Skip to main content
sharethis

‘อรรถสิทธิ์ นุสสะ’ ยืนถือป้ายหน้า สตช. เรียกร้องให้ ตร.ปฏิบัติหน้าที่ให้เร็วยิ่งขึ้น หลังเคยแจ้งความกรณีถูก ตร. สน.ดินแดง ซ้อมทรมาน ม็อบ29ตุลา64 แต่ผ่านมา 7 เดือน ไร้ความคืบหน้า พร้อมสื่อสารไปสภา ให้รีบผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ 

3 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) มีชาย 1 คน ภายหลังทราบชื่อว่า อรรถสิทธิ์ นุสสะ อายุ 35 ปี มายืนถือป้ายกระดาษ ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “I’m a Victim of Torture by Thai Police” หรือ ‘ผมเป็นเหยื่อถูกซ้อมทรมานโดยตำรวจไทย’ เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

อรรถสิทธิ์ นุสสะ กำลังถือป้ายกระดาษหน้า สตช. เมื่อ 2 ก.ค. 2565

สำหรับอรรถสิทธิ์ เป็นผู้เสียหาย และร้องเรียนว่าถูกตำรวจคุมตัวใน สน.ดินแดง และทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับระบุตัวคนเผาศาลพระภูมิ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 หรือม็อบรำลึก วาฤทธิ์ สมน้อย ผู้ชุมนุมเยาวชน และเป็นผู้เสียชีวิตคนแรกจากการออกมาชุมนุมทางการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อรรถสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จกิจกรรมว่า เหตุที่เขาไปชูป้าย เนื่องจากต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเขาเคยแจ้งความกรณีถูกทำซ้อมทรมานใน สน.ดินแดง เมื่อ ต.ค. 2564 แต่ผ่านมา 7 เดือนแล้ว แต่ยังคงไร้ความคืบหน้า และไม่มีการแจ้งให้ผู้ร้องเรียนฟังด้วยว่าทำงานถึงไหนแล้ว 

นอกจากนี้ เขาอยากให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงด้วยว่า ทำไมการทำงานถึงล่าช้าขนาดนี้ มันติดปัญหาที่ตรงไหนบ้าง 

อรรถสิทธิ์ ระบุต่อว่า เหตุที่เขาใช้ข้อความภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เนื่องจากต้องการบอกให้โลกรู้ จะได้ระมัดระวังตัว ทั้งนี้ เขาบอกด้วยว่า เขาอยากเขียนเป็นภาษาจีนด้วย แต่ติดตรงที่เขาเขียนไม่เป็น 

อีกประการหนึ่งคือ เขาได้ยินมาว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ถูกดองในการพิจารณาสภา เขาจึงอยากสื่อสารให้รีบผลักดันกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์กับทุกคน 

สำหรับการทำกิจกรรมเมื่อวานนี้ (2 ก.ค.) อรรถสิทธิ์ ระบุว่าเขามาเริ่มยืนถือป้ายที่หน้า สตช. ตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. 

กระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งมาคุยกับเขาว่า มีเรื่องต้องการร้องเรียนอะไรหรือไม่ อรรถสิทธิ์ จึงตอบตำรวจว่า ทำไมเขาไปแจ้งความนานแล้ว ทำไมต้องมาถามหาความคืบหน้าด้วยตัวเอง ทำไมตำรวจถึงไม่แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบว่า ขั้นตอนเรื่องแจ้งความไปถึงไหนแล้ว 

ชายคนเดิม กล่าวต่อว่า เขามาเรียกร้องเพราะต้องการให้ระบบการทำงานของตำรวจดีขึ้น เป็นแบบอย่างให้ประเทศต่างๆ ได้รับผลตอบรับจากประชาชนดี 

จากนั้น ตำรวจเชิญให้อรรถสิทธิ์ เข้าไปคุยด้านในหลังกำแพง สตช. เวลาประมาณ 16.00 น. เพราะตำรวจบอกว่าอยากได้ความคิดเห็นจากเขา เพื่อนำไปปรับปรุง และรับปากจะยื่นต่อให้ฝั่งบริหารงานข้างบนต่อไป หลังจากเสร็จการเจรจากับตำรวจ เขาแยกย้ายออกจากพื้นที่

ตำรวจขอให้ อรรถสิทธิ์ เข้ามาคุยหลังกำแพง

อนุกรรมการตีตกเคสซ้อมทรมานอรรถสิทธิ์

สืบเนื่องจากเมื่อ 18 มิ.ย. 2565 อรรถสิทธิ์ ได้รับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบกรณีของตนจากคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ หลังจากที่ไปร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ตั้งแต่เมื่อ พ.ย. 2564

ภายในหนังสือระบุว่า ให้ยุติการสอบสวนเนื่องจากพฤติการณ์ข้างต้นนั้น เนื่องจาหมิใช่การกระทำทรมาน ตามคำนิยามของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจากมิใช่การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ และนายอรรถสิทธิ์ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงสาหัส จึงเห็นควรยุติเรื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ตอนที่ได้รับหนังสือ อรรถสิทธิ์ รู้สึกครั้งแรกว่า ‘อิหยังวะ’ พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว 

“หมายความว่าถ้าตำรวจเอาใครก็ได้ไปซ้อม 1 วัน 2 วัน 3 วัน โดยไม่ถามอะไรเลย ก็ไม่นับเป็นการซ้อมทรมาน เพราะว่าไม่ได้มีการขอข้อมูลอะไร เป็นการซ้อมขำๆ กักตัวซ้อมเฉยๆ ก็ไม่ใช่การซ้อมทรมานสิ งั้นต้องมานิยามกันใหม่ว่าได้ให้ซึ่งมาคำรับสารภาพมันยังไง… ถามนู่นนี่นั่นนับไหม ถ้าเอาซ้อมหลายๆ วัน โดยไม่มีการเรียกรับสารภาพนี่นับไหม ต้องนิยามกันใหม่” ชายวัย 35 ปี กล่าวเพิ่ม พร้อมมองว่า การทำตรงตามนิยามเกินไปแบบนี้ อาจเป็นช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายประชาชน หรือซ้อม 1-2 วัน โดยไม่บังคับให้สารภาพได้ 

อรรถสิทธิ์ ระบุว่า ได้สอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ DSI ว่าหากมีความเห็นโต้แย้งทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ระบุแค่ว่าให้ส่งหนังสือแจ้งเพิ่มเติม  

เขาระบุเพิ่มว่า เขากังวลนิดหน่อยว่าคดีของเขาอาจไม่คืบหน้า แต่จะยื่นต่อ DSI เพิ่มว่า การนิยามดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง 

“ง่ายๆ ก็คือทำตามระบบที่วางมาไว้ให้เคร่งครัด มันก็ไม่เกิดเหตุ (ผู้สื่อข่าว - ซ้อมทรมาน) ดังกล่าวขึ้นแล้ว เพราะในระบบไม่ได้บอกให้คุณไปซ้อมทรมานใคร แสดงว่าไม่ได้ทำตามระบบ” อรรถสิทธิ์ ทิ้งท้ายข้อความถึงตำรวจ เกี่ยวกับการซ้อมทรมาน พร้อมระบุว่าเขาตั้งใจจะมายืนหน้า สตช.อีก จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net