Skip to main content
sharethis

“หาร 100” คิดว่าตัวเองได้เปรียบ แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน มองว่าพรรคเพื่อไทยได้เปรียบ ก็กลับหลังหัน “หาร 500” ทั้งที่แก้รัฐธรรมนูญเสร็จไปตั้งแต่ปีก่อน ทั้งที่แก้กฎหมายเลือกตั้งถึงวาระสอง อีกนิดเดียวก็จะผ่าน กลับเปลี่ยนปุบปับใน 2 วัน

นี่สภานิติบัญญัติ หรือทหารเกณฑ์สั่งได้ ซ้ายหัน-ขวาหัน ย้อนดูคำพูด ส.ส. ส.ว. เชียร์ “หาร 100” มาทั้งนั้น กลับหลังหันใน 2 วันแต่ยังด่าทักษิณ “เผด็จการรัฐสภา”

บางคนกลัวว่า เปลี่ยนแบบนี้เดี๋ยวเข้าทางพรรคก้าวไกล ซึ่งมีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า ส.ส.เขต พอกลับมาใช้ “หาร 500” ขอแค่ 10% หรือ 3.5 ล้านคะแนนจากทั่วประเทศ ก็คำนวณ ส.ส.พึงมีได้ 50 คน

ปัดโธ่ ยากอะไร เดี๋ยวหาเรื่องยุบพรรคจนได้ จะยอมให้พรรคที่เสนอแก้ 112 อภิปรายงบสถาบัน ลงเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นล้านๆ ได้อย่างไร ที่ยังเก็บไว้เพราะถ้าใช้กติกา “หาร 100” ยังมีประโยชน์ใช้ตัดคะแนนกันเองกับเพื่อไทย

ยังไม่เชื่ออีกหรือว่าระบอบอำนาจนิยมทำได้ทุกอย่าง เพื่อยึดครองประเทศต่อไป การเปลี่ยนกฎกติกากลับไปกลับมา ก็ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐประหาร 57 ให้บวรศักดิ์ยกร่างรัฐธรรมนูญ พอไม่ได้ดังใจ กลัวเป็นเผด็จการน้อยไป สปช.ก็คว่ำกันเอง แล้วให้มีชัยมายกร่างใหม่ เติมคำถามพ่วง ตู่ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเองเป็นนายกฯ ได้ ทำกันขนาดนี้ ใครยังเชื่อว่าประเทศนี้มีกฎกติกา

ประชาธิปไตยปลอม เลือกตั้งลวงตา แค่มี ส.ส.ในมือเกิน 125 ก็บีบพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ถีบหัวหน้ามาร์ค ใช้ข้ออ้างร่วมรัฐบาลเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ อยู่มาจะครบสี่ปี แก้ประเด็นเดียว คือระบบเลือกตั้งที่กลับไปกลับมานี่เอง ประเด็นสำคัญเช่น โละอำนาจ ส.ว. ประชาชนทั้งเข้าชื่อ ชุมนุม เรียกร้อง ติดคุกติดตะราง ส.ส.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่เอาด้วย

เลือกตั้งครั้งหน้า 250 ส.ว.จะโหวตตู่เป็นนายกฯ อีกครั้ง หลังจากนั้นปี 2567 ครบ 5 ปี 250 ส.ว.หมดวาระ โล่งอกไปที เลือกตั้งปี 2570 ประชาชนจะได้เลือกนายกฯ ของตัวเอง?

โธ่เอ๋ย เชื่อได้อย่างไร เดี๋ยวก็มีเล่ห์กลใหม่ๆ เช่นหาข้ออ้างแก้รัฐธรรมนูญ รื้ออำนาจ ส.ว. เปลี่ยนวิธีสรรหาใหม่ ระหว่างนี้ก็ให้ทหารข้าราชการเกษียณอยู่ไปก่อน เป็นปีที่ 6-7-8 เพื่อปฏิรูปประเทศ โดยยังมีอำนาจโหวตนายกฯ

บางคนอาจไม่เชื่อ ทำได้อย่างไร หน้าไม่อาย ฯลฯ ก็อย่างหนาให้เห็นมา 3 ปีแล้วไง

เดือนหน้า สิงหาคม ครบ 8 ปีประยุทธ์เป็นนายกฯ จากรัฐประหาร คงมีคนยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญ ประยุทธ์อยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ โดยหลักกฎหมายคงไม่เริ่มนับจากปี 57 ควรเริ่มนับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ถ้าเอาตามฝ่ายกฎหมายสภา คือนับจากปี 62 แล้วก็จะอยู่ได้ถึงปี 2570 โน้น

ถ้าศาลให้นับจาก 62-70 ประยุทธ์ก็ลงเลือกตั้งอีกสมัยสบายๆ อาจอยู่นานกว่าต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็ได้

ไม่มีอะไรให้แปลกใจ นี่คือกติกาอำนาจนิยม ซึ่งเขียนกฎหมายเองแล้วบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย อำนาจนิยมในโลกสมัยใหม่อ้างว่าทำตามกติกาและกฎหมาย เหมือนสี จิ้นผิง ประชุมพรรคแล้วแก้ไขให้ตัวเองเป็นผู้นำเกิน 2 วาระได้ เหมือนปูติน รัฐธรรมนูญให้เป็นประธานาธิบดีติดต่อกันได้แค่ 2 สมัย พอสมัยที่ 3 ก็ให้นายกฯ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ตัวเองลงไปเป็นนายกฯ แล้วค่อยกลับมาเป็นประธานาธิบดีใหม่

อำนาจนิยมมีข้ออ้างเสมอ ขนาดโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว เปิดผับเปิดบาร์ยกเลิกไทยแลนด์พาส ฯลฯ แต่ไม่เลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใครจะทำไม พอถามเหตุผล ก็ย้อนว่าไม่เห็นมีใครเดือดร้อน

ใช่เลย 250 ส.ว.โหวตนายกฯ ชาวบ้านไม่เดือดร้อน ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไป หาร 100 หาร 500 ชาวบ้านไม่เดือดร้อน ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไป ประยุทธ์ลงเลือกตั้งใหม่ อยู่ได้ถึงปี 70 ชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน ก้มหน้าก้มตาทำมาหากินไป

เอ๊ะ ใช่เหรอ ใครว่าไม่เดือดร้อน เพียงใช้ข้ออ้างกฎกติกาของตัวเองถูกต้อง แล้วใช้กระบวนการยุติธรรมปิดปาก ใครต่อต้านถูกจับกุมคุมขัง ชาวบ้านไม่อยากเดือดร้อนแบบนั้น จึงไม่กล้าต่อต้าน

สัญญาณวิปริตจากการพลิกสูตรเลือกตั้งครั้งนี้คือ รัฐอำนาจนิยมที่มีประยุทธ์เป็นผู้นำจะทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ไม่ว่าคะแนนนิยมตกต่ำ ประเทศย่ำแย่แค่ไหน ก็ดันทุรังใช้อำนาจใช้พวกมากเปลี่ยนกฎกติกาเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ

เครือข่ายอนุรักษนิยมไม่สามารถให้ประยุทธ์ลงจากอำนาจได้ ไม่มีตัวเปลี่ยน ต้องให้ประยุทธ์สืบทอดอำนาจต่อไปภายใต้ประชาธิปไตยปลอม สร้างรัฐราชการเข้มแข็ง ควบคุมความมั่นคง ดูแลทุกข์สุขของประชาชน เพื่อให้เห็นว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพก็ไม่เดือดร้อน ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ผ่อนให้กลุ่มก๊วนการเมืองบ้านใหญ่เข้ามาช่วยแบ่งเบา ต่างตอบแทนผลประโยชน์ และต่อต้านนักการเมืองประชาธิปไตยไปในตัว

โครงสร้างอำนาจนิยมผสมการเมืองนี้กำลังใช้กฎกติกาเอาเปรียบ เพื่ออยู่ยาวไปถึงยุคหลังประยุทธ์ เพื่อให้อำนาจอนุรักษนิยมควบคุมประเทศอย่างเข้มงวด จนกว่าประชาชนจะชินไปเอง จนลืมไปแล้วว่าเคยมีสิทธิเสรีภาพ

 

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7153180

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net