Skip to main content
sharethis

กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2566 คืบหน้าพิจารณางบแล้ว 29.6% รวม 8 กระทรวง - 'เพื่อไทย' ตั้งข้อสังเกต 3 กระทรวง 'DE ลุยสร้างตึก 2,500 ล้าน-ศธ. 10 จังหวัดกินงบ 1/3 -พลังงาน หมดมุกแก้น้ำมันแพง'

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ว่านางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พร้อมด้วย นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สภาผู้แทนราษฎร ร่วมแถลงข่าวถึงผลการประชุม ว่า กมธ.ได้พิจารณางบประมาณของหน่วยงานแล้ว รวม 8 กระทรวง 5 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 29.6 ของหน่วยงานที่ต้องพิจารณาทั้งหมด ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพลังงาน
         
โดยภาพรวมการพิจารณางบประมาณของกระทรวงพลังงาน วงเงิน 2,707 ล้านบาท กมธ.ได้มีการหารือกันเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน และแผนพลังงานของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นแผนระยะยาวจึงไม่แน่ชัดว่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกในปัจจุบันที่ผันผวนหรือไม่ ทั้งนี้ กมธ.ได้มีข้อเสนอแนะว่า กระทรวงพลังงาน ควรปรับแผนพลังงานแห่งชาติใหม่ ทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนน้ำมัน แผนพลังงานทางเลือก และแผนอื่นๆ ให้มีความยืดหยุ่น สอดรับกับสถานการณ์โลกที่มีความผันผวน โดยที่ผ่านมา แผนพลังงานของหน่วยงานจะมีอายุยาวนานถึง 20 ปี และมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25-35 ปี นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานยังผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่แนวโน้มของโลก ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
           
อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงว่า หน่วยงานได้ตั้งแผนและได้คาดการณ์อนาคตด้านพลังงานของประเทศไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว โดยมีแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นแผน 20 ปี ที่เรียกว่า แผน PDP ส่วนของการจัดทำแผนพลังงานได้มีการคาดการณ์การผลิตและการใช้พลังงานในอนาคตโดยมีการประเมินความสำเร็จของแผลเป็นระยะทุก 5 ปีและตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น "0" ในปี 2608

'เพื่อไทย' ตั้งข้อสังเกต 3 กระทรวง 'DE ลุยสร้างตึก 2,500 ล้าน-ศธ. 10 จังหวัดกินงบ 1/3 -พลังงาน หมดมุกแก้น้ำมันแพง'

2 ก.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กล่าวถึงการพิจารณางบสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กมธ.ได้พิจารณางบใน 3 กระทรวงสำคัญ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

1. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

1.1. สถานการณ์ด้านดิจิทัลไทยย่ำแย่ สัดส่วนการส่งออกบริการทางด้าน ICT ของไทยเกือบรั้งท้ายอยู่อันดับ 60 จาก 64 ประเทศ การศึกษาทางด้านดิจิทัลอยู่อันดับที่ 56 จาก 64 ประเทศ 

1.2. แต่การจัดสรรงบประมาณกลับไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว 86 ล้านบาทถูกตั้งให้กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 2,125 ล้านบาท หรือ 31% ของงบทั้งกระทรวงถูกจัดไปที่กรมอุตุฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ลงทุนกับอุปกรณ์เครื่องมือเยอะ แต่หน้าที่การพยากรณ์อากาศซ้อนทับกับภาคเอกชน ซึ่งทำได้ดีกว่า และต้องลงทุนอีกเยอะในอนาคต จึงตั้งข้อสังเกตว่าในภารกิจนี้ยังจำเป็นหรือไม่ 

1.3. DEPA ได้ของบโครงการสตาร์ทอัพคนละครึ่ง ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ สร้างข้อกังขาในการคัดเลือกสตาร์ทอัพที่จะร่วมทุน โอกาสเสียหายจากการลงทุน และแนวทางลดความเสี่ยง โครงการดิจิทัลวัลเล่ย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างอาคาร IOT มีงบตั้งแต่เริ่มผูกพันต่อเนื่องถึงปี 67-68 รวมกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น หัวใจคือการสร้างระบบนิเวศ ไม่ใช่สร้างอาคาร

