รัฐสภามีมติใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตีลิสต์ ‘หาร 500’ ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162

‘สูตรหาร 100’ ไปไม่ถึงฝั่ง หลังที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นชอบกับ กมธ.วิสามัญ เสียงข้างมาก ที่เสนอให้ใช้สูตรหาร 100 ด้วยคะแนนเสียง 392 ต่อ 160 เสียง ก่อนเคาะสูตรหาร 500 แทน ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162

 

6 ก.ค. 2565 สำนักข่าว Voice TV รายงานวันนี้ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 22.07 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมพิจาณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในวาระ 2 ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้พิจารณาเสร็จสิ้นต่อเนื่องวันที่ 2 และเข้าสู่การพิจารณามาตรา 23 ซึ่งว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าจะมีการลงมติให้เป็นสูตรคำนวณแบบหาร 100 หรือแบบหาร 500 โดยคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากยืนยันให้ใช้สูตรคำนวณหารด้วย 100

ในช่วงต้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายตกลงว่าจะเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ ต่อกันไปให้เสร็จในวันนี้ แม้จะถูกเตะถ่วงมาบ้าง แต่กฎหมายฉบับนี้มีความไม่ปกติอย่างสังคมก็ทราบดี เพราะมีการครอบงำจากฝ่ายบริหาร จึงเห็นว่าควรยุติการประชุมเพื่อให้สังคมได้ตั้งสติพิจารณากันใหม่ แต่ได้รับการทัดทานจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ว่าสมาชิกฯ แต่ละคนมีเอกสิทธิ ไม่ถูกครอบงำ จากนั้น ชวน จึงขอให้เดินหน้าการประชุมต่อ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายสนับสนุนสูตรหาร 500 โดยให้เหตุผลว่า ผลของสูตรคำนวณแบบหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายข้อ ขณะที่สูตรหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญข้อ 91 เพียงข้อเดียว และมีความไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่เคารพต่อสิทธิเสียงของประชาชน เนื่องจากเสียเปรียบด้วยคะแนนเสียงต่อเก้าอี้ ส.ส. 

ทำให้ จุลพันธ์ ท้วงติงว่า การแปรญัตติลักษณะนี้ขัดต่อหลักการของร่างกฏหมายตามที่กรรมาธิการพิจารณาไปแล้ว เนื่องจากสูตรหาร 500 ขัดต่อมาตรา 91 ซึ่งได้รับการแก้ไขแล้วก่อนหน้านี้

นิกร จำนง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการ จึงชี้แจงว่า ถูกต้องตามที่จุลพันธ์ เสนอ เนื่องจากรัฐสภาแห่งนี้ไม่ได้รับแนวคิดสูตรหาร 500 มาเลยในร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 4 ฉบับที่รับหลักการมา แต่ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ยืนยันว่าไม่แก้ไขสูตรคำนวณ จึงต้องให้สมาชิกฯ มีโอกาสสงวนคำแปรญัตติเพื่อมาอภิปรายให้สภาวินิจฉัย 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ท้วงติงอีกครั้งว่า เหตุใดคำแปรญัตติที่ขัดต่อหลักการจึงปรากฏในรายงานของกรรมาธิการฯ แต่กลับไม่ปรากฏความเห็นของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก กระบวนการตรากฏหมายเช่นนี้ ตนถือว่ามีความวิบัติ เพราะไม่มีหลักการ เปรียบเสมือนสภาเผด็จการ เนื่องจากรับคำสั่งมาอีกที

ทำให้ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า หากผู้ทักท้วงมองว่ากระบวนการนี้ขัดต่อกฏหมาย ก็สามารถใช้สิทธิยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่กรรมาธิการไม่มีอำนาจกระทำเช่นนั้นได้

เวลา 21.50 น. พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งที่ประชุมเพื่อลงมติในมาตรา 23 โดยที่ประชุมรัฐสภา มีมติ 392 ต่อ 160 เสียงไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมากที่เสนอให้หารด้วย 100 งดออกเสียง 23 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นควรให้ยึดตาม กมธ.เสียงข้างน้อยที่ขอสงวนความเห็นและสมาชิกที่เสนอคำแปรญัตติให้แก้ไขโดยใช้สูตรหารด้วย 500

สำนักข่าว Workpoint Today รายงานวันนี้ (6 ก.ค.) เมื่อเวลา 22.24 น. ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติวาระ 2 ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 23 เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยเวลา 22.12 น. ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของ นพ.ระวี มาศฉมาดล แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่เสนอใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ สูตรหาร 500 ด้วยคะแนน 354 ต่อ 162

ก่อนที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 22.15 น.

MMA ฉบับดัดแปลง

iLaw ระบุถึงระบบการเลือกตั้งโดยใช้สูตรว่าหาร 500 เป็นระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment - MMA) แบบดัดแปลง

iLaw ระบุว่า สูตรหาร 500 จะนำคะแนนเสียงเลือกตั้งรวมของทุกพรรคการเมืองมาหารจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) แล้วถึงคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามสัดส่วนคะแนน ดังนี้

(1) คะแนนรวมทุกพรรคทั่วประเทศ ‘หาร’ จำนวน ส.ส.ทั้งหมด (500) = 'คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน'

ตัวอย่าง 37,000,000 หารด้วย 500 = 74,000 

(2) ผลรวมคะแนนของพรรคจากทุกเขต ‘หาร’ คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน = จำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค

ตัวอย่าง 1,000,000 หาร 74,000 = 13.5 ส.ส.

(3) จำนวน ส.ส.พึงมี ‘ลบ’ จำนวน ส.ส.เขต = ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ตัวอย่าง 13.5 ส.ส.พึงมี - 7 ส.ส.เขต = 6.5 ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ ในกรณีที่พรรคการเมืองใดมีจำนวน ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.พึงมี ให้พรรคการเมืองนั้นไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นให้จัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตาม ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับในเบื้องต้น โดยให้จัดสรรตามจำนวนเต็มก่อน ถ้าหากไม่ครบตามจำนวน 100 คน ให้จัดสรรให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งตามลำดับจนครบ

แม้ว่าสูตรคำนวณดังกล่าวจะมีความคล้ายกับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional: MMP) แต่สูตรดังกล่าวยังเปิดช่องให้จัดสรรที่นั่งแบบ 'ปัดเศษ' ได้ ทำให้พรรคเล็กยังมีโอกาสไปต่อ แต่ก็แลกมากับการเป็น ‘สภาสหพรรค’ แบบการเลือกตั้งปี 2562 รวมถึงลดโอกาสพรรคใหญ่แลนด์สไลด์ (ครองเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา) เหมือนเมื่อครั้งใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 ดังนั้น ระบบเลือกตั้งแบบที่เรียกว่า "สูตรหาร 500" จึงดูเป็นระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment-MMA) ฉบับดัดแปลง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท