Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สมณะโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกแยกตัวออกมาจากการอยู่ภายใต้ปกครองของศาสนจักรของรัฐ หรือมหาเถรสมาคมในทางพฤตินัยนานมากแล้ว แต่ในทางนิตินัย ถือว่าพระภิกษุหรือพระสงฆ์ไทยไม่สามารถแยกตัวออกจากการปกครองของมหาเถรฯ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ได้ ยกเว้นว่าต้องลาสิกขาบทหรือมีความผิดถูกบังคับให้สละสมณเพศตามกฎหมายและวินัยสงฆ์ 

ดังนั้น การแยกตัวออกจากการปกครองของมหาเถรฯ จึงส่งผลให้สถานะความเป็นพระภิกษุหรือพระสงฆ์ตามกฎหมายคณะสงฆ์สิ้นสุดลง ทำให้นักบวชสันติอโศกไม่มีสิทธิ์ใช้คำว่า “พระภิกษุ” หรือ “พระสงฆ์” ตามกฎหมายคณะสงฆ์ได้ จึงใช้คำว่า “สมณะ” นำหน้าชื่อของตนเองแทน 

ความย้อนแย้งในกรณีนี้คือ ในทางศาสนาและวัฒนธรรม คนทั่วไปรับรู้กันว่านักบวชสันติอโศกก็คือพระภิกษุหรือพระสงฆ์ เช่นเดียวกับพระมหานิกาย, ธรรมยุติกนิกาย และนิกายอื่นๆ ในพุทธศาสนา แต่ในทางกฎหมายไม่รับรองสถานะนักบวชสันติอโศก ทำให้นักบวชสันติอโอศกมี “สิทธิเลือกตั้ง” เหมือนประชาชนทั่วไป แต่นักบวชภายใต้ศาสนจักรของรัฐไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

ประเด็นในเรื่องนี้คือ การถูกตัดสิทธิ์ที่จะเป็นพระภิกษุหรือพระสงฆ์ตามกฎหมายคณะสงฆ์ไทย ทำให้นักบวชสันติอโศกมี “เสรีภาพทางศาสนา” ที่จะเลือกวิถีชีวิตทางศาสนาของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น มีเสรีภาพทางการเมือง และสิทธิพลเมืองมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) 

ขณะที่พระภิกษุหรือพระสงฆ์ภายใต้อำนาจศาสนจักรของรัฐถูกตัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิพลเมืองอื่นๆ ตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับถูกยกให้มี “อภิสิทธิ์” อื่นๆ เช่น มีสมณศักดิ์ฐานันดร เงินนิตยภัตรายเดือน งบประมาณสนับสนุนองค์กรศาสนา และอำนาจทาง “กฎหมายเฉพาะทางศาสนา” ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตยโลกวิสัย 

เช่น อำนาจทางกฎหมายปกครองสงฆ์กำหนดให้พระภิกษุสามเณรมีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ห้ามสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน เป็นต้น ทำให้พระเณรไม่สามารถมีเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองได้ เพราะไม่สามารถ “เลือกได้” ว่าจะตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน

แต่ตลกร้ายคือ ขณะที่นักบวชสันติอโศกแยกตัวออกมาจากศาสนจักรของรัฐ มีเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองได้ เพราะไม่ถูกควบคุมโดยกฎหมายคณะสงฆ์แล้ว ทว่าชาวสันติอโศกกลับ “เล่นการเมือง” ในทางสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และรัฐประหาร คือยังทำหน้าที่ทางการเมืองแบบเดียวกับพระสงฆ์ในระบบศาสนจักรของรัฐ และทำได้อย่างโจ่งแจ้งมากกว่า

ดังที่สมณะโพธิรักษ์ออกหน้าสนับสนุนว่า รัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็น “อาริยประชาธิปไตย” เร็วๆ นี้เขายังเทศนาสนับสนุนประยุทธ์ ด้วยการประชาสัมพันธ์ผลงานในช่วง 8 ปี แยกให้เห็นตั้งแต่ผลงาน ก-ฮ ละเอียดยิบ เรียกว่ากระตือรือร้นมากกว่าทีมโฆษกรัฐบาลเสียอีก (ดู https://www.youtube.com/watch?v=VJaV541XX-c) และยัง “อวย” ประยุทธ์ด้วย “ภาษาโลกุตตรธรรม” ตามแคปชั่นที่แชร์กันในโซเชียลข้างล่าง
 

อันที่จริงเราเข้าใจได้ว่าที่ชาวสันติอโศกแยกตัวออกจากมหาเถรฯ ไม่ใช่แยกเพราะมีแนวคิดโลกวิสัย (secularism) หรือมีแนวคิดประชาธิปไตยโลกวิสัย ที่จริงแล้วพวกเขายังคงเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางศาสนาและเป็น “ฝ่ายขวา” ทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่แยกจากมหาเถรสมาคมเพราะตีความ “ธรรมวินัย” ต่างกันเท่านั้นเอง

แต่จะว่าไปแล้ว ประเพณีเถรวาทมักจะไปกันไม่ได้กับเสรีนิยม (liberalism) โลกวิสัย (secularism) และประชาธิปไตยสมัยใหม่ (modern democracy) นักบวชเถรวาทเก่งในเรื่องดีความพุทธธรรมสนับสนุนอำนาจราชา และเผด็จการทหารมาแต่ไหนแต่ไร 

เช่น พระสงฆ์ศรีลังกาในอดีตตีความพุทธธรรมสนับสนุนกษัตริย์ชาวสิงหลในการทำสงครามปราบปรามชาวทมิฬที่ถือศาสนาฮินดูว่า พวกทมิฬหินชาติพวกนั้น ไม่ถือพระรัตนตรัย ไม่สมาทานศีลห้า จึงไม่ได้มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ฆ่าพวกเขาก็ไม่ใช่ฆ่ามนุษย์ ทำนองเดียวกับกิตติวุฑโฒภิกขุสนับสนุนความรุนแรงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้บุญมากกว่าบาป เหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรถวายพระ” นั่นแล

ปัจจุบันยังมีพระศรีลังกาสนับสนุนความรุนแรงต่อคนต่างศาสนา และเล่นการเมืองสนับสนุนนักการเมืองที่ประชาชนต่อต้าน เช่น กณนารธนา เถโร พระที่เป็นเลขาธิการกลุ่มพุทธสุดโต่ง องค์กรพุทธพลเสนาจับมือเป็นพันธมิตรกับพระวีรธูของพม่า อยู่เบื้องหลังการปลุกม็อบชาวพุทธเผาทำลายบ้านเรือน สังหารชาวมุสลิมถึง 2 ครั้ง สร้างความเกลียดชังมุสลิม ทำงานเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาที่เพิ่งถูกประชาชนขับไล่จากตำแหน่ง 
 


ที่มาhttps://www.facebook.com/photo/?fbid=10159919167911649&set=a.10150096728651649

กรณีที่สมณะโพธิรักษ์และชาวสันติอโศกสนับสนุนรัฐประหารและประยุทธ์ก็คล้ายกัน ยิ่งการตีความว่ารัฐประหารเป็นอาริยประชาธิปไตย และอ้างว่าสิ่งที่ประยุทธ์ทำเป็นโลกุตตรธรรม ยิ่งเห็นได้ชัดว่าธรรม กระทั่ง “โลกุตตรธรรม” ไปกันได้ดีกับการทำรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชน และระบบอำนาจนิยมที่ขังคุกประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยรายวัน

พูดโดยภาพรวม นักบวชเถรวาท โดยเฉพาะเถรวาทไทยนั้น ดูเหมือนจะยึดหลัก “อนุวัตรตามราชา” มากเป็นพิเศษ ดังพระราชาคณะปัจจุบันยืนยันว่า “ราชาเอาอย่างไรก็ต้องเอาอย่างนั้น” ห่มจีวรก็ต้องใช้ “สีพระราชนิยม” (คลิป)

พุทธแบบไทยจึงเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” คือ พุทธที่มีศาสนจักรของรัฐขึ้นกับพระราชอำนาจของราชาโดยตรง ราชาตั้งสมณศักดิ์และตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ โดยคณะสงฆ์มีอำนาจทางกฎหมาย รับภาษีประชาชน และอำนาจทางกฎหมายนั้นกำหนดให้พระเณรทำหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีราชาเป็นศูนย์กลางความเจริญ และความมั่นคงของชาติ และศาสนา

ดังนั้น ทั้งอุดมการณ์และระบบโครงสร้าง รวมทั้ง “วัฒนธรรม” ทางความคิดของพุทธราชาชาตินิยม จึงขัดกับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบโลกวิสัย (secular democracy) โดยพื้นฐาน

ธรรมชาติพุทธราชาชาตินิยมแบบเถรวาทไทยนั้น ไม่ใช่ศาสนาที่ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหรืออยู่เหนือการเมือง (ดังที่พยายามหลอกลวง) แต่เป็นศาสนาการเมืองมาตลอดประวัติศาสตร์ เพราะเป็นศาสนาที่สถาปนาให้กษัตริย์เป็นสมมติเทพ โพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวผู้ปกครองโดยธรรม ขณะที่ฝ่ายสงฆ์ก็ถูกปกครองโดยกษัตริย์และได้รับสมณศักดิ์ฐานันดรและเบี้ยหวัดเงินเดือนสืบมาจนปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็แค่ปรับเปลี่ยนภายใต้กรอบคิดพุทธราชาชาตินิยมเป็นด้านหลัก ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปในทางสอดคล้องกับประชาธิปไตยโลกวิสัยแต่อย่างใด

แม้ชาวสันติอโศกจะแยกตัวจากศาสนจักรของรัฐ แต่แรงจูงใจและความกระตือรือร้นทางการเมืองแบบสันติอโศก ก็คือแรงจูงใจแบบเดียวกับพุทธราชาชาตินิยมที่ถือว่าระบบการปกครองใดๆ จะดีได้ต่อเมื่อมี “ธรรม” กำกับ วิธีคิดแบบนี้ไม่สนใจ “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐประหารก็ตีความว่าเป็นอาริยประชาธิปไตยได้ การผูกขาดอำนาจยาวนาน 8 ปีของประยุทธ์ ก็ตีความว่าเป็นการทำงานแบบโลกุตตรธรรมได้ สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” จึงลื่นไหลไปตามการตีความตามอัตโนมติของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งสนับสนุนอำนาจที่ขัดกับประชาธิปไตยสมัยใหม่

ประเพณีการตีความพุทธธรรมสนับสนุนศักดินาที่สืบทอดมายาวนาน ทำให้ง่ายที่จะตีความพุทธศาสนาสนับสนุนเผด็จการทหาร นักบวชที่ตีความธรรมวินัยต่างกันหลายเรื่องอย่างพุทธทาส, ป.อ. ปยุตฺโต และสมณะโพธิรักษ์ ก็กลับตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมได้พอๆ กัน ขณะที่การตีความสนับสนุนประชาธิปไตยโลกวิสัยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นเรื่องยากสำหรับปราชญ์พุทธ และปัญญาชนพุทธไทย

ทั้งนี้ เพราะบรรดาปราชญ์พุทธและปัญญาชนพุทธไทย ต่อให้แสดงออกว่า “ก้าวหน้า” หรือตีความพุทธธรรมทันสมัย ประยุกต์กับปัญหาสังคมการเมืองร่วมสมัยได้เก่งอย่างที่ยกย่องกัน แต่พวกเขาไม่เคยรับรู้หรือใส่ใจเสรีนิยม โลกวิสัย และประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง พวกเขามักดูแคลนแนวคิดพวกนี้ว่า “ต่ำกว่า” พุทธธรรม และสำหรับพวกเขาแล้วศาสนากับรัฐและการเมืองก็ไม่ควรแยกจากกัน

ดังนั้น พุทธศาสนาไทยภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม และภายใต้อำนาจการตีความของปราชญ์พุทธ ผู้นำกลุ่มชาวพุทธ และปัญญาชนพุทธปัจจุบันจึงไม่มีทางจะไปกันได้กับประชาธิปไตยโลกวิสัย หรือสังคมโลกวิสัยที่ต้องแยกศาสนาจากรัฐในทางการเมือง (political secularization) และฝ่ายศาสนาต้องเคารพเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล และสิทธิมนุษยชนของประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net