กสม.- สสส. ถก 1 ปี หมิงตี้เคมิคอล หลังเพลิงสงบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สสส. - กสม. ผนึก 5 ภาคีเครือข่าย เปิดเวทีถกปัญหามลพิษอุตสาหกรรม กรณี ครบรอบ 1 ปี โรงงานหมิงตี้เคมิคอลระเบิด หลังเพลิงสงบ ก่อวิกฤตผลกระทบต่อสุขภาพ เสี่ยงตาย-ป่วย 388 คน หวั่นเหตุซ้ำรอย รุกดัน โรงงานต้องขออนุญาตถูกต้อง อุบัติภัยฉุกเฉินประชาชนต้องได้รับการเยียวยา

7 ก.ค.2565 ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กสม. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสมาคมนักผังเมืองไทย จัดงานเสวนา “ครบรอบ 1 ปี หมิงตี้เคมิคอล : หลังเพลิงสงบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” เวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ประชาสังคม นักวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันมลพิษอุตสาหกรรม ป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในรัศมี 1-9 กิโลเมตร จากกลิ่นเหม็นของสารเคมีและเขม่าควันในช่วงเวลาหลังเกิดเพลิงไหม้ ทำให้มีผู้เข้ารักษาพยาบาล 388 คน ปัจจุบันยังคงมีสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ใต้ซากอาคาร ที่ยังไม่รื้อถอนหรือดำเนินการเคลื่อนย้าย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 จังหวัดสมุทรปราการได้จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบสารเคมีตกค้างในพื้นที่ เพื่อเร่งติดตามแผนการรื้อถอน และเคลื่อนย้ายสารเคมี ลดการเกิดเหตุสุดวิสัยที่ถือเป็นปัญหามลพิษระดับชาติ    

“สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและสิทธิในสุขภาพ คือสิทธิพื้นฐานของมนุษยชน การจัดเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจากกรณีครบรอบ 1 ปี หมิงตี้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิของประชาชนในกระบวนการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/และกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้อง และสิทธิของประชาชนในการได้รับความช่วยเหลือและเยียวยาจากสถานการณ์ฉุกเฉินหรืออุบัติภัยร้ายแรง” ศยามล กล่าว

ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มลพิษอุตสาหกรรมจะสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมและห่วงโซ่อาหารเป็นระยะเวลานาน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ สารเคมีอันตรายที่ปล่อยมาจากโรงงาน อาทิ สารสไตรีนโมโนเมอร์ ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม ทำให้มีอาการเจ็บป่วย ปวดหัว แสบคอ เวียนหัว แสบจมูก คัดจมูก จนถึงขั้นเสียชีวิต ที่สำคัญเหตุการณ์เพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด นอกจากจะปล่อยมลพิษทางอากาศ ยังเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ กระทบการเกษตร และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน สสส. คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ จึงมุ่งสนับสนุนพัฒนากลไกทางสังคม ผลักดันให้เกิดสิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Community Right-to-Know) นำไปสู่กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยสารเคมี เพื่อลดโอกาสเกิดผู้เสียชีวิตด้วยโรคหรือความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากรายงานของ Global Alliance on Health and Pollution หรือ GAHP ที่เป็นเครือข่ายของหน่วยงานระดับนานาชาติที่มุ่งมั่นเพื่อจัดการกับวิกฤตมลภาวะทั่วโลกและผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษ 43,538 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสียชีวิตมีสาเหตุเกี่ยวกับมลพิษอากาศ 30,625 คน มลพิษจากน้ำ 5,379 คน มลพิษจากสถานที่ทำงาน 5,406 คน และพิษตะกั่ว 2,127 คน

“ประเทศไทยมีปัญหามลพิษอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับมีบทบาทสำคัญในการดูแลควบคุมมลพิษ แต่เรายังขาดกฎหมาย Pollutant Release and Transfer Registration : PRTR เพื่อรายงานการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม ซึ่งจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐาน และกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ห้ามปล่อยมลพิษ แต่กำหนดว่าการปล่อยต้องรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานเป็นชื่อมลพิษนั้นๆ และปริมาณในแต่ละปี ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เพื่อป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองประชาชน” เพ็ญโฉม กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท