รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนไทย เตรียมพบผู้นำรัฐบาลและสมาชิกภาคประชาสังคม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แอนโทนี เจ. บลิงเคน เยือนกรุงเทพฯ เพื่อพบกับผู้นำรัฐบาลและสมาชิกภาคประชาสังคม และกระชับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไทยอันแนบแน่นกว่า 200 ปี

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2565 ทีมสื่อสถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทย เผยแพร่ภาพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แอนโทนี เจ. บลิงเคน เยือนกรุงเทพฯ เพื่อพบกับผู้นำรัฐบาลและสมาชิกภาคประชาสังคม และกระชับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไทยอันแนบแน่นกว่า 200 ปี

นอกจากนี้ในวันเดียวกันนั้น (9 ก.ค.) เว็บไซต์สถานทูตสหรัฐฯ และสถานกงสุลในประเทศไทยได้เผยแพร่ เอกสารข้อเท็จจริงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทย โดยมีใจความดังต่อไปนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี เจ. บลิงเคน จะเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยจะเข้าพบนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยืนยันพันธไมตรีระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ตลอดจนความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ จะมีการหารือถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงซึ่งประสานความร่วมมืออันยืนนานของเรากับไทย รัฐมนตรีบลิงเคนจะพบกับศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนของสหรัฐฯ เพื่อทำความเข้าใจประเด็นสำคัญ ๆ ในกลุ่มผู้นำชาวไทยรุ่นใหม่ ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ รัฐมนตรีบลิงเคนจะผลักดันให้มีการยุติความรุนแรงในพม่า และขยายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ

สหรัฐฯ และไทยเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรใกล้ชิด

  • สหรัฐฯ ตั้งตารอที่จะได้เสริมสร้างความร่วมมืออันโดดเด่นระหว่างประเทศของเราทั้งสองในฐานะพันธมิตรและเพื่อน โดยในปีหน้า ความสัมพันธ์ทางการทูตสหรัฐฯ-ไทยจะครบรอบ 190 ปี
  • ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นและยืนนาน สหรัฐฯ เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไทยในปี 2376 ด้วยสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ และยืนยันความสัมพันธ์อีกครั้งด้วยกติกามะนิลา พ.ศ. 2497 ภายใต้องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้น เมื่อปี 2546 สหรัฐฯ ได้ประกาศให้ไทยเป็นชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้
  • ไทยและสหรัฐฯ มีความมุ่งมั่นร่วมกันต่อค่านิยมเดียวกัน อันได้แก่ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หลักนิติธรรม ความมั่นคง และความมั่งคั่ง
  • เราชื่นชมความตั้งใจของไทยในการรับมือวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ประจำปี 2565 และความร่วมมือภายใต้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรารอคอยที่จะสานต่อการดำเนินงานของไทยในหัวข้อเหล่านี้ระหว่างที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2566

ความร่วมมือด้านความมั่นคงเสริมสร้างพันธไมตรีของเราและยังประโยชน์แก่ภูมิภาค 

  • ไทยเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญา เป็นผู้นำและผู้ส่งเสริมความมั่นคงในประชาคมนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้
  • ไทยเป็นหุ้นส่วนและผู้นำหลักด้านการบังคับใช้กฎหมายในระดับภูมิภาค สหรัฐฯ และไทยดำเนินงานสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) ในกรุงเทพฯ โดยนับตั้งแต่ปี 2541 ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ยุติธรรมทางอาญาแล้วกว่า 22,000 คนจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหัวข้อเช่น การต่อต้านการทุจริต อาชญากรรมไซเบอร์ รวมถึงการค้ายาเสพติด สัตว์ป่า และมนุษย์
  • ไทยและสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกทางทหารระดับพหุภาคีประจำปีที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดของภูมิภาค นับตั้งแต่ปี 2493 ไทยได้รับยุทโธปกรณ์ วัสดุภัณฑ์จำเป็น การฝึกอบรม ตลอดจนความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จากสหรัฐฯ ในการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่ต่าง ๆ โครงการช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS (Foreign Military Sales) ที่กำลังดำเนินการอยู่ของเรามีมูลค่า 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ เรายังมีการฝึกซ้อมและปฏิบัติการทางทหารร่วมกันกว่า 400 กิจกรรมในแต่ละปีอีกด้วย
  • สหรัฐฯ ส่งเสริมความเป็นผู้นำของไทยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership: MUSP) ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งเป็นความร่วมมือในการประสานการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างห้าชาติลุ่มน้ำโขง สหรัฐฯ ร่วมมือกับไทยและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างประเทศอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือ MUSP เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ตลอดจนรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ต่าง ๆ เช่น การจัดการทรัพยากร อาชญากรรมข้ามชาติ ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ชาวอเมริกันและชาวไทยได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของเราในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการศึกษา

  • สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย โดยได้ซื้อสินค้าจากไทยเมื่อปี 2564 รวมมูลค่ากว่า 47,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าสองฝ่ายในปีเดียวกันมีมูลค่ารวม 63,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ความสัมพันธ์ของเรา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าบริโภคและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรไปจนถึงความร่วมมือในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ นอกไปจากภาคเศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีด้านความมั่นคงและด้านอวกาศ สหรัฐฯ ก่อให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทยเมื่อปี 2563 เป็นมูลค่า 17,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่เป็นอันดับสามของไทย
  • หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ได้ร่วมงานกับภาคีไทยมาเป็นเวลากว่า 60 ปีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอเมริกัน ไทย และนานาชาติ ผ่านทางการวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ ตลอดจนโครงการริเริ่มด้านสาธารณสุขต่าง ๆ
  • โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของ USAID ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพิ่มการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจด้านนโยบายเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น คุณภาพอากาศ ต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และขยายการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาด ปลอดภัย ราคาไม่แพง เสถียร และทันสมัย USAID และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ยังเสริมสร้างความร่วมมือผ่านทางการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาร่วมกันแก่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • สหรัฐฯ สนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนที่เชื่อมโยงเยาวชน นักเรียน นักการศึกษา ศิลปิน นักกีฬา และผู้นำชาวไทยรุ่นใหม่กับบุคคลจากวงการเดียวกันในสหรัฐฯ และภูมิภาคอาเซียน โดยให้พวกเขามีส่วนร่วมในประเด็นสำคัญ ๆ ทางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่การมีส่วนร่วมของพลเมืองไปจนถึงความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ โครงการแลกเปลี่ยนของเรามีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการฟุลไบรท์ โครงการ International Visitor Leadership Program (IVLP) และโครงการ Young Southeast Asian Leaders Initiative (YSEALI) มีศิษย์เก่าชาวไทยมากกว่า 5,000 คน ส่วนโครงการที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นอย่างสมาคมศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนไทย-สหรัฐฯ (Thailand-United States Alumni Association: TUSAA) ก็เชื่อมโยงศิษย์เก่าจากทั่วประเทศให้มาร่วมทำงานในโครงการที่สนับสนุนเป้าหมายร่วมกันของเรา
  • อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา (U.S. Peace Corps) ปฏิบัติหน้าที่ในไทยมาตั้งแต่ปี 2505 โดยเน้นการฝึกอบรมครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษาและการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน


ที่มาภาพ: U.S. Embassy Bangkok

วันที่ 10 ก.ค. 2565 เพจ U.S. Embassy Bangkok ได้เผยแพร่ภาพนายบลิงเคน พบปะพบกับทีมพนักงานสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และได้กล่าวว่า "ผมดีใจมากที่ได้พบกับทีมพนักงานสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยครอบครัว ผมรู้สึกขอบคุณการทำงานอันยอดเยี่ยมของพวกเขาในแต่ละวันเพื่อผลักดันประเด็นสำคัญของเราในไทยและภูมิภาคนี้"

หารือทวิภาคีร่วมกระทรวงการต่างประเทศของไทย

10 ก.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีร่วมกับนายแอนโทนี เจ.บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อยืนยันสัมพันธไมตรีระหว่างสหรัฐกับไทย ซึ่งในปี 2566 สหรัฐและไทย จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 190 ปี การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ยังมีการหารือความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของทั้ง 2 ประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และไทย ยังได้ลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนทางยุธศาสตร์ ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 2 เพื่อสะท้อนความสัมพันธ์ และความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ที่ในปีหน้า สหรัฐและไทย จะมีความสัมพันธ์ทางการทูต ครบ 190 ปี และเพื่อสะท้อนความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ บนความท้าทายของสถานการณ์ในปัจจุบันครอบคลุมหลายมิติ อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เกษตรอัจฉริยะ ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางไซบอร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข และความสัมพันธ์ภาคประชาชน เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจการส่งเสริมห่วงโซ่อันทรงคุณค่า ระหว่างไทย และสหรัฐอเมริกา เพื่อสะท้อนถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งไทย และสหรัฐ ที่ไทยถือเป็นข้อต่อโซ่ข้อที่ 1 ที่จะได้รับจากความร่วมมือในการแก้ไขจุดอ่อนในห่วงโซ่อุปทาน ลดอุปสรรคในภาคธุรกิจ ทั้งการผลิต และการขนส่ง การนำเข้า และส่งออก ส่งเสริมให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และตลาดทั่วโลก สามารถเข้าถึงสินค้าที่สำคัญ ๆ ของทั้ง 2 ประเทศได้ โดยสหรัฐฯ จะยกระดับการแบ่งปันข้อมูล การปรึกษาหารือ และการขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่งคั่งของทั้ง 2 ประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท