เช็คชื่อ 'ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพ' โดดประชุม เสี่ยงพ้นจากตำแหน่ง รับเงินเดือนสองทาง

iLaw เปิดข้อมูล “ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพ” พบเข้าประชุมและลงมติน้อยจนเสี่ยงพ้นจากตำแหน่ง พร้อมรับเงินเดือนจากสภาและกองทัพ เงินจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองอย่างน้อย 113,650 บาท และข้าราชการประจำอีกอย่างน้อย 120,030 บาท แต่มาลงมติในสภาไม่ถึง 7 เปอร์เซ็นต์

 

1 ก.ค. 2565 iLaw เปิดข้อมูลการตรวจสอบการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  ที่มาจากผู้นำเหล่า หรือ “ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพ” พบ มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าประชุมและลงมติน้อยจนเสี่ยงพ้นจากตำแหน่ง

ภาพจาก iLaw

จากบันทึกการออกเสียงลงคะแนนการประชุมวุฒิสภา ปีที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565 ระบุผลการทำหน้าที่ดังนี้

  • พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็น ส.ว. หมายเลข 019 มาประชุมอย่างน้อย 0 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%
  • พลอากาศเอก นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ  และเป็น ส.ว. หมายเลข 40 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 155 ครั้ง* หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.5%
  • พลเอก วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และเป็น ส.ว. หมายเลข 055 มาประชุมอย่างน้อย 5 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 10 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.2%
  • พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็น ส.ว. หมายเลข 118 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 11 ครั้ง จาก 161 ครั้ง** หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 6.8%
  • พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และเป็น ส.ว. หมายเลข 149 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 8 ครั้ง จาก 155 ครั้ง* หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 5.1%
  • พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และเป็น ส.ว. หมายเลข 236 มาประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง มาร่วมลงมติอย่างน้อย 0 ครั้ง จาก 161 ครั้ง หรือมีสัดส่วนการเข้าร่วมการลงมติ 0%

 

หมายเหตุ: *พล.อ.อ.นภาเดช และ พล.ร.อ.สมประสงค์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 2 พ.ย. 64 จึงมียอดรวมการลงมติน้อยกว่าผู้นำเหล่าทัพคนอื่น และ **ในการประชุมหนึ่งครั้งอาจมีการลงมติมากกว่าหนึ่งครั้ง

 

อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้การเข้าประชุมและการลงมติในที่ประชุมถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. โดยรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว.  ซึ่งอยู่ในมาตรา 115 (5) ที่ระบุว่า ให้สมาชิกภาพของ ส.ว  สิ้นสุดลง เมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา หรือ หมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว. ต้องเข้าประชุมมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ เว้นแต่ประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุม

 โดยในมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 111 (5) และให้ประธานแห่งสภา ที่ได้รับคําร้องส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อดูจากจำนวนครั้งการเข้าร่วมการประชุมของ ส.ว. ที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ จะพบว่า ทั้ง 6 คน มีข้อมูลการเข้าประชุมไม่ถึง 3 ใน 4 ของสมัยประชุมของเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 โดยผู้ที่เข้าประชุมมากที่สุด คือ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ซึ่งเข้าประชุมอย่างน้อย 5 ครั้ง จาก 27 ครั้ง  แต่จำนวนนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ส.ว.ขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของสมัยประชุม ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ความเป็นสมาชิกภาพของ ส.ว. ทั้ง 6 คนจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

 

รัฐธรรมนูญ 60 เปิดทาง "ข้าราชการประจำ" เป็น ส.ว. - รับเงินเดือนหลายทาง

แม้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 จะกำหนดให้ "ข้าราชการประจำ" ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ ส.ว. โดยระบุข้อห้ามไว้ในมาตรา 108 ข. (2) เรื่องลักษณะต้องต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในมาตรา 184 (1) ยังกำหนดด้วยว่า ส.ว. ต้อง ไม่ดํารงตําแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

แต่ทว่า ในหมวดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) (ค) กลับกำหนดให้ ส.ว. ในวาระเริ่มแรก มีข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ด้วยหกคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ  และให้งดเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติเรื่องลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ที่ห้าม ส.ว. เป็นข้าราชการ 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บรรดาผู้นำเหล่าทัพที่เป็นข้าราชการประจำจะได้รับเงินจากทั้งสองทาง คือ เงินจากตำแหน่งข้าราชการการเมือง อย่างน้อย 113,650 บาท และ เงินจากตำแหน่งข้าราชการประจำ อย่างน้อย 120,030 บาท นอกจากนี้ ผู้นำเหล่าทัพต้องดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา  12 (5) ของพ.ร.บ.การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะได้รับเงินเป็นค่าเบี้ยประชุม จำนวน 6,000 บาท/ครั้ง

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท