Skip to main content
sharethis

ประมาณ 80% ของคนยากจนในโลก อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทที่ต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำต่างๆ มากมาย อย่างการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะและการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งยังขาดแคลน 'งานที่มีคุณค่า' อีกด้วย


ที่มาภาพ: ILO Asia-Pacific (CC BY-NC-ND 2.0)

21 ก.ค. 2565 ประมาณร้อยละ 80 ของคนยากจนในโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะขาดแคลน 'งานที่มีคุณค่า' ทั้งความปลอดภัยในการทำงานที่ไม่เพียงพอ ค่าจ้างต่ำ ขาดความมั่นคง และชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป โดย 'ผู้หญิง' และ 'คนทำงานวัยหนุ่มสาว' คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตามรายงานฉบับใหม่จากสำนักกิจกรรมแรงงาน (ACTRAV) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

รายงาน Decent work deficits among rural workers ได้อ้างอิง 16 กรณีศึกษา ซึ่งครอบคลุม 15 ประเทศในแอฟริกา เอเชีย เอเชียกลาง ยุโรป และลาตินอเมริกา

รายงานพบว่า:

- คนทำงานภาคการเกษตรในชนบทมักได้รับสารเคมีก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงและความเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร
- คนทำงานหญิง อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัยมากที่สุด พวกเธอมีแนวโน้มที่จะอยู่ในงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ทำงานทักษะต่ำ ช่องว่างค่าจ้างทางเพศ และมีแนวโน้มที่จะถูกคุกคามและล่วงละเมิดในที่ทำงานมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานชาย
- แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานทำงานใช้หนี้ผูกพัน ยังคงดำรงอยู่, เด็กกว่าร้อยละ 95 ยังทำงานที่เสี่ยงอันตรายในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะในภาคการปลูกและผลิตโกโก้ น้ำมันปาล์ม และยาสูบ แรงงานบังคับยังคงดำรงอยู่ในบางภาคส่วน และรวมทั้งแรงงานทำงานใช้หนี้ผูกพันที่เชื่อมโยงกับการนายจ้าง
- คนทำงานในชนบท เข้าถึงการเจรจาทางสังคมและองค์กรแรงงานอย่างยากลำบาก ในหลายภาคส่วนสหภาพแรงงานเป็นองค์กรลอยๆ หรือไม่มีการดำเนินการที่แท้จริง ยอกจากนี้คนทำงานในชนบทยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการรวมตัวกัน
- การคุ้มครองทางสังคมยังคงเป็นความฝันสำหรับคนทำงานในชนบท การคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เพียงพอเป็นปัญหาเฉพาะสำหรับคนทำงานที่ไม่มั่นคง ซึ่งรวมถึงแรงงานนอกระบบ แรงงานไม่เป็นทางการ แรงงานชั่วคราวและรับจ้างเหมาช่วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในเรือกสวนไร่นา

"คนทำงานเหล่านี้จำนวนมากยังเด็กและออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย โดยได้รับการฝึกอบรมทักษะเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แม้จะมีการมองว่าการเปลี่ยนจากการศึกษาไปสู่การจ้างงานที่แสวงหาผลประโยชน์เป็นเรื่องยากในปัจจุบัน แต่สำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมากในพื้นที่ชนบทกำลังเผชิญปัญหานี้" มาเรีย เฮเลนา อังเดร ผู้อำนวยการสำนักกิจกรรมแรงงาน (ACTRAV) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวในคำนำของรายงาน

"คนทำงานในชนบทส่วนใหญ่ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งรวมถึงผู้หญิงจำนวนมากที่ทำงานเป็นผู้ดูแลโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งไม่สามารถลาคลอดและการคุ้มครองที่จำเป็นอื่นๆ ได้" อังเดร อธิบายเพิ่มเติม

ในด้านข้อเสนอแนะจากรายงานมีดังนี้:

- ควรเสริมสร้างการบริหารงานแรงงานในเศรษฐกิจชนบทอย่างเป็นระบบ
- ควรปรับปรุงการมีอยู่และความสามารถในระบบเศรษฐกิจชนบทของสหภาพแรงงานและองค์กรแรงงานระดับรากหญ้าอื่นๆ
- ควรจัดระบบวิสาหกิจในชนบทและจัดเตรียมการจ้างงานที่ดี
- ให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศอื่นๆ
- ควรรวมเอาภาคเศรษฐกิจในชนบทเข้ากับกระบวนการเจรจาทางสังคมที่เป็นทางการและเป็นระบบ
- เสริมสร้างความพร้อมในการรับมือภาวะวิกฤตและการคุ้มครองทางสังคมในระบบเศรษฐกิจชนบท
- ส่งเสริมการวิจัยและการวิเคราะห์นโยบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของคนทำงานในชนบท

ผู้อำนวยการ ACTRAV ยังเน้นย้ำว่าการทำงานที่มีคุณค่าจะสนับสนุนการบูรณาการภาคเศรษฐกิจในชนบทเข้าในการเจรจาทางสังคมที่เป็นทางการและในเชิงสถาบัน นอกเหนือจากการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตและการคุ้มครองทางสังคมในระบบเศรษฐกิจชนบท

"นโยบายเศรษฐกิจ การพัฒนา การค้าและการลงทุน การจ้างงาน และการคุ้มครองทางสังคมของประเทศต่างๆ จะต้องมีความมุ่งมั่นมากขึ้น เช่นเดียวกับกรอบการทำงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบข้อมูลตลาดแรงงานอย่างเป็นธรรม" อังเดร เน้นย้ำ

 

ที่มา
Workers in rural areas face severe decent work deficits (ILO, 7 July 2022)
All rural workers deserve social protection coverage: New ILO report (UN News, 7 July 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net