Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรม – ชาวชุมชนวัดป่าแดงมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ร่วมกันทำกิจกรรม “ทะลุวัด” ในวันเข้าพรรษา โดยการถวายเทียนพรรษา พร้อมสอบถามเจ้าอาวาสวัดป่าแดงต่อกรณีการไล่รื้อชาวบ้านจำนวน 9 ราย และชมรมผู้สูงอายุ 1 แห่ง บริเวณข้างวัดอย่างกะทันหัน ก่อนหมดสัญญาเช่าที่ดิน

 

ภาพจาก Lanner

14 ก.ค. 2565 เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว Lanner รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การไล่รื้อชุมชนข้างวัดป่าแดงมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่า มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบวัดจำนวน 9 ราย และชมรมผู้สูงอายุ 1 แห่ง ได้ทำหนังสือขอกันเขตเพื่อให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัยไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยหลังตรวจสอบเอกสารทางสำนักพุทธฯ ได้ส่งนายช่างโยธา 2 นาย ไปตรวจสอบสถานที่ที่ขอกันเขต หลังจากลงพื้นที่เสร็จ ทางสำนักพุทธฯ กลับมีมติว่าไม่อนุญาตให้ประชาชน 9 ราย เช่าที่ดินต่อ และกำหนดให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในกลางเดือนกรกฎาคม 2565 โดยให้ทางวัดป่าแดงมหาวิหารดำเนินการไล่ที่ชาวบ้าน

ชาวบ้านที่ถูกสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ได้ทำการประท้วงโดยการติดป้ายเขียนข้อความต่างๆ อาทิ “ใครก็ได้ ช่วยพวกเราที” “พวกเราถูกไล่ที่ ไล่ที่ ไล่ที่” หรือ “ไม่มีที่จะอยู่ เขาไล่ที่” เป็นต้น

 

“วัดให้เราเช่าอาศัยใครมาไล่เราก็ไม่ยอม” ตัวแทนชาวบ้าน กล่าว

ภาพจาก Lanner

ในวันนี้ (14 ก.ค. 2565) เวลา 16.00 น. ชาวบ้านในชุมชนข้างวัดป่าแดง เครือข่ายนักกิจกรรมภาคเหนือ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 50 คน ได้รวมตัวกันทำกิจกรรม "ทะลุวัด" ถวายเทียนพรรษาที่วัดป่าแดงมหาวิหาร พร้อมทั้งร่วมสอบถามเจ้าอาวาสวัดป่าแดงต่อกรณีปัญหาการไล่รื้อที่เกิดขึ้น ตัวแทนชาวบ้านได้สอบถามทางวัดในประเด็นการจัดหาพื้นที่รองรับไปจนถึงแนวทางในการยุติการไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่ “คนทุกข์ๆ ยากๆ บ่มีหยังกิน จะไปอยู่ที่ไหน”

ประเด็นหลักที่ชาวบ้านสอบถามมี 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

1. วัดป่าแดงต้องการเอาพื้นที่คืนไปทำอะไร

2. การไล่รื้อที่อยู่อาศัยครั้งนี้ จะมีการเยียวยาประชาชนหรือไม่ อย่างไร

3. เหตุใดการไล่รื้อครั้งนี้ถึงไม่เป็นไปตามสัญญามติมหาเถรที่ให้ชาวบ้านอาศัยอยู่ได้จนถึง พ.ศ. 2566

4. แนวทางการเช่าพื้นที่วัดต่อไปจะเป็นเช่นไร เนื่องจากชาวบ้านที่ยังไม่ถูกไล่ที่จะได้เตรียมปรับตัว

ภาพจาก Lanner

ในเบื้องต้นทางชาวบ้านและเจ้าอาวาสยังไม่สามารถข้อสรุปต่อกันได้ ทางเจ้าอาวาสเพียงแต่ชี้แจ้งเบื้องต้นต่อชาวบ้านต่อชาวบ้านว่า วัดปกครองด้วยกฎหมาย มี พ.ร.บ. ทุกคนมีหน้าที่ เจ้าอาวาสก็มีหน้าที่ หมู่บ้านก็มีผู้นำทำหน้าที่ตามกฎหมาย ในฐานะที่เราอยู่ก็ต้องเคารพหลักการ ขอให้ท่านทั้งหลายอยู่ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยความรู้สึก วัดก็เป็นนิติบุคคล เจ้าอาวาสก็เป็นเจ้าพนักงานวัดที่ต้องทำตามหน้าที่ และยอมรับว่าเมื่อพ.ศ. 2561 ทางสำนักพุทธฯ ได้อนุญาตให้ชาวบ้านเช่าที่ดินรอบวัดและที่ธรณีสงฆ์อยู่จนถึง พ.ศ. 2566 จริง แต่เรื่องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องไปหาคำตอบกับทางสำนักพุทธฯ มิใช่วัดป่าแดง

สำนักข่าว Lanner รายงานคำตอบของเจ้าอาวาสวัดป่าแดง เพิ่มเติมว่า 

- การไล่ที่ชาวบ้านก่อนกำหนดมติมหาเถรมหาคม เกิดขึ้นโดยการดำเนินงานของสำนักพุทธศาสนา และเป็นผู้ทำเรื่องไล่ที่ชาวบ้าน โดยมีกรรมการวัดป่าแดงมหาวิหารเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งแม้จะมีความขัดใจ แต่ก็จำเป็นต้องทำตามคำสั่งเบื้องบน โดยต้องมีการจัดคณะทำงาน เพื่อพูดคุยกับทางมหาเถรสมาคมต่อไป

- ในส่วนของพื้นที่ ทางเจ้าอาวาสเผยว่า จะนำไปใช้ตามแผนพัฒนาวัดป่าแดงมหาวิหาร เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีโครงการพัฒนาเป็นรูปธรรมชัดเจนก็ตาม

- ส่วนของทิศทางสัญญาเช่าพื้นที่โซน 2 และ 3 ทางเจ้าอาวาสยังไม่มีความเห็นใดๆนอกจากการให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวทำตามข้อกำหนดในสัญญาเช่า เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนทั้ง 2 ฝ่าย

 

ทั้งนี้ ทางกำนันตำบลสุเทพ ร่วมพูดคุยและตอบคำถามใน 3 ประเด็นข้างต้นด้วยเช่นกัน โดยชักชวนให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อเข้าพูดคุยกับทางสำนักพุทธศาสนา และมหาเถรสมาคม เพื่อหาทางออกหรือชดเชย รวมถึงปัญหาการไม่ได้ต่อสัญญาเช่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโซนที่ 1 ด้วย และขอให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโซนที่ 2 และ 3 วางใจว่าจะไม่มีการไล่เกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่ตั้งวัด แต่เป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ที่ทางวัดมีอำนาจจัดการ โดยตนพร้อมลาออกถ้ามีการไล่ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังชักชวนชาวบ้าน และกลุ่มนักศึกษาร่วมกันร่างสัญญาเช่าใหม่ เพื่อความสบายใจของชาวบ้านชุมชนวัดป่าแดง เนื่องมาจากมีชาวบ้านบางส่วนที่รู้สึกว่ากันเซ็นสัญญาเช่าแบบรายปี ดูเป็นการมัดมือชาวบ้านชกมากเกินไป

ในส่วนของชาวบ้าน ก็ขอความมั่นใจในการอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อโดยไม่มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 นี้ก็เป็นวันที่ครบกำหนดการย้ายออกจากพื้นที่แล้ว โดยจะเริ่มเขียนหนังสือขอขยายเวลาย้ายออกจากพื้นที่ และความเดือดร้อนในข้อกฎหมาย พร้อมลายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อส่งให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่ และศูนย์ดำรงธรรม ต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net