Skip to main content
sharethis

เฟซบุ๊กแฟจเพจ ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ รายงานสรุป "เปิดเทอม โศกนาฏกรรมความเหลื่อมล้ำ: ล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ ข้อเสนอเพื่อคน 99%"

  • ชวนตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย แนวทางการแก้ไข และจินตนาการถึงอนาคตของการศึกษาไทยหลังสังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น 
  • วงเสวนาชี้ การศึกษาถูกทำให้กลายเป็น School market มากขึ้น จ่ายมากก็มีสิทธิ์จะได้เรียนที่ดี ๆ จ่ายน้อยก็ได้เรียนแค่นั้นก็ถูกต้องแล้ว ระบุ 8 ปีที่ไร้การถกเถียงอย่างเป็นประชาธิปไตย การศึกษาถูกมองว่าเป็นเรื่องของ ‘กำไร-ขาดทุน’ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสิทธิที่ควรได้รับ
  • ก่อนที่จะมี ‘ปรัชญาการศึกษา’ ต้องถกกันเรื่อง ‘อุดมการณ์ของรัฐ’ ก่อน หากไม่แข็งแรงก็จะแกว่งไปตามกระแสของตลาดทุน ย้ำ ‘เจตนารมณ์ร่วมทางสังคม’ เป็นสิ่งสำคัญหากจะเดินหน้าสู่สังคมที่เสมอหน้ากัน

ภาพการเสวนาออนไลน์หัวข้อ ‘เปิดเทอม โศกนาฏกรรมความเหลื่อมล้ำ: ล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ ข้อเสนอเพื่อคน 99%’ (ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ)

31 พ.ค. ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมศึกษา ได้เปิดวงเสวนาออนไลน์ผ่านเพจของศูนย์วิจัยในหัวข้อ “เปิดเทอม โศกนาฏกรรมความเหลื่อมล้ำ: ล้างหนี้ กยศ. เรียนฟรีตลอดชีพ ข้อเสนอเพื่อคน 99%” โดยมีษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำสาขาวิชา​ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เป็นผู้ถามในการเสวนา และมีอรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทย เป็นผู้ร่วมพูดคุยตอบคำถามและแสดงความเห็นในการเสวนาครั้งนี้ ซึ่งประเด็นคำถามหลักของการพูดคุยครั้งนี้มี 3 คำถาม ได้แก่

1. ทำไมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยถึงไม่ถูกแก้ไขทั้งที่เวลาผ่านมาหลายทศวรรษ

2. ทำไมแนวทางแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของการศึกษาไทยถึงล้มเหลว

3. ถ้าเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นในประเทศไทย คือ การเรียนฟรี มีเงินเดือนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งจบปริญญาเอก มีรถรับส่ง มีโรงเรียนและครูที่พร้อมใกล้บ้าน และรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ จินตนาการหลังสังคมที่ประชาชนชนะ หลังสังคมที่มีความเสมอภาคมากขึ้น จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะคุ้มค่าต่อการต่อสู้เพื่อให้ได้มาหรือไม่

การศึกษาถูกทำให้กลายเป็น School market จ่ายมากก็มีสิทธิ์จะได้เรียนที่ดี ๆ จ่ายน้อยก็ได้เรียนแค่นั้นก็ถูกต้องแล้ว 

อรรถพล ให้คำตอบของคำถามที่ 1-2 ไว้ว่า “ประเด็นหลักของปัญหานี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นผูกโยงอยู่กับความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีความเข้มข้นเป็นอย่างมากภาพของความเหลื่อมล้ำจึงเริ่มไปปรากฎชัดขึ้นในรั้วโรงเรียน ถึงขนาดที่ว่าเด็กที่มีครอบครัวรายได้ปานกลางก็ยังไม่สามารถมีอะไรมารับรองได้ว่าจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพดีได้ ยิ่งถ้าเป็นกลุ่มเด็กที่ครอบครัวมีรายได้น้อยยิ่งไม่สามารถขยับไปไหนได้เลย การศึกษาไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันอีกต่อไปในการขยับฐานะทางชนชั้นอีกต่อไป กลายเป็นว่าในช่วง 2-3 ทศวรรษ ที่ผ่านมาการศึกษาถูกทำให้กลายเป็น School market มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็ถูกจัดวางความคิดอยู่บนฐานของ “ความคู่ควร” จ่ายมากก็มีสิทธิ์จะได้เรียนที่ดี ๆ มีเงินจ่ายน้อยก็ได้เรียนแค่นั้นก็ถูกต้องแล้ว และตอนนี้ปัจเจกต้องแบกรับภาระจากค่าใช้จ่ายเล่าเรียนของลูกอย่างเลี่ยงไม่ได้เพื่อที่จะให้ลูกได้มีโอกาสในอนาคตที่ดีขึ้น และเรื่องเหล่านี้ได้กระจายไปสู่ทุกชนชั้นมากขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วการศึกษาควรเป็นเรื่องการลงทุนของสังคมที่รัฐควรนำภาษีของประชาชนมาสนับสนุนอนาคตของชาติผ่านการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาไม่ใช่หรือ?”

School market หมายถึง โรงเรียนที่ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าและมองเด็กว่าเป็นลูกค้า ซึ่งมีธรรมชาติไม่ต่างจากสินค้าและบริการในตลาดประเภทอื่น คือ ลูกค้าสามารถที่จะเลือกซื้อบริการได้หลายระดับ คนที่มีเงินจ่ายมาก ก็คู่ควรที่จะได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ส่วนคนที่จ่ายน้อยก็คู่ควรที่จะได้รับการศึกษาตามราคาที่จ่าย

8 ปีที่ไร้การถกเถียงอย่างเป็นประชาธิปไตย การศึกษาถูกมองว่าเป็นเรื่องของ ‘กำไร-ขาดทุน’ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสิทธิที่ควรได้รับ

อรรถพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอย่าง การให้กู้ยืม การเปิดหลักสูตรพิเศษ การทำโรงเรียนทางเลือก เช่น Home school เป็นต้น ทำไมถึงล้มเหลว ซึ่งต้องให้พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง คือ เรื่องรัฐราชการรวมศูนย์ เพราะอำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่กับหน้างานและการปฏิบัติงาน ซึ่งในช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมาบรรยายกาศการถกเถียงอย่างเป็นประชาธิปไตยมีน้อยเป็นอย่างมากรวมไปถึงเรื่องของนักการศึกษาที่เป็นนักรัฐศาสตร์การศึกษาที่เป็นสายจัดทำนโยบายในไทยตอนนี้แทบไม่มีเหลือแล้ว ส่วนนักเศรษฐศาสตร์การศึกษาที่มีอยู่ตอนนี้ก็เป็นสายนิยมแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่เอาแต่นั่งดีดเรื่องคิดเลขมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของกำไร-ขาดทุนเสียมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของสิทธิที่ควรได้รับ” 

“ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดการศึกษา เพราะคนเหล่านี้ทราบดีว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญในการคุมอำนาจต่อไปผ่านการเผยแพร่อุดการณ์ของรัฐด้วยการศึกษา หรือในแง่ของระดับทุนนิยมเองก็พยายามทำให้การศึกษาเป็นเรื่องของตลาดวิชาหรือวิชาชีพมากขึ้นเพื่อทำให้ผู้ศึกษาห่างไกลและไม่สนใจเรื่องของการเมือง ซึ่งตัวอย่างการแก้ไขปัญหาในประเทศที่มีการกระจายอำนาจอย่างฟินแลนด์ที่ประสบปัญหาเรื่องการยุบตัวโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทยที่ยังแก้ไขไม่ได้ วิธีแก้ไขของฟินแลนด์คือ การไปจ้างเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่โตพอในระดับที่จะสามารถดูแลตนเองได้มาเรียน แน่นอนว่าการจ้างการจ่ายนั้นมีราคาที่แพง แต่ถ้าหากปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนปิดตัวลงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพงกว่านี้” ษัษฐรัมย์ กล่าวเสริม

ก่อนที่จะมี ‘ปรัชญาการศึกษา’ ต้องถกกันเรื่อง ‘อุดมการณ์ของรัฐ’ ก่อน หากไม่แข็งแรงก็จะแกว่งไปตามกระแสของตลาดทุน 

