Skip to main content
sharethis

"สุทิน" เพื่อไทย ชี้ปัญหานโยบายเสรีกัญชาของ "อนุทิน" สร้างแต่ปัญหาทั้งสุขภาพ กระทบเศรษฐกิจท่องเที่ยว ประชาชนและวิสาหกิจชุมชนที่ลงทุนปลูกก็ไม่มีช่องทางให้ขาย อีกทั้งยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการควบคุมยาเสพติด และยังเอื้อให้กับนายทุน 

19 ก.ค.2565 ที่ประชุมรัฐสภามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ขออภิปรายอนุทิน ชาญวีรกุลจากพรรคภูมิใจไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะผู้นำรัฐบาลที่ปล่อยให้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีกัญชาของพรรคภูมิใจไทย

สุทินเริ่มจากการชี้ให้เห็นว่านโยบายกัญชาของรัฐบาลเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญ และรัฐสภา จากการละเลยไม่ควบคุมกัญชาอย่างที่ควรจะเป็นทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ

เขาอธิบายว่าในนโยบายที่อนุทินประกาศเอาไว้เรื่องกัญชานั้นผิดกฎหมายระหว่างประเทศทุกเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการที่ทุกคนจะสูบได้และเป็นการหลอกลวงประชาชนเรื่องปลูกคนละหกต้นแล้วจะรวย และรัฐบาลก็ยอมเอาเข้ามาเป็นนโยบายของรัฐบาลเดินนโยบายตามที่อนุทินได้ประกาศไว้จนกลายเป็นการทำผิดไปจากกฎหมายระหว่างประเทศ

สุทินกล่าวถึงที่มาของกติการะหว่างประเทศในส่วนของการควบคุมยาเสพติดว่าเมื่อปี 2504 ได้มีอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและไทยก็ไปลงนามด้วยความสมัครใจ เมื่อลงนามก็ทำให้เกิดสถานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและทุกประเทศลงนามจะต้องปรับกฎหมายในประเทศให้สัมพันธ์กับอนุสัญญาทันที หลังไทยลงนามก็กลับมาปรับกฎหมายในประเทศตามอนุสัญญานี้ด้วยเช่นกัน ในอนุสัญญานี้กัญชากำหนดให้กัญชาอยู่ในยาเสพติด แต่ในปี 2563 ทั้งโลกก็เห็นว่ากัญชามีประโยชน์หลายประเทศก็เรียกร้องให้ UNODC แก้อนุสัญญา จนมีการย้ายจากประเภทที่สี่มาอยู่ประเภทที่หนึ่ง เป็นยาเสพติดร้ายแรงแต่อนุโลมให้ใช้ทางการแพทย์และวิจัยเท่านั้น ไม่ได้ให้ขายเชิงพาณิย์ แต่การอนุโลมนี้ก็ยังมีระเบียบเข้มงวดกำหนดอยู่

ส่วนของไทยสาธารณสุขก็ออกประกาศกฎกระทรวงมาปลดล็อกกัญชา แต่ประชาชนก็มีความเข้าใจผิดว่ารัฐสภาเห็นด้วยกับการให้ออก ทั้งที่คนปลดเป็นรัฐบาลแล้วก็กระทรวงส

สธ.ประกาศกฎกระทรวงมามีผลเมื่อ 9 มิ.ย.2565 ทำให้กัญชาถูกปลดปล่อยหมดวันนี้ไม่เป็นยาเสพติดแล้ว ทั้งที่กติการะหว่างประเทศยังให้เป็นอยู่เพียงแต่มีการอนุโลมใช้ทางการแพทย์แล้วก็มีกฎเข้มงวด ทั้งที่สภาแห่งนี้เสนอให้คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษไปพิจารณาถ้าจะเพิกถอนให้ประกาศเป็นประกาศ สธ.

กฎหมายกัญชากัญชงที่ทั้งสภาก็ยกมือให้ผ่านทั้งสภา แต่กลับถูกสื่อสารว่าสภามีความเห็นชอบหมด ทั้งที่สภายอมยกมือให้ร่างกฎหมายผ่านก็เพราะ สธ.ออกประกาศมาปลดล็อกกัญชาโดยที่ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุม สภาจึงต้องเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมแล้วพอร่างกฎหมายถูกเสนอเข้ามาสภาก็ไม่มีทางเลือกก็ต้องยกมือให้เพื่อให้มีกฎหมายออกมาควบคุม แต่วันนี้กฎหมายที่อยู่ใน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมาชิกของเพื่อไทยที่อยู่ใน กมธ.ก็พยายามให้ต้องมีกฎควบคุม เรื่องนี้ถือว่าเป็นการละเมิดต่อสภา

สุทินชี้ว่าเรื่องนี้มีการท้วงติงมาตลอดทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็เตือนว่าวันนี้โลกยังไม่ปลด หรือแม้แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.กระทรวงยุติธรรมก็ยังทักท้วงว่าจะขัดกับอนุสัญญาฯ หรือไม่ แต่อนุทินกลับตอบว่าอนุสัญญาไม่ได้บังคับว่าต้องให้กัญชาเป็นยาเสพติด จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ก็ยังกล่าวในที่ประชุมอีกว่ายกเรื่องอนุสัญญาฯ เอาไว้ก่อนแต่ให้กัญชาของไทยผ่านก่อนตามนโยบายก่อน

สุทินกล่าวว่าจากการสอบถามเรื่องนโยบายกัญชาของไทยไปทางคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (The International Narcotics Control Board หรือ INCB) อยู่ภายใต้ UNODC ที่ขณะนี้มี ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ เป็นประธานอยู่ก็ได้ให้ตอบมาว่าขัดกับกติการะหว่างประเทศทั้งหมด

สุทินยกตัวอย่างประเทศที่เปิดเสรีกัญชาว่าแม้จะมีบางประเทศที่เปิดบางส่วน แต่มีประเทศที่เปิดเสรีระดับที่ละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศอย่างมากในเวลานี้มีเพียง 2 ประเทศคือแคนาดากับอุรุกวัย และกำลังถูกคว่ำบาตรจากทั่วโลก จนประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอุรุกวัยก็ประกาศจะยกเลิกนโยบายของรัฐบาลก่อนที่เปิดเสรีกัญชาแล้วและผลจากการทำประชามติก็มีคนในประเทศกว่า 60% ที่เห็นด้วยว่าให้ยกเลิกการเปิดกัญชาเสรีเช่นกันเพราะเห็นว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี รายได้ที่เกิดจากการเปิดเสรีกัญชานั้นไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข ส่วนแคนาดาก็โดนคว่ำบาตรทางการเงินเพราะประเทศมุสลิมหลายประเทศไม่ยอมรับก็งดทำธุรกรรมกับประเทศที่เปิดเสรีกัญชา ส่วนสหรัฐฯ ก็มีเพียงแค่บางรัฐเท่านั้นที่มีนโยบายกัญชาเสรีเพื่อลดการใช้ยาเสพติดประเภทอื่นแต่สุดท้ายแล้วคนที่ใช้กัญชาก็ยังกลับไปใช้ยาเสพติดประเภทอื่นเหมือนเดิม

สุทินยกตัวอย่างเนเธอแลนด์เองก็ยังมีกฎหมายที่กำหนดว่าเป็นยาเสพติด แต่ปัญหาในเนเธอแลนด์ก็คือประชาชนมีการใช้ยาเสพติดประเภทอื่นอยู่มาก ทางรัฐบาลเนเธอแลนด์จึงขอกับทาง UN เพื่อขอทดลองใช้กัญชา ทำให้เปิดขายได้แต่ก็กำหนดพื้นที่การใช้กัญชาให้อยู่ในคาเฟ่เพียงไม่กี่แห่งในอัมสเตอร์ดัมเท่านั้นและยังมีข้อกำหนดเข้มงวดมากทั้งเรื่องอายุและปริมาณที่จะใช้ นอกจากนั้นรัฐบาลเนเธอแลนด์จะต้องทำรายงานส่งยูเอ็นทุกปีแต่จากรายงานปีล่าสุดก็บอกว่าไม่คุ้มเหมือนกัน

ส่วนอังกฤษและออสเตรเลียที่มีการทำข้อตกลงการค้ากัญชาระหว่างกัน ทั้งสองประเทศก็ต้องทำรายงานส่งให้กับยูเอ็นว่ามีมาตรการควบคุมอย่างไรเช่นเดียวกันและการส่งกัญชาระหว่างสองประเทศนี้ก็ถูกกำกับอย่างเข้มงวด ทั้งที่เป็นการเปิดให้ใช้ในการวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น

สุทินชี้ว่าประเด็นข้างต้นนี้ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ด้วย

ประเด็นต่อมาที่สุทินอภิปรายคือปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการใช้กัญชาที่ขายกันได้ทั่วไปจนมีทั้งขนม เครื่องดื่ม หรือผสมอยู่ในอาหาร โดยเขากล่าวว่าที่ผ่านมาราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ออกแถลงการณ์มาสองฉบับที่บอกว่าเด็กได้รับผลกระทบป่วย 6 รายและยังเรียกร้องให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดแล้วให้รัฐบาลดำเนินนโยบายสายกลางแทน นอกจากนั้นยังมีองค์กรด้านการแพทย์และศาสนาอื่นๆ ที่ออกมาคัดค้านอีกหลายแห่ง

สุทินกล่าวว่าการสื่อสารของรัฐบาลที่ผ่านมาต่อเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดที่ทำให้คนเข้าใจว่ายาวิเศษดีสารพัด ทั้งที่จริงๆ แล้วกัญชามีทั้งคุณและโทษ ถึงกัญชาจะใช้รักษาบางโรคได้แต่ก็มีผลข้างเคียงทำลายสมองด้วยผลจากการศึกษาก็พบว่าทำให้ความฉลาดลดลง ทำให้การจะใช้กัญชานั้นต้องมีการควบคุม แต่รัฐบาลก็ปลดล็อกโดยไม่มีการควบคุมที่ดีพอและยังไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชนด้วยจนมีประชาชนได้รับผลกระทบเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล

สุทินกล่าวต่อว่าหากอนุทินจะแก้ต่างว่ากำลังจะออกกฎหมายแล้ว แต่สิ่งที่พบในการพิจารณาร่างกฎหมายใน กมธ. ก็พบว่ากฎหมายที่จะออกมาก็ยังปล่อยให้มีการใช้กันได้เสรีอยู่ นอกจากนั้นมาตรการควบคุมที่จะให้แยกสาร CDB ออกจาก THC ที่เป็นอันตรายก็ยังไม่มีเพราะการจะตรวจหาปริมาณสารเหล่านี้ก็ต้องใช้เครื่องมือซึ่งมีราคาถึง 5 ล้านบาททำให้ประชาชนไม่สามารถทำการตรวจสอบปริมาณของสารเหล่านี้ได้เองเหมือนกับการไปหาชุดตรวจโควิดมาใช้ แล้วแบบนี้จะปล่อยให้ประชาชนเอาไปใช้โดยไม่มีการควบคุมทำได้อย่างไร

ส่วนประเด็นทางเศรษฐกิจ แม้อนุทินจะอ้างว่าเมื่อขายกันได้ทั่วไปแล้วทุกคนจะรวยกันหมด แต่สุทินก็ตั้งคำถามในประเด็นนี้ว่าแล้วจะให้ชาวบ้านที่ปลูกกันทั่วไปที่ได้ลงทุนแล้วเอาไปขายที่ไหนเพราะทุกประเทศเขายังถือว่าเป็นยาเสพติดอยู่ นอกจากนั้นตอนนี้ก็มีถึง 8 ประเทศแล้วที่ประกาศเตือนคนในประเทศที่จะมาเที่ยวเมืองไทยหากมีการนำเข้าก็จะถูกจับทันที 

สุทินกล่าวต่อว่า แม้จะพอทำได้ถ้าเป็นอุตสาหกรรมยา แต่ในอนุสัญญาฯ ก็ยังกำหนดว่าหากจะทำอุตสาหกรรมยาที่ใช้กัญชาประเทศนั้นจะต้องตั้งองค์กรเป็นการเฉพาะมาพิจารณราอนุญาตให้ปลูกและกำหนดพื้นที่ปลูก อีกทั้งต้องรายงานต่อ INCB ด้วยอีกทั้งองค์กรที่ตั้งขึ้นมานี้กจะคุมปริมาณการปลูก ผู้ที่ลงทุนปลูกหากต้องการขายก็ต้องขายให้องค์กรที่ตั้งขึ้นนี้ไม่ได้ขายได้ทั่วไป แล้วหากประเทศอื่นจะต้องการซื้อก็ต้องทำผ่านองค์กรดังกล่าวด้วยไม่สามารถเจรจาซื้อขายกันเองได้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิต จะเห็นว่าการซื้อขายกันเองนั้นไม่ได้ง่ายและคนที่ลงทุนก็จะได้รับผลกระทบ

เมื่อการซื้อขายกัญชาระหว่างประเทศทำไม่ได้ ช่องทางต่อมาคือการท่องเที่ยวซึ่งแต่เดิมประเทศไทยอาศัยสถานที่ท่องเที่ยวของไทยมาเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวสามารถมากันได้ทั้งครอบครัว แต่ถ้าจะเปลี่ยนจุดขายเป็นกัญชานักท่องเที่ยวที่ต้องการมาทั้งครอบครัวก็ต้องพิจารณาแล้วว่าจะมาดีหรือไม่ แล้วสุดท้ายถ้าจะเปิดให้คนมาเที่ยวด้วยการเปิดให้เข้าถึงกัญชาได้ก็ยังต้องมีการกำหนดโซนว่าจะให้ใช้ได้ที่ไหน รัฐบาลต้องกลับไปคิดดูว่าจะใช้เรื่องนี้เป็นจุดขายดีแล้วจริงหรือไม่

สุทินกล่าวว่าเมื่อสิ่งที่คาดว่าจะได้ไม่คุ้มแล้วกลับทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก และตอนนี้ก็ไม่มีกฎหมายใดห้ามคนเสพได้ เพราะมีแค่ห้ามเสพในที่สาธารณะและกำหนดว่าห้ามขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปีเท่านั้น การมีข้อกำหนดเพียงเท่านี้คำถามก็คือคือถ้าคนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ปลูกเสพเองทำได้ใช่หรือไม่หรือถ้าจะเสพในบ้านก็ทำได้ใช่หรือไม่

สุทินมองว่าการจะควบคุมกัญชาในเวลานี้ทำได้ยาก แม้ต่อให้มีกฎหมายออกมาก็ยังควบคุมได้ยาก ซึ่งจะเกิดปัญหาสังคมตามมาจากการที่ปล่อยเสรีกัญชา และยังกระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

นอกจากปัญหาต่างๆ ข้างต้นแล้ว สุทินยังชี้ประเด็นที่มีนักการเมืองไทยไปทำธุรกิจปลูกกัญชาในลาวแล้วพอประกาศกระทรวงออกมาปลดล็อกก็มีวางขายกันทันที แล้วเครือชิโนไทยที่เป็นของตระกูลชาญวีรกุลก็ลงทุนธุรกิจกัญชงเต็มที่แม้ว่าจะมีการโอนหุ้นไปให้เกียรตินาคินภัทรแล้วก็ตามแต่เกียรตินาคินก็จะได้ประโยชน์คำถามจากสังคมก็คือแล้วอนุทินจะได้ประโยช์ไปด้วยหรือไม่และเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ส่วนที่บอกว่าประชาชนจะได้ขายกันทั่วไปเพื่อเอามาแปรรูปเป็นยาก็ต้องมีสาร THC สูงพอทำให้การปลูกต้องทำโดยมีการควบคุมคือต้องปลูกในโรงเรือนปิดคุณภาพดินและอุณหภูมิได้การลงทุนส่วนนี้ก็สูงถึง 20 ล้าน แล้ววิสาหกิจชุมชนจะทำได้หรือได้ประโยชน์หรือไม่ ประชาชนทั่วไปที่ปลูกกันเองจะได้คุณภาพพอหรือไม่ อีกทั้งใน กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายก็มีความเห็นว่าไม่ให้ประชาชนทั่วไปปลูกเองแล้ว แล้วแบบนี้พอประชาชนที่ลงทุนปลูกมาขายไม่ได้จะทำอย่างไรก็ต้องเอามาใช้กันเอง เขายืนยันว่าถ้าร่างกฎหมายนี้เข้าสภามาเขาก็จะไม่รับ

ส่วนปัญหาระหว่างประเทศที่จะตามมาอีกคือหากดำเนินนโยบายนี้ต่อก็อาจจะทำให้ UNODC ขึ้นบัญชีว่าละเมิดกฎกติการะหว่างประเทศจนเสียสิทธิทางยา ในที่สุดอาจถึงขั้นงดให้ความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดกับไทย และหากไทยยังจะทำต่อไปก็อาจจะถูกขับออกจากการเป็นภาคีระหว่างประเทศ ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หรือต่อให้ไทยไม่สนเรื่องเหล่านี้ก็ยังต้องพิจารณาถึงสุขภาพของคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net