Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศส่งจดหมายเปิดผนึกเนื่องใน "วันสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานสากล”  (International Day In Support of Victims of Torture) ถึงประธานวุฒิสภาและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาและรับรองร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน การประติบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับให้สูญหาย โดยเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญและวุฒิสภาเร่งรัดกระบวนการพิจารณาและผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้โดยไม่ชักช้าและประกันว่ากฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งยังเรียกร้องให้มีการอภิปรายอย่างโปร่งใสและมีการชี้แจงความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณาของวุฒิสภาด้วย 

4 ก.ค.2565 ฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า 6 องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศดังรายนามต่อไปนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty Intenational) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organization Against Torture) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....แสดงความกังวลถึงความล่าช้าของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันร่างยังอยู่ในชั้นกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา อีกทั้งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบขยายเวลาไปอีก 30 วัน ทำให้การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ขยายออกไปถึงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่กฎหมายฉบับนี้จะไม่แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมครั้งนี้ ที่จะจบลงวันที่ 18 ก.ย. 2565 

ในแถลงการณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ไทยเข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี แห่งสหประชาชาติในปี 2550 และได้ให้คำมั่นสัญญาทั้งในระดับระหว่างประเทศและในประเทศหลายครั้งที่จะทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา 

นอกจากนั้น ในระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ครั้งที่สอง เมื่อปีพ.ศ. 2559 รัฐบาลยังให้คำมั่นโดยสมัครใจว่าจะให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับของ UNCAT เพื่อส่งเสริมพันธกรณีของประเทศไทยต่อการป้องกันการทรมานและการประติบัติที่โหดร้ายให้สอดคล้องตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และในระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ประเทศไทยยังยอมรับข้อเสนอแนะจากประเทศอื่นที่จะตรากฎหมายเพื่อทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และประกันให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย 

 แต่แม้จะมีการให้คำมั่นเหล่านี้มามากว่า 15 ปี และมีการจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับเพื่อทำให้การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา แต่ร่างกฎหมายเหล่านี้กลับถูกถอนออกไปโดยหน่วยงานของรัฐต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีการนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง แต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าอย่างมากในกระบวนการนี้ นอกจากนั้นเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินี้กลับถูกทำให้อ่อนลงและถูกลดทอนในหลายโอกาส ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตราฐานระหว่างประเทศ  

ในท้ายของจดหมายระบุว่า องค์กรภาคประชาสังคมรระหว่างประเทศยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับวุฒิสภาประเทศไทย ในการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ และยินดีหากจะมีโอกาสได้เข้าพบ อภิปราย และรับฟังความเห็นหรือคำถามใดๆ ที่ทางวุฒิสภามีต่อประเด็นต่างๆ ในจดหมายที่ส่งไปถึง เพื่อให้ประเทศไทยผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศโดยสมบูรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net