อรรถพล กล่าวว่าตนได้ไปเปิดดู “ปรัชญาการอุดมศึกษาของไทย” ในราชกิจจานุเบกษาของกระทรวง อว. ที่ประกาศอย่างเป็นทางการโดยนายกกระทรวง ความว่า “การศึกษาไทยต้องมุ่งสร้างบัณฑิตพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้อยู่ตลอด เป็นคนที่มีจริยธรรม มีสมรรถนะจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันพร้อมเพิ่มขีดความสามารถมในการแข่งขัน” ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อรรถพล ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ใช่ปรัชญาของการศึกษาหรือการอุดมศึกษา แต่นี่คือความคาดหวังของรัฐในการจัดการศึกษาต่างหาก ประหนึ่งว่าบัณฑิตหรือนักเรียนที่จบไปจะเป็นมดงานที่สร้างรายได้มูลค่าเพิ่มให้กับรัฐ ทั้งนี้การที่จะมีปรัชญาการศึกษาได้ สังคมหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องมีอุดมการณ์ร่วมกันว่า “มีสังคมไปเพื่ออะไร ถ้าจะมีรัฐไว้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันทำให้คุณภาพของชีวิตดีขึ้นไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังสักคนเดียวแบบรัฐสวัสดิการ” แต่ในไทยกลับไม่มีใครมานั่งถกกันเรื่องอุดการณ์ในสังคมไทยเป็นอย่างไรมีรัฐไว้ทำไมกันแน่ ? พอก้อนความคิดเช่นนี้ไม่แข็งแรงพอมันก็จะแกว่งไปมาตามกระแสของตลาดของการแข่งขันของทุน ฉะนั้นการศึกษาจึงไม่ต่างอะไรจากโรงงานที่ใช้ผลิตสินค้า การศึกษาไทยไม่ได้พูดถึงการทำให้คนค้นพบความสามารถที่แท้จริงของตนเอง ดังนั้นถ้าเราจะเปลี่ยนการศึกษาจริง ๆ เราจะเอาแต่ copy หลักสูตรของประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการศึกษาถูกออกแบบมาภายใต้อุดการณ์ทางการเมือง แนวคิดเศรษฐกิจ จึงแก้ไขแบบโดด ๆ ไม่ได้ เราต้องพูดถึงการเปลี่ยนฐานคิดเรื่องการเมืองเศรษฐกิจให้ชัดเจน

ย้ำ ‘เจตนารมณ์ร่วมทางสังคม’ เป็นสิ่งสำคัญ หากจะเดินหน้าสู่สังคมที่เสมอหน้ากัน

ในส่วนของประเด็นคำถามที่ 3 อรรถพล กล่าวว่า “ตนได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับนักการศึกษาและคนรุ่นใหม่จากฟินแลน์ สิ่งที่ได้คือ เราต้องเริ่มจากเจตนารมณ์ร่วมทางสังคมเพราะโรงเรียนเป็นภาคปฏิบัติการอย่างหนึ่งของมุมมองทางการเมืองว่าเราจะเดินหน้าสู่สังคมเสมอหน้ากัน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากโรงเรียนใกล้บ้าน เป็นสัญญาประชาคมที่ง่ายที่สุดที่รัฐจะทำให้ประชาชนเห็นว่าต่อให้จะเป็นลูกคนรวยหรือจนแค่ไหนก็เรียนด้วยกันได้ ถึงเรื่องแบบนี้ในไทยอาจจะต้องใช้เวลานาน แต่ก็เป็นไปได้และเกิดขึ้นแล้วในสังคมฟินแลนด์ที่เคยมีความเหลื่อมล้ำมีคนยากจน แต่สิ่งที่สังคมต้องมีร่วมกันคือความมุ่งมั่นทางการเมืองร่วมกันจึงจะออกแบบสิ่งที่ตอบโจทย์ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เริ่มจากจุกเล็ก ๆ ด้วยซ้ำในฟินแลนด์ คือ จะทำอย่างไรให้เด็กทุกคนเมื่อไปถึงโรงเรียนแล้วมีอาหารกินอย่างอิ่มท้องทุกคน และไม่ปล่อยให้มีช่องว่างระหว่างเด็กรวย-จน ทุ่มเททรัพยากรของรัฐทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ ซึ่งในไทยเราต้องปักธงเรื่องความเชื่อนี้ให้ได้ และเดี๋ยววิธีจัดการจะค่อย ๆ ตามมา แน่นอนว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความเชื่อในรัฐสวัสดิการ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ และต้องอาศัยความเชื่อร่วมกันของสังคม”

สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ กยศ. นั้น ล่าสุด 29 มิ.ย. เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานความคืบหน้าผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....  หรือ  คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กยศ. โดยมี บัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แถลงว่า  คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กยศ ได้มีการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ทั้งนี้จากการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา 39 โดยมีความเห็นว่า ควรมีการขยายโอกาสให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือผู้มีสถานะบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการขอสัญชาติไทย ให้สามารถเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กยศ. จึงได้หารือเพื่อบัญญัติถ้อยคำให้ครอบคลุมถึงบุคคลดังกล่าว ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นจากกรมการปกครองได้เสนอให้ใช้คำว่า "กลุ่มบุคคลที่รอการพัฒนาสถานะทางทะเบียนของกรมการปกครอง" มาบัญญัติเพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุไว้เฉพาะการมีสัญชาติไทย เพื่อให้ถูกต้องครบถ้วนตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการฯ

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... ครบถ้วนทุกมาตราแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานสรุปผลการพิจารณา โดยจะนัดตรวจร่างรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในวันพุธที่ 20 ก.ค. 2565 ต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net