ผมเป็นหัวหน้าคณะพาผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แรงงานนายชอน แทอิล ณ สาธารณรัฐเกาหลี ที่ได้ทราบถึงรูปแบบการจัดแสดงและการบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำกลับไปเป็นแนวทางดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

นอกจากนี้ ยังได้พบปะพูดคุยกับผู้นำสหภาพแรงงานของเกาหลีใต้ซึ่งมีอยู่ 2 สหภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านแรงงานและหารือเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว เพื่อจะได้นำไปปรับใช้กับประเทศไทยที่ขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โดยการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้ ผมยังได้นำกลุ่มสหภาพแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มาเยี่ยมชมไซต์งานก่อสร้างของบริษัท ซัมโฮ เดเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีแรงงานทำงานอยู่ที่นี่กว่า 700 คน คิดเป็นสัดส่วนถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงานต่างชาติที่บริษัทจ้างทั้งหมด โดยบริษัทแห่งนี้มีต้นแบบในการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ดี มีการจ้างล่ามในการสื่อสารกับแรงงาน การอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานเป็นประจำ รวมทั้งการสร้างการรับรู้เป็นภาษาของแรงงานแต่ละสัญชาติด้วย ทั้งนี้ ผมและคณะยังได้ศึกษาระบบการเลือกตั้งของสหภาพแรงงานเกาหลีใต้ที่ได้นำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ในการเลือกตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะได้นำไปปรับใช้ในการเลือกตั้งสหภาพแรงงานในบ้านเราต่อไป

ที่มา: สยามรัฐ, 26/6/2565

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กำหนดอัตราเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย

25 มิ.ย. 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบเงินชดเชย และบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และมาตรา 70/8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนอ้างอิงของพนักงานมหาวิทยาลัยท้ายกฎกระทรวงกำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนเพื่อใช้ในการคำนวณเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย และบำเหน็จบำนาญของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2554 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนอ้างอิงของพนักงานมหาวิทยาลัยท้ายกฎกระทรวงนี้แทน

ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ที่มา: TNN, 25/6/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท