พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมมูลนิธิสิทธิอิสรา บันทึกประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของสามัญชน

พิพิธภัณฑ์สามัญชนประกาศร่วมงานกับมูลนิธิสิทธิอิสรา ในเสวนาเปิดตัวได้สะท้อนความสำคัญในการเก็บสิ่งละอันพันละน้อยที่คอยบอกเล่าการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ทำให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้

(จากขวาไปซ้าย) ไอดา อรุณวงศ์, ชาตรี ประกิจนนทการ, นภัสสร บุญรีย์ และอานนท์ ขวาลาวัณย์

26 มิ.ย.2565 ที่แกลอรี่ Kinjai Contemporary มีเสวนาเปิดตัวความร่วมมือกันระหว่าง “พิพิธภัณฑ์สามัญชน” และ “มูลนิธิสิทธิอิสรา” ที่จะพยายามเก็บรวบรวมสิ่งของ บันทึก และเรื่องราวการต่อสู้ของสามัญชนทั้งประเด็นการเมืองกระแสหลักและประเด็นในท้องถิ่น

ไอดา อรุณวงศ์ จากมูลนิธิสิทธิอิศรากล่าวว่าที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาก็เพื่อสานต่องานของกองทุนราษฎรประสงค์ที่เดิมมให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา แต่เมื่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาก็มีการขยายขอบเขตวัตถุประสงค์เป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมและยังมีอีกด้านคือของการส่งเสริมและเผยแพร่การศึกษาทางวิชาการไปจนถึงการรวบรวมคลังวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ในประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ไอดากล่าวว่าสิ่งที่เธอสนใจมากกว่าเรื่องของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็คือเรื่องของประชาชน โดยมีภารกิจเฉพาะหน้าคือการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรภายใต้การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นอยู่ และอีกภารกิจเป็นเรื่องระยะยาวคือการบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของราษฎร ซึ่งในส่วนของภารกิจระยะยาวนี้เองที่ทำให้นึกถึงสิ่งที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนกำลังทำอยู่

ตัวแทนมูลนิธิกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่าที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของทางพิพิธภัณฑ์ติดตามเก็บรวมรวมสิ่งต่างๆ และคอยย้ำเตือนให้รู้ว่าสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวนั้นเป็นสิ่งสำคัญควรค่าแก่การถูกจดจำ แม้ในการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์จะมีข้อจำกัดอยู่มากจึงมีการคุยกับทางพิพิธภัณฑ์เพื่อร่วมงานกัน

ไอดาเน้นย้ำว่าถึงโครงสร้างองค์กรตัวพิพิธภัณฑ์จะเข้ามาอยู่ภายใต้มูลนิธิสิทธิอิสรา แต่ในแง่การทำงานพิพิธภัณฑ์จะยังคงเป็นอิสระในการดำเนินงานเพียงแต่จะร่วมกันกำหนดแนวทางกว้างๆ ในทางหลักการ ส่วนเรื่องงบประมาณทางมูลนิธิจะไม่นำเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์มาใช้ในภารกิจนี้เพราะต้องเก็บไว้ใช้ในการประกันตัวประชาชนที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ทำให้เวลานี้ก็แทบจะไม่มีเงินมาใช้ในการดำเนินการในภารกิจส่วนนี้ อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิจะดำเนินงานอย่างรัดกุมด้วยสำนึกต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินบริจาค

อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑสามัญชน กล่าวถึงสิ่งที่พิพิธภัณฑ์เคยนำมาจัดแสดงคือสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในขบวนการต่อสู้ที่ถูกแต่ละคนเก็บเอาไว้ แต่เมื่อถูกรวบรวมมาไว้ด้วยกันทำให้เห็นเส้นทางของประวัติศาสตร์การต่อสู้ พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวม จดบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของคนธรรมดาสามัญไม่ถูกลืมเลือน

อย่างไรก็ตาม อานนท์ก็บอกว่าการดำเนินการเพียงคนเดียวก็มีข้อจำกัด จึงคิดว่าควรจะทำให้พิพิธภัณฑ์มีระบบจัดการมากขึ้นกว่าที่เขาทำอยู่ตอนนี้คนเดียวซึ่งแม้กระทั่งพื้นที่เก็บของก็ไม่ได้มีเป็นกิจลักษณะ จึงต้องทำระบบขึ้นมาเพื่อจัดการในการเก็บรวบรวมและส่งต่อ นอกจากนั้นก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการต้องทำงานคนเดียว เมื่อทางมูลนิธิติดต่อมาจึงรู้สึกยินดีที่มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ

อานนท์ได้เล่าถึงสมัยเรียนว่าในวิชาเรียนประวัติศาสตร์มีแต่เรื่องราวในอดีตอันยาวไกลแต่กลับไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและหากเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญก็ไม่ยิ่งไม่ค่อยมี หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ก็ไม่ถูกเล่าถึงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขาเลยคิดว่าหากต้องการจะดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยในมุมมองที่กว้างขึ้นก็ต้องมีประวัติศาสตร์ทั้งจากมุมมองของคนธรรมดาด้วยและชนชั้นนำด้วย แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่ได้เจตนาจะตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาแข่งหรือสู้กับของรัฐเพียงแค่ต้องการให้มีประวัติศาสตร์ในมุมอื่นๆ ด้วย

อานนท์ได้ยกตัวอย่างถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนในท้องถิ่นด้วยว่าจากที่เขาเคยไปก็มีเรื่องราวของการต่อสู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องที่ดินด้วย ซึ่งในมุมของนักต่อสู้หรือนักกิจกรรมก็อาจจะมองสิ่งของเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เท่านั้นแต่เขาก็อาจจไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นสิ่งของทางประวัติศาสตร์อะไรเพราะพวกเขาเองก็มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำให้ต้องจัดการไปเรื่อยๆ มากกว่าจะคิดเรื่องเก็บสะสมของเหล่านี้

นภัสสร บุญรีย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ในหมู่นักกิจกรรมเรียกกันว่า “ป้านก” ก็มาร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่าตัวเธอเองแต่เดิมก็ชอบที่จะเก็บสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุมอยู่แล้วอย่างเช่น ป้าย สติกเกอร์ เสื้อรณรงค์ เพื่อเอาไปแจกจ่ายต่อให้กับเพื่อนๆ และคนรู้จักได้รับรู้ประเด็นทางการเมืองต่างๆ ไปจนถึงการเก็บรวบรวมกระบอกแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยางที่เจ้าหน้าที่ยิงใส่ผู้ชุมนุม เมื่อได้รู้จักกับอานนท์และรู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ก็ได้เอาสิ่งที่เคยรวบรวมไว้มาให้ และยังได้อาสาช่วยในการเก็บรวมรวมสิ่งของต่างๆ ที่มีแจกจ่ายในการชุมนุมทางการเมืองให้กับพิพิธภัณฑ์ด้วย

นภัสสรบอกว่าเหตุที่เธอเอามาของมาให้พิพิธภัณฑ์เพราะว่าสักวันหนึ่งหากเธอเสียชีวิตไปแล้วสิ่งของที่เธอเก็บไว้ก็จะไม่มีใครให้ความสำคัญอีกแล้ว

ชาตรี ประกิตนนทการ ศาตราจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมยุคคณะราษฎร์ กล่าวว่าการศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักในอดีต เขาคิดว่าการเก้บของที่ไม่ใช่ของรัฐหรือประวัติศาสตร์กระแสหลักมันจำเป็นในสองด้าน คือเป็นหลักฐานของเสียงที่คนไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักที่รัฐเอามาให้เรียนก็เป็นสิ่งที่รัฐมองว่าจำเป็นจะต้องเล่าเพียงเรื่องสำคัญทำให้เสียงของคนธรรมดาสามัญไม่ได้ถูกเล่าไปด้วย แต่วิธีเล่าจากรัฐแบบนี้ก็ถูกวิจารณ์มาหลายสิบปีแล้วว่าไม่รอบด้าน

อีกประเด็นคือประวัติศาสตร์ชาวบ้านในไทยก็มีอีกปัญหาคือชาวบ้านในอดีตของไทยไม่ได้ชอบจดบันทึกเหมือนในวัฒนธรรมชาติอื่นๆ ทำให้ประวัติศาสตร์ชาวบ้านในอดีตของไทยไม่ค่อยปรากฏนักทำให้สิ่งของหรือเครื่องมือต่างๆ ที่ตกทอดกันมาจึงสำคัญกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทย แต่สิ่งของไม่เหมือนกับบันทึกที่บอกเล่าได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งของจะเหมือนกับกล่องเก็บความทรงจำที่เมื่อได้เห็นก็ทำให้นึกย้อนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของนั้นๆ เช่นกระบวนการได้สิ่งของนั้นมาหรือถูกใช้ทำอะไรและเรื่องราวที่ประกอบกับสิ่งของอยู่ และสิ่งของเหล่านี้ก็จะเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำให้เกิดการเล่าต่อถึงคนรุ่นหลัง

ชาตรีกล่าวถึงสิ่งของที่ถูกเก็บมาอย่างยาวนานอย่างเช่นสิ่งของที่เกี่ยวกับการฉลองการปฏิวัติ 2475 ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นสินค้าที่ระลึกโดยเอกชนที่ถูกใช้ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างไม้แขวนเสื้อหรือสิ่งที่ปรากฏในที่สาธษรณะอย่างพานรัฐธรรมนูญในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศที่ด้ถูกสร้างขึ้นมาโดยประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ หรือหน้าบันโบสถ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยินดีของผู้คนที่มีต่อการปฏิวัติของคณะราษฎร และจากตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นถึงเรื่องเล่าอีกมุมที่ต่างออกไปจากเรื่องเล่าของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลังการรัฐประหารในปี 2490 ที่คอยกดทับและทำให้คณะราษฎรเป็นตัวร้ายและการปฏิวัติในปี 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม

ชาตรียังเชื่อมโยงกับการผลิตสินค้าทั้งเสื้อยืด นาฬิกาของคนยุคนี้ที่เชื่อมโยงกลับไปถึงการปฏิวัติ 2475 ในส่วนหนึ่งก็คือการระลึกถึงที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการเชื่อมโยงคณะราษฎรและพลังทางการเมืองในเวลานั้นเข้ากับคนรุ่นใหม่ด้วย

ชาตรียังได้ยกตัวอย่างกระบอกแก๊สน้ำตาและกระสุนยางของนภัสสรว่าสิ่งของเหล่านี้หากถูกเก็บไว้โดยไม่มีเรื่องเล่าในวันหนึ่งฝ่ายรัฐก็อาจจะบอกได้ว่าปฏิบัติการของรัฐไม่ได้มีความรุนแรงอะไรมาก แต่เมื่อคนที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าอีกมุมหนึ่งก็จะรู้ว่าปฏิบัติการของรัฐมีความรุนแรงอย่างไร

ไอดาเริ่มจากเล่าถึงปริมาณสมุดบัญชีที่บันทึกยอดโอนเงินเข้าบัญชีของกองทุนราษฎรประสงค์เอาไว้จำนวนมากจนไม่พอที่จะบันทึกได้หมดจนต้องเลิกที่จะขอสมุดบัญชีแล้วขอพิมพ์ออกมาเป็นรายงานการเคลื่อนไหวบัญชีแทน เธอบอกว่าเท่าที่ผ่านมาถ้าจะมีอะไรเหมาะแก่การถูกเก็บเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็คงเป็นสิ่งนี้ที่ทำให้เห็นว่าประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้ผ่านการโอนเงินมาช่วยประกันตัวนักโทษทางการเมืองกันมากขนาดไหน

ไอดายังเล่าถึงเรื่องของเอกชัย หงส์กังวานที่เก็บข้าวของต่างๆ มาขายออกไปก่อนที่ตัวเขาเองจะต้องถูกขังในคดีที่เขาถูกตั้งข้อหาร้ายแรงอย่างการประทุษร้ายพระราชินีทั้งที่คดีนี้เขาเพียงแค่ไปยืนอยู่ในเส้นทางที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะมีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ แม้สุดท้ายในคดีนี้เขาจะได้ประกันก็ตามแต่ข้าวของต่างๆ ของเขาก็ถูกขายออกไปแล้วสิ่งของพวกนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการต่อสู้ของเอกชัยได้เหมือนกัน

แต่ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ติดมากับของที่เขาเอามาขายเหล่านี้ก็คือกระดาษที่ใช้ห่อสิ่งของเหล่านี้ที่ปรากฏว่าเป็นบรรดาเอกสารเกี่ยวกับคดีบ้างหรือจดหมายตอบกลับจากหน่วยงานราชการที่เขาไปร้องขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เขาถูกคนดักทำร้าย

ไอดาบอกว่าเธอก็ไม่รู้เจตนาของเอกชัยได้ว่าทำไมถึงเอาเอกสารเหล่านี้มาห่อของที่เอามาขายแบบนี้ จะเป็นเพราะเอกชัยหวังว่าสิ่งที่เขาต่อสู้ได้ถูกรับรู้จากคนที่ซื้อของของเขาไปหรือเป็นเพียงเพราะว่าเอกสารเหล่านี้ไม่สำคัญและไร้ความหมายกับเขาอีกต่อไปแล้วเพราะสุดท้ายแล้วเรื่องที่เขาไปร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตัวเขาเองถูกทำร้ายคุกคามก็ไม่มีความคืบหน้าหรือมีความคืบหน้าก็เป็นการลงโทษปรับเงินผู้ก่อเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีกล่องกล้องวงจรปิดที่ใส่ของที่ปล่อยขายมาก็ทำให้เธอนึกได้ว่าเอกชัยยังเคยหาทางระดมทุนเพื่อจัดหากล้องวงจรปิดมาให้กับนักกิจกรรมหลายคนที่ถูกดักทำร้ายอย่างทารุณไม่ว่าจะเป็น ฟอร์ด เส้นทางสีแดง(อนุรักษ์ เจนตวนิชย์) หรือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สิ่งนี้ก็เป็นหลักฐานที่ประชาชนต้องหาทางปกป้องตัวเองจากการคุกคามของอำนาจมืด

ไอดามองว่าสิ่งเหล่านี้ก็ควรจะต้องอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพราะเป็นหลักฐานของการต่อสู้ของเอกชัยในการทวงถามความยุติธรรมของสามัญชนคนหนึ่งต่อระบบยุติธรรมของประเทศนี้และยังเป็นหลักฐานประจานความน่าอัปยศของระบบยุติธรรมทั้งระบบที่ไม่สามารถช่วยปกป้องเขาจากการถูกคุกคามทำร้ายมากถึง 8 ครั้งแต่ระบบยุติธรรมนี้กลับเอาเขามาดำเนินคดีได้นับสิบคดีและเอาขังคุกเพียงเพราะเขาได้ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นเท่านั้นโดยที่เขาไม่เคยไปทำร้ายใครและทำลายสิ่งใด แล้วระบบยุติธรรมนี้ก็ยังจะไม่ให้เขาประกันตัวโดยอ้างเพียงว่าเขาจะหลบหนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท