Skip to main content
sharethis
  • 'ชวน' บอกองค์ประชุมขาดแค่ 100 กว่าคน สั่งปิดทันที
  • วิปรัฐบาล ไม่ติดใจหาร 100 หรือ 500 'ชินวรณ์' ยืนกรานหลักการหาร 100
  • 'วิษณุ' ยันสูตรคำนวณหาร 500 ประหลาด ชี้ ‘ส.ส.พึงมี’ ต้องตีความใหม่
  • 'เพื่อไทย' ยึดสูตรหาส.ส. ด้วย 100 คนหาร เพื่อตัดปัญหาวุ่นวาย - ตีความหลังเลือกตั้ง
  • 'ก้าวไกล' เชื่อรัฐสภาโหวตสูตรหารคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 พร้อมขอเสียงหนุนญัตติพรรคกำหนดวิธีคิดคำนวณป้องกัน ส.ส.ปัดเศษ  
  • 'ส.ว.คำนูณ' มองสูตรคิดปาร์ตี้ลิสต์ต้องหาร 100 เท่านั้น

6 ก.ค.2565 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 5 ก.ค.65 มีการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการแล้วเสร็จ คือ , ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...., ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....,

'ชวน' บอกองค์ประชุมขาดแค่ 100 กว่าคน สั่งปิดทันที

ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้พิจารณามาตรา 6/3 เกี่ยวบัตรเลือกตั้งสองใบ คนละเบอร์ โดยสมาชิกที่สงวนคำแปรญัติได้ขึ้นอภิปรายเห็นว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต และบัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ มีความเห็นว่าควรจะใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เพื่อสะดวกต่อการจดจำของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อการหาเสียงและนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งง่ายต่อการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่กมธ.ยืนยันว่าต้องใช้บัตรสองใบคนละเบอร์ เพราะหากใช้เบอร์เดียวกันจะเกิดการซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก. ประชาชนก็กาถูก สุดท้ายอย่าคิดว่าบัตรเบอร์เดียวกันมีแต่ด้านบวก แต่มีด้านลบด้วย เพราะครั้งต่อไปอาจจะมีบัตรเลือกตั้งลงแข่งขันกว่า 50 พรรค แต่ไม่ใช่ว่าทุกพรรคจะสามารถส่งลงแข่งขันส.ส.เขตทั้งหมดได้ ทำให้ในบางเขตจะมีบัตรเลือกตั้งยาวและจะมีช่องโหว่ และยืนยันว่าจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ

หลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้กดออดเรียกสมาชิกให้มาลงมติ ซึ่งกินเวลาร่วม 10 นาที แต่สมาชิกในห้องประชุมยังบางตา กระทั่ง อรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอว่า ขณะนี้เวลาล่วงเลยมานานแล้ว ขอให้ปิดการประชุม และพิจารณาต่อในวันที่ 6 ก.ค. จากนั้น ชวนแจ้งว่า ยังขาดอีก 100 กว่าคนเท่านั้นเอง และเมื่อสมาชิกปรารถนาให้ปิดประชุม ก็ปิดประชุม โดยปิดประชุมในเวลา 19.22 น.

อย่างไรก็ตามในส่วนของประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระหว่างหารด้วย 500 กับหาร 100 กลับมาเป็นประเด็น จากอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพรรคการเมืองระบุจะขอมติที่ประชุม ส.ส.พรรคกลับมติหนุนสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 500 แทน 100 

 

วิปรัฐบาล ไม่ติดใจหาร 100 หรือ 500

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีข้อถกเถียงสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะหารด้วย 100 หรือหาร 500 ว่า ในชั้นกรรมาธิการเสียงข้างมากใช้ 100 หาร เสียงข้างน้อยต้องการหารด้วย 500 สงวนความเห็นไว้ 11 คน จะมาอภิปรายข้อดีข้อเสียในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้สมาชิกตัดสินใจให้ถ่องแท้ มีเหตุผลอย่างไรให้ชัดเจนอีกครั้ง เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะความเห็นยังไม่เป็นไปทิศทางเดียวกัน นายนิโรธตอบว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความคิดเห็นอะไร เป็นเรื่องสมาชิกรัฐสภาต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ดูแล้วรัฐบาลจะเอาหาร 500 หรือหาร 100 ก็ได้ไม่ได้ติดใจ เป็นเรื่องสมาชิกรัฐสภาจะลงมติอย่างไร

'ชินวรณ์' ยืนกรานหลักการหาร 100

อย่างไรก็ตามท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองกล่าวว่า เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบขั้นรับหลักการเข้าสู่ กมธ. กมธ.ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย แต่มีกลุ่มไม่เห็นด้วย มี กมธ.สงวนความเห็น 11 คน โดยหลักการแล้วเมื่อร่างผ่านความเห็นชอบของ กมธ.แล้ว วิปรัฐบาลต้องยืนยันหลักการดังกล่าว เพราะเป็นร่างของเราเอง เมื่อเสร็จวาระ 2-3 ต้องเสนอกลับไปยัง กกต.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง เมื่อเป็นร่าง กกต. แล้วจะให้ความเห็นชอบแตกต่างกันไป เป็นหารด้วย 500 กกต.ไม่สามารถทำได้ จะถูกกล่าวหาได้

ชินวรณ์กล่าวว่า ที่สำคัญกระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย หากเสนอผิดไปจากหลักการที่เสนอเข้ามาจะนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ อาจถูกกล่าวหามีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ การเสนอให้หารด้วย 500 ขัดรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามมาตรา 93 และมาตรา 94 กมธ.พิจารณาอย่างรอบคอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่ากับแก้ไขเจตนา รมณ์ประเด็นการเลือกตั้งไปแล้ว จากระบบสัดส่วนผสม บัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ และให้คิดคำนวณอย่างชัดเจนคือ ส.ส.เขต 400 เขต ใครได้คะแนนสูงสุดเป็น ส.ส. ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้คำนวณจากจำนวนบัญชีรายชื่อคือ 100 รัฐบาลควรทำตามหลักการนี้

'วิษณุ' ยันสูตรคำนวณหาร 500 ประหลาด ชี้ ‘ส.ส.พึงมี’ ต้องตีความใหม่

4 ก.ค.ที่ผ่านมม มติชนออนไลน์รายงานปฏิกิริยาจาก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีรัฐสภาจะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว โดยเฉพาะคำถามที่ว่าหากรัฐสภาเลือกใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ต้องคำนึงถึงคำว่า ส.ส.พึงมีหรือไม่ เพราะ ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุว่าหากไม่คำนึงคำว่า ส.ส.พึงมี พรรคใหญ่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากนั้น วิษณุกล่าวว่า ยังตอบไม่ถูก ตนยังไม่เคยนึกเรื่องดังกล่าว แต่คำว่า ส.ส.พึงมียังต้องยึดถือ เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่การตีความอาจแตกต่างไปจากเดิม และไม่ได้อยู่ในมาตราที่ได้แก้ไข โดยจะแปลความตามแบบเก่าไม่ได้ ต้องแปลความตามแบบใหม่

วิษณุ กล่าวว่ามันมีวิธีแปลของมันอยู่ โดยตนไม่ติดใจในประเด็นนี้ แต่ติดใจว่า จะหารแบบไหนถึงจะเป็นธรรมมากกว่ากัน ทีนี้ถามว่าเป็นธรรมกับใคร กับพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ ความจริงเขาไม่ได้ดูว่าเป็นธรรมกับพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ เขาดูว่าหลักการที่ถูกเป็นอย่างไร

ต่อคำถามที่ว่าก่อนหน้านี้ที่เคยระบุว่า หากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แล้วมาหารด้วย 500 จะเป็นเรื่องประหลาด หมายความว่าอย่างไรนั้น วิษณุกล่าวว่า บอกไม่ถูก เอาเป็นว่าประหลาดแล้วกัน แต่ประหลาดไม่ได้แปลว่ามันผิด เอาเถอะ อีกวันสองวันก็รู้เรื่องแล้วเขาจะว่าอย่างไรก็ว่ากัน คิดว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าววันครึ่งก็เสร็จ แล้วจะมีคำตอบโดยรัฐสภา

ต่อคำถามที่ว่ารูปแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแล้วหารด้วย 500 มีใครทำกันหรือไม่นั้น วิษณุกล่าวว่า วิธีนับคะแนนแบบนี้เป็นวิธีที่ไม่ค่อยมีใช้กันในโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเอาอะไรหารก็ตาม แต่วิธีของใครของมันไม่เกี่ยวกัน

'เพื่อไทย' ยึดสูตรหาส.ส. ด้วย 100 คนหาร เพื่อตัดปัญหาวุ่นวาย - ตีความหลังเลือกตั้ง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาลต่อการใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยจำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ทั้งที่ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่กรรมาธิการฯ เสนอใช้จำนวน 100 คน ว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทย หลังพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าไม่มีช่องทางใดที่จะให้ใช้การหารด้วย 500 คนได้  หากใช้สูตรหารด้วยจำนวน 500 คน อาจเกิดปัญหาขึ้นในอนาคตและเมื่อนำไปปฏิบัติอาจจะมีการตีความและร้องเรียนจนเกิดความวุ่นวายได้

"การหารด้วย 100คน นั้นปลอดภัยกว่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในการประชุมร่วมรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 กรกฎาคม ประเด็นดังกล่าวน่าจะพิจารณาในเนื้อหาดังกล่าวจำนวนมาก และอาจจะยืดเยื้อ แต่ผมมองว่าหากจะยืดเยื้อไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรถกให้จบสิ้นกระบวนความ" สุทิน กล่าว

'ก้าวไกล' เชื่อรัฐสภาโหวตสูตรหารคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 พร้อมขอเสียงหนุนญัตติพรรคกำหนดวิธีคิดคำนวณป้องกัน ส.ส.ปัดเศษ 

5 ก.ค. ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฏหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ รายละเอียดสูตรคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่าวิปฝ่ายค้านหนุนสูตรการหาร 100 และพรรคก้าวไกลเองก็หนุนการหาร 100 แต่มีรายละเอียดในวิธีการคิดคำนวณ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ให้เกิด ส.ส.ปัดเศษ พร้อมขอให้รัฐสภาสนับสนุนการแปรญัตติของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล  ส.ส.ก้าวไกล ที่แปรญัตติเพื่อไม่ให้การเมืองมีปัญหาอย่างที่ผ่านมา หลังการปล่อยให้ กกต. ตีความวิธีคิดคำนวณ ซึ่งจะได้ระบบคู่ขนานแบบปี 2540 อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

สำหรับข้อสังเกตว่าการหาร 500 นั้นประโยชน์จะตกที่พรรคก้าวไกลรังสิมันต์ เปิดเผยว่า ระบบที่พรรคต้องการเห็นมากที่สุดคือ MMP คิดคำนวณพึงมี ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อพรรคก้าวไกลเท่านั้น  แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกพรรคการเมืองในอนาคต สูตรนี้อาจจะใหม่และยังไม่คุ้นเคย ทั้งนี้เชื่อว่าทิศทางของรัฐสภาส่วนมากน่าจะโหวตการหาร 100 เพราะกรรมาธิการมาจากตัวแทนพรรคการเมือง และตัวแทน ส.ว.เสียงส่วนใหญ่หนุน สูตรคำนวณหาร100  

'ส.ว.คำนูณ' มองสูตรคิดปาร์ตี้ลิสต์ต้องหาร 100 เท่านั้น

เนชั่น รายงานด้วยว่า คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึว่า ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา แต่ตอนนี้ต้องเข้าใจว่าร่างของกรรมาธิการ (กมธ.) และทุกร่างที่ส่งเข้ามาเป็นเรื่องหาร 100 ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจว่า ไม่สามารถตั้งคำถามว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 เพราะนับตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ การคิดคำนวนสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ให้คำนวนสัดส่วนบัญชีโดยตรง เฉพาะในช่องของบัญชีรายชื่อ ซึ่งเชื่อว่าต้องหาร 100 อย่างเดียว

ขณะเดียวกัน มีความเชื่อในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม คือ หาร 500 แต่ระบบสัดส่วนผสมถูกแก้ไขไปตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่น่าจะนำมาเป็นข้อถกเถียงกัน เพียงแต่ว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็มีอุบัติเหตุทางการเมือง ทำให้มีร่างของพรรคประชาธิปัตย์ผ่านเข้ามาแค่ร่างเดียว ซึ่งมีเนื้อหาที่สั้นมาก ก็เกิดการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ว่าไม่อาจจะแก้ไขได้ทั้งหมด เพราะอาจจะเกินหลักการ จึงทำให้มีคำว่า "ส.ส.พึงมี" ติดอยู่ในบางมาตรา ซึ่งเป็นส่วนเกินที่ไม่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 

คำนูณ ระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขการเลือกตั้งมาคล้ายกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่มีระบบ ส.ส.พึงมี ซึ่งระบบ ส.ส.พึงมี เพิ่งมีใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยที่ผ่านมา ส.ส.บัญชีรายชื่อของไทย ก็ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนาน ซึ่งก็เป็นข้อถกเถียงกันในชั้นกมธ.ด้วย ส่วนเสียงโหวตหาร 500 ในชั้นกมธ.จะสะท้อนไปยังเสียง ส.ว.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะ ส.ว. แต่ละคนก็มีความคิดเห็นเฉพาะแต่ละคน ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องต้น มีความคิดเห็นไปทั้ง 2 ทาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net