ไม่ใช่แค่ในศรีลังกา ยูเอ็นเตือนสัญญาณอันตรายของวิกฤตการเงินในประเทศอื่นๆ

ถึงแม้ว่าประชาชนศรีลังกาจะสามารถเคลื่อนไหวโค่นล้มประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ จากเหตุไม่พอใจรัฐบาลบริหารประเทศจนทำให้เศรษฐกิจพัง แต่ก็ไม่ใช่แค่ศรีลังกาเท่านั้นที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในตอนนี้ สหประชาชาติชี้ให้เห็นว่ายังมีประเทศอื่นๆ อยู่ในสภาวะวิกฤตทางการเงิน ภาวะขาดแคลนของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน หนี้สินต่างชาติ เงินเฟ้อ ความยากจน และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ภาพการชุมนุมประท้วงของประชาชนในศรีลังกาเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2565 ถ่ายโดย AntanO

จากเหตุการณ์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงศรีลังกาสามารถบุกเข้าไปในบ้านพักประธานาธิบดี จนเป็นเหตุให้ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาประกาศจะลาออกจากตำแหน่งตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง จึงมีการคาดการณ์กันว่า ประธานาธิบดี โกฑพญา ราชปักษา จะออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ขณะที่ นายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงห์ ได้ทวีตเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ไว้ว่าเขาจะลาออก แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะลาออกในวันไหน

การลาออกของผู้นำศรีลังกาทั้งสองคนนี้นับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับผู้ประท้วงในศรีลังกา ที่ทำการประท้วงมาเป็นเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ผู้ประท้วงไม่พอใจวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ขาดแคลนเชื้อเพลิงพลังงานและขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไฟฟ้าดับทุกวัน พวกเขามองว่าปัญหาเหล่านี้มาจากการที่รัฐบาลบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด

ถึงแม้ว่าผู้นำประเทศจะประกาศลาออกแล้ว ก็ยังมีข้อสงสัยว่าประเทศอย่างศรีลังกาที่มีประชากร 22 ล้านคน จะไปต่อในทิศทางไหนในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของพวกเขายังคงมีอยู่

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนบุกเข้าไปในทำเนียบและที่พำนักของประธานาธิบดีได้สำเร็จจนทำให้มีรูปภาพที่โด่งดังถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียเป็นภาพของผู้ประท้วงพากันลงไปว่ายน้ำในสระน้ำส่วนตัวของประธานาธิบดีราชปักษา นอกจากนี้ยังมีรูปผู้ประท้วงตั้งเตาปิ้งย่างทำอาหารในสถานที่ของประธานาธิบดีด้วย ทั้งนี้ยังมีผู้ประท้วงบางส่วนที่บุกไปยังบ้านพักของนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงห์และจุดไฟเผาบ้านในตอนที่บ้านไม่มีคนอยู่

มีประชาชนอย่างน้อย 55 รายที่ได้รับบาดเจ็บในการประท้วง มีอย่างน้อย 3 รายที่บาดเจ็บจากการถูกยิง มีวิดีโอที่เผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นว่าทหารยิงผู้ประท้วงที่นอกที่พำนักของประธานาธิบดีแต่กองทัพศรีลังกาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ยิงผู้ชุมนุม

การประท้วงในศรีลังหามีการยกระดับขึ้นตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนต่างๆ ในขณะที่ประเทศกำลังดิ้นรนในการหาเงินมาใช้หนี้ นายกรัฐมนตรีของศรีลังกาบอกว่าความรุนแรงของวิกฤตทางการเงินเป็นอุปสรรคต่อการที่พวกเขาจะหาเงินมาใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ

วิกฤตปากท้องเช่นนี้ ไม่ได้เกิดแต่กับศรีลังกา

อย่างไรก็ตามมีสื่อวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นสัญญาณเตือนต่อโลก เพราะวิกฤตด้านปากท้องเช่นนี้ไม่ได้เกิดแค่ในศรีลังกาประเทศเดียว แต่ยังเกิดกับที่อื่นๆ ด้วย มีรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ประชากร 1,600 ล้านคนจาก 94 ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และระบบการเงิน

รายงานจากสื่อต่างประเทศระบุว่า ในขณะที่ศรีลังกาประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานจนถึงขั้นต้องปิดโรงเรียนเพราะครูและนักเรียนไม่มีน้ำมันเติมเพื่อเดินทางมาโรงเรียนได้ ประเทศอื่นๆ อย่าง ลาว, ปากีสถาน, เวเนซุเอลา และกินี ก็กำลังประสบปัญหาราคาอาหาร, เชื้อเพลิง และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามในยูเครนด้วย ผลพวงจากเรื่องนี้เป็นการซ้ำเติมให้วิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาสาหัสขึ้นหลังจากวิกฤต COVID-19ทำให้เกิดภาวะชะงักงันทางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอื่นๆ ธนาคารโลกประมาณการว่าในปี 2565 นี้ ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนาจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะเกิด COVID-19 ร้อยละ 5

ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองได้ส่งผลให้เกิดการประท้วงในหลายประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีการกู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อนำมาช่วยเหลือบรรเทาวิกฤตจาก COVID-19 ทำให้มีการสร้างหนี้ทับถมเพิ่มขึ้นในประเทศที่พยายามจะจ่ายหนี้คืนอยู่แล้ว สหประชาชาติระบุว่ามีประเทศยากจนมากกว่าครึ่งหนึ่งที่จะเกิดปัญหาภาวะหนี้สินหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหานี้ ประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งประสบกับปัญหาที่สร้างความทุกข์ยากให้อยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน, ปัญหาสงครามกลางเมือง, ปัญหาการรัฐประหาร หรือหายนะอื่นๆ

ตัวอย่างประเทศเหล่านี้ได้แก่

1.) อัฟกานิสถาน เป็นประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงนับตั้งแต่ที่กลุ่มตาลีบันยึดอำนาจหลังจากที่กองทัพสหรัฐฯ และนาโตถอนทัพของตัวเองไปในปีที่แล้ว ทำให้พวกเขาถูกยกเลิกเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศและเผชิญการคว่ำบาตรซ้ำซ้อน ถูกระงับการโอนผ่านธนาคาร และทำให้การค้าขายหยุดชะงัก เพราะต่างชาติไม่ยอมรับรัฐบาลตาลีบัน เรื่องเหล่านี้ทำให้ประชากร 39 ล้านคนเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ ครู หมอ พยาบาล ข้าราชการต่างๆ ไม่ได้รับเงินเดือนมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว เหตุแผ่นดินไหวเมื่อไม่นานมานี้ก็ทำให้ประชาชนมากกว่า 1,000 คนเสียชีวิต เป็นการตอกย้ำความทุกข์ยากลำเค็ญของชาวอัฟกานิสถาน

 

2.) อาร์เจนตินา เป็นประเทศที่มีประชากรคนจนอยู่ 4 ใน 10 ของทั้งหมด และธนาคารกลางของประเทศก็มีเงินสำรองระหว่างประเทศน้อยมากจากที่ค่าเงินของอาร์เจนตินาอ่อนตัวลง มีการประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นทะลุร้อยละ 70 ในปีนี้ (2565) ประชากรหลายล้านคนในอาร์เจนตินาอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาโรงทานซุปและโครงการรัฐสวัสดิการ ซึ่งส่วนมากถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มขบวนการทางการเมืองที่มีอำนาจมากและเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรครัฐบาล เมื่อไม่นานนี้อาร์เจนตินามีปัญหาข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ 44,000 ล้านดอลลาร์กับไอเอ็มเอฟ ซึ่งกลุ่มนักวิจารณ์บอกว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของพวกเขา

 

3.) อียิปต์ มีอัตราเงินเฟ้อทะยานสูงขึ้นเกือบร้อยละ 15 ในเดือน เม.ย. ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนโดยเฉพาะกับประชากรที่เป็นคนจน 1 ใน 3 จากประชากรในประเทศทั้งหมด 103 ล้านคน พวกเขาเหล่านี้เผชิญกับความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมากพออยู่แล้วจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่มีการลอยตัวค่าเงินและตัดงบประมาณช่วยเหลือด้านเชื้อเพลิง, น้ำ และไฟฟ้า ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและบรรเทาภาวะค่าเงินอ่อนตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อียิปต์ใช้หนี้ต่างชาติได้ยากขึ้น เงินสำรองระหว่างประเทศของอียิปต์ลดลง ประเทศใกล้เคียงอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่อียิปต์ในวงเงิน 22,000 ล้านดอลลาร์ในรูปแบบเงินฝากและการลงทุนโดยตรง

 

4.) ลาว เป็นประเทศขนาดเล็กไม่อยู่ติดทะเลที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่งจนกระทั่งเกิดวิกฤต COVID-19 ลาวเองก็มีปัญหาหนี้สินพุ่งสูงขึ้นแบบเดียวกับศรีลังกา และกำลังเจรจาหารือกับเจ้าหนี้ของตัวเองอยู่ว่าจะจ่ายหนี้หลายพันล้านดอลลาร์ของตัวเองอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากสำหรับลาวเพราะการเงินของรัฐบาลกำลังอ่อนแอ มีเงินสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่น้อยกว่าปริมาณที่จะสามารถใช้จ่ายนำเข้าในช่วงเวลาสองเดือน การที่ค่าเงินกีบอ่อนตัวลงร้อยละ 30 ก็ยิ่งทำให้ปัญหาแย่ลง มีปัญหาราคาสิ่งของเพิ่มสูงขึ้นและปัญหาคนตกงานเนื่องจากวิกฤต COVID-19 สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาความยากจนรุนแรงขึ้นตามไปด้วย

 

5.) เลบานอน ประเทศนี้มีปัญหาเดียวกับศรีลังกาทั้งในเรื่องค่าเงินล่ม, ความขาดแคลน, เงินเฟ้ออย่างหนัก, ความอดอยากหิวโหยที่เพิ่มขึ้น, คนรอคิวเติมเชื้อเพลิงยาวเหยียด และการที่ชนชั้นกลางลดจำนวนลงอย่างมาก เลบานอนยังเผชิญสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลายาวนาน และมีอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวคือความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและปัญหาการก่อการร้าย

ในช่วงปลายปี 2562 มีการเสนอแผนภาษีที่จุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้นต่อกลุ่มชนชั้นนำและทำให้เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่องหลายเดือน ค่าเงินเริ่มดิ่ง เลบานอนมีภาระหนี้สินที่ต้องชำระมูลค่า 90,000 ล้านคิดเป็นราวร้อยละ 170 ของจีดีพีของพวกเขา และเป็นหนึ่งในปริมาณหนี้สินที่มากที่สุดในโลก ในเดือน มิ.ย. 2564 ค่าเงินเลบานอนอ่อนตัวลงเกือบร้อยละ 90 ธนาคารโลกระบุว่าวิกฤตของเลบานอนเป็นหนึ่งในวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดในโลกในช่วงมากกว่า 150 ปีที่ผ่านมา

 

6.) พม่า ทั้งวิกฤต COVID-19 และปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองในพม่า ต่างก็เป็นสิ่งที่ทับถมสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของพม่า นับตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ก็มีการโต้ตอบจากชาติตะวันตกด้วยการคว่ำบาตรที่ตั้งเป้าหมายเป็นกิจการที่มีกองทัพถือครองหุ้นอยู่ ซึ่งกิจการเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลมากต่อเศรษฐกิจของพม่า ในปีที่แล้วเศรษฐกิจของพม่าหดตัวลงร้อยละ 18 และมีการคาดการณ์ว่าจะโตขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2565 มีประชาชนมากกว่า 700,000 คนที่ถูกบีบให้ต้องหนีตายออกจากบ้านตัวเองเพราะการสู้รบและความรุนแรงทางการเมือง สถานการณ์ในพม่าตอนนี้ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้ธนาคารโลกงดเว้นการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจพม่าในช่วงระหว่างปี 2565-2567 ในรายงานเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด

 

7.) ปากีสถาน เช่นเดียวกับศรีลังกา ปากีสถานมีการหารือเร่งด่วนกับไอเอ็มเอฟโดยหวังว่าจะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือ 6,000 ล้านดอลลาร์ได้อีกครั้ง จากเดิมที่มีการสั่งพักเงินจำนวนนี้เอาไว้หลังเกิดเหตุโค่นล้มนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา การที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ราคาเชื่อเพลิงสูงขึ้นทำให้ราคาสิ่งของอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย มีการปรับลดงบประมาณนำเข้าชาลง 600 ล้านดอลลาร์และรณรงค์ให้มีการดื่มชาน้อยลงทำให้ชาวปากีสถานจำนวนมากไม่พอใจ ในช่วงปีที่ผ่านมา (2564) ค่าเงินรูปีของปากีสถานก็อ่อนตัวลงร้อยละ 30 เทียบกับค่าเงินดอลลาร์

นายกรัฐมนตรี ชาห์บัซ ชารีฟ พยายามเรียกการสนับสนุนจากไอเอ็มเอฟด้วยการขึ้นราคาเชื้อเพลิง ลดการให้เงินช่วยเหลือด้านพลังงาน และตั้งภาษีร้อยละ 10 กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูการเงินของประเทศ จากข้อมูลเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าปากีสถานมีเงินสำรองระหว่างประเทศลดลงไปที่ระดับ 13,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับการนำเข้าภายในสองเดือน ธนาคารโลกเคยเตือนไว้ในการประเมินล่าสุดว่า เศรษฐกิจมหภาคของปากีสถานมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล่ม

 

8.) ตุรกี การเงินของรัฐบาลตุรกีกำลังย่ำแย่ลง บวกกับปัญหาการขาดดุลทางการค้าและขาดดุลบัญชีเงินทุน ต่างก็เป็นการตอกย้ำปัญหาเศรษฐกิจของตุรกีที่มีหนี้สินสูง ตุรกีประสบภาวะเงินเฟ้อมากกว่าร้อยละ 60 รวมถึงปัญหาอัตราการว่างงานสูง ธนาคารกลางของตุรกีอาศัยวิธีการใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับปัญหาวิกฤตการเงินหลังจากที่ค่าเงินลิราตกต่ำในช่วงปลายปี 2564 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร

มีการปรับลดภาษีและให้เงินช่วยเหลือด้านพลังงานเพื่อเป็นการลดแรงสะเทือนจากปัญหาเงินเฟ้อแต่ก็ทำให้การเงินของรัฐบาลอ่อนแอลง ครัวเรือนในตุรกีประสบปัญหาความยากลำบากในการหาเงินมาซื่ออาหารและสินค้าอื่นๆ ตุรกีมีหนี้ต่างชาติอยู่ที่ราวร้อยละ 54 ของจีดีพีตัวเอง ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่ขาดความยั่งยืนเมื่อพิจารณาจากหนี้สินของรัฐบาลปริมาณมากแล้ว

9.) ซิมบับเว ภาวะเงินเฟ้อของซิมบับเวพุ่งสูงถึงมากกว่าร้อยละ 130 ทำให้เกิดความกลัวว่าประเทศนี้อาจจะเกิดปัญหาแบบเดียวกับในปี 2551 ที่เรียกว่า "ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง" (Hyperinflation) คือการเพิ่มขึ้นของราคาอย่างรวดเร็วและสูงเกินไป และไม่สามารถที่จะควบคุมราคาโดยทั่วไปของเศรษฐกิจได้ ซึ่งในยุคสมัยนั้นมีภาวะเงินเฟ้อรุนแรงอย่างหนักในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 500,000 ล้าน พอกพูนปัญหาให้กับเศรษฐกิจของพวกเขาที่เปราะบางอยู่แล้ว

ซิมบับเวดิ้นรนเพื่อที่จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเพียงพอจากที่ก่อนหน้านี้เคยต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ มากมายมาเป็นเวลาหลายปีเพราะการที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง, ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน, การลงทุนต่ำ, การส่งออกต่ำ และหนี้สินสูง ภาวะเงินเฟ้อทำให้ชาวซิมบับเวไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินของตัวเองทำให้เกิดความต้องการใช้เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ผู้คนในซิมบับเวจำนวนมากต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อเพื่อที่จะอยู่รอดในแต่ละวัน

 

เรียบเรียงจาก

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Sri_Lankan_protest

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท