Skip to main content
sharethis

We Fair และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัดเสวนา ''หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย?'' เชิญภาค ปชช.-การเมือง-วิชาการ ร่วมอภิปราย โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกัน รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ การเมืองต้องเป็น ปชต. จัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มีเจตจำนงในการจัดสรรงบฯ สวัสดิการถ้วนหน้า

คลิปเสวนา 'หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย?'

เมื่อ 26 มิ.ย. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน เวลา 13.00-16.00 น. เครือข่าย ‘we fair’ และแนวร่วมรัฐสวัสดิการ จัดเสวนา 'หนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย?' โดยเชิญตัวแทนจากภาคการเมือง ภาคประชาชน และนักวิชาการ ร่วมอภิปราย

ในงานเสวนาครั้งนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่ารัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีการจัดเก็บภาษีอากร และการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม  

  • รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ชี้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้เมื่อไทยผลัดเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิปไตย ไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ
  • ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะแนวทางการปฏิรูปภาษีเพื่อให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริง พร้อมพิจารณาปรับลดรายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น อาทิ การซื้ออาวุธของกองทัพ 
  • พริษฐ์ วัชรสินธุ ก้าวไกล มองเก็บภาษีเพิ่มไม่พอ แต่พรรคการเมืองต้องมีเจตจำนง และจัดสรรงบฯ รายจ่ายสวัสดิการถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น 
  • นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ มองบทเรียนจากบัตรทอง ประชาชนต้องเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง และกดดันให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญของการผลักดันนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า

ประชาธิปไตยมา รัฐสวัสดิการเกิด

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ชวนตั้งคำถามว่า รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยได้หรือไม่ เป็นฝันที่ไกลเกินเอื้อมหรือไม่ เมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐฯ ที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ 

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์

“ถามว่าเราฝันมากเกินไปหรือไม่ เราจำเป็นต้องฝัน ไม่มีอะไรที่เป็นไม่ได้… มันอยู่ที่ความมุ่งมั่น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Strong Determination (ผู้สื่อข่าว - เจตจำนงอันแรงกล้า) ของประชาชน ของนักการเมืองบางคนที่เห็นประโยชน์ มันก็สามารถเกิดขึ้น” อาจารย์จาก มธ. ระบุ

อนุสรณ์ ระบุว่า จุดแรก หากต้องการสร้างรัฐสวัสดิการ อันดับแรกต้องผลักดันให้การเมืองเป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่เป็นรัฐประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการทางเศรษฐกิจและสังคมจะเกิดขึ้นได้ยาก

“ทุกๆ ครั้งที่ประเทศปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร มีการรัฐประหาร เสียงหรือการผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ มันจะถูกกดทับ ถูกปิดกั้น หรือถ้าเกิดเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย มันจะเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่า และรัฐบาลจะตอบสนองได้มากกว่า” อนุสรณ์ กล่าว  

นอกจากนี้ อนุสรณ์ มองว่าต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญที่ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และออกแบบให้มีรัฐสวัสดิการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ระบบการเมืองดี สวัสดิการดี 

อนุสรณ์ เสนอว่า ประเทศไทยต้องเพิ่มการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า เพื่อเพิ่มรายรับ ขณะที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างโปร่งใส และมีมาตรฐาน เพื่อให้คนมั่นใจว่าเงินที่จ่าย จะได้กลับมาเป็นสวัสดิการที่ดี และมีมาตรฐาน

อนุสรณ์ ยกตัวอย่าง เทียบกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นรัฐสวัสดิการเต็มขั้น ประเทศเหล่านี้จัดเก็บภาษีในอัตรา 35-48% ซึ่งเป็นอัตราที่สูง แต่ประเทศเหล่านี้ทำได้ เพราะรัฐบาลและเจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส และมาตรฐานการทำงานที่สูง ทำให้คนยอมจ่ายเงินให้ 

“เราต้องเปลี่ยนการเมืองให้โปร่งใส และมีมาตรฐานที่สูงกว่านี้ เราต้องการนักการเมือง และข้าราชการที่มีคุณภาพสูง ดีกว่านี้ เพราะไม่งั้น เราให้เงินจำนวนมากกับผู้มีอำนาจที่เราไม่มั่นใจ เราจะไม่มั่นใจว่าระบบสวัสดิการจัดให้ มันดีจริงรึเปล่า แล้วมันจะรั่วไหลไหม” อรุสรณ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ดังนั้น การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ ต้องควบคู่ไปกับการต่อสู้ให้การเมืองดีขึ้นด้วย เพราะคนบริหารเงินจะอยู่ที่รัฐบาล 

ออกแบบสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในอนาคตว่า ในปี 2576 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องใช้งบฯ เพิ่มขึ้นเยอะ แต่อนุสรณ์ กลับมองว่า ไทยไม่ควรตัดสวัสดิการ แต่ต้องเพิ่มกลไกอื่นๆ มาเสริมแทน เช่น ระบบการออมเพื่อชราภาพ ประกันสังคม และอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนมีเงินใช้ยามชราภาพ

นอกจากนี้ การจะออกแบบผลประโยชน์ด้านรัฐสวัสดิการสามารถออกแบบให้ดีที่สุดได้ แต่ประชาชนทุกคนในประเทศจะต้องมีอำนาจทางการเมือง หรือก็คือประชาชนต้องมีความตื่นรู้ตระหนักถึงเสียงของตนเอง เพื่อใช้เสียงของตนเองเลือกพรรคการเมืองหรือผู้นำที่มีนโยบายสร้างรัฐสวัสดิการ

ปฏิรูประบบภาษีสู่รัฐสวัสดิการเป็นจริง

สิ่งที่รัฐสวัสดิการถูกวิจารณ์เสมอมา คือ รัฐสวัสดิการต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไทยควรจะปฏิรูประบบภาษีอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ และจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้า

ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ภาพรวมรายได้ของรัฐบาลไทยระหว่าง 2555-2564 ส่วนใหญ่ 90% มาจากภาษีอากร โดยส่วนใหญ่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็น 20% รองลงมาเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

ผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

ขณะที่การจัดเก็บภาษีและรายได้ของรัฐบาลไทย เท่ากับ 15% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าของต่างประเทศที่จัดเก็บภาษีและรายได้เท่ากับ 30-40% ของมูลค่า GDP ดังนั้น หากเพิ่มการจัดเก็บภาษีได้ รายได้ของประเทศไทยก็จะเพิ่ม และทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริง 

ขยายฐานภาษี ดึงเงินเศรษฐกิจนอกระบบ 

เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการ ดวงมณี เสนอว่า เบื้องต้น ไทยต้องขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครอบคลุมทุกคน เนื่องจากฐานข้อมูลปี 2555 ระบุว่า มีประชาชนเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้มีงานทำเท่านั้นที่อยู่ในระบบภาษี 

เหตุที่เสนอเช่นนี้เนื่องด้วยภาคธุรกิจไทยมีภาคธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก บางคนทำงานได้รายได้เยอะกว่าคนทำงานในระบบ แต่ว่าไม่ได้อยู่ในระบบเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้น หากขยายฐานได้ จะสามารถถึงภาษีเข้ามาจำนวนมาก 

ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้สูง

ดวงมณี เสนอว่า รัฐควรยกเลิกการลดหย่อนภาษีให้กับผู้มีรายได้สูง หรือหากมีการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการออม/การลงทุน ควรกำหนดขั้นเงินที่สามารถลดหย่อนได้ เช่น ถ้าอยู่ในขั้นเงินได้ไม่เกิน 7.5 แสนบาทต่อปี เพื่อให้สิทธิกับคนที่มีรายได้ปานกลาง หรือน้อยกว่านั้นได้นำเงินไปออม 

“คนรายได้สูงมีหนทางออม และการลงทุนมากมาย รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบนี้ก็ได้” ดวงมณี สำทับ

ลดสิทธิพิเศษ BOI-ข้อถกเถียงเรื่องทำให้นักลงทุนย้ายประเทศ

ดวงมณี เสนอลดสิทธิพิเศษ BOI หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งสิทธิประโยชน์ตรงนี้มูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งหากยกเลิกจะเพิ่มภาษีให้กับรัฐได้มาก ขณะเดียวกัน บางคนอาจรู้สึกว่าหากลดสิทธิพิเศษส่วนนี้อาจทำให้ไม่มีนักลงทุนเข้ามาในประเทศ แต่อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มองว่าไม่เคยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าสิทธิพิเศษตรงนี้ช่วยประเทศได้จริงไหม 

ดวงมณี เสนอเพิ่มว่า รัฐควรเพิ่มภาษี Capital Gain Tax หรือภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น เก็บภาษีจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงว่าการเก็บภาษีกำไรซื้อขายหุ้นอาจทำให้นักลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งต้องศึกษาอย่างจริงจังว่าเป็นอย่างนั้นไหม หรือเป็นเพียงข้ออ้างของนักลงทุนที่ไม่อยากเพิ่มทุนให้กับตัวเอง

การเก็บภาษีต้องเป็นธรรม

ดวงมณี เสนอว่า รัฐควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1% ซึ่งจะทำให้รัฐได้รายได้เพิ่มถึง 7 หมื่นล้านบาท แต่มีข้อถกเถียงว่าถ้าขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคพุ่งสูงขึ้น และคนผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบ ซึ่งดวงมณี เสนอว่า หากรัฐต้องการเพิ่ม VAT ควรลดสิทธิพิเศษทางภาษีของกลุ่มคนที่มีรายได้สูง และกลุ่มนายทุนด้วย ซึ่งคาดว่าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับการเพิ่ม VAT ได้  

นอกจากนี้ ดวงมณี เสนอให้รัฐแก้กฎหมายภาษีมรดกโดยลดข้อยกเว้น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และแก้ไขการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้ในอนาคตมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน รัฐต้องดูเรื่องการเลี่ยงภาษี และหาแหล่งรายได้ภาษีใหม่ อาทิ ภาษีสิ่งแวดล้อม 

ลดงบฯ ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ดวงมณี ยังกล่าวอีกว่าต้องดูในด้านงบประมาณรายจ่ายที่ต้องมีการจัดสรรลำดับความสำคัญของงบประมาณใหม่ โดยต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก ลดงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็น เช่น งบประมาณการซื้ออาวุธของกองทัพ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันมีความซ้ำซ้อน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ

“ถ้าเราสามารถปฏิรูปงบประมาณรายจ่ายได้สำเร็จ เราอาจจะมีงบประมาณเพียงพอในการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน โดยที่อาจจะไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเลยก็ได้” อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. ทิ้งท้าย

เก็บภาษีไม่พอ รัฐต้องจัดสรรงบฯ สวัสดิการ

“การจัดสรรงบประมาณ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้รัฐสวัสดิการเป็นจริงได้”

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคก้าวไกล มองว่า การเก็บภาษีเพิ่มอาจไม่เพียงพอ แต่รัฐบาลต้องมี ‘เจตจำนงชัดเจน’ เรื่องการจัดสรรงบสวัสดิการ ซึ่งการเพิ่มงบดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจชั้นดีที่จะทำให้ประชาชนจ่ายภาษีมากขึ้น และทำให้คนเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของภาครัฐ

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ อนุสรณ์ ระบุว่า รายจ่ายสวัสดิการของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศยุโรป น้อยหรือเล็กกว่า 6 เท่า และเล็กกว่าสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ 3 เท่า แม้ว่าถ้าดูในงบประมาณไทยเพิ่มงบในสวัสดิการทางสังคมมากขึ้น แต่ไม่เท่าประเทศในยุโรปฝั่งสแกนดิเนเวีย

พริษฐ์ ชวนดูต่อว่าไทยจะจัดสรรงบฯ อย่างไร เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการ สมาชิกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์งบฯ ปี 2566 ของประเทศไทย โดยประเทศไทยมีรายได้อยู่ 2.49 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้รายจ่าย หรือ พริษฐ์ นิยามว่า ‘งบผูกมัด’ อยู่ 2.26 ล้านล้านบาท ซึ่งงบผูกมัด อาจเป็นงบบุคลากร งบจัดสรรการปกครองส่วนท้องถิ่น และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัดไม่ได้ หรือลดไม่ได้ในระยะสั้น 

งบประมาณปี 2566 นำเสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล

สมาชิกก้าวไกล มองว่า หากไม่มีการกู้เงินเพิ่ม ไทยจะมีเงินเหลือ หรือพริษฐ์ เรียกว่า พื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง 2.3 แสนล้านบาท เพื่อไปใช้จัดสรรงบฯ สวัสดิการถ้วนหน้า    

พริษฐ์ มองเห็นตรงกับผู้อภิปรายอื่นๆ ว่า การเพิ่มการจัดเก็บภาษีจะทำให้รายได้ หรือพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ไทยสามารถแบ่งเงินไปเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย 

พริษฐ์ เสนอว่าไทยสามารถจัดสรรสวัสดิการถ้วนหน้าแบบเงินสดได้ตั้งแต่เกิดจนแก่ ดังนี้ เด็กวัยแรกเกิด- 6 ขวบ ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน เงินให้วัยเรียนอายุ 7-22 ปี 800 บาทต่อคนต่อเดือน ปฏิรูปประกันสังคมในวัยทำงานอายุ 23-59 ปี และเงินให้วัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน
  
พริษฐ์ ระบุต่อว่า ประเทศไทยสามารถจัดสวัสดิการ (In-Kind) หรือไม่ได้เป็นตัวเงิน เช่น การศึกษาที่การเรียนฟรีที่เกิดขึ้นจริง น้ำประปามีคุณภาพดีดื่มได้เพื่อให้ประชาชนลดรายจ่ายจากการซื้อน้ำและสุขภาพดีขึ้น และผ้าอนามัยฟรีสำหรับผู้ที่มีเพศกำเนิดหญิง หรือยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้าผ้าอนามัย 

พริษฐ์ เสนอภายในปี 2570 เพิ่มการจัดเก็บภาษีของไทยเป็น 16% ของมูลค่า GDP ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ได้มากเกินไป และไทยเคยทำมาแล้ว และเสนอให้เพิ่มสัดส่วนสวัสดิการจาก 2.4% ขึ้นมาเป็น 4.8% หรือ 2 เท่า ซึ่งตัวเลขนี้เป็นจริงได้ และจะทำให้รัฐสวัสดิการไม่ไกลเกินเอื้อม และไม่เพิ่มภาษีที่ไปกระทบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

สังคมประชาธิปไตยทำให้เกิดรัฐสวัสดิการ

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ถอดบทเรียนจากการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 5 ประการ และจะใช้เรื่องนี้เคลื่อนสวัสดิการถ้วนหน้าด้านต่างๆ จะสามารถเป็นไปได้ไหม 

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

นิมิตร์ มองว่า ประการแรก รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสามารถเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้คนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน และเรียนรู้ร่วมกัน 
 
นิมิตร์ ระบุว่า ประการที่ 2 ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องเข้าไปกำหนดว่าการจัดหาสวัสดิการที่ดีเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ ‘อำนาจ’ ของรัฐ ซึ่งการใช้คำว่า ‘อำนาจ’ นั้นหมายความว่ารัฐจะทำหรือไม่ก็ได้

นิมิตร์ ยกตัวอย่างอีกกรณี สมมติใน รธน.เขียนว่า สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งมีปัญหา เพราะถ้าเป็นคำว่า ‘คนไทยทุกคน’ จะทำให้คนชาติพันธุ์ คนไร้สัญชาติ และแรงงานข้ามชาติ จะกลายเป็นผู้ตกหล่นเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ซึ่งหากประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง ก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องโดยใช้คำว่า ‘ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย’ ซึ่งผนวกรวมทุกคนเข้าด้วยกัน    

“การลุกขึ้นมาเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของเรา และกลไกกระบวนการที่พยายามทำกันมาถูกเขียนในรัฐธรรมนูญยังไง ยิ่งสำคัญและจำเป็น” นิมิตร์ กล่าว 

ประชาชนทุกคนต้องร่วมกันผลักดัน

ประการที่ 3 ไทยต้องมีกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาช่วย และประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกการทำงานของภาครัฐ เข้าไปมีส่วนร่วมในการคิด ในการบริหารผลักดันนโยบายให้มันคงอยู่ตามเจตนารมย์ที่อยากได้ และจากนั้น ค่อยขยับขยายนโยบายต่อไป 
 
ประการที่ 4 ภาคประชาชนต้องขับเคลื่อนประเด็นอย่างพร้อมเพรียง โดยมีการวางแผนและยุทธศาสตร์ เนื่องด้วยจะทำให้เกิดสวัสดิการเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

นิมิตร์ ระบุต่อว่า ประการสุดท้าย ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันกระทุ้งให้ภาคการเมืองสนใจนโยบายรัฐสวัสดิการ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำให้นโยบายรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้คือภาคการเมือง รัฐสภา หรือรัฐบาล ประชาชนต้องมีแรงกดดันที่ทำให้พรรคเห็นประโยชน์และขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้า และอนาคตอาจต้องคุยให้มากขึ้น และส่งเสียงดังขึ้น 

อนุสรณ์ กล่าวเสริมว่า พรรคการเมืองในไทยไม่ได้เป็นตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจน เวลาจะตัดสินใจทำนโยบาย พรรคการเมืองดูว่าจะได้คะแนนนิยม หรือเสียงสนับสนุนหรือไม่ 

เมื่อประชาชนผลักดันนโยบาย พรรคฯ จะกลับมาประเมิน สมมติผลักดันบำนาญผู้สูงวัย สวัสดิการเด็กเล็ก แน่นอนว่าต้องเก็บภาษีเพิ่ม พรรคการเมืองจะชั่งน้ำหนักว่า สวัสดิการที่ให้เพื่อแลกกับคะแนนเสียง และต้องไปเก็บภาษี อันไหนจะได้ประโยชน์ทางการเมือง 

นิมิตร์ ระบุว่า เงื่อนไขนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ภาคประชาชนต้องเฟ้นหาบุคคล หรือพรรคการเมืองที่สนใจแนวนโยบายรัฐสวัสดิการ และต้องเลือกอย่างมียุทธศาสตร์ว่าจะเลือกพรรคการเมืองแบบไหน ถ้าหวังกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร สวัสดิการไม่เกิด แต่ถ้าหวังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจง่ายกว่า ดังนั้น ภาคประชาชนต้องคุยกันว่าจะเอายังไงกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นข้างหน้า

“เราต้องยุ่งกับการเลือกตั้ง เรื่องพรรค เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องแบบนี้ เพราะว่าสุดท้ายมันจะเกิดหรือไม่เกิด มันจะต้องมาจากพรรคการเมืองที่ไปเป็นรัฐบาลแล้วมีเจตจำนงที่อยากทำเรื่องนี้ พวกเราต้องชัดว่าจะเอายังไง ไม่อย่างงั้นเราก็ไปไม่ได้” นิมิตร์ ทิ้งท้าย 

หมายเหตุ สำหรับผู้รายงานข่าว ฉัตรลดา ตั้งใจ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสองปริญญาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบัน กำลังฝึกงานอยู่กับกองบรรณาธิการข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net