Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องขอให้ออกมาตรการ 'ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที' และ 'จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย'

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2565 เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เนื่องในวันครบรอบหนึ่งเดือนปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ขอให้ออกมาตรการ 'ปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที' และ 'จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย' ถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... (นายศุภชัย ใจสมุทร) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กำหนดให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ทำให้เกิดสถานการณ์ “กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศ” เนื่องจากยังไม่มีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ   ส่งผลให้ปรากฏเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเกิดผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างมาก ทั้งการบริโภคแบบรู้ตัว (เช่น สูบดอกกัญชา) และแบบไม่รู้ตัว (เช่น กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ไม่มีใครบอก) ซึ่งเกิดกับทั้งผู้ใหญ่ เยาวชน และเด็กเล็ก ตลอดจนมีการขายกัญชาเพื่อนันทนาการ (ความบันเทิง) แพร่หลายไปหมด สถานการณ์เช่นนี้จะรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อประชาชนมีการปลูกในครัวเรือนมากขึ้นในอนาคต หากสถานการณ์กัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศนี้ยังต่อเนื่องไปนาน จะเกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่ออนาคตของเด็กและเยาวชนไทยในระยะยาว ประเทศไทยจึงไม่ควรตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศนาน ต้องมีนโยบายควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม การออกแบบมาตรการเพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดมีรายละเอียดมาก ต้องการการออกแบบอย่างรอบคอบ เช่น กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดหรือไม่ ประเทศไทยต้องการนโยบายกัญชาทางการแพทย์ หรือ กัญชาเพื่อเศรษฐกิจ หรือ กัญชาเพื่อนันทนาการ จะให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนหรือไม่ จำนวนเท่าใด จะควบคุมเยาวชนนำช่อดอกกัญชาไปสูบได้อย่างไร จะควบคุมการทำธุรกิจกัญชาแค่ไหนเพียงใด จะควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายหรือไม่เพียงใด จะปกป้องเยาวชนอย่างไร จะปกป้องผู้ไม่เสพใช้กัญชาอย่างไร จะควบคุมการขับขี่ยานพาหนะหลังการเสพกัญชาอย่างไร จะมีมาตรการภาษีกัญชาหรือไม่อย่างไร และ จะใช้งบประมาณส่วนไหนอย่างไรเพื่อจัดระบบรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการใช้กัญชา เพื่อจัดการณรงค์ป้องกันการใช้กัญชาหรือการใช้กัญชาในทางที่ผิด และเพื่อจัดให้มีระบบติดตามและประเมินผล เป็นต้น  ซึ่งต้องปรึกษาผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ จะเร่งรัดไม่ได้

ด้วยว่าเหตุผลของการออกนโยบายดังกล่าวได้ถูกอ้างว่าต้องการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจจากกัญชา และไม่ต้องการให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ   ดังนั้นเมื่อเห็นว่าประชาชนจำนวนมากใช้กัญชาเพื่อนันทนาการและจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการบริโภคกัญชาแบบไม่รู้ตัวอย่างชัดเจน จึงควรพิจารณาทบทวนนโยบายกัญชาเสรีดังกล่าว ซึ่งทำได้ง่ายมาก เนื่องจากการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดเป็นเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นอำนาจและความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยควรที่จะต้อง “ปิดสภาวะสุญญากาศทันที” และ “จัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาต่อไป”

บนจุดยืนการสนับสนุนนโยบายกัญชาทางสายกลาง คือ การใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ในทางการแพทย์ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายกัญชาเสรี เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอเสนอให้รัฐบาล คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โปรดพิจารณา

1. ปิดสภาวะสุญญากาศทันที โดย ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดออกไปก่อนจนกว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ หรือ ประกาศให้กัญชา (ครอบคลุมดอก ยาง สารสกัด และทิงเจอร์ จากดอกและยางกัญชา) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 (ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน และประเทศไทยจะไม่ผิดฐานละเมิดอนุสัญญายาเสพติด 1961 และ 1961 ที่ได้ลงนามสัตยาบันไว้อีกด้วย)  หรือ ออกพระราชกำหนดกำหนดให้กัญชายังเป็นยาเสพติดจนกว่าจะมีกฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ เป็นต้น  

2. ในขณะเดียวกันกับการปิดสภาวะสุญญากาศ จะต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทย อย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อพิจารณาออกกฎหมายกัญชาต่อไป

หากทำเช่นนี้ จะทำให้สามารถปิดสภาวะสุญญากาศได้ทันที จะทำให้สถานการณ์นโยบายกัญชากลับไปยังก่อนปลดล็อก คือ กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ แต่ผลกระทบร้ายแรงจะบรรเทาลงทันที ทุกฝ่ายจะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง   และจะทำให้มีเวลาเพียงพอที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายกัญชาของประเทศไทยร่วมกัน อันจะทำให้ผลประโยชน์และผลเสียหายของทุกฝ่ายได้รับการคำนึงถึงอย่างครบถ้วน และจะทำให้ได้นโยบายกัญชา ที่เกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันโทษได้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยจะได้รับการปกป้อง   จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ลงชื่อ
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด
9 ก.ค. 2565 (วันครบรอบหนึ่งเดือนปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข)

ทั้งนี้เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดได้มีการริเริ่มแคมเปญ "ชะลอกัญชาเสรี ขอกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เด็กใช้กัญชาออกมาก่อน" บนช่องทาง Change.org ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนับสนุนมากกว่า 5,000 คน ที่เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว ซึ่งถ้าหากประชาชนหรือหน่วยงานใดที่เห็นว่าประเด็นนี้สำคัญ สามารถลงชื่อเพื่อสนับสนุนให้ความเห็นชอบได้ที่ change.org/DelayCannabisLaw

1. นพ.ชาตรี บานชื่น
อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

2. นายโสภณ สุภาพงษ์
กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์

3.ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่
ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ

4. นางทิชา ณ นคร
ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

5. ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล
นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada

6. รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย

7. ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์
ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

8. ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์
ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

9. พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย
ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย

10. รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

11. ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ
อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

12.ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์
นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย

13. ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย
ศาสตราจารย์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

14. ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน
ที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

15. นายไพศาล ลิ้มสถิตย์
กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

16. ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร
อาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

17. นายพงศธร จันทรัศมี
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

18. นายไฟซ้อน บุญรอด
ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด

19. นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น
นักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ

20. นายวันชัย บุญประชา
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

21. นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี

22. รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์
สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ อดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยศาสตร์

23. นพ.วิทยา จารุพูนผล
ข้าราชการบำนาญ รพ.ขอนเก่น

24. ศ.คลินิก นพ.อภิชาติ ศิวยาธร
อดีตรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

25. นพ.วิโรจน์ เยาวพลกุล
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

26. นพ.วัฒนา สุพรหมจักร
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

27. พล.อ.นพ.ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

28. พล.อ.ท.นพ.วิศิษฏ์ ดุสิตนานนท์
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

29. นพ.เจริญ ปฏิภาณเทวา
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

30. พญ.ภาพิส เสงี่ยมพรพาณิชย์
ข้าราชการบำนาญ

31. พญ.อรพินธ์ พจน์พริ้ง
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

32. พล.อ.นพ.อิสสระชัย จุลโมกข์
ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ รพ.บางโพ   อดีตผู้อำนวยการ รพ.พระมงกุฏเกล้าฯ

33. นพ.พงษ์สันติ์ ลี้สัมพันธ์
ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ รพ.หัวเฉียว

34. นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ
กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ รพ.มหาราชนครราชสีมา

35. ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม
อายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ และ รองผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี

36. นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์
แพทย์เกษียณ จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

37. นพ.อธิคม สงวนตระกูล
กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net