Skip to main content
sharethis

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เดินหน้าฟื้นฟูภาคประชาชน สร้างโรงเพาะชำปลูกพืชแปลงทดลองฟื้นฟูดูดซับสารพิษโลหะหนักเหมืองทองคำ

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่าทางกลุ่มฯ ได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูภาคประชาชนภายหลังจากกลุ่มต่อสู้เรียกร้องปิดเหมืองทองคำได้สำเร็จและปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูพื้นที่รอบเหมืองทองคำ จนกว่าพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจะกลับมาสู่สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานที่ราชการกำหนด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามคำสั่งของศาล ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้พยายามแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยที่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ส่งตัวแทนเพียงไม่กี่คนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งกลุ่มเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้ทำการฟื้นฟูทั้งบริเวณภายในและภายนอก รวมถึงต้องทำการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยไม่ใช่ฟื้นฟูเพียงด้านเทคนิคทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างด้วย

โดยกระบวนการฟื้นฟูภาคประชาชนของกลุ่มได้เริ่มจากทำการตัดหญ้าทำความสะอาดพื้นที่ ทำโรงเพาะชำแปลงทดลองฟื้นฟูอยู่ตรงประตูแดงถนนเข้าออกเหมืองทองคำ และได้ร่วมมือช่วยกันกรอกดินใส่ถุงดำเตรียมสำหรับเพาะพืชพื้นถิ่นอย่าง บอน เฟิร์น ผักกูด และผักหนาม เพื่อนำไปปลูกลงแปลงทดลองฟื้นฟูจำนวน 3 แปลง คือ ร่องห้วยผุก ร่องนาดินดำ และร่องห้วยเหล็ก ให้พืชได้ดูดซับสารพิษโลหะหนักที่รั่วไหลออกมาจากเหมืองทองคำลงสู่ร่องน้ำ

ซึ่งนางสาวภรณ์ทิพย์ สยมชัย ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ได้กล่าวถึงที่มาการเริ่มกระบวนการฟื้นฟูภาคประชาชน ว่า “ที่นี่เป็นบ้านที่พวกเราอยู่ เราเจอผลกระทบมาตั้งแต่เหมืองเริ่มเข้ามาจนกระทั้งเราสามารถปิดเหมืองได้ ขั้นตอนการฟื้นฟูก็อยู่ในความฝันของชาวบ้านว่าอยากฟื้นฟูที่นี่ให้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติกลับคืนมา ถึงจะไม่ได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เหมืองเดิมแต่ก็ยังดีที่ชาวบ้านได้เริ่มลงมือเอง ภาครัฐยังไม่ได้ใส่ใจพวกเราหรือคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและเป็นความคิดที่ส่วนทางกันมาก เพราะภาครัฐพยายามที่จะตั้งคณะกรรมการโดยที่มีแต่คนของรัฐ ไม่คำนึกถึงชาวบ้าน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงในพื้นที่ ซึ่งพวกเรารู้ทุกร่องน้ำว่าร่องน้ำตรงไหนที่ปนเปื้อนขนาดไหน ร่องน้ำชื่อร่องอะไร พวกเราอยู่ในพื้นที่จริง พวกเราเลยเริ่มลงมือดีกว่า ดีกว่ารอภาครัฐที่ไม่ใส่ใจประชาชนเลย และวันนี้ก็รู้สึกดีใจที่ได้เริ่มการฟื้นฟูหลังจากที่เราประชุมกันมาเป็นหลายครั้ง”

ขณะที่นางมล คุณนา ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกในของการเริ่มกระบวกการฟื้นฟูภาคประชาชน ว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เริ่มต้นทำการฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเราได้เตรียมงานกันมาหลายเดือนเพราะเราไม่อยากรอหน่วยงานรัฐ และก็ดีใจมากที่มีพี่น้องมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูบ้านตัวเอง ทำให้เห็นว่าการฟื้นฟูเป็นสิ่งที่สำคัญ คนในชุมชนยังไม่ลืมว่าการต่อสู้ต้องมีการฟื้นฟู ทำกิจกรรมการฟื้นฟูบ้านตัวเอง เพื่อตัวเอง เพื่อบ้านตัวเอง”

ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ ก็จะทำการเก็บพืชท้องถิ่นเพื่อนำมาเพาะลงถุงดำและทำการดูแลพืชในแข็งแรงพร้อมสำหรับปลูกลงแปลงทดลองฟื้นฟูทั้ง 3 แปลง ที่กลุ่มได้เตรียมไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net