1.4. กระทรวง DE ใช้งบประมาณไม่น้อยกับการอบรมดิจิทัล และศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งบางส่วนเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเช่าอุปกรณ์ ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ Content กระจายผ่าน Platform ที่มีอยู่ และร่วมมือกับกระทรวงศึกษาฯ จะประหยัดงบกว่า DE ทำเอง และต่างคนต่างทำ

2.กระทรวงศึกษาธิการ

2.1.คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำสุดขีด เด็กวัยเรียนส่วนใหญ่ IQ ต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล EQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ O-NET เฉลี่ยต่ำในทุกกลุ่มสาระ PISA ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในระดับเดียวกัน สถานศึกษาจำนวนมากตกเกณฑ์ประเมิน ปัญหาหนี้สินครู การพัฒนาครูถูกละเลย

2.2. ตั้งเป้าหมายเน้นเอาง่าย : อันดับความสามารถในการแข่งขัน (IMD) ย่ำแย่ อยู่อันดับ 53 จาก 64 ประเทศ แต่กระทรวงกับตั้งเป้าอยู่ที่อันดับ 55 ซึ่งแย่กว่าอันดับปัจจุบันเสียอีก ตัวชี้วัดเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตั้งเป้าหมายต่ำลงเกือบครึ่งจากปีที่แล้ว

2.3. ในงบส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) งบก่อสร้างซ่อมแซมอาคารและสิ่งก่อสร้างสูงถึง 4,058 ล้านบาท ยังเป็นแนวคิดแบบเก่า โดยการใช้ “สิ่งก่อสร้างนำ ความรู้ตาม” ในขณะที่โครงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ กลับได้งบเพียง 5 ล้านกว่าบาท ผ่านโครงการห้องเรียนอาชีพเพียง 6 แห่ง

2.4. ในแง่ของการกระจายงบ จังหวัด TOP 10 ได้งบกว่า 1 ใน 3 ของงบทั้งหมด เป็นจังหวัดเดิมๆ และจังหวัดรั้งท้ายได้งบน้อยกว่าจังหวัดอันดับ 1 กว่า 22 เท่าตัว

3. กระทรวงพลังงาน

3.1. หมดมุกเรื่องราคาน้ำมัน : ทางหน่วยงานชี้แจงเกี่ยวปัญหาราคาน้ำมัน มุ่งไปที่ข้อจำกัดของกองทุนน้ำมันจาก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 ทั้งด้านการกู้ และการจำกัดเงินในกองทุน ถ้าเกินต้องนำส่งคลัง ยังมีเรื่องค่าการกลั่นที่อยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งไม่น่าจะทำอะไรได้มากนัก เห็นแต่ข้อจำกัด แต่สิ่งที่ไม่เห็นทางออกหรือแนวทางการช่วยเหลือประชาชนเรื่องราคาน้ำมันซึ่งแทบไม่มีการพูดถึง ยังมีการพูดถึงแนวโน้มการต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ทางออกเดียวจากการชี้แจง คือ รอเงินกู้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน 

3.2. สิ่งแวดล้อมมีแต่เป้า แต่แผนไม่ชัด : ก๊าซเรือนกระจก 54% เกิดจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง ชี้เป้าไปที่กระทรวงพลังงานที่จะต้องมีบทบาทหลักในพลิกโฉมโครงสร้างพลังงานของประเทศ แต่จากการฟังการชี้แจง ส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดเป้าหมาย ทั้ง EV ทั้ง Net Zero แต่แผนการดำเนินงานยังขาดรูปธรรมอยู่มาก

ทั้งนี้ กมธ.ของพรรคเพื่อไทย ได้ทำงานเข้มข้น ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะต้องทำงานหนักต่อไปในการทำงานในชั้นอนุกรรมาธิการทั้ง 8 คณะ เพื่อตรวจสอบทุกรายละเอียด ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน เพื่อทุกบาทจะต้องคุ้มค่าและต้องเป็นเพื่อประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net