วิเคราะห์สัญญะของการบุกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา และเหตุการณ์ที่คล้ายกันในประวัติศาสตร์

หนึ่งในเรื่องที่เด่นที่สุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการลุกฮือที่ศรีลังกา มีภาพที่ประชาชนบุกเข้าไปในที่พำนักของประธานาธิบดี แล้วใช้สอยมันเหมือนเป็นพื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไป เรื่องนี้ทำให้นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์จากออสเตรเลียชวนวิเคราะห์ในแง่ที่ว่า มันแสดงออกถึงการฝ่าฝืนและยึดกุมพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจแห่งนี้อย่างไรบ้าง และมีเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์ที่เล่นกับสัญลักษณ์แบบนี้มาก่อน รวมถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วย

 

 

คริสตี แพทริเซีย แฟลนเนอรี นักวิจัยจากสถาบันเพื่อมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาทอลิกออสเตรเลีย วิเคราะห์เรื่องราวของการประท้วงโค่นล้มผู้นำศรีลังกาที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุถึงที่พักอาศัยของผู้นำประเทศในแง่ที่มันเป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจ และระบุถึงเหตุการณ์อื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศส รวมถึงการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินด้วย

แฟลนเนอรี บรรยายถึงฉากที่เกิดขึ้นในภาพข่าวเกี่ยวกับผู้ประท้วงศรีลังกาว่า ในภาพวิดีโอมีแสงแฟลชสะท้อนไปทั่วหน้าจอโทรทัศน์และหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แสดงให้เห็นกลุ่มผู้ประท้วงชาวศรีลังกาบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี ที่ตั้งอยู่ในกรุงโคลอมโบ กล้องแพนภาพตัดผ่านลานบ้านที่แสดงให้เห็นสวนเขียวชอุ่ม ไปพร้อมๆ กับภาพของกลุ่มชายหนุ่มกระโดดลงสระน้ำทำให้น้ำในสระสาดกระเซ็น

มีกลุ่มคนที่ใส่ชุดลำลองสวมรองเท้าแตะเดินไปตามส่วนที่ดูหรูหราในอาคาร และในห้องนอนที่อดีตประธานาธิบดี โกฑพญา ราชปักษา เคยใช้หลับนอนเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ภาพเหล่านี้อาจจะทำให้ดูราวกับว่าโลกกำลังกลับตารปัตร แต่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์โลกแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นในศรีลังกาเป็นแค่หนึ่งในการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้ประท้วงบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีหรือราชวัง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หลายครั้งในประวัติศาสตร์

"สัญลักษณ์ทางอำนาจ"

แฟลนเนอรีระบุว่า ไม่ว่าราชวังหรือที่พำนักของประธานาธิบดีต่างก็เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจที่สำคัญในรัฐชาติ อาคารเหล่านี้มักจะมีการออกแบบที่หรูหราโอ่อ่า อวดโฉมความมั่งคั่งอย่างเกินเลยเพื่อที่จะแสดงให้เห็นอำนาจของผู้นำประเทศที่อาศัยอยู่ในสถานที่นี้ การแสดงออกเชิงอำนาจยังมาจากขนาดของวังหรือทำเนียบ การประดับตกแต่งด้วยของราคาแพง และศิลปะที่ราคาสูงลิ่วแขวนอยู่ตามผนังด้วย

มีการจำกัดควบคุมการจะเข้าถึงสถานที่เหล่านี้อย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะความพิเศษและความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่เหล่านั้น มันจึงเป็นที่ๆ เป็นตัวแทนทางอำนาจของผู้นำทางการเมืองที่อาศัยอยู่ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม

ศรีลังกาเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนจนกระทั่งถึงปี 2491 และกลายมาเป็นสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2515 ในช่วงที่ศรีลังกายังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่นั้น ทำเนียบประธานาธิบดีจะถูกเรียกว่าเป็นคิงส์เฮาส์และควีนเฮาส์ มันถูกใช้เป็นที่พำนักสำหรับข้าหลวงของอังกฤษ จนกระทั่งต่อมาถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นที่พำนักของประธานาธิบดีแทน

แฟลนเนอรีมองว่า ตามปกติแล้วพื้นที่สระน้ำและพื้นที่พักอาศัยของประธานาธิบดีมีอยู่น้อยคนที่จะสามารถเข้าถึงได้ เป็นพื้นที่ๆ คนยากจนในศรีลังกาจะถูกกีดกันออกไป เรื่องนี้ทำให้การที่ผู้ประท้วงลงไปว่ายน้ำในสระน้ำของประธานาธิบดีนับเป็นการขบถร่วมกันอย่างหนึ่ง เพราะมันเป็นการส่งสัญญาณว่ากฎหรือข้อบังคับใดๆ ก็ตามที่เคยกีดกันประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลไม่ให้เข้าถึงทำเนียบได้เป็นกฎข้อบังคับที่ไม่มีเขี้ยวเล็บอีกต่อไปแล้ว

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในศรีลังกาไม่พอใจอย่างหนักจนถึงขั้นนำมาสู่การบุกยึดทำเนียบ รัฐบาลแห่งชาติของศรีลังกากำลังล้มละลาย แล้วประชาชนจำนวนมากในศรีลังกาก็กำลังล้มละลายด้วย มีภาวะขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก ผู้คนไปทำงานไม่ได้ พวกเขาไม่มีเงินจะเลี้ยงดูลูกหลานของตัวเอง ทำให้ประชาชนหลายแสนคนโต้ตอบวิกฤตนี้ด้วยการขับเคลื่อนฝูงชนออกไปประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง การประท้วงดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ผู้ประท้วงประกาศว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในทำเนียบของประธานาธิบดีไปเรื่อยๆ จนกว่าประธานาธิบดีจะลาออก ซึ่งประธานาธิบดีราชปักษาก็ประกาศลาออกในที่สุดแล้วหนีออกจากประเทศไป

เรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

ในอดีตเคยมีกรณีที่เกิดการลุกฮือเข้ายึดครองทำเนียบหรือราชวังจนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายกรณี เช่นในเม็กซิโก ช่วงที่พวกเขากำลังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปน อุปราชของสเปนอาศัยอยู่ในวังที่มีความหรูหราโอ่อ่าตั้งอยู่ริมย่านใจกลางเมืองขนาดใหญ่ของเม็กซิโกซิตี ติดกับวิหารคริสต์สูงใหญ่ กลุ่มผู้ล่าอาณานิคมได้สร้างวังแห่งนี้ทับซากโบราณสถานวิหารหลวง (Templo Mayor) ของอาณาจักรแอซเทก

ในตอนที่ชนชั้นแรงงานหลายเชื้อชาติในเม็กซิโกลุกฮือก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมในปี 2235 กลุ่มผู้ประท้วงได้ฝ่าเข้าไปในห้องต้องห้ามภายในวังของอุปราชแล้วก็เผาสถานที่นั้น ในรูปวาดของ คริสโตบัล เดอ บียาลปานโด ปี 2238 เผยให้เห็นส่วนหนึ่งของวังที่ถูกเผา

วังของอุปราชสเปนในเม็กซิโกยังคงมีบทบาทสำคัญอื่นๆ ในประวัติศาสตร์เม็กซิโกด้วย หลังจากที่ชาวเม็กซิกันลุกฮือขึ้นต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปนอีกครั้งในสงครามเพื่ออิสรภาพราวปี 2353-2363 ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติชุดใหม่ขึ้นโดยจัดให้ประธานาธิบดีคนใหม่ของเม็กซิโกมาอาศัยอยู่ในวังแทนที่อุปราช

ในช่วงยุค 2473-2483 รัฐบาลเม็กซิโกจ้างวานให้ ดีเอโก ริเวรา วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ที่บันไดใจกลางของวัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังของริเวราเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ประชาชนต่อสู้กับการปกครองของเจ้าอาณานิคม เป็นการเปลี่ยนให้วังหรือทำเนียบแห่งนี้หลายเป็นอนุสรณ์สถานของการต่อต้านอาณานิคม

