'จิราพร' เพื่อไทย เปิดเอกสารลับ คดีเหมืองอัครา ซัด 'ประยุทธ์' ถูกเตือน 9 ครั้ง ไม่รับฟัง

จิราพร เพื่อไทย เปิดเอกสารลับสำนักงานอัยการสูงสุดคดีเหมืองอัครา ชี้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แล้วว่าไทยจะแพ้คดีหากเรื่องถึงอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมาก แต่เพิกเฉย ไม่เร่งแก้ไข ย้ำ หน่วยงานรัฐพยายามเตือน พล.อ.ประยุทธ์ ถึง 9 ครั้ง เรื่องเหมืองอัครา แต่นายกฯ ไม่รับฟัง 

 

21 ก.ค. 2565 จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในประเด็นคดีเหมืองทองอัครา ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำผิดโดยใช้มาตรา 44 และมติ ครม. วันที่ 10 พ.ค. 2559 ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ และ พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติกรรมนำงบประมาณของแผ่นดินและผืนแผ่นดินของประเทศไปเจรจาแลกเปลี่ยนกับบริษัทเอกชนต่างชาติ เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นการทำผิดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์

จิราพร ชี้แจงว่า เหตุที่ต้องนำประเด็นคดีเหมืองทองอัครากลับมาอภิปรายในสภาอีกครั้ง เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้เลื่อนคำชี้ขาดคดีเหมืองทองอัคราออกไปโดยไม่มีการกำหนดวัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงยังไม่สิ้นสุด การอภิปรายครั้งนี้จึงเป็นการทวงคืนความยุตธรรมให้คนไทยทุกคนที่กลายเป็นจำเลย ต้องแบกรับความเสียหายจากคดีเหมืองทองอัคราแทน พล.อ.ประยุทธ์ ตัวการที่ได้ก่อคดีไว้

ทั้งนี้ จิราพรเปิดเอกสารลับไปจนถึงลับที่สุด อันเป็นเอกสารของทางราชการและเอกสารระหว่างประเทศที่ยังไม่เคยนำมาชี้แจงต่อสภา แม้เหมืองทองอัคราจะเปิดทำการในพ.ศ. 2554 ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่บริษัทอัคราจดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2536 ได้รับอนุมัติประทานบัตรทำเหมือง 5 ฉบับในพ.ศ. 2543 ก่อนยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลุแก่อำนาจใช้ ม. 44 สั่งระงับกิจการเหมืองทองทั่วประเทศในคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 จนเป็นเหตุให้ถูกบริษัทต่างชาติฟ้องร้อง

จิราพร เปิดเผยว่า ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกคำสั่ง คสช.ที่ 72/2559 ได้มีหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 2 กระทรวง ที่คัดค้านการออกคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากอาจทำให้ประเทสไทยเสี่ยงถูกฟ้องร้องได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มิได้รับฟังคำคัดค้านดังกล่าว

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปิดเหมืองทองคำบริษัทคิงส์เกตฯ ได้ขอเจรจากับประเทศไทยก่อนจะนำเรื่องเข้าสู่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย หรือ TAFTA คณะกรรมการไกล่เกลี่ยที่แต่งตั้งขึ้นโดยเฉพาะ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนี้

“กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ที่ระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ประกอบการกระทำความผิดเข้าข่ายละเมิดความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย ดังนั้นหน่วยงานจึงมีความเห็นว่าควรเจรจากับบริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อระงับข้อพิพาทให้ได้มากที่สุด เพราะหากบริษัทคิงส์เกตฯ นำเรื่องเข้าสู่กนระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไทยมีโอกาศแพ้คดีสูง และมีโอกาสที่จะชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก คำเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นที่เรียบร้อย” จิราพร กล่าว

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับฟังความคิดเห็นของหน่วยรัฐที่เสนอมาเป็นเหตุให้ประเทสไทยถูกฟ้องวันที่ 2 พ.ย. 2560 และในคณะกรรมการไกล่เกลี่ยยังมีบุคคลลึกลับ 2 คน คนแรกเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และอีกคนเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขณะนี้ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ บุคคลทั้ง 2 คน ไม่ปรากฏรายชื่อในคณะกรรมการระงับข้อพิพาทและไม่เคยปรากฏรายชื่อในรายงานการประชุม

“มีบุคคลลึกลับ 2 คน คนแรกเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรีมีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี คนที่สองเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขณะนี้ย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ บุคคลทั้ง 2 ทานนี้ ไม่มีรายชื่อปรากฏในคณะกรรมการระงับข้อพิพาท และไม่เคยปรากฏรายชื่อในรายงานการประชุม แต่เป็นไอ้โม่งที่รับคำสั่งโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปนั่งเป็นหัวโต๊ะการประชุม เพื่อคอยครอบงำ ชี้นำ สั่งการการทำงานของคณะกรรมการฯ ทำให้คณะกรรมการฯ จนขาดอิสระในการดำเนินงาน” จิราพร กล่าว

หลังจากนั้น จิราพรได้เปิดเผยเอกสารลับที่ร่างขึ้นโดยสำนักงานอัยการสูงสุดความยาว 5 หน้า โดยข้อความในเอกสารนี้ได้ถูกส่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่ประเทศไทยถูกฟ้องร้องจากการใช้อำนาจตาม ม. 44 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่ต้องให้ความเห็นและว่าความให้รัฐบาลในกรณีที่ถูกต่างชาติฟ้องร้องในฐานะทนายแผ่นดิน เอกสารนี้ระบุว่า จากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการทำเหมืองแร่ของเหมืองทองอัครา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผ่านไปกว่า 4 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมาสนับสนุนการใช้ ม. 44 ได้ สั่งปิดเหมืองทองอัคราได้

“แต่ที่น่าอดสูใจที่สุดคือ ในหนังสือฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อับจนหนทางถึงขนาดมีความคิดสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิงแวดล้อมขึ้นมา ทำให้ที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายไทยเตือนว่า จะเป็นอันตรายมาก เพราะบริษัทคิงส์เกตฯ จะอ้างว่ารัฐบาลพยายามสร้างความเดือดร้อนกับบริษัทอัคราเพิ่มขึ้น และถือว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาของชั้นอนุญาโตตุลาการ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้อยู่แก่ใจและเล็งเห็นผลได้ว่า เมื่อเรื่องเหมืองทองอัคราเข้าสู่ชั้นอนุญาโตตุลาการราชอาณาจักรไทยย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี และจะต้องชำระค่าเสียหายคิดเป็นเงินไทยอย่างน้อย 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 30,000 ล้านบาทให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ” จิราพร กล่าว

 

สำนักงานอัยการสูงสุดยังได้พยายามแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการคืนสิทธิให้บริษัทคิงส์เกตฯ 2 ทางเลือก คือ หนึ่ง ให้คณะกรรมการแร่แห่งชาติมีคำเห็นที่เป็นอย่างอื่นนอกจาก คำสั่ง คสช. ที่ 72/2559  เพื่อให้บริษัทกลับมาประกอบกิจการได้ แต่แนวทางนี้จะล่าช้าและเกิดความเสียหายไปเรื่อยๆ แนวทางที่ 2 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยกลเกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ซึ่งจะมีผลทันทีในการคืนสิทธิให้แก่บริษัท และกำหนดการเยียวยาเป็นตัวเงินควบคู่ไปด้วยในความเสียหายที่ไม่อาจชดเชยได้ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดเสนอให้ใช้วิธีการตามแนวทางที่ 2 จิราพรได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ทำตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดในการแก้ปัญหาและระงับข้อพิพาท ทั้งที่หนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 และการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการด้วยความชักช้า ไม่เร่งรีบ ขาดความรอบคอบ ทำให้คำสั่งตาม ม. 44 จากคำสั่งชั่วคราวกลายเป็นคำสั่งถาวร หลังขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.279 ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559

จิราพร ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเตือนเกี่ยวกับแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับเหมืองทองอัคราถึง 9 ครั้ง การไม่เร่งรีบแก้ไขปัญหาเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จงใจทำผิดซ้ำ และก่อให้คดีเหมืองทองอัคราเกิดความเสียหายต่อประเทศ กระทบกับงบประมาณแผ่นดินและความเสียหายนี้ยังตกแก่คนไทยทุกคน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจิราพรชี้แจงว่ามีดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัทคิงส์เกต ปีงบประมาณ 2560-2564 จำนวน 731,130,000 บาท

2. ค่าภาคหลวงที่จัดเก็บไม่ได้ ตั้งแต่ปี 2560-ปัจจุบัน ราว 3,000 ล้านบาท (คิดเฉลี่ยจากค่าภาคหลวงของบริษัทอัคราฯ ปี 2555-2559)

3. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ประเมินค่าไม่ได้

4. ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย กระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท