Skip to main content
sharethis

เสวนาเนื่องในโอกาส 'วันนอนไบนารีสากล' (14 ก.ค. ของทุกปี) ชี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มนอนไบนารีไทยเติบโตมาพร้อมกับชุมชนนอนไบนารีทั่วโลก นักวิจัยกฎหมาย LGBTI แนะต้องมองถึงการแก้ระบบกฎหมายที่ยังอยู่ในกรอบ 2 เพศ ให้รับรองสิทธิของคนที่เป็นเพศกลางได้อย่างแท้จริง


    
17 ก.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า วานนี้ (16 ก.ค.) ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Soc-Dem TH) ได้จัดกิจกรรมสนทนา ครป.house ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Clubhouse ในหัวข้อ “ #วันนอนไบนารีสากล กับกฎหมายรับรองสำนึกทางเพศ ” เนื่องในโอกาสวันนอนไบนารีสากล (วันที่ 14 ก.ค. ของทุกปี) โดยมีผู้สนทนาประกอบด้วย คณาสิต พ่วงอำไพ สมาชิกสภากลุ่ม Non-Binary Thailand, อรณิชา พิลึกนา แอดมินเพจนอกกล่องเพศ;Non-binary และฉัตรชัย เอมราช แอดมินเพจนักวิจัยกฎหมาย LGBTI ดำเนินรายการโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 
    
คณาสิต พ่วงอำไพ สมาชิกสภากลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นอนไบนารี” (Non-binary) อาจเป็นศัพท์ใหม่สำหรับหลายคน แต่ในไทยมีการเผยแพร่ศัพท์นี้มาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2015 เราเติบโตมาพร้อมกับชุมชนนอนไบนารีทั่วโลก ซึ่งอักษรย่อตัว N ที่หมายถึงนอนไบนารี ก็แตกต่างจากอักษรย่อที่มีมาก่อนหน้านั้นคือ “LGBT” ที่มีมาก่อนที่จะมีตัว “N” ราวๆ 30-50 ปีได้ เพราะนอนไบนารีเป็นคำนิยามที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงยุคประมาณปี 2010 ต้นๆ ในยุคที่โลกเริ่มมีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้ได้มีการสื่อสารกันอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ทั้งในโซนยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ชุมชนนอนไบนารีค่อนข้างจะเข้มแข็ง หลายประเทศมีขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเพศสภาพนอนไบนารี และในอนาคตคงจะมีการทำงานร่วมกันเป็นในระดับภูมิภาค 
     
อรณิชา พิลึกนา แอดมินเพจนอกกล่องเพศ;Non-binary อธิบายความหมายของ “นอนไบนารี” (Non-binary) ว่ามาจากรากศัพท์คำแรกคือคำว่า “NonW ที่แปลว่า “ไม่” และคำต่อไปคือ “Binary” ที่หมายถึงกรอบคิดแบบ2เพศ (ชายกับหญิง) ดังนั้นนอนไบนารีจึงหมายถึงการไม่ได้อยู่ในกรอบ2เพศอย่างที่เราคุ้นเคย ถ้าดูสีธงสัญลักษณ์ประจำเพศนอนไบนารี จะเห็นว่ามีแถบสีเหลือง สีขาว สีม่วง และสีดำ ซึ่งแถบสีเหลืองนั้นเป็นแม่สีธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดจากการนำสีใดมาผสมกัน ก็จะสื่อถึงการที่นอนไบนารีไม่ได้เป็นเพศหญิงอย่างสีชมพู หรือสีฟ้าที่เป็นตัวแทนของเพศชาย มันคือการขบถจากกรอบเพศชาย-หญิง ส่วนแถบสีขาวนั้น เป็นสีที่สื่อแทนการเป็นได้ทุกอย่าง เสมือนผืนผ้าสีขาวที่สามารถแต้มสีใดๆก็ได้ลงไปได้มากมายตามที่ใจต้องการ ส่วนแถบสีม่วง ซึ่งเป็นสีที่ปรากฏอยู่ในธงสัญลักษณ์ของอีกหลายเพศสภาพ เป็นสีที่เกิดมาจากการผสมกันของสีชมพูที่เสมือนสัญลักษณ์ของเพศหญิงกับสีฟ้าที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเพศชาย สีม่วงจึงสื่อแทนความหมายของการผสมผสานทั้งความเป็นหญิงและความเป็นชายก็ได้ และแถบสีสุดท้ายคือสีดำ ที่เป็นลักษณะของความมืดมิด สื่อแทนความเป็น Agender หรือภาวะไร้เพศนั่นเอง 
    
จึงสรุปได้ว่าความเป็นนอนไบนารีคือสำนึกทางเพศที่ทั้งอยู่นอกกรอบความเป็นชาย-หญิง ทั้งการเป็นเพศอื่นๆ ได้อีกมากมายที่เป็นสำนึกทางเพศกลุ่มย่อยภายใต้ร่มความเป็นนอนไบนารี หรืออาจจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างความเป็นเพศ-หญิงก็ได้ รวมถึงการมีสำนึกทางเพศที่ไร้ความเป็นเพศใดๆก็ได้ นอนไบนารีจึงเรียกได้ว่าเป็นสำนึกทางเพศที่โอบรับสำนึกทางเพศ รสนิยมทางเพศที่หลากหลายให้อยู่ด้วยกันได้โดยสลายกรอบความคิดว่าโลกมีแค่เพศชายกับหญิง กรอบคิดเรื่องความเป็นขั้วตรงข้ามกันในเรื่องเพศ และบุคคลคนหนึ่งสามารถมีสำนึกทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศได้มากกว่าหนึ่ง
    
คณาสิตเสริมอีกว่า สำหรับคนนอนไบนารี ควรต้องมีทั้งกฎหมายรับรองเพศสภาพ และกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อครอบคลุมการยอมรับในตัวตน ศักดิ์ศรีของพวกเรา ยืนยันสิทธิของเราในการจัดตั้งครอบครัวที่เป็นธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอื่นๆที่ให้คุณค่าเราเสมอเหมือนคนที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด มันถึงจะทำให้เรามีความผาสุก มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความหวังในการใช้ชีวิต เรื่องในชีวิตประจำวันของพวกเราทั้งการทำหนังสือเดินทางข้ามประเทศ (Passport) เอกสารราชการ การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการที่เราจะต้องมีกฎหมายขึ้นมารับรองเพศสภาพเราทั้งสิ้น เราต้องพูดถึงมาตรฐานใหม่ในการออกแบบกฎหมายที่เคารพศักดิ์ศรีของคนทุกคน
    
อรณิชา กล่าวว่า นอนไบนารีต้องการได้รับการปฏิบัติที่เป็นกลางทางเพศในเอกสารต่างๆ ที่อาจให้เราได้ใช้คำนำหน้านามเป็น “X” ได้โดยมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศยืนยันการมีตัวตนของเพศสภาพเรา เพื่อให้เราได้ปลอดจากการถูกเลือกปฏิบัติ 
    
ฉัตรชัย เอมราช แอดมินเพจนักวิจัยกฎหมาย LGBTI กล่าวว่า เรื่องนอนไบนารีเป็นการปฏิฐานความคิดที่เชื่อว่าโลกมีแค่ชายกับหญิงในทุกๆ มิติ ถ้าพูดถึงนอนไบนารีกันในทางกฎหมาย เราต้องพูดไปถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ทุกวันนี้เป็นกฎหมายที่ถูกเขียนบนฐานคิดแบบ 2 เพศ คือยอมรับแค่ชายกับหญิงเท่านั้น 
    
ระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ อยู่บนพื้นฐานของ “ไบนารี” (Binary / กรอบคิด2เพศ) อย่างในรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรค2 เขียนไว้ชัดเจนว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” เป็นบทบัญญัติที่ถูกสร้างมาบนฐานคิดว่าจะทำอย่างไรผู้หญิงจะมีโอกาสเท่าเทียมกับเพศชายอย่างแท้จริง มาตรานี้จะไปสัมพันธ์กับเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม แล้วจึงออกมาเป็นรูปธรรมอย่างเช่นว่า รถไฟต้องมีตู้นอนสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ต้องรับรองสิทธิมารดาในการให้กำเนิดบุตร สิทธิเสรีภาพหลายประการมันยึดโยงอยู่กับเพศบนกรอบไบนารี ปัญหาของความคิดกฎหมายรับรองอัตลักษณ์หลายๆ ฉบับที่มีแล้วในบางประเทศ รวมถึงที่กำลังจะมีเป็นร่างกฎหมายในประเทศไทย ความคิดของกฎหมายเกิดจากการพยายามทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูกต้อง เรามองว่าคนที่มีการแสดงออกไม่ตรงกับเพศกำเนิด นั้นไม่ถูกต้อง เราจึงพยายามสร้างกฎหมายเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง เช่น อนุญาตบุคคลให้แต่งกายด้วยชุดเพศหญิงได้แม้ว่าบุคคลนั้นมีเพศกำเนิดเป็นชาย ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้สลายกรอบคิดแบบโลกมีเพศอยู่ 2 เพศให้หมดสิ้นไปอยู่ดี เพราะกฎหมายเหล่านี้อยู่บนสภาพปัญหาซึ่งล้าสมัยแล้ว มันเพียงแค่ให้คนสามารถไปแก้ไขเพศให้ถูกต้องโดยที่ยังอยู่บนฐานคิดว่าโลกมีเพศ 2 เพศ มันไม่ได้สลายกรอบเพศ 2 เพศให้หายไป 

ประการต่อมาคือ กรณีการกำหนดเพศกลาง ก็ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการยอมรับการมีอยู่ของบุคคลเพศกลาง มีเอกสารราชการที่ยอมรับความเป็นเพศกลาง แต่บุคคลเพศกลางก็ยังต้องอยู่ในระบบกฎหมายใต้กรอบ 2 เพศ ซึ่งไม่มีการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคนเพศกลางในกฎหมาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือคนที่เป็นเพศกลางจะไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การไปแก้ไขเพศตามกฎหมายจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แม้ต่อให้มีกฎหมายที่ให้เราระบุอัตลักษณ์เราเป็นเพศกลางได้ แต่เราก็ยังต้องอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายโดยรวมของประเทศที่ยังอยู่ในกรอบ 2 เพศ ดังนั้นเราจึงต้องคิดถึงการแก้ระบบกฎหมายที่ยังอยู่ในกรอบ 2 เพศทั้งระบบ เพราะปัญหาหลักมันไม่ได้อยู่ที่เพศของเราบนบัตรประชาชน หรือสูติบัตร จริงๆ มันอยู่ที่รัฐธรรมนูญที่เขียนเอาไว้ว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน แถมเรื่องความเป็นชาย ความเป็นหญิงยังไปสะท้อนอยู่บนกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ นั่นคือถ้าระบบกฎหมายไม่รับรองสิทธิของบุคคลที่เป็นนอนไบนารี คนที่เป็นเพศนอนไบนารีก็จะไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น แม้ต่อให้มีกฎหมายที่ระบุให้เราเป็นเพศกลางได้ ใช้คำนำหน้าในบัตรประชาชนตามที่เราต้องการได้ แต่กฎหมายอื่นๆ ไม่ได้รับรองสิทธิของคนที่เป็นเพศกลาง เราก็เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ การดูแลจากรัฐไม่ได้อยู่ดี มันต้องแก้ระบบกฎหมายของประเทศกันทั้งระบบตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net