สหภาพแรงงาน จี้ ‘ประกันสังคม’ เร่งหาวันเลือกตั้งบอร์ด หลังชุดปัจจุบันมาจาก คสช.-ไม่มีเลือกตั้งมา 8 ปีแล้ว

สหภาพแรงงานยื่นหนังสือ ‘ประกันสังคม’ เร่งหาวันเลือกตั้งบอร์ด หลังชุดปัจจุบัน แต่งตั้งโดย คสช. และไม่ได้มีการเลือกตั้งมานาน 8 ปีแล้ว พร้อมเรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติที่จ่ายสมทบทุนมีสิทธิเลือกด้วย 

 

6 ก.ค. 2565 สำนักข่าว The Reporters รายงานบนแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ วันนี้ (6 ก.ค.) ระบุว่า เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมด้วยสหภาพแรงงาน ทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย สหภาพคนทำงาน สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเครื่องหนังแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี ให้กำหนดวันเลือกตั้งคณะผู้บริหารประกันสังคม หลังจากชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และไม่ได้มีการเลือกตั้งชุดใหม่มานานกว่า 8 ปีแล้ว โดยนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยนายพรเทพ ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย เป็นผู้แทนรับหนังสือและข้อเรียกร้อง

ธนพร วิจันทร์ (ซ้าย) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน และ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน (ขวา) ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (ที่มา เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน)

นายศิวะวงศ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงกฎของประกันสังคมที่ให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยมีสิทธิ์เลือกบอร์ดบริหารประกันสังคม ถือเป็นการปิดกั้นผู้ประกันตนที่มีสัญชาติอื่นที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนมาก ขอหยุดกีดกันแรงงานเป็นกลุ่มก้อนต่างๆ ขอให้กองทุนประกันสังคมเป็นของผู้ประกันตนทุกคน ทุกสัญชาติ หรือแม้กระทั่งผู้ไร้สัญชาติ ย้ำว่าบอร์ดประกันสังคมชุดนี้เป็นมรดกของ คสช. หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปลี่ยนระเบียบให้ผู้ประกันตนทุกสัญชาติเข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริง

เซีย จำปาทอง ผู้แทนอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องหนังแห่งประเทศไทย  ยืนยันขอเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เพราะบอร์ดชุดปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งด้วย ม.44 ของ คสช.ที่เข้ามากระทำรัฐประหาร ผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้วยังไม่มีการดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง ขอหยุดดองบอร์ดประกันสังคม เรียกร้องให้เลขาธิการประกันสังคมออกมาชี้แจงกับสังคมด่วนว่าจะมีขั้นตอนการเลือกตั้งเมื่อไร อย่างไร คุณสมบัติผู้สมัครต้องเป็นอย่างไร ใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างไรบ้าง ทั้งที่ระเบียบเลือกตั้งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2558 และเรียกร้องไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับเรื่องนี้ เรียกร้องให้ให้ความสำคัญกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 

ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ทางกลุ่มมี 3 ข้อเรียกร้องหลัก คือ ขอเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ขอเรียกร้องให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตั้ง เพราะมีปริมาณแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศมากกว่าหนึ่งล้านคน และขอให้มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานที่จะให้อำนาจรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือกบอร์ดประกันสังคมซึ่งเปรียบเหมือนกันยึดอำนาจจากประชาชน

(ที่มา เฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน)

ศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า ยินดีที่ได้รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ของทุกกลุ่มมาประมวลให้ลงตัว เหมาะสมและเที่ยงธรรมที่สุด ยืนยันมีการเลือกตั้งแน่นอนภายในปีนี้ รอกำหนดวันอีกครั้ง เนื่องจากยังติดปัญหาเรื่องกฎหมายลูก 28 ฉบับ ที่ร่างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการตรวจทาน การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมีการขอความเห็น ข้อแนะนำการเลือกตั้งจาก กกต.แล้ว เพราะจะเป็นการเลือกตั้งโดยตรง ผู้ประกันตนในระบบประมาณ 20 ล้านคน สามารถไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งเหมือนระบบการเลือกตั้งใหญ่ และรับปากว่าผู้ประกันตนสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าการเลือกตั้งได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th

ศักดินาถ เน้นย้ำว่า ประกันสังคมพยายามจะให้สิทธิกับผู้ประกันตนทั้งไทยและต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การให้สิทธิฉีดวัคซีนโควิด ตอนนี้มีธงเดียวกันอยู่ระหว่างผ่านรายละเอียดในกฎหมายลูก โดยหลังทำกฎหมายลูกเสร็จจะทำเป็นเล่มประชาสัมพันธ์ถึงผู้ประกันตน และระยะเวลา 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้งจะเป็นช่วงเปิดรับสมัครและหาเสียง

รายละเอียดหนังสือ

เรื่อง ขอให้กำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม

เรียน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

นับตั้งแต่การประกาศพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนสัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคนพิการและผู้ด้วยโอกาส สำหรับเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง แต่ต่อมามีคำสั่งเผด็จการโดยหัวหน้า คสช.ที่ 40/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ และให้ชุดเก่าหยุดปฏิบัติงาน พร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี 

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งดังกล่าวฯ และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นเวลา 7 ปี ที่ผู้ประกันตนไม่ได้เลือกตั้งผู้แทนของตนในคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม โดยที่กระทรวงแรงงานไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่อย่างใด

ดังนั้นองค์กรแรงงานทั้ง 6 แห่ง ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกันตน ขอให้ทางเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมตามข้อเสนอดังนี้

1. ขอให้สำนักงานประกันสังคมกำหนดวันที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนของผู้ประกันตน ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 8 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมโดยเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดการเตรียมความพร้อมของผู้ประกันตนที่จะลงสมัครเข้ามาเป็นตัวแทนของผู้ประกันตนในการพัฒนากองทุนประกันสังคมโดยผู้ประกันคน

2. ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกคุณสมบัติของมีสิทธิเลือกตั้งในข้อ 16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็น

3. กรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมพ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย เนื่องจากถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยจำนวนมากให้ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้แนของตนเองเพื่อนำเสนอปัญหาของตนเองในกองทุนประกันสังคม และยังขัดกับขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องหลักความเสมอภาคหรือหลักความเท่าเทียมกัน (equality principle) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (unfair / unjust discrimination) ที่ประเทศเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ที่วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติไว้ว่า “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันว่าสิทธิทั้งหลายที่ระบุไว้ในกติกานี้ปราศจาก การเลือกปฏิบัติใด ๆ …” การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 เป็นต้น ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกและแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ที่แก็ไขเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ใน ม.3 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ม.8 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ได้แก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตน โดยกำหนดการได้มาซึ่ง “ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนของผู้ประกันตนโดยตรง และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายของกองทุนประกันสังคมได้ อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม และสิทธิของผู้ประกันคนโดยตรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท