Skip to main content
sharethis

ดอน ปรมัติวินัย รมว.กต. ร่วมประชุมความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7 เมืองพุกาม เมียนมา ระหว่าง 3-4 ก.ค. ด้านหวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ยืนยันอีกครั้งว่าพร้อมสนับสนุนกองทัพพม่าต่อ พร้อมหารือโครงการ CMEC 

 

6 ก.ค. 2565 เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ รายงานวานนี้ (5 ก.ค.) นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แห่งประเทศไทย เดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ (Mekong-Lancang Cooperation - MLC) ครั้งที่ 7 ณ เมืองมรดกโลกอย่างพุกาม โดยมีประเทศจีน และเมียนมา เป็นประธานร่วม 

รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิก MLC ได้ทบทวนความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบ MLC และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ MLC เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด ความตึงเครียดระหว่างประเทศ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมเห็นพ้องสนับสนุนความร่วมมือในสาขาต่างๆ ดังนี้ การรวมตัวทางเศรษฐกิจ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาสีเขียว นวัตกรรม สาธารณสุข และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ทั้งนี้ จีนได้เสนอข้อริเริ่มสำคัญในสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ การเกษตร น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจดิจิทัล อวกาศและดาวเทียม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณสุข

การประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 7 ณ พุกาม ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ค. 2565 (ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลง เสนอ “RISE” (together) เป็นแนวคิดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในสาขาสำคัญทางยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. การส่งเสริมความยืดหยุ่น (Resilience) ด้านสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและน้ำ

2. การรวมตัวทางเศรษฐกิจ (Integration and Interoperability) เพื่อการส่งเสริมความเชื่อมโยง และการอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน

3. การสอดประสาน (Synergy) เพื่อการส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ทั้งระหว่างประเทศสมาชิก MLC และระหว่าง MLC กับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy หรือ ACMECS)

4. ระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจและนวัตกรรม (Enabling Ecosytem) โดยเฉพาะข้อเสนอของไทยในการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม (innovation corridors) และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนใน MLC ผ่านสภาธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Business Council)

ที่ประชุมให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ แถลงข่าวร่วม 1 ฉบับ และแถลงการณ์ร่วม 4 ฉบับ ด้านศุลกากร การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้านศุลกากรและการเกษตรจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน รวมทั้งรับมือกับความท้าทายของการค้าข้ามแดนและปัญหาการติดขัดบริเวณด่านชายแดน นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศประเทศสมาชิก MLC ได้เห็นชอบที่จะเสนอร่างแผนปฏิบัติการ ๕ ปี ของ MLC ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2566-2570) ต่อที่ประชุมผู้นำ MLC เพื่อการพิจารณารับรอง

จีนลั่นพร้อมปกป้องอธิปไตยเมียนมา

เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าว อิรวดี รายงานด้วยว่า 3 มิ.ย. 2565 หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน พบปะ วันนาหม่องลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ก่อนการประชุม MLC ครั้งที่ 7 โดยระบุว่า นโยบายที่เป็นมิตรของจีนต่อเมียนมา มีไว้เพื่อประชาชนชาวเมียนมาทุกคน 

หนังสือพิมพ์ทางการจีนระบุคำให้สัมภาษณ์หวังอี้ในการเยือนเมียนมาว่า รัฐบาลจีนจะสนับสนุนกองทัพพม่าในการปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรม ตลอดจนศักดิ์ศรีของพม่าบนเวทีนานาชาติ

ย้อนไปเมื่อหลังการรัฐประหารในช่วงแรก รัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธการออกมาประณามกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหาร และใช้วิธีการปราบผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งท่าทีนี้ต่างจากประเทศประชาธิปไตยจากตะวันตกประณามกองทัพพม่า

จีน และรัสเซีย เคยใช้สิทธิในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวร (ร่วมกับ ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐฯ และรัสเซีย) วีโต้ในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เพื่อไม่ให้ผ่านมติออกแถลงการณ์ร่วมประณามกองทัพพม่า เมื่อ 2 ก.พ. 2565 

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา วันนาหม่องลวิน ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก หวังอี้ เมื่อตอนไปเยือนจีน รัฐบาลปักกิ่งระบุว่าจะช่วยปกป้องอธิปไตย เอกราช และการบูรณภาพเขตแดนของประเทศเมียนมา “ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม”

หวังอี้ กล่าวกับวันนาหม่องลวิน ด้วยว่า รัฐบาลปักกิ่งมองประเทศเมียนมามีความสำคัญด้านการทูตเสมอมา และต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือมากยิ่งขึ้น

จากวิกฤตสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร หวังอี้ ระบุเมื่อ 3 ก.ค. ว่าจีนหวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตการเมืองทุกฝ่ายในเมียนมาจะยึดหลักการเจรจาด้วยเหตุผล และบรรลุข้อตกลงการฟื้นคืนเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงของชาติในระยะยาว ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่มีอยู่ 

รัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศยังตกลงที่จะเร่งเครื่องการก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ อาทิ เส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และท่าเรือน้ำลึก "เจาก์ผิ่ว" ในรัฐยะไข่ ทางทิศตะวันตกเมียนมา ซึ่งจะทำให้จีนมีทางออกทางทะเลด้านมหาสมุทธอินเดีย ทั้ง 2 ฝ่ายระบุว่าด้วยว่าจะมีการเจรจา เรื่อง "CMEC Plus" ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีทางด้านเศรษฐกิจ และการค้า

ทั้งนี้ ประเทศจีน เป็นหนึ่งประเทศที่ลงทุนในประเทศเมียนมาสูงสุด ตลอดจนเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ให้กับกองทัพพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net