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่พระราชวังแวร์ซาย ในช่วงนั้นฝรั่งเศสกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเงินปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ทำให้พระราชวังแวร์ซายที่ดูหรูหราฟุ่งเฟ้อกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหลงมัวเมาในความมั่งคั่งเกินขอบเขตของราชวงศ์ฝรั่งเศสในยุคนั้น ในขณะที่ผู้คนในฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาความยากจนสุดขีด

ในวันที่ 5 ต.ค. 2332 ก็เกิดการจลาจลในฝรั่งเศสจากการที่ราคาขนมปังพุ่งสูงจนทำให้ต่อมากลายเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ขึ้น มีกลุ่มฝูงชนที่โกรธแค้นทำการปล้นชิงอาวุธจากคลังแสงของเมืองและทำการเดินขบวนไปที่พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งผู้หญิงฝรั่งเศสมีบทบาทเด่นๆ ในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย กลุ่มฝูงชนฝ่าเข้าไปในพระราชวังแล้วเรียกร้องขอเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กลุ่มฝูงชนให้ราชตระกูลของพระเจ้าหลุยส์เดินทางไปที่กรุงปารีสพร้อมกับพวกเขาในวันถัดจากนั้น

หลังจากที่มีการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในปี 2336 ของหรูหราที่อยู่ในพระราชวังแวร์ซายก็ถูกส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์หรือไม่ก็ถูกประมูลขาย

ในยุคคริสตศตวรรษที่ 20 ก็มีกรณีที่พรรคบอลเชวิคของสหภาพโซเวียตจับตัวพระเจ้าซาร์ที่พระราชวังฤดูหนาวในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นำมาซึ่งการปกครองแบบ "คอมมิวนิสต์" ยาวนานกว่า 70 ปี รัฐบาลบอลเชวิคที่มาแทนที่ราชวงศ์ซาร์มองว่าเรื่องที่พวกเขาบุกพระราชวังเป็นเรื่องที่ชวนให้ชื่นชมตัวเองมาก จนทำให้พวกเขาถึงขั้นจัดแสดงเหตุการณ์จำลองการบุกพระราชวังของซาร์ใหม่อีกครั้งโดยอาศัยนักแสดงกว่า 2,500 ชีวิตเข้าร่วมรวมถึงอดีตนักแสดงบัลเลต์ในวัง มีผู้รับชมการแสดงมากกว่า 100,000 คน กลายเป็นความเว่อวังอลังการในแบบของพวกเขาเอง

ต่อมาพระราชวังฤดูหนาวแห่งนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์แอร์มิทาช ที่มีการจัดแสดงศิลปะของราชวงศ์ซึ่งถูกยึดให้กลายเป็นสมบัติของประเทศ มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชมได้ เป็นการทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

พระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่งของจีนก็กลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ในทำนองนี้เช่นกัน พระราชวังต้องห้ามนี้สร้างขึ้นเมื่อช่วงคริสตศตววรษที่ 15 เป็นสถานที่พำนักของรางวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงมาหลายรุ่น จนกระทั่งถึงปี 2492 เหมาเจ๋อตุงก็เลือกให้พระราชวังแห่งนี้เป็นพื้นที่จัดการเฉลิมฉลองชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อสงครามกลางเมืองจีน

มีการแขวนรูปของประธานเหมาไว้ที่ "ประตูสันติสวรรค์" หรือ "เทียนอันเหมิน" ซึ่งเหมาเคยประกาศอย่างเป็นทางการว่าพื้นที่นี้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าของ การที่พื้นที่แห่งนี้ต่อมากลายเป็นฉากหลังในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 นั้น ทำให้เทียนอันเหมินกลายเป็นทั้งพื้นที่ก่อร่างสร้างประเทศและพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองในระดับประเทศสำหรับจีน

แฟลนเนอรีระบุว่า ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนที่สนใจเรื่องทิศทางของประเทศศรีลังกาในตอนนี้ควรจะจับตามองอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกา มันจะถูกนำมาใช้งานในเชิงสร้างสรรค์หรือปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใดบ้าง เรื่องเหล่านี้อาจจะสะท้อนให้เห็นทิศทางทางการเมืองในประเทศศรีลังกาเองได้

 

เรียบเรียงจาก
Swimming in the president’s pool – palaces and power in times of crisis, The Conversation, 14-07-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท