2 ศาสตราจารย์ มหา'ลัยวิสคอนซินฯ ออก จม.เปิดผนึกถึงผู้พิพากษา ขอให้สิทธิประกันตัว 'ใบปอ-บุ้ง'

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น และธงชัย วินิจจะกูล 2 นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ออกจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้พิพากษา ขอให้สิทธิประกันตัว 'ใบปอ-บุ้ง' ผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิด ม.112 และถูกกักขังไว้ก่อนการพิจารณาคดี

1 ก.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน 2 นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ออกจดหมายเปิดผนึกถึง กงจักร์ โพธิ์พร้อม ประธาน ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ และ มนัส ภักดิ์ภูวดล รองประธาน ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของใบปอ และ บุ้ง เนติพร ผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกกักขังไว้ในช่วงก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นที่ทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.65 และเริ่มอดอาหารประท้วงการปฏิเสธการประกันตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

"ขอเรียกร้องให้ศาลยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ อันประกอบด้วยการทำตามทั้ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง( ICCPR) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ถ้าหากท่านไม่ยึดถือหลักการนี้ ในระยะสั้น ชีวิตของนางสาวบุ้ง นางสาวใบปอ และคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่กำลังถูกข่มเหงรังแกจะถูกทำร้าย เนื่องจากกล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ และในระยะยาวการพัฒนาส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเองก็จะถูกทำร้ายตามไปด้วย" จดหมายเปิดผนึกทิ้งท้าย

โดยมีรายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกดังนี้ : 

ท่านกงจักร์ โพธิ์พร้อม

ประธาน ศาลอาญากรุงเทพฯใต้

ท่านมนัส ภักดิ์ภูวดล

รองประธาน ศาลอาญากรุงเทพฯใต้

 

เรียนท่านผู้พิพากษาที่เคารพ

ในฐานะของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และในฐานะของมนุษย์ที่ห่วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเพื่อนมนุษย์ เราเขียนถึงท่านเพราะเป็นห่วงการที่ศาลปฏิเสธการขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกของนางสาวใบปอ และนางสาวบุ้ง เนติพร ที่ถูกกักขังไว้ในช่วงก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นที่ทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ทั้งสองคนกูกกักขังตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และเริ่มอดอาหารประท้วงการปฏิเสธการประกันตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 การจับ การกักขัง และการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในกรณีของบุคคลสองคนนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์การปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และเนื่องจากสุขภาพของทั้งสองคนกำลังทรุดลงเรื่อย ๆ เราขอเรียกร้องให้ศาลให้การประกันตัวบุคคลทั้งสองโดยทันที โดยยึดถือตามหลักการความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ถูกระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีรัฐ

การจับกุมและดำเนินคดีต่อนางสาวบุ้ง และนางสาวใบปอ สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่าวิตกของการปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีคนอย่างน้อย 202 คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2565

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวบุ้ง นางสาวใบปอ และนักเคลื่อนไหวอีกสี่ท่านทำโพลล์ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน มีโปสเตอร์และสติ๊กเกอร์เชิญชวนคนที่เดินผ่านไปมาให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” นักเคลื่อนไหวหกคนและนักข่าวอิสระอีกสองคนที่ไลฟ์กิจกรรมทำโพลล์ได้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอาญาสี่มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 368, 136, 116 และ 112 แม้กระทั่งว่าการทำโพลล์ที่เป็นการแสดงออกอย่างสันติ อันถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) มาตรา 19 ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่าประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีรัฐ

นางสาวบุ้ง อายุ 26 ปี เป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ และมีภาระดูแลคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวอยู่ นางสาวใบปอ อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การถูกกักขังทำให้นางสาวใบปอต้องพลาดงานการเรียนที่ต้องทำในฐานะนักศึกษา  ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่า การเข้าถึงการศึกษาเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ICESCR) มาตรา 13 แบะประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีรัฐ

ในการขอประกันตัวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ทนายร้องขอประกันโดยอ้างหลักการทั้งทางด้านกฎหมายและด้านมนุษยธรรม หากไม่ได้ประกันตัว การเตรียมการต่อสู้คดีในระหว่างที่ถูกกักขังอยู่นั้น ยากที่จะเตรียมการได้อย่างเต็มที่ และหากยิ่งอดอาหารเป็นเวลานาน สุขภาพของนางสาวใบปอ และนางสาวบุ้ง ก็จะยิ่งทรุดลงไปอีก ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ได้ปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 และศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนคำสั่งในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ศาลตัดสินใจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวแม้ว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ขัดขว้างการขอประกันตัวครั้งนี้ก็ตาม

ทั้งนางสาวบุ้งและนางสาวใบปอมีอาการอ่อนเพลียและปวดท้องอย่างรุนแรงจากการที่อดอาหารเป็นเวลานาน ปัจจุบันนี้น้ำหนักของนางสาวบุ้ง ลดลงสิบห้ากิโลกรัม และ น้ำหนักของนางสาวใบปอ ลดลงห้ากิโลกรัม นางสาวบุ้งเริ่มอาเจียนและเป็นระยะๆ เธอถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกของวันที่ 28 มิถุนายน เพราะอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ วันที่ 29 มิถุนายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าแพทย์ให้น้ำเกลือ ยา และวิตามินทางหลอดเลือด เพื่อรักษาอาการที่เกิดจากการอดอาหาร

ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่าทุกคนต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด การปฏิเสธไม่ให้การประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกในกรณี นางสาวใบปอ นางสาวบุ้ง และอีกหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ในขณะที่คนที่ถูกกล่าวหาในคดีอื่นๆ เช่นคดีความที่ก่อความรุนแรง กลับได้รับการประกันตัว คงสะท้อนว่ามีสองมาตรฐานที่ทำให้คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 ไม่มีสิทธิเท่าคนอื่น ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่า ICCPR มาตรา 9(3) ระบุได้ว่ามิใหถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี

สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้ศาลยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ อันประกอบด้วยการทำตามทั้ง ICCPR และ ICESCR ถ้าหากท่านไม่ยึดถือหลักการนี้ ในระยะสั้น ชีวิตของนางสาวบุ้ง นางสาวใบปอ และคนอื่น ๆ อีกหลายคนที่กำลังถูกข่มเหงรังแกจะถูกทำร้าย เนื่องจากกล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ และในระยะยาวการพัฒนาส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเองก็จะถูกทำร้ายตามไปด้วย

 

ด้วยความเคารพอย่างสูงและความขอบพระคุณ

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 22 คน โดยการคุมขังบุคคลเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้นเมื่อตั้งแต่ต้นกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท