Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมหลายกลุ่มเดินทางมาที่ศาลอาญารัชดา เพื่อยื่นหนังสือต่อ คกก.ตุลาการศาลยุติธรรม สอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันหยุดพิเศษ ไม่มีคนรับหนังสือ ทำให้อาจจะมายื่น 18 ก.ค.นี้อีกครั้ง 

 

15 ก.ค. 2565 สำนักข่าวราษฎร ถ่ายทอดวันนี้ (15 ก.ค.) บนสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ ‘เฟซบุ๊ก’ และ 'ยูทูบ' เวลาประมาณ 13.00 น. ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ประกอบด้วย กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ 14 ขุนพลคนของราษฎร นาดสินปฏิวัติ ทะลุแก๊ซ ทะลุวัง และอื่นๆ มายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาคดีอาญา 

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันพิเศษของราชการ ทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมมารับหนังสือได้ ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) และตำรวจจึงเสนอให้หัวหน้า รปภ.รับหนังสือแทน แต่นักกิจกรรมยืนยันว่าต้องการยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และตัดสินใจว่าจะกลับมายื่นหนังสืออีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค. 2565

นักกิจกรรมเดินทางมาที่หน้าศาลอาญารัชดาฯ รอยื่นหนังสือ (ที่มา สำนักข่าวราษฎร)

ก่อนยุติกิจกรรม ตัวแทนนักกิจกรรมได้อ่านรายละเอียดแถลงการณ์มีถ้อยความดังต่อไปนี้

เนื่องด้วยคำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องหาคดี 112 และผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ จำนวน 14 คน ในวันที่ 11, 14-15 มิถุนายน 2565 อ้างเหตุหากได้รับการประกันตัว อาจมีการหลบหนี มวลชนอิสระจึงได้ตั้งข้อสังเกตผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ จวบจนกรมราชทัณฑ์ดังต่อไปนี้ 

การชุมนุมเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประเทศประชาธิปไตย ผู้ต้องขังทะลุแก๊ซ ส่วนใหญ่ได้เข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และไม่มีพฤติกรรมหลบหนี จำนวนทั้งสิ้น 14 ราย กระบวนการจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ส่งผลกระทบต่อจิตใจต่อผู้ต้องขังอย่างยิ่ง ผู้ที่ถูกจับกุมบางรายเจ้าหน้าที่นั้นไม่ได้แสดงหมายจับ แต่เป็นวิธีเข้าจับกุมก่อนแสดงหมาย แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ อันเป็นสิทธิ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงมี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นำผู้ต้องหาไปยังสถานีตำรวจที่ออกหมาย แต่นำไปฝากขังไว้ที่สโมสรตำรวจ ก่อนจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ตำรวจบางรายมีพฤติกรรมขัดขวางไม่ให้ทนาย หรือผู้ไว้วางใจ เข้าพบ ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า ระหว่างการควบคุมตัว ได้มีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายให้ผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ 

สืบเนื่องจากวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กรมราชทัณฑ์แถลงกรณีผู้ต้องหาทะลุแก๊ซ กินยาพาราเกินขนาด แต่ทว่าทางทนายสิทธิมนุษยชน ได้แจ้งว่าผู้ต้องหา 3 รายได้ทำการทำร้ายตัวเองในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2565 แต่กรมราชทัณฑ์กลับไม่แถลงการณ์ใดๆ เบื้องต้น ผู้ต้องขังรายหนึ่งกินยาพาราเกินขนาด 60 เม็ด และได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ยังมีกลุ่มทะลุแก๊ซอีกหลายรายทำการกรีดข้อมือโดยใช้ฝาปลากระป๋อง หรือลวด 

นอกจากนั้น ยังมีคนอดอาหารประท้วงอีก 3 คน ร่างกายอยู่สภาวะวิกฤต และผู้ถูกกล่าวหาคดีเผารถตำรวจได้แจ้งกับทางทนายสิทธิ์ฯ ว่า หากไม่ได้รับการประกันตัว จะฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นผลกระทำจากการฝากขังโดยไม่มีการไต่สวนความจริง 

มวลชนอิสระจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้พิพากษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม เพื่อยืนยันความโปร่งใส ความซื่อตรง ตามจรรยาบรรณผู้รักษากฎหมาย และเพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิประกันตัวตามหลักสิทธิมนุษยชนที่พึงมี 

หลังอ่านแถลงการณ์ มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ ระบุว่า เหตุที่มายื่นหนังสือวันนี้ เพื่อตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ไม่สามารถเรียกว่า กระบวนการยุติธรรม จึงมีหนังสือให้มีการตรวจสอบผู้พิพากษา และตัวตุลาการว่าได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของตัวเอง หรือใบสั่งของใคร 

มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ (ที่มา สำนักข่าวราษฎร)

เธอกล่าวต่อว่า ตามกระบวนการยุติธรรมสากล การที่จะจับกุมคนเข้าเรือนจำได้ ต้องให้มีพิพากษาจนถึงที่สุดก่อน แต่กระบวนการยุติธรรมไทยกลับนำตัวคนที่ยังไม่มีการพิพากษาจนถึงที่สุดเข้าเรือนจำ ละเมิดสิทธิการประกันตัว และปฏิบัติกับพวกเขาเปรียบเสมือนนักโทษ

“การยื่นหนังสือ อาจจะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่มันหนักหน่วง แต่เป็นการตั้งคำถามกับสังคมว่าเราจะยอมรับสิ่งที่บอกว่าตัวเองเป็นความยุติธรรมได้อยู่อีกหรือ”

“ตามจริง เราอยากให้ผู้พิพากษาแสดงตนว่าเป็นกลางในคดี 112 อย่างคดี 112 อย่างให้ศาลพิสูจน์ต่อสาธารณชนว่าตัวเองเป็นกลาง” มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ ระบุ

มิ้นท์ กล่าวเปรียบเปรยว่า ตอนนี้ศาลเหมือนเอาตัวเองลงมาชกสู้แทนคู่กรณีของนักกิจกรรม และพวกเขาก็เหมือนถูกมัดมือ มัดเท้า ปิดปาก ไม่สามารถออกมาต่อสู้คดีได้เลย

ท้ายสุด นักกิจกรรมหญิงอยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า ทำอะไรอยากให้นึกถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ และสิ่งที่เคยสาบานตนเอาไว้

“ถ้าวันหนึ่งประชาธิปไตยเป็นของพวกเราแล้ว พวกคุณจะอยู่ลำบาก ทำอะไรให้นึกถึงจรรยาบรรณวิชาชีพของตัวเองที่ร่ำเรียนมา กว่าจะได้ใบปริญญา กว่าจะเป็นผู้พิพากษา กว่าจะมียศ มีตำแหน่งต่างๆ พิจารณาว่าตัวเองเคยสาบานตนว่าอย่างไร” มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ ทิ้งท้าย 

ปัจจุบัน มีผู้ต้องหาทางการเมืองถูกคุมขัง และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว จำนวน 23 ราย ในจำนวนนี้มี 3 ราย ได้แก่ บุ้ง ใบปอ 2 สมาชิกกลุ่มทะลุวัง อดอาหารมานานกว่า 44 วัน และ “คิม” ธีรวิทย์ ยืนยันอดอาหาร หลังหายโควิด-19 ตอนนี้อดอาหารเป็นวันที่ 6

นอกจากนี้ การฝากขังนักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ซ ส่งผลกระทบต่อพวกเขาทางด้านร่างกาย และจิตใจ มีบางรายเลือกทำร้ายตัวเอง เพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net