Skip to main content
sharethis

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเอกสารที่ดินสำหรับก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่ใช่ที่ดินพระราชทานดังที่ใครหลายคนกล่าวอ้าง แต่มาจากการ "ซื้อ" และลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

10 ก.ค.2565 หลังเมื่อวันที่ 6 ก.ค. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)ออกประกาศใช้ “เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ตามเจตนารมณ์ของการทำประชามติของนักศึกษานับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. เป็นต้นไป ส่งผลให้เกิดทั้งกระแสเห็นด้วย กลับอีกด้านก็เกิดปฏิกิริยาอ้างไปถึงเป็นการแสดงท่าทีต่อสถาบันกษัตริย์ ลามไปถึงการขู่ว่า "ไม่พอใจก็ย้ายออกจากที่ดินพระราชทาน" นั้น

จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ก.ค.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเอกสารชี้แจงที่มาที่ไปของที่ดินของมหาวิทยาลัยว่า ที่ดินสำหรับก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ไม่ใช่ที่ดินพระราชทานแต่มาจากการ "ซื้อ" และลงมติของสภาผู้แทนราษฎร

"ที่ดินที่ใช้สร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น เดิมคือ วังหน้า แต่เมื่อมีการยุบตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ไป พื้นที่ตรงนั้นก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการบ้านเมืองจนที่ดินดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4" เพจ อมธ. ระบุ

ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตรและการเมือง จึงได้ติดต่อขอ "ซื้อ" ที่ดินบริเวณดังกล่าวจากหลวงชาญชิดชิงชัย และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ทำการลงมติและตราเป็นพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2477 บริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ประตูท่าพระจันทร์ถึงประตูทางออกไปท่าพระอาทิตย์ และในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2479 มหาวิทยาลัยได้รับสิทธิประโยชน์จากที่ดินสาธารณสมบัติ บริเวณหลังอาคารตึกโดมทั้งหมดจนจรดสนามหลวง

อมธ. สรุปว่า ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่ดินพระราชทานดังที่ใครหลายคนกล่าวอ้าง แต่เป็นที่ดินที่ได้มาจากการ "ซื้อ" และลงมติตามระบอบประชาธิปไตย ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่ตั้งใจให้โอกาสแก่ราษฎรในการศึกษา "วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในด้านกฎหมายและการเมืองการปกครอง เพื่อไปรับใช้ประเทศชาติ ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

พ.ร.บ. ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิที่ดินบริเวณโรงทหาร กองพันทหารราบที่ 4 ตำบลท่าพระจันทร์ ให้แก่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ที่มาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา)

ทั้งนี้ที่มาของการอ้าง "ที่ดินพระราชทาน" เพื่อนำมาโต้นักศึกษานั้น พูติกาล ศายษีมา บล็อกเกอร์ที่มักนำเสนอข้อมูลทางการเมืองโพสต์ชี้ว่า เป็นการอ้างจากโพสต์ของปองพล อดิเรกสาร แต่สิ่งที่ ปองพล โพสต์นั้น ก็ไม่ได้บอกว่าที่ดิน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่ดินพระราชทาน ปองพลบอกแค่ว่าที่ดินตรงนั้นเมื่อก่อนเคยเป็นวังหน้า โดยสมัย ร.1 ได้ "พระราชทาน" ที่ดินบริเวณนั้นให้กับน้องชายเพื่อให้ใช้สร้าง "วังหน้า" เท่านั้น แล้วตอนหลังพวกเพจฝ่ายอนุรักษ์ที่อ้างอิงโพสท์ของปองพลเอาไปบิดเป็น "ที่ดินพระราชทาน" เฉย เลยเป็นโอกาสให้เพจ อมธ. ได้ชี้แจง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีประเด็นลักษณะเดียวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งครั้งนั้น ธ.ค.63 โสภณ พรโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ เปิดเอกสาร คณะราษฎรโดยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้มอบที่ดินให้จุฬาฯ แทนจากเช่าระยะยาว 30 ปีจากในหลวง ร.8 ไม่เช่นนั้นก็ยังต้องต่อทะเบียนเช่าที่ดินจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เช่นหน่วยงานอื่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net