Skip to main content
sharethis

ข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจด้านโทรคมนาคมช่วงที่ผ่านมาถ้าไม่นับเรื่อง “ลิซ่า แบล็กพิงค์” ย้ายค่ายจาก AIS ไปอยู่กับ CP All คงหนีไม่พ้นข่าว AIS บริษัทเอกชนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในประเทศและยังเป็นอันดับ 4 ในตลาดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่เรียกกันติดปากว่า “เน็ตบ้าน” ประกาศว่าจะเข้าซื้อกิจการของบริษัท 3BB ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อันดับสองของประเทศ

ข่าวนี้อาจจะเป็นข่าวดีของนักลงทุนทั้งรายเล็กรายใหญ่ที่ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทอยู่ แต่อีกด้านก็มีความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดในตลาดกิจการโทรคมนาคมส่วนที่เป็นอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เพราะจะทำให้เหลือบริษัทที่มีขนาดธุรกิจที่เรียกได้ว่าเป็นรายใหญ่เหลือเพียง 3 เจ้า คือ TRUE AIS(ที่ได้กิจการ 3BBไป) และ NT (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน))

แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนนักว่าการแข่งขันในอนาคตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ดีลใหญ่ครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้กรณี True ซึ่งเป็นอันดับสองในตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเพิ่งมีดีลจะควบรวมกับ DTAC ที่อยู่ในอันดับสามของตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือไปเมื่อปลายปี 64 และหากดีล True - DTAC ควบรวมกันสำเร็จจะทำให้ในตลาดนี้เหลือผู้เล่นแค่ AIS ที่เป็นเบอร์หนึ่งกับ TRUE ที่เป็นเบอร์สองและอาจจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทนในตลาดโครงข่ายมือถือ

นักวิเคราะห์ต่างกังวลว่าจะเกิดสภาวะผูกขาดในตลาดผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือค่อนข้างแน่นอนแล้ว แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.จะเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างไร

แต่ในขณะที่ กสทช. ยังไม่ชัดเจนว่าจะต้องเข้ามาตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตให้ True-DTAC ควบรวมกันได้หรือไม่หรือทำแค่ไหน ก็เกิดดีล AIS-3BB ตามมาเพราะตั้งแต่วันแรกทั้งนักวิชาการทั้งคนทั่วไปพอจะได้ติดตามแวงวงธุรกิจโทรคมฯ ก็พอจะเดาได้ว่ากรณีของ AIS-3BB ก็จะทำให้การแข่งขันด้านราคาและคุณภาพในตลาดโทรคมฯ ลดลงไปอีก

เหตุที่ทำให้เกิดความกังวลดังกล่าวเนื่องจากแม้ว่าทั้งสองดีลที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันนี้จะอยู่ในคนละตลาดกันแต่ก็เป็นตลาดที่ไม่ได้แยกขาดออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดเนื่องจากเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกันอยู่กับการรับส่งข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตเหมือนกันเพียงแค่ข้อมูลเคลื่อนที่ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างกันคือเสารับส่งสัญญาณแบบไร้สายกับโครงข่ายแบบใช้สายไฟเบอร์ออปติก

สภาพโดยรวมของตลาดโทรคมฯ มีการแข่งขันลดลง

พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และล่าสุดเข้าร่วมอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ด้านเศรษฐศาสตร์ด้วยเริ่มจากสถานการณ์ตลาดเน็ตบ้านกับเน็ตมือถือที่แตกต่างกัน

พรเทพชี้ว่าเวลานี้สำหรับตลาดเน็ตมือถือมีผู้ใช้งานในสัดส่วนที่มากกว่าเน็ตบ้าน เนื่องจากขณะนี้อัตราการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือมีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรของไทยแล้วเนื่องจากผู้ใช้งานบางคนเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตจากมือถือได้มากกว่า 1 เครื่อง แต่เมื่อกลับมาดูการใช้งานเน็ตบ้านที่ในขณะนี้ยังมีการใช้งานอยู่เพียง 57.19% ของครัวเรือน แม้ว่าร้อยละ 95 ของเน็ตบ้านก็เป็นสายใยแก้วหมดแล้วมีความเร็วและเสถียรมาก

สำหรับโครงสร้างตลาดของเน็ตบ้านมีผู้ใช้บริการรวมทั้งหมดอยู่ 12.7 ล้านราย มีผู้เล่นหลักอยู่ 4 บริษัทและมีบริษัทอื่นๆ รวมอยู่ด้วย โดยมีส่วนแบ่งตลาดดังนี้

 

 

จำนวนผู้ใช้บริการ หน่วย : ราย

สัดส่วนตลาด

True

4.5 ล้าน

37%

3BB

3.6 ล้าน

28%

NT

2.5 ล้าน

19%

AIS

1.6 ล้าน

13%

บริษัทอื่นๆ

4 แสน

< 3%

 

พรเทพชี้ให้เห็นว่าดีล AIS - 3BB นี้จึงเป็นการรวมกันของอันดับสี่ของตลาดและอันดับสองตลาดเข้าด้วยกันและจะทำให้ AIS มีส่วนแบ่งตลาดถึง 41% ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของตลาดนี้ทันที และจะทำให้ผู้เล่นในตลาดกระจุกตัวมากขึ้นและมีโอกาสเกิดการผูกขาดตลาดสูงขึ้นแน่นอน

เขาระบุว่า กสทช.เองก็มีการกำหนดขั้นต่ำของดัชนีวัดค่าการกระจุกและการผูกขาดในตลาดการค้าที่มีชื่อว่าเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Hirschman Index หรือ HHI) เพื่อใช้ในการเอากำหนดว่าจะต้องเข้ามากำกับดูแลและตรวจสอบว่าจะเกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมฯ เอาไว้ด้วย โดยกำหนดค่า HHI เอาไว้ที่ 2,500 แต่ ณ ปัจจุบันในตลาดเน็ตบ้านก็มีค่า HHI อยู่ที่ 2,644 คะแนนแล้ว

อนุฯ ควบรวม True-DTAC บอกว่าจากการลองคำนวณค่า HHI ในตลาดเน็ตบ้านที่จะเกิดขึ้นหลัง AIS เข้าซื้อกิจการของ3BBได้สำเร็จจนเหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 3 รายพบว่า ค่า HHI จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,385 ซึ่งใกล้เคียงกับค่า HHI ของตลาดเน็ตมือถือที่ปัจจุบันมีรายใหญ่อยู่ 3 เจ้าเช่นกันที่ตอนนี้ค่า HHI อยู่ที่ประมาณ 3,500 คะแนน

อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เล่นในทั้งสองตลาดนี้ก็คือรายเดียวกันทั้งหมด พรเทพมองว่าการรวมธุรกิจกันของ AIS-3BB จึงเป็นเหมือนการตอบโต้กับดีลของ True-DTAC และถ้าสองดีลนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ ทั้งสองตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 2 เจ้าใหญ่ ก็จะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้นและทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้นในทั้งสองตลาด ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกน้อยลง

รายใหม่ยังมีช่อง แต่ก็ไม่ง่าย

เขาเห็นสิ่งที่ทำให้รายใหม่เข้ามาในตลาดได้ยากคือศักยภาพในการแข่งขันของรายใหม่ที่ไม่สามารถให้บริการทั้งเน็ตบ้านเน็ตมือถือไปได้พร้อมๆ กัน

สำหรับเน็ตบ้าน พรเทพอธิบายว่าที่ยังพอจะมีปัจจัยทำให้รายใหม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ง่ายกว่าในตลาดเน็ตมือถือเนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องพื้นที่ที่ผู้ให้บริการรายเดิมยังเปิดให้บริการได้ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ถ้าหากรายใหม่ต้องการจะวางสายเคเบิลเองก็ยังสามารถทำได้แม้ว่าอาจจะต้องลงทุนเยอะในการเจาะเข้าไปในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งจากที่เขากล่าวไปข้างต้นว่าในตลาดเน็ตบ้านยังไม่อิ่มตัวเนื่องจากมีจำนวนครัวเรือนที่มีเน็ตบ้านใช้อยู่เพียงเกือบ 60% เท่านั้น จะต่างกับเน็ตมือถือรายใหม่เกิดได้ยากกว่าเพราะสภาพตลาดที่อิ่มตัวแล้วจากการที่มีการใช้งานเกินจำนวนประชากรไปแล้ว และยังมีปัจจัยเรื่องคลื่นสัญญาณที่อาจจะต้องรอ กสทช.เรียกคืนคลื่นมาประมูลใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม พรเทพได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดรายใหม่ได้ยากในเวลานี้คือ การที่ผู้เล่นรายใหญ่ที่อยู่ในทั้งสองตลาดใช้อำนาจตลาดในตลาดหนึ่งมาแข่งขันในอีกตลาดหนึ่งได้ เขายกตัวอย่างเช่นการขายพ่วงเน็ตบ้านไปกับเน็ตมือถือ จนทำให้ลูกค้าอาจจะเลือกที่จะใช้บริการแบบขายพ่วงของเจ้าใดเจ้าหนึ่งไปเพราะคิดว่าคุ้มค่ากว่าและผู้ใช้บริการจะมีต้นทุนมากขึ้นในการเปลี่ยนไปใช้บริการของเจ้าอื่น ทำให้ผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีศักยภาพในการให้บริการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาแข่งขันกับรายใหญ่ได้ยากมากขึ้น

เขายังชี้ให้เห็นอีกว่า แม้ในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อาจจะมีความแตกต่างกับตลาดสัญญาณมือถือ เนื่องจากบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ NT ยังมีสัดส่วนตลาดอยู่ถึง 20% ถือได้ว่าเป็นผู้เล่นที่สำคัญอยู่เมื่อเทียบกับในตลาดสัญญาณมือถือ แต่เมื่อผู้เล่นลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 รายก็ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ เขาจึงคิดว่า NT จึงควรจะต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตัวเองไว้ด้วย

“การพูดว่ายังมีการแข่งขันอยู่จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้ คือเหลือ 2 รายก็ยังมีการแข่งขันอยู่แต่ประเด็นคือว่าเราไม่ได้ต้องการแค่มีการแข่งขันอยู่ แต่เราต้องการให้การแข่งขันไม่ลดลง มีการแข่งขันที่ดีขึ้นและมากขึ้น เราไม่ควรพอใจแค่ว่ามันยังมีการแข่งขันอยู่ยังไม่ได้เหลือแค่รายเดียว” อนุฯ ควบรวม True-DTAC แสดงความเห็นเมื่อถูกถามถึงสภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาว่าเมื่อผู้แข่งเหลือน้อยรายแล้วก็จะทำให้การแข่งขันลดลงทั้งในด้านราคาและคุณภาพ

“ที่ผ่านมา AIS Fiber อาจจะต้องใช้ราคามาแข่งขันเพราะเพิ่งเข้าสู่ตลาดสู้มาจนได้ส่วนแบ่งตลาด 10 กว่าเปอร์เซนต์ ที่นี้พอไปซื้อ 3BB เลยได้ขนาดที่เหมาะในการที่จะทำธุรกิจต่อไปได้มีฐานลูกค้าแล้ว โปรโมชั่นก็อาจจะไม่ต้องรุกเท่ากับตอนเพิ่งเข้าตลาดมาใหม่ๆ มันก็กระทบอยู่แล้ว”

เขาย้ำว่าไม่สามารถมองแค่เรื่องของราคาที่ลดลงเพราะตลาดอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มที่ราคาค่าบริการจะลดลงอยู่แล้ว แต่ต้องดูว่าก่อนกับหลังรวมกันแล้วราคาลดช้าหรือเร็วกว่าการมีจำนวนคู่แข่งในตลาดเท่ากับปัจจุบันที่มี 4 ราย ไปจนถึงต้องดูว่ามีความพยายามในการขยายโครงข่ายในเชิงรุกเหมือนเดิมหรือไม่ด้วย รวมถึงคุณภาพการให้บริการในพื้นที่ที่ไม่มีคู่แข่งจะยังดีเหมือนเดิมหรือไม่

ไม่ได้เป็นแค่ผู้เล่นในตลาดบริการอินเทอร์เน็ต

ส่วนจะเกิดผลกระทบในตลาดอื่นๆ อย่างเช่นธุรกิจให้บริการเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่า OTT(Over the Top)ทั้งบริการ Streaming และโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต, ธุรกรรมทางการเงิน, ให้บริการพื้นที่รับฝากข้อมูล(Cloud) และประมวลผลข้อมูล(Data Analytic) ฯลฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากตลาดเน็ตบ้านและมือถือเหลือรายใหญ่แค่ AIS และ True แล้ว เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการรับส่งข้อมูล เพราะเจ้าตลาดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเองเวลานี้ก็ก้าวขาเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดเหล่านี้ด้วย

พรเทพมองว่าในมุมนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนนัก ตราบใดที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้ใช้วิธีเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงบริการของตัวเองให้มากกว่าของผู้ให้บริการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน สำหรับเวลานี้จะยังเห็นเพียงแค่การจัดแพ็กเกจขายพ่วงมากับบริการอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นการใช้อำนาจตลาดในตลาดอื่นมาแข่งขันในตลาดให้บริการคลาวด์หรือสตรีมมิ่งมากกว่าซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เขาก็ชี้ให้เห็นว่าสำหรับการกำกับดูแลการแข่งขันในตลาดการให้บริการเหล่านี้ยังอยู่ในพื้นที่สีเทาที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็น กสทช.หรือว่าจะเป็น กขค.(คณะกรรมการแข่งทางการค้า) ที่จะต้องเขามาดูแล กสทช.เองก็เพิ่มเริ่มมาสนใจการให้บริการ OTT หรือแอพพลิเคชั่นที่วิ่งอยู่บนอินเทอร์เน็ตและยังไม่ได้มีมาตรการในการมากำกับดูแลอะไรที่ชัดเจน ทำให้ผู้ให้บริการในตลาดกลุ่มนี้ก็ยังเป็นตลาดที่ยังไม่ถูกกำกับเท่าไหร่ แล้วยังเกิดคำถามว่าควรจะต้องกำกับดูแลหรือไม่ด้วยซ้ำแต่การดูแลการเอาเปรียบในการแข่งขันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันอยู่ด้วยทำให้ยังไม่เห็นชัดว่าใครจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในตลาดที่ชัดเจนนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net