บำนาญแห่งชาติ: หมดเวลาของ ‘รัฐสงเคราะห์’ ถึงเวลา ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ชี้อุปสรรคสำคัญในการเคลื่อนเรื่องบำนาญถ้วนหน้าคือเจตจำนงทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ย้ำหมดเวลาของ ‘รัฐสงเคราะห์’ ที่มุ่งจะหาแต่คนยากจน ถึงเวลาของ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ เพื่อคนทุกคน ระบุ 5 บทเรียนสำคัญในการจะไปสู่สังคมที่มีรัฐสวัสดิการ

  • คุยกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ถึงอุปสรรค ข้อห่วงกังวล และอนาคตของการผลักดันประเด็นเรื่องบำนาญถ้วนหน้าและรัฐสวัสดิการในสังคมไทย หลังสภามีมติเห็นชอบรายงานเสนอกม.บำนาญแห่งชาติของ กมธ.การสวัสดิการสังคม
  • ย้ำอุปสรรคสำคัญไม่ใช่การไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องของ ‘เจตจำนง’ หรือ ‘ความมุ่งมั่นทางการเมือง’ ของผู้บริหารประเทศ ย้ำ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ คือสิ่งสำคัญที่จะมาอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้ ระบุ เราต้องร่วมกันกำหนด ‘เจตจำนงทางการเมือง’ หากจะก้าวไปสู่สังคมที่เสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ชี้ 8 ปีภายใต้ระบอบ ‘ประยุทธ์’ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังอยู่แค่วันละ 20 บาท โดยที่ไม่มีใครหันมามอง ย้ำ หมดเวลาของ ‘รัฐสงเคราะห์’ ที่มุ่งจะหาแต่คนยากจน ถึงเวลาของ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ เพื่อคนทุกคน ระบุ ประชาชนพร้อมนานแล้ว พรรคการเมืองพร้อมไหม?
  • ระบุ 5 บทเรียนและหนทางสู่รัฐสวัสดิการ สังคมต้องเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม กลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เครือข่ายภาคประชาชนต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน และต้องกดดันพรรคการเมืองให้เห็นความเป็นไปได้ 
  • เราฝากความหวังไว้กับใครไม่ได้ ประชาชนต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่สังคมที่มีรัฐสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมสภาฯ ที่มีศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณารายงานศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม เรื่อง แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานดังกล่าว ให้สภาส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้ดำเนินการตามรายงานและข้อสังเกต 

โดยก่อนหน้านี้ ทางภาคประชาชนได้รวบรวมรายชื่อกว่า 13,000 รายชื่อเพื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ และร่างกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ แต่ถูกนายกรัฐมนตรีตีตกทั้งหมด ตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจไว้ในมาตรา 134

  • ดันบำนาญแห่งชาติผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ หากถูกตีตกอีก ภาค ปชช.เตรียมลุยแก้ รธน.รายมาตรา https://prachatai.com/journal/2021/04/92377

ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก บำนาญแห่งชาติ

อย่างไรก็ดี เพื่อทำความเข้าใจถึงอุปสรรค ข้อห่วงกังวล และอนาคตที่ทางภาคประชาชนคาดหวังในการผลักดันประเด็นเรื่องบำนาญถ้วนหน้าและรัฐสวัสดิการ ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา แกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โดยสุรีรัตน์กล่าวว่า เหตุผลที่รัฐบาลใช้ในการปัดตกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับบำนาญคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการเงินและการคลังนั้นไม่เห็นด้วย เพราะว่ารัฐบาลหรือประเทศชาตินั้นไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดสรรให้มาเป็นบำนาญให้กับประชาชนทุกคน ดังนั้น อุปสรรคสำคัญของการผลักดันเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า 3000 บาทก็คือการไม่มีเม็ดเงิน หรือไม่มีความพยายามที่จะหาเม็ดเงินมา

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา (แฟ้มภาพ)

อุปสรรคสำคัญไม่ใช่การไม่มีเงิน แต่เป็นเรื่องของ ‘เจตจำนง’หรือ‘ความมุ่งมั่นทางการเมือง’ของผู้บริหารประเทศ

แต่ลึกลงไปกว่านั้น แกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า เบื้องหลังของการบอกว่าไม่มีเงินคือเรื่องของเจตจำนงหรือความมุ่งมั่นทางการเมืองของผู้บริหารประเทศ ที่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นที่จะจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชน อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญมากกว่าการที่มีเม็ดเงินไม่พอ เพราะว่าถ้ามีเจตจำนงชัดเจนว่าจะจัดเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชน ก็จะต้องมีการบริหารจัดการงบประมาณ และหางบประมาณมาให้เพียงพอได้ 

ในสังคมไทยนั้นรู้จักกันเฉพาะบำนาญข้าราชการ แล้วทุกคนก็ถือเสียว่าข้าราชการมีสิทธิที่จะได้รับบำนาญเพราะว่าเขาเป็นคนทำงานให้กับรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐก็ต้องดูแล หลังจากที่เขาเกษียณอายุเขาก็ต้องได้รับบำนาญ ซึ่งทุกคนก็เฉย ๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะไม่เคยเห็นตัวเลขด้วยซ้ำไปว่าเงินบำนาญนั้นมันเท่าไหร่ มันกี่บาท เพราะฉะนั้นประเทศไทยไม่เคยมีการพูดว่าประชาชนทุกคนต้องมีบำนาญ ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่อยู่ในวัยสูงอายุ ดังนั้นการที่เราเห็นตัวเลขบำนาญข้าราชการกว่า 3 แสนล้านบาทในปีงบประมาณที่กำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว มันทำให้เรายิ่งแปลกใจแล้วก็กังวลใจว่ารัฐใช้งบประมาณไปให้กับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น สิ่งนี้คือความไม่ยุติธรรมในการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทุกคน

ภาพการเปรียบเทียบ รัฐสวัสดิการของราชการ vs ประชาชน จากร่างงบประมาณรายจ่าย 2566 (ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank)

ย้ำ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ คือสิ่งสำคัญที่จะมาอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำได้

สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา นโยบายของพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคนั้นบอกว่าจะจ่าย ใช้คำว่าบำนาญบ้าง ใช้คำว่าสวัสดิการผู้สูงอายุบ้าง 3000 บาท ซึ่งตนมองว่าเป็นการขายนโยบายที่อาจจะไม่ได้มีการทำการบ้านมาอย่างจริงจังว่าเป็นการทำภายใต้คอนเซ็ปต์ของรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการขายนโยบายแบบ คนอื่นเขาเสนอแบบนี้ ฉันก็เสนอบ้าง เขาเสนอ 2500 บาทต่อเดือน ฉันก็เสนอ 3000 บาทต่อเดือน แต่ไม่ได้อธิบายว่า เราเชื่อมั่นว่าการมีเงิน 3000 บาทนั้น มันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แล้วมันต้องให้ถ้วนหน้าให้กับทุกคนเพื่อที่จะเป็นฐาน ตามสิทธิของทุกคน ซึ่งมันไม่ค่อยมีไอเดียแบบนี้เท่าไหร่

แนวคิดรัฐสวัสดิการนั้นมาพร้อมกับการเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยก็จะถูกรายงานว่ามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงติดอันดับโลกมาโดยตลอด มันเลยทำให้ทุกคนก็เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมประเทศอย่างเราถึงมีความเหลื่อมล้ำเยอะขนาดนั้น ทำไมคนจนก็ยังคงจนอยู่ แต่คนที่รวยอยู่แล้วกลับรวยมากขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น เริ่มมีงานวิชาการออกมาทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศก็มีการอธิบายเยอะมากว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นมันข้ามรุ่นได้ จากรุ่นพ่อรุ่นแม่ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ถ้าไม่มีการมาอุดช่องว่าง ซึ่งการอุดช่องว่างก็คือต้องช่วยให้คนจนหรือคนที่มีรายได้น้อยสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาดูแล

“ภายใต้ระบบทุนนิยมด้วยกัน ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมมาดูแลคนเหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ รัฐจะต้องเข้ามาดูแล ทีนี้รัฐจะต้องจัดระบบดูแลคน ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะทำแบบแยกส่วน ทำเฉพาะคนจนแล้วก็เลือกหาว่าใครคือคนจนที่สุดแล้วก็ไปช่วยคนนั้น ให้เงิน 200-300 บาท อันนี้มันก็ไม่ถูกอีก มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาอีก ดังนั้นการจัดสวัสดิการพิ้นฐานให้กับทุกคนแบบถ้วนหน้าจึงเป็นสิ่งสำคัญและจะลดความเหลื่อมล้ำได้” สุรีรัตน์ กล่าว

เราต้องร่วมกันกำหนด ‘เจตจำนงทางการเมือง’ หากจะก้าวไปสู่สังคมที่เสมอภาค และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แกนนำเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนอย่างเรา ๆ จะต้องทำก็คือ การชี้นำเจตจำนงทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง เพราะว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของประชาชน ที่ทำหน้าที่ในการเสนอนโยบายสาธารณะ และสมัครรับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องสื่อสาร และควรจะเน้นไปที่กระบวนการพัฒนานโยบายและการสร้างความเข้าใจให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อที่จะให้พวกเขามีนโยบายในการที่จะสนับสนุนเรื่องนี้

เมื่อถามถึงอนาคตที่ทางเครือข่ายคาดหวัง สุรีรัตน์ กล่าวว่า มันก็คงเหมือนกับตอนปี 2543 ที่เครือข่ายประชาชนสามารถขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะใช้เวลาไม่มากนัก แล้วก็สามารถผลักดันให้มันเป็นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ พอเกิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นกฎหมายที่รับประกันว่า ประชาชนทุกคนจะต้องเข้าถึงบริการสุขภาพโดยที่รัฐรับประกันจ่ายให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน มันก็ทำให้เราเห็นว่าประชาชนหรือคนไทยไม่ต้องวิตกกังวลว่าตัวเองจะไม่มีเงินจ่ายให้กับโรงพยาบาลอีกต่อไป เราสามารถไปโรงพยาบาลได้ แล้วก็ไปใช้บริการได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใกล้เคียงกับสิทธิของความเป็นมนุษย์ได้ และระบบก็ยังเดินหน้าของมันได้ ไม่ทำให้เราล้มละลาย ครอบครัวเราไม่ล้มละลายจากการที่่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล

จินตนาการได้ว่าถ้าเรามีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า มีรัฐสวัสดิการที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งเรื่องเงินดูแลช่วยเหลือพ่อแม่เมื่อมีเด็กเล็กในครอบครัว ก็จะเห็นว่าสังคมหรือประชาชนในสังคมทำงานมีรายได้ สามารถเอาไปต่อยอดคุณภาพชีวิตตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูความชราภาพของตัวเองหรือคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในบ้านในครอบครัวตัวเอง มันก็จะทำให้สังคมเราลดความเหลื่อมล้ำลง ช่องว่างของคนรายได้มากกับรายได้น้อยมันก็จะลดลง

8 ปี สวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบ ‘ประยุทธ์’ 

เมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย. ที่ผ่านมา เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair ร่วมกับ องค์กรแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัดเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 9 ทศวรรษประชาธิปไตย สู่อนาคตรัฐสวัสดิการไทยเท่าเทียมเสมอหน้า ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร 

โดยในเวทีเสวนา 8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการ อนาคตประชาธิปไตยไทย ช่วงการนำเสนอโดยตัวแทนเครือข่ายประชาชน ในหัวข้อ “บำนาญประชาชน เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ” อภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ในขณะที่รัฐกำลังพูดถึงเรื่องเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ไม่มีอะไรไปไกลเกินกว่าเดือนละ 600 บาท วันละ 20 บาทสำหรับผู้สูงอายุ คำถามก็คือว่าเราปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่กับเบี้ยยังชีพแบบนี้เป็นเวลากว่า 20 ปีโดยที่ไม่มีใครหันมามองได้อย่างไร

อภิวัฒน์ กวางแก้ว (แฟ้มภาพ)

‘ปิ่นโตสามชั้น’ หลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัย

อภิวัฒน์ ระบุว่า เส้นทางของเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการนั้น เราพยายามมุ่งมั่นในการที่จะทำงานผ่านความเข้าใจเรื่อง ‘ปิ่นโตสามชั้น’ ปิ่นโตแถวแรกของเรา หมายถึงเรื่องเบี้ยยังชีพนี่แหละครับที่จะทำยังไงให้มีข้าวในปิ่นโตและมีกับที่เพียงพอสำหรับการมีชีวิตในหนึ่งวัน กินกันตายได้ในหนึ่งวันสำหรับคนที่อายุ 60 ปี ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราขยับขับเคลื่อนแล้วมาทำความเข้าใจร่วมกัน และแถวที่สองก็คือเรื่องสวัสดิการ บำนาญจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมหรือเป็นข้าราชการบำนาญ ก็อยู่ปิ่นโตแถวที่สอง ซึ่งมันทำให้ชีวิตคุณมีคุณภาพยิ่งขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น และแถวสุดท้ายก็คือจากการออมส่วนบุคคล เมื่อคุณมีเงินมากขึ้น คุณจะออมเท่าไหร่ก็ออมไป แต่ผมอยากจะพูดถึงปิ่นโตแถวที่หนึ่งที่เราอยากจะโฟกัส เราเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวและรวบรวมลายมือชื่อเสนอตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ได้รับสนองทำให้กฎหมายของเราตกไป แต่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยื่นให้เราก็คือ กอช. หรือกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งก็ยังอยู่ในปิ่นโตแถวที่สอง

หมดเวลาของ ‘รัฐสงเคราะห์’ ที่มุ่งจะค้นหาแต่คนยากจน ถึงเวลา ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ เพื่อคนทุกคน

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวต่อว่า พอมาในช่วงของการรัฐประหารโดย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยิ่งดับฝันเราเข้าไปอีก แต่เราในฐานะประชาชนก็เตรียมตัวที่จะรวบรวมรายชื่อตามรัฐธรรมนูญให้ได้หนึ่งหมื่นรายชื่อเพื่อจะเสนอกฎหมายภาคประชาชน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังไม่ยื่นเพราะยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของการเป็นประชาธิปไตย เพราะคุณประยุทธ์ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย แต่มาจากการรัฐประหารแล้วก็ขโมยความสุข ขโมยความหวังของประชาชนไปอย่างสิ้นเชิง และเมื่อถึงตอนที่มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เราก็มีความหวังมากเลยว่าเลือกตั้งครั้งนี้สวัสดิการต้องมา แต่มันก็มาไม่ได้ เพราะว่าเราไปติดกับดักเรื่องรัฐสงเคราะห์ และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ได้เขียนเอาไว้ว่าต้องค้นหาคนจนให้ได้  “ซึ่งคุณประยุทธ์ก็เก่งมากในการค้นหาคนจน แล้วหาเท่าไหร่ ๆ ก็ลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ไปนะครับ”

“เพราะฉะนั้นหมดเวลาแล้วที่เราจะไปค้นหาคนจน เราต้องพูดถึงเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า คำถามผมคือ พรรคการเมืองที่อยู่ในสภาปัจจุบันไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเนี่ย ถ้าจะผลักดันเรื่องนี้ด้วยกันคุณมีแผนในการที่จะกระตุ้นอะไรไหม หลายครั้งที่พรรคการเมืองของประชาชนเขี่ยทิ้งหมด คำถามคือคุณจะมีแผนในการกระตุ้นติดตามเรื่องนี้ และทำให้มันเกิดขึ้นได้ยังไง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ” อภิวัฒน์ กล่าว

หยุดส่งต่อความยากจน ประชาชนพร้อมนานแล้ว พรรคการเมืองพร้อมไหม?

“ประเด็นถัดมาที่ผมคิดว่าต้องฝากพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ผมคิดว่าประชาชนพร้อมมาตั้งนานแล้วสำหรับเรื่องการเปลี่ยนเบี้ยเป็นบำนาญถ้วนหน้า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมาก ๆ เลยที่จะหยุดส่งต่อความยากจน หยุดสงเคราะห์ ยกระดับในฐานะคนให้เป็นคน ในฐานะที่เขาเป็นพลเมือง ไม่ใช่เป็นไพร่ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำให้คนเป็นคน และทำให้ทุกคนมีหลักประกันรายได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่มา 3 เดือน 2 เดือนผ่านบัตรโน้นผ่านบัตรนี้ เราหยุดเป็นรัฐสงเคราะห์และหยุดเป็นรัฐชิงโชค มันไม่ได้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นเลย” อภิวัฒน์ กล่าว

สิบกว่าปีที่ผ่านมาประชาชนพร้อมนานแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ พร้อมหรือไม่ พร้อมที่จะร่วมมือกับประชาชนไหม พรรคการเมืองต่างๆ พร้อมที่จะปฏิรูปจัดการระบบภาษีที่เป็นธรรมหรือไม่ ปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้เม็ดเงินภาษีของประชาชนเยอะมาก แต่มีแค่นิดเดียวที่มาถึงมือประชาชน สัดส่วนของการใช้ภาษี เราจะจัดโครงสร้างระบบกันใหม่หรือไม่ ในการทำให้ภาษีนั้นมันมีเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่เพื่อนายทุน หรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กล้าหาญพอไหมที่จะทำในสิ่งนี้ พร้อมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา และพร้อมที่จะเอาประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนหลักการพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญด้วยกันหรือไม่ หรือจะดึงการมีส่วนร่วมจากประชาชนยังไง เพราะผมคิดว่าการมีเจตจำนงในเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ แต่แค่มีเจตจำนงต่อเรื่องนี้ไม่พอ พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลมีกึ๋นไหมที่จะทำเรื่องนี้ พร้อมทั้งดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พวกเราจะช่วยกันผลักดันและทำให้สังคมนี้เป็นสังคมแห่งรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ใช่สงเคราะห์อีกต่อไป

5 บทเรียน และหนทางสู่รัฐสวัสดิการ

ในเวทีเสวนา หนทางสู่รัฐสวัสดิการความเป็นไปได้ของสังคมไทย? ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเวทีขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ 2565 WELFARE STATE 2022 ณ หอศิลป์ฯ กทม. นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ อภิปรายในหัวข้อ “บทเรียนจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ความเป็นไปได้ของระบบบำนาญประชาชน” โดยนิมิตร์ กล่าวว่า มีอยู่ 5 เรื่องใหญ่ ๆ ที่ทำให้เราเคลื่อนเรื่องของการมีหลักประกันด้านสุขภาพได้ 

นิมิตร์ เทียนอุดม (แฟ้มภาพ)

สังคมต้องเป็น ‘ประชาธิปไตย’

นิมิตร์ กล่าวว่า ประเด็นแรกที่ทำให้เราเคลื่อนเรื่องหลักประกันสุขภาพได้คือเราอยู่ในบรรยากาศของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 40 สังคมมันเป็นประชาธิปไตย เรามีร่างรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวของประชาชนที่จะจัดม็อบจัดชุมนุมก็จัดได้ มันไม่ได้มี พ.ร.บ. ชุมนุมฯ  พวกเราสามารถลงชุมชนกันได้โดยไม่ต้องมีใครมาตาม เพราะฉะนั้นที่มันเกิดบรรยากาศแบบนี้ได้ก็เพราะเราอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ถ้า ณ ตอนนี้บรรยากาศในสังคมเราเป็นประชาธิปไตย เราไม่มีคุณประยุทธ์เป็นนายก เราไม่มี ส.ว. เราไม่มี พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เราไม่มี พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เราก็จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนได้มากกว่านี้ ฉะนั้นปัจจัยของความเป็นประชาธิปไตยจึงสำคัญ สังคมมันต้องเป็นประชาธิปไตย การเคลื่อนไหวมันถึงจะเกิดขึ้น 

ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น We Fair สลัมสี่ภาค ประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ชนเผ่า และเครือข่ายอื่น ๆ จำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมในขบวนการประชาธิปไตยภาพรวมของประเทศ จะชูแค่เรื่องของตัวเองไม่ได้ เราต้องสามัคคีประชาชาติในทุกองคาพยพเพื่อจะบอกว่าสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย พ.ร.บ. ชุมนุมฯ ต้องหายไป ทหารต้องกลับเข้ากรมกอง ฉะนั้นถ้าเราจะก้าวไปข้างหน้า บทเรียนบอกเราว่าเราต้องอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ประชาชนมีส่วนร่วม

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่สองก็คือ เรามีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เขียนไว้ชัดเจนเลยว่า เป็นสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับการดูแลรักษาจากประเทศอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐาน และในรัฐธรรมนูญ 40 ก็ได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีสิทธิเหล่านี้ให้แก่ประชาชน คือกำหนดเป็นสิทธิของประชาชนก่อน แล้วจึงไปกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดให้มีสิทธิเหล่านี้ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ มันถึงทำให้เกิดกลไกที่มันมีมาตรการ มีอะไรมารองรับ ให้เราเคลื่อนไปได้ แต่พอมารัฐธรรมนูญปี 2560 เราถูกปิดทันทีเลยว่าจะไม่เขียนอะไรที่เป็นหน้าที่ของรัฐ มันถูกเขียนไว้แบบนี้ แล้วรัฐเผด็จการมันก็เรียนรู้ว่าจะเขียนไว้แบบนั้นไม่ได้ จึงบิดไปว่าเป็นแค่อำนาจ ซึ่งอำนาจเนี่ยไม่ทำก็ได้ แต่ว่าพอเป็นหน้าที่อันนี้จะต้องทำ ฉะนั้นผมคิดว่านี่คือบทเรียนของประชาชนว่าถ้าเราไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดรัฐธรรมนูญเราก็เคลื่อนเรื่องนี้ลำบาก

เพราะฉะนั้นการลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา และโดยเฉพาะกลไกกระบวนการที่พวกเราพยายามทำกันมาว่ามันจะต้องถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญยังไงนั้นยิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่ง ในรัฐธรรมนูญเวลาจะให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็จะเขียนบอกไว้ว่าจะให้คนแก่ที่ยากไร้ เพราะฉะนั้นพวกเราที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปข้างหน้า บทเรียนมันบอกไว้ว่ามันจะต้องหากติกาตรงกลางที่มันโอเค เราอาจจะต้องเอาคำนี้ออกไป ทุกอย่างเขียนหมดเลยว่าจะต้องยากไร้ จะต้องนู่นนี่นั่นถึงจะได้ แล้วมันไปลดทอนศักดิ์ศรีไหม ซึ่งเราอาจจะต้องไปแย้งกันว่า ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าต้องไม่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน แต่ว่าบางอย่างในรัฐธรรมนูญมันเขียนแล้วมันลดทอนศักดิ์ศรีแบบนี้เนี่ย จะทำยังไง อันนี้เป็นหน้าที่ของทุกเครือข่ายที่จะเคลื่อนเรื่องนี้ และเราต้องเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน 

อีกอันนึงที่สำคัญและเป็นเรื่องถกเถียงที่เราอาจจะต้องคุยกันไปในอนาคตว่าเราจะรองรับสิทธิรัฐสวัสดิการนี้ให้ใคร ส่วนใหญ่พวกเราก็จะไปในทิศทางเดียวกันก็คือถ้วนหน้า แต่ถ้วนหน้าแบบไหน เอาคนไทยทุกคน หรือเอาทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย เพราะเวลาเขียนว่าเอาคนไทยทุกคน เครือข่ายชาติพันธุ์มีปัญหาไหม คนไร้บ้านมีปัญหาไหม เพราะฉะนั้นนี่คือบทเรียน ตอนนี้คำว่าถ้วนหน้ามาแล้วและถ้าเราจะไปข้างหน้า เราต้องละเอียด เราต้องลึกซึ้ง เราต้องเท่าทันรัฐ ถ้าเราจะใช้คำว่าทุกคนบนผืนแผ่นดิน เราต้องขยับเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นปัจจัยที่สองที่ทำให้เกิดการสำเร็จที่ผ่านมาก็คือการมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม ถ้าเราจะไปเรื่องรัฐสวัสดิการ เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญ 

ต้องมี ‘กลไกการบริหารจัดการ’ ที่มีประสิทธิภาพ

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า บทเรียนอันที่สาม คือเราต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะมาช่วยเรา บัตรทองไม่ใช่อยู่ ๆ แล้วเกิด มันเกิดจากการทดลองทำบัตรครอบครัว บัตรสุขภาพ เริ่มจาก 300 บาท 500 บาท ไปทดลองขายในบางจังหวัด แล้วบริหารจัดการในจังหวัดว่าขายบัตรนี้ให้โรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลทำได้ไหม จะมีประสิทธิภาพไหม จะพอไหม จะรองรับโรคแค่ไหนยังไง มันต้องมีกลไกนี้ แล้วดูว่ามันจะไปแบบไหน จะทำยังไงมันถึงจะใช้ได้ ใช้ได้แบบมีประสิทธิภาพ ย้อนกลับมาดูเรื่องรัฐสวัสดิการ มีกลไกนี้อยู่ไหมที่จะทำ กลไกที่ดูแลเรื่องบำนาญผู้สูงอายุหรือเบี้ยยังชีพคือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือกลไกนี้สำคัญเพราะว่า พม. เป็นผู้รับผิดชอบหลักของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพก็อยู่ใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ อยู่ในกรมผู้สูงอายุ แล้วกลไกนี้มันก็มีพัฒนาการ มีจุดอ่อนจุดแข็ง เริ่มต้นจากเลือกเฉพาะคนจนแล้วมาเปลี่ยนเป็นถ้วนหน้าในสมัยคุณอภิสิทธิ์ แล้วก็ใช้มาตลอด แล้วก็ไปใช้กลไกของท้องถิ่น แล้วก็ใช้กลไกของบัญชีธนาคารเพื่อจะโอนเงินตรง 

คือเรามีบทเรียน มีประสบการณ์แบบนี้ ดังนั้นถ้าเราจะไปต่อข้างหน้า เราอาจจะต้องลองไปทำงานกับพม. เหมือนกับที่เราไปทดลองทำงานกับโรงพยาบาลกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อจะเคลื่อนเรื่องสุขภาพ ผมคิดว่าเราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ประชาชนต้องเรียนรู้แล้วลองดูว่าเราจะทำงานกับกลไกพวกนั้นยังไง ถ้าเราจะเคลื่อนเรื่องนี้พวกเราต้องโดดเข้ามามีส่วนร่วมและทำงานด้วยกัน ถ้าเราเคลื่อนจนสำเร็จแต่เรากลับบ้าน ไม่เคลื่อนต่อ มันอาจจะมีปัญหาในการกำกับให้มันเป็นไปตามที่พวกเราต้องการ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าบทเรียนในเรื่องบัตรทองที่สำคัญก็คือกระบวนการเข้าไปมีส่วนร่วม กระบวนการเข้าไปร่วมคิดร่วมบริหารจัดการ แล้วดันให้มันคงอยู่ตามเจตนารมณ์ที่เราอยากได้ ผมคิดว่าอันนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ

‘ยุทธศาสตร์ร่วม’ คือสิ่งสำคัญในการเคลื่อนไปด้วยกันได้อย่างมีพลัง

นิมิตร์ ระบุว่า บทเรียนที่สี่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเครือข่ายภาคประชาชนจะต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ตอนที่เคลื่อนเรื่องหลักประกันสุขภาพมี 11 เครือข่ายประชาชนมาสุมหัว มาชวนกันคิด เพราะฉะนั้นความเป็นเครือข่ายประชาชนสำคัญ แต่ประเด็นก็คือว่าเครือข่ายประชาชนที่มานั้น แต่ละเครือข่ายก็มีตัวตนเป็นของตนเอง เครือข่ายนี้ก็จะเอาเรื่องนั้น เครือข่ายนั้นก็จะเอาเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถแสวงจุดร่วมที่แต่ละเครือข่ายเห็นตรงกันได้ เราก็จะสามารถร่วมและประสานพลังเพื่อจะเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกันได้ เราต้องร่วมกันคุยและวางยุทธศาสตร์ของเครือข่ายประชาชนด้วยกัน ซึ่งมันสำคัญมากในการที่จะเคลื่อนไปด้วยกันอย่างมีพลังและเป็นทิศทางเดียวกัน แล้วพอมันเป็น กลุ่มก้อนเดียวกัน เวลาไปเจรจากับกรรมาธิการที่จะเคาะโต๊ะว่ามาตราไหนเอา มาตราไหนไม่เอามันก็จะเป็นเอกภาพ

ย้ำ ต้องกดดันพรรคการเมืองให้เห็นความเป็นไปได้

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวย้ำถึง ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญและจะเป็นตัวเคาะสุดท้ายที่มันจะเกิดหรือไม่เกิดว่า คือตัวนักการเมือง หลักประกันสุขภาพเคลื่อนกันมานานกว่าที่ไทยรักไทยจะเอาไปทำเป็นยุทธศาสตร์พรรคแล้วออกมาเป็นนโยบายหาเสียง ดังนั้นสุดท้ายแล้วคนที่มันจะเคาะว่าจะเกิดไม่เกิดมันต้องเป็นคนมีอำนาจ เราเรียบเรียง เราผลักดัน เราประมวลให้มันเห็นภาพ แต่ถึงที่สุดแล้วถ้าฟากที่กำหนดนโยบายมันไม่ซื้อ มันไม่เคาะ มันก็ไปไม่ได้ 

แต่ว่าฟากที่กำหนดนโยบาย ฟากรัฐบาลมันจะเคาะได้นั้น มันจะต้องมีแรงกดดัน มันจะต้องเห็นประโยชน์ไหม ถ้าเราดูบทเรียนของการเคลื่อนรัฐสวัสดิการในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองได้ยินคำนี้มากขึ้น พวกเขาเริ่มซื้อไอเดียนี้แล้วเอาไปทำนโยบายมาหลอกเราเยอะขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 เกือบจะทุกพรรคพูดเรื่องนี้ ผมยังแปลกใจนะ คือที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะผมอยากจะบอกว่าไม่ใช่จู่ ๆ พวกพรรคการเมืองเขาซื้อ เขาต้องเห็นก่อนว่าพวกเราเอาจริง ๆ ไหม ปัญหานี้มันสุกงอมพอไหมที่มันจำเป็นต้องเกิด ยกตัวอย่างเช่นเรื่องบำนาญมันสุกงอมพอไหม การเรียกร้องมันแข็งแรงพอไหม มันเสียงดังพอไหม การขับเคลื่อนของพวกเรามันต้องทำให้พวกเขาเห็นก่อน เราจัดเวทีคุยกับเขากี่ครั้ง เราส่งคนไปถึงสาขาพรรคในแต่ละจังหวัดกี่ครั้ง เรายื่นจดหมาย เรามาชุมนุม สมัยนั้นชุมนุมไม่ได้แต่พวกเราก็มาชุมนุมอยู่หน้าตึก UN เป็นก๊วนแรกเลยที่ไปยึดพื้นที่หน้าตึก UN แล้วพยายามจะเดินไปทำเนียบว่าด้วยเรื่องบำนาญ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราทำมันไม่สูญเปล่า มันสร้างแรงกดดันเพื่อที่จะทำให้พรรคการเมืองมันเห็นประโยชน์ที่จะพัฒนาแล้วไปต่อข้างหน้าได้ พอเริ่มทำการบ้านทุกคนก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราเคลื่อน เครือข่ายประชาชนทั้งหมดที่เคลื่อนเรื่องนี้จำเป็นจะต้องเคลื่อนต่อ ต้องส่งเสียงให้ดังมากขึ้น 

เราฝากความหวังไว้กับใครไม่ได้ ประชาชนจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อไปสู่สังคมที่มี ‘รัฐสวัสดิการ’

นิมิตร์ กล่าวในตอนท้ายว่า สุดท้ายเงื่อนไขที่มันจะทำให้สำเร็จคือตัวนโยบาย ตัวพรรค ตัวฝ่ายรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้าเราทำงานกับพรรค ทำงานกับคนซึ่งมีแนวโน้ม หรือเรา ณ ตอนนี้เราอาจจะต้องคุยกันในเชิงยุทธศาสตร์แล้วว่าเราจะเลือกพรรคการเมืองแบบไหนที่จะซื้อเรื่องนี้แล้วจะทำจริงไม่หลอกเรา หรือถ้าเราหวังกับรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหารเรื่องนี้ก็ไม่เกิด ถ้าเราหวังกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เครือข่ายประชาชนจะเอายังไงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจะเอายังไงกับการผลักดันพรรคให้มีนโยบายนี้ออกมา การเคลื่อนเรื่องบัตรทอง มันกลายเป็นทำให้พรรคการเมืองอย่างไทยรักไทยต้องขายนโยบาย ผมว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่พรรคการเมืองเริ่มขายนโยบาย ดังนั้นถ้าเราอยากเห็นการขายนโยบายแบบนี้อีกเราอาจจะต้องคุยกันว่าเราจะเอายังไงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เราจะเอายังไงกับการแก้รัฐธรรมนูญ เราจะเอายังไงกับการที่จะตัดอำนาจนายกฯ เรื่องการต้องรับรองร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน เพราะตามรัฐธรรมนูญนี้ไม่ว่าคุณจะคิดชัดขนาดไหน ถ้าเกิดเป็นร่างที่เกี่ยวกับการเงินก็จะต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ อยู่ดี ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ไปไหนไม่ได้

แต่ถ้าเกิดว่าเรามีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบนี้ ผมว่าป่านนี้เรื่องนี้พิจารณาในสภาไปแล้ว ถ้าเทียบกับงานศึกษาของกรรมาธิการสวัสดิการที่ไปเข้าสภาเมื่อ 27 พฤษภาที่ผ่านมา ซึ่งการอภิปรายในสภาไม่มี ส.ส.คนไหนบอกว่าไม่ควรทำบำนาญ ทุกพรรคเห็นด้วยหมด แล้วทำไมมันไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนเรื่องนี้มันเคลื่อนเฉพาะประเด็นที่เราทำไม่ได้ เราต้องเชื่อมโยงให้เห็นภาพ พวกเราอาจจะต้องยุ่งเรื่องเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะว่าสุดท้ายมันจะเกิดหรือไม่เกิดมันจะต้องมาจากพรรคการเมืองที่ไปเป็นรัฐบาลแล้วมีเจตจำนงที่อยากทำเรื่องนี้ พวกเราต้องชัดว่าพวกเราจะเอายังไง เพราะไม่อย่างนั้นเราก็ไปไม่ได้ 

“ฉะนั้นสุดท้ายบทเรียนของผมต่อการขับเคลื่อน 5 เรื่องนี้สำคัญ และ 5 เรื่องนี้เกี่ยวโยงกับพวกเราทั้งหมดที่เราจะช่วยกันขับเคลื่อน เราฝากความหวังไว้กับใครไม่ได้เรื่องนี้ ตัวเราเอง กลไกเรา องค์กรเรา เครือข่ายเรา จะชวนกันมาเมื่อไหร่ รวมกันเมื่อไหร่ สุมหัวกันคิดเมื่อไหร่ต้องมา แล้วเราจะพบว่าเราจะไปข้างหน้าได้กับรัฐสวัสดิการ” นิมิตร์ กล่าว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาตินั้น ตามรายงานของ The Active ระบุว่าคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2563 ทำให้ต่อมาร่างกฎหมายดังกล่าวได้พัฒนาเป็น ร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. … ตามหลักการของ “การพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เป็น “ระบบบำนาญพื้นฐาน” และได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair กล่าวว่า ย้อนไปในช่วงเวลาการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 แทบทุกพรรคการเมืองมีนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่หลังจากจัดตั้งรัฐบาล แม้ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับประชาชน จำนวน 13,264 รายชื่อ ได้ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 และประธานสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 134 ได้ส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อให้คำรับรอง จนกระทั่ง 4 ก.พ. 2564 นายกรัฐมนตรีมีความเห็นไม่รับรอง รวมทั้งไม่รับรองร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.เงินบำนาญประชาชน พ.ศ. … พรรคเสรีรวมไทย เสนอโดย ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … พรรคประชาชาติ เสนอโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า พ.ศ. … พรรคก้าวไกล เสนอโดย วรรณวิภา ไม้สน ร่าง พ.ร.บ.บำนาญผู้สูงอายุขั้นพื้นฐาน พ.ศ. …  เสนอโดย พีระวิทย์ เลื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม

ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก We Fair 

ซึ่งตามรายงานของ Thairath Plus: ไทยรัฐพลัส ระบุว่าร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ มีสาระสำคัญที่คล้ายกัน คือ ให้ประชาชนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับ ‘เงินบำนาญ’ แบบถ้วนหน้า เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือประมาณ 3,000 บาท ต่อเดือน โดยเงินบำนาญดังกล่าวให้มาจากงบประมาณที่รัฐบาลเป็นผู้จัดสรร หรือเงินงบประมาณรายจ่ายให้รวมถึงรายได้จากการบริจาคหรือผลตอบแทนที่กองทุนได้รับ ทั้งนี้ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาชนมาทำหน้าที่บริหารจัดการเงินกองทุน

แต่หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติไม่รับคำร้องร่างกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญทั้งห้าฉบับ ทำให้ ‘เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ’ ยื่นหนังสือถึง รังสิมา รอดรัศมี ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม เพื่อขอให้สนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... ฉบับประชาชน ต่อมา ทางคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร จนกลายมาเป็นรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ในท้ายที่สุด

  • เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ตัดพ้อ นายกฯ ‘ไม่เห็นหัวประชาชน’ หลังปัดตก พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ https://prachatai.com/journal/2021/02/91587
  • ‘หยุดส่งต่อความยากจน’ ประชาชนรวมตัวหน้ารัฐสภา ผลักดัน ‘บำนาญแห่งชาติ’ https://prachatai.com/journal/2022/05/98803
  • ภาค ปชช.ร้องสภาฯ ดัน ‘บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า’ - ‘ไทยสร้างไทย’ จัดคาราวานเครือข่ายบำนาญประชาชน เริ่มที่สีคิ้ว https://prachatai.com/journal/2022/06/99011

สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ล่าสุด 27 มิ.ย. ฐานเศรษฐกิจ รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่หลังจากรัฐบาลมีมติครม.ออกมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2565 เกี่ยวกับการเพิ่มเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการเบี้ยยังชีพในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 10,896,444 ล้านคน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมแบบขั้นบันได 100-250 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. – ก.ย. 2565 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขั้นตอนกระบวนการในการเบิกจ่ายนั้นต้องรออนุมัติงบกลางปี 2565  จึงทำให้ในเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ที่ผ่านมาผู้สูงอายุยังคงได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเกณฑ์เดิมนั่นก็คือ 600 -1,000 บาท แต่ล่าสุดก็มีข่าวดี เมื่อทางรัฐบาลได้ประกาศว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่จะโอนเข้าบัญชีของผู้สูงอายุได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

โดย รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิที่สวัสดิการเบี้ยยังชีพ ขณะนี้ อยู่ในขั้นการเสนอขออนุมัติงบกลาง ปี 2565 จาก ครม. ทางกรมบัญชีกลางคาดว่าจะสามารถโอนเงินช่วยเหลือถึงมือผู้สูงอายุในช่วงกรกฎาคม 2565 นี้ ซึ่งจะมียอดเงินช่วยเหลือย้อนหลัง 4 เดือน ตั้งแต่เดือน เมษายน-กรกฎาคม และจะทยอยอีกสองงวดที่เหลือในรอบเดือนต่อไป 

สำหรับเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เพิ่มเติมมา มีรายละเอียดอะไรบ้าง "ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมมานำเสนอดังนี้

1.อายุ 60 -69 ปี 

  • เดิมรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บ.ต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บ.ต่อเดือน รวมเป็น 700 บ.ต่อเดือน

2.อายุ 70 -79 ปี 

  • เดิมรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บ.ต่อเดือน จะรับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บ.ต่อเดือน รวมเป็น 850 บ.ต่อเดือน

3.อายุ 80 -89 ปี 

  • เดิมรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บ.ต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บ.ต่อเดือน รวมเป็น 1,000 บ.ต่อเดือน 

4.อายุ 90 ปีขึ้นไป 

  • เดิมรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บ.ต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 250 บาทต่อเดือน รวมเป็น 1,250 บ.ต่อเดือน

สำหรับไทม์ไลน์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565)มีดังนี้

  • เดือนตุลาคม 2564 โอนเข้าบัญชี วันศุกร์ ที่ 8 ตุลาคม 2564 
  • เดือนพฤศจิกายน 2564 โอนเข้าบัญชี วันพุธ ที่ 10 พฤศจิกายน 2564 
  • เดือนธันวาคม 2564 โอนเข้าบัญชี วันพฤหัสบดี ที่ 9 ธันวาคม 2564
  • เดือนมกราคม 2565 โอนเข้าบัญชี  วันจันทร์ ที่ 10 มกราคม 2565
  • เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โอนเข้าบัญชี  วันพฤหัสบดี ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 
  • เดือนมีนาคม 2565 โอนเข้าบัญชี วันพฤหัสบดี ที่ 10 มีนาคม 2565 
  • เดือนเมษายน 2565 โอนเข้าบัญชี  วันศุกร์ ที่ 8 เมษายน 2565
  • เดือนพฤษภาคม 2565โอนเข้าบัญชี  วันอังคาร ที่ 10 พฤษภาคม 2565 
  • เดือนมิถุนายน 2565โอนเข้าบัญชี   วันศุกร์ ที่ 10 มิถุนายน 2565
  • เดือนกรกฎาคม 2565 โอนเข้าบัญชี วันศุกร์ 8 กรกฎาคม 2565
  • เดือนสิงหาคม 2565 โอนเข้าบัญชี  วันพุธ 10 สิงหาคม 2565 
  • เดือนกันยายน 2565 โอนเข้าบัญชี  วันศุกร์ ที่ 9 กันยายน 2565

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘บำนาญแห่งชาติ’ เผยแพร่ข้อคิดเห็นโดยระบุว่า  #ย้ำว่า เงินผู้สูงอายุที่จ่ายรอบนี้เป็น #งบกลาง ที่จ่ายเฉพาะกิจให้ #6เดือน ไม่ใช่ตลอดไป แถมยังจ่ายย้อนหลังตามมติ ครม. ที่ออกมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา #รู้เท่าทันรัฐบาล

หมายเหตุ : วีรภัทร สิริสุทธิชัย ผู้รายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท