Skip to main content
sharethis

90 คณาจารย์นิติศาสตร์ - เครือข่ายนักกฎหมาย ออกแถลงการณ์เรื่อง "ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์" ย้ำผู้ถูกกล่าวหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดี ม.112 ไม่ได้รับการคุ้มครองทางคดีในฐานะผู้บริสุทธิ์

 

11 ก.ค. 2565 คณาจารย์นิติศาสตร์และเครือข่ายนักกฎหมายจำนวน 90 คน ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์เรื่อง "ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์" โดยมีสมชาย ปรีชาศิลปกุล, กฤษณ์พชร โสมณวัตร และดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ ย้ำเตือนถึงหลักการทางกฎหมายเรื่องการให้หลักสันนิษฐานว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) 

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, กฤษณ์พชร โสมณวัตร และสมชาย ปรีชาศิลปกุล

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์มีการระบุว่า ปัจจุบันผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดี ม.112 ถูกละเลยไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์ และประสบกับความยากลำบากในการยื่นขอประกันที่ต้องดำเนินการหลายครั้ง หรือถูกกำหนดเงื่อนไขในการให้ประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก ศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการควรพึงตระหนักถึงหลักการ ความเป็นกลาง และเป็นอิสระในการพิจารณาคดี การขยายเหตุผลในการควบคุมตัวผู้กล่าวหาหรือจำเลยเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ และสำนึกแห่งความยุติธรรมของสาธารณชน 

แถลงการณ์นี้จึงขอเรียกร้องให้ศาลยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นหลักการทั่วไป 

 

"ศาลพึงตระหนักด้วยว่าการใช้อำนาจของตุลาการจะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อได้กระทำไปโดยสามารถให้คำอธิบายอันเป็นเหตุผลในทางกฎหมาย มิฉะนั้น ตุลาการย่อมกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่ออำนาจตุลาการไปพร้อมกัน" ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์

           

แถลงการณ์เครือข่ายนักกฎหมาย คณาจารย์นิติศาสตร์

เรื่อง ศาลต้องยึดมั่นหลักสันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์

 

สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญของระบบกฎหมายสมัยใหม่ประการหนึ่งก็คือ หลักสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันมีความหมายว่าเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด และตราบเท่าที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่เป็นกลางและอิสระ ก็จะต้องสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่

หลักการดังกล่าวได้ทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ทั้งในด้านของการปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นที่ยึดถือกันว่าการปล่อยตัวต้องถือเป็นหลักการทั่วไป ในขณะที่การควบคุมตัวเป็นข้อยกเว้นที่อำนาจของรัฐจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างชัดเจนว่าการปล่อยตัวอาจจะทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพราะการควบคุมตัวไว้ภายใต้อำนาจของรัฐส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการถูกตัดขาดจากวิถีชีวิตในยามปกติ การทำงาน การศึกษา ความเป็นอยู่ในครอบครัว การแสวงหาความสุขตามที่พลเมืองแต่ละคนสามารถกระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย การเข้าไปอยู่ภายใต้การคุมขังในเรือนจำอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า บุคคลต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในด้านของความปลอดภัยต่อชีวิต สุขภาพ อาหารการกิน ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อจะมีการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาซึ่งยังมีฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงต้องเป็นมาตรการทางกฎหมายในสถานการณ์อันเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะนำมาใช้ได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 และวรรค 3  ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

“การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

นอกจากนี้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ได้มีการกำหนดหลักการและขั้นตอนสำหรับการขอปล่อยตัวชั่วคราว ที่ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวในฐานะของผู้บริสุทธิ์ไว้เช่นเดียวกัน อันถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

เท่าที่ผ่านมา การปล่อยตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างถูกดำเนินคดีก็เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้อย่างกว้างขวาง ดังจะพบว่ามีการให้ประกันตัวกับผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยเกิดขึ้นในคดีจำนวนมาก แม้ว่าเป็นคดีที่มีความรุนแรงอย่างยิ่ง ดังเช่นคดีที่ผู้ชุมนุมบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล จำเลยที่เป็นแกนนำก็ล้วนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลายคดีแม้จะได้มีการตัดสินว่าจำเลยมีความผิดในศาลชั้นต้นหรืออุทธรณ์ ตราบที่คดียังไม่ถึงที่สุดบุคคลนั้นก็ยังดำรงสถานะของผู้บริสุทธิ์

ในหลายครั้งก็เกิดขึ้นแม้จะเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ดังเช่นคดีของนักการเมืองที่ก่อคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเนื่องหลายคดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ให้การคุ้มครองต่อผู้ถูกกล่าวหาในฐานะของผู้บริสุทธิ์นั้นเป็นบรรทัดฐานสากล

อย่างไรก็ตาม มีคดีอีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดังจะพบว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา การปล่อยตัวชั่วคราวสำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก นับตั้งแต่การยื่นขอประกันที่ต้องดำเนินการหลายครั้ง เหตุผลในการพิจารณาให้ประกันตัวที่ทำให้เกิดคำถาม การกำหนดเงื่อนไขในการขอประกันตัวที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก

สิ่งที่ผู้ใช้อำนาจตุลาการพึงต้องตระหนักก็คือ บุคคลทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในสถานะของผู้ถูกกล่าวหาและยังไม่มีคำตัดสินว่ากระทำความผิดจากศาลที่เป็นกลางและอิสระแต่อย่างใด ดังนั้น บุคคลทั้งหมดก็ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การควบคุมตัวบุคคลต้องเป็นไปเท่าที่เท่าจำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนีเป็นสำคัญ การขยายเหตุผลในการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กว้างขวางออกไปจนหาไร้ขอบเขตที่ชัดเจนนั้นย่อมเป็นการใช้อำนาจตุลากรที่ทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ และสำนึกแห่งความยุติธรรมของสาธารณชน

อำนาจตุลาการเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน และเป็นกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมปัจจุบัน ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การใช้ดุลพินิจในการตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังเช่นการพิจารณาการขอปล่อยตัวชั่วคราวนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตีความอย่างจำกัดและระมัดระวัง ดังที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า “คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล...” ด้วยเหตุนี้เอง การใช้ดุลพินิจของศาลในการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหลบหนีก็ดี การเข้ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานก็ดี การก่ออันตราย หรือการสร้างความลำบากให้พนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น สมควรต้องชี้แจงพฤติการณ์ของจำเลยอย่างละเอียดและเป็นภววิสัยสำหรับสาธารณชนทั่วไป

ศาลพึงตระหนักด้วยว่าการใช้อำนาจของตุลาการจะเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อได้กระทำไปโดยสามารถให้คำอธิบายอันเป็นเหตุผลในทางกฎหมาย มิฉะนั้น ตุลาการย่อมกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่ออำนาจตุลาการไปพร้อมกัน

เราจึงขอเรียกร้องให้ศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการให้ยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นหลักการทั่วไป ขณะที่การควบคุมตัวต้องเป็นข้อยกเว้น โดยต้องมีความชัดเจนทั้งพยานหลักฐานและการให้เหตุผลของศาล

                                                                     

  ด้วยความยึดมั่นต่อระบบกฎหมายและระบอบประชาธิปไตย

 

รายชื่อผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์

1    กฤษณ์พชร โสมณวัตร    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

2    กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง    อาจารย์    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

3    กรกนก วัฒนภูมิ    นักกฎหมาย    อิสระ

4    กัณต์พัศฐ์ สิงห์ทอง    ทนายความ    บริษัท ไลท์เฮ้าส์ แอททอร์นี่ จำกัด

5    เกตุปัญญา วงศีล    ทนายความ    อิสระ

6    ขรรค์เพชร ชายทวีป    อาจารย์    ม.อุบลราชธานี นิติศาสตร์

7    เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง    อาจารย์    รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

8    คเณศร์ สร้อยสายทอง    ทนายความ    บริษัท สำนักงานกฎหมายธนา เบญจาทิกุล จำกัด

9    คอรีเยาะ มานุแช    ทนายความ    สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

10    จุฑามาศ อ่างแก้ว    ทนายความ    บริษัท สำนักงานกฎหมาย ธนา เบญจาทิกุล จำกัด

11    ชลธิชา แจ้งเร็ว    NGO    กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

12    โชคชัย อ่างแก้ว    ทนายความ    อิสระ

13    ฐิดาพร สุขเจริญ    นักศึกษา    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

14    ณัฏฐพร รอดเจริญ    อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

15    ณัฐดนัย นาจันทร์    อาจารย์    ม.แม่ฟ้าหลวง สำนักวิชานิติศาสตร์

16    ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช    อาจารย์    ม.บูรพา

17    ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

18    ดรุเณศ เฌอหมื่อ    นักศึกษา    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

19    ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์    อาจารย์    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

20    ทศพล ทรรศนกุลพันธ์    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

21    ทินกฤต นุตวงษ์    พนักงาน    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

22    ธนรัตน์ มังคุด อาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ นิติศาสตร์

23    ธรธรร การมั่งมี    นักกฎหมาย    มูลนิธิเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

24    ธวัช ดำสอาด    ทนายความ    สำนักงานกฎหมายเอกชน

25    ธีทัต ชวิศจินดา    อาจารย์    สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิติศาสตร์

26    ธีรวัฒน์ ขวัญใจ    อาจารย์    ม.สงขลานครินทร์ นิติศาสตร์

27    ธีระพล คุ้มทรัพย์    ทนายความ    สำนักกฎหมายคุ้มทรัพย์

28    นริสรา พันธ์เสถียร    นักศึกษา    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

29    นฤดล พิมพ์นนท์    นักศึกษา    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

30    นัทมน คงเจริญ    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

31    นิฐิณี ทองแท้    อาจารย์    นักวิชาการอิสระ

32    นิติ จันจิระสกุล    อาจารย์    ม.หอการค้าไทย นิติศาสตร์

33    บงกช ดารารัตน์    อาจารย์    ม.ทักษิณ นิติศาสตร์

34    เบญจรงค์ รุ่งมณีกุล    ที่ปรึกษากฎหมายและทนายความ    

35    ประชุมพร ชัยรัตน์    นักวิชาการสิทธิมนุษยชน    สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

36    ปวรรัตน์ อ่างแก้ว    เสมียนทนายความ    บ.สำนักงานกฎหมายธนา เบญจาทิกุล จำกัด

37    ปสุตา ชื้นขจร    ทนายความ    มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

38    ปารณ บุญช่วย    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

39    ปารีณา ศรีวนิชย์    อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

40    ปิยอร เปลี่ยนผดุง    อาจารย์    ม.พะเยา นิติศาสตร์

41    ปิยากร เลี่ยนกัตวา    อาจารย์    -

42    พรนิภา คำอ้าย    ประกอบธุรกิจส่วนตัว    เจ้าของกิจการ

43    พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ    ทนายความ    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

44    พริม มณีโชติ    สื่อมวลชน / NGO    Decode, ThaiPBS / JELI

45    พลอยแก้ว โปราณานนท์    ลูกจ้าง    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

46    พสธร อ่อนนิ่ม    ทนายความ    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

47    พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

48    พิฆเนศ ประวัง    นักกฎหมาย    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

49    พิชญ์สินี เรวัตบวรวงศ์    ทนายความ    อิสระ

50    พิชามญชุ์ ทรัพย์ไพบูลย์    นักศึกษา    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

51    พูนสุข พูนสุขเจริญ    ทนายความ    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

52    ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์    ทนายความ    สภาทนายความ

53    ภาวัฒน์ สัตยานุรักษ์    อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

54    ภาวิณี ชุมศรี    ทนายความ    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

55    มุนินทร์ พงศาปาน    อาจารย์    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

56    ยอดพล เทพสิทธา    อาจารย์    ม.นเรศวร นิติศาสตร์

57    เยาวลักษ์ อนุพันธุ์    ทนายความ    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

58    รัฐศักดิ์ อนันตริยกุล    ทนายความ    สำนักกฎหมายรัฐธรรม

59    ลาวัลย์ มีแสง    พนักงานบริษัท    หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล

60    วรินทร เติมอริยบุตร    อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

61    วัชลาวลี คำบุญเรือง    นักกฎหมาย    อิสระ

62    วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต    ทนายความ    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

63    วิญญัติ ชาติมนตรี    ทนายความ    สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ

64    วิทูรย์ ตลุดกำ    อาจารย์    ม.พะเยา นิติศาสตร์

65    วิศรุต เหล็มหมาด    เจ้าหน้าที่ฝ่ายคดีสิทธิพลเมือง    Law Long Beach

66    วุฒิชัย พากดวงใจ    รับจ้าง    ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

67    ศรัณย์ จงรักษ์    อาจารย์    มรภ.กำแพงเพชร นิติศาสตร์

68    ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์    ทนายความ    ธัมลอว์

69    ศุชัยวุธ ชาวสวนกล้วย    ทนายความ    บริษัทกฏหมายผดุงสันติจำกัด

70    ศุภกร ชมศิริ    อาจารย์    ม.รลก. นิติศาสตร์

71    สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

72    สมจิต หวังดิลก    ข้าราชการบำนาญ    อปท

73    สมชาย ปรีชาศิลปกุล    อาจารย์    ม.เชียงใหม่ นิติศาสตร์

74    ส.รัตนมณี พลกล้า    ทนายความ    มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

75    สิริไพลิน สิงห์อินทร์    ผู้ประสานงานโครงการวิจัย    โครงการวิจัย ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย

76    สิริลักษณ์ บุตรศรีทัศน์    Teaching Assistant    ม.แม่ฟ้าหลวง

77    สิริวิมล แก้วแก่นเพชร    ข้าราชการ    สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

78    สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ    อาจารย์    ม.สงขลานครินทร์ นิติศาสตร์

79    สุมิตรชัย หัตถสาร    ทนายความ    สำนักงานชัยธรรมทนายความ

80    สุรชัย ตรงงาม    ทนายความ    ในนามส่วนตัว

81    สุรพี โพธิสาราช    นักวิชาการอิสระ    นักวิชาการอิสระ

82    สุรินรัตน์ แก้วทอง    อาจารย์    ม.สงขลานครินทร์ นิติศาสตร์

83    สุวิทย์ ปัญญาวงศ์    อาจารย์    ม.พะเยา

84    อธิวัฒน์ เส้งคุ่ย    ทนายความ    เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้

85    อนุชา วินทะไชย    ผู้ปฎิบัติงานในองค์กรสิทธิมนุษยชน    สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

86    อรพรรณ พนัสพัฒนา    อาจารย์    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิติศาสตร์

87    อัครพัฒน์ เทศประสิทธิ์    นิติกร    ที่ปรึกษากฎหมาย ศิวกร จำกัด

88    อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน    อาจารย์    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

89    เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์    อาจารย์    ม.ธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์

90    Preeda Tongchumnum    lawyer    independent

 

 

วันที่ 11 ก.ค. 2565 เวลา 19.30 น. มีการแก้รายชื่อที่ 40 ปิยอร เปลี่ยนผดุง    อาจารย์     "ม.นเรศวร" เป็น  "ม.พะเยา" 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net