Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ไชนาดิจิทัลไทม์ที่มีฐานในสหรัฐฯ เปิดเอกสารของทางการจีนที่รั่วไหลออกมาเปิดเผยให้เห็นวิธีการเซนเซอร์ของรัฐบาลจีนและการที่รัฐบาลจีนพิจารณาว่าจะเซนเซอร์อะไรบ้างในพื้นที่โซเชียลมีเดียของพวกเขา โดยที่แนวทางนี้ถึงขั้นกำหนดแบนคำล้อเลียนหรือชื่อเรียกที่สื่อถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง 564 ชื่อ ไม่ว่าจะเป็น อดอล์ฟ ซิตเลอร์ หรือ วินนี เดอะ พูห์

 

22 ก.ค. 2565 อดอล์ฟ ซิตเลอร์ (ล้อเลียนชื่ออดีตผู้นำเผด็จการนาซีที่อื้อฉาวผสมกับชื่อของสีจิ้นผิง), วินนี เดอะ พูห์ และโคโรนาสี ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของหลายร้อยชื่อเรียกล้อเลียนประธานาธิบดีอำนาจนิยม สีจิ้นผิง ซึ่งรายชื่อหลายร้อยชื่อเหล่านี้ต่างก็ถูกสั่งแบนจากโซเชียลมีเดียจีน เรื่องนี้เป็นข้อมูลมาจากเอกสารแนวทางการเซนเซอร์ของรัฐบาลจีนที่รั่วไหลออกมา

เอกสารดังกล่าวนี้ระบุว่ารัฐบาลจีนทำการตรวจจับเนื้อหาอินเทอร์เน็ตเพื่อคอยเฝ้าระวังมีมต่างๆ วิดีโอล้อเลียนเสียดสี และการแสดงความคิดเห็นเชิงลบเกี่ยวกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง

โดยที่ในปี 2563 มีการกำหนดให้ผู้ดูแลเนื้อหาของสื่อโซเชียลมีเดียจีนที่มีลักษณะคล้ายอินสตาแกรมอย่าง "เสี่ยวหงซู" ต้องทำการตรวจสอบกรณีการใช้ชื่อเรียกหรือคำเรียกล้อเลียนเสียดสีสีจิ้นผิงภายให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 2 เดือน การตรวจสอบทำให้พวกเขาพบว่ามีชื่อเรียกและคำที่ถูกมองว่าอ่อนไหวทางการเมืองสื่อถึงประธานาธิบดีถึง 564 ชื่อ พวกเขาถูกสั่งให้ต้องดักเซนเซอร์ชื่อหรือคำเรียกเหล่านี้ล่วงหน้าไม่ให้มีการปรากฏบนหน้าโซเชียลมีเดีย

เอกสารที่รั่วไหลของทางการจีนมีความยาว 143 หน้า มีเนื้อหาแสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียของจีนไม่เพียงแค่เฝ้าจับตามองเนื้อหาที่เผยแพร่ในโซเชียลฯ ของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังทำการคอยจับตามองข่าวและปรับปรุงยุทธวิธีในการยับยั้งไม่ให้เนื้อหาที่อ่อนไหวทางการเมืองในจีนแพร่กระจายไปตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย เรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียจีนมีการพยายามควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนบนอินเทอร์เน็ตอย่างสุดแรงเกิด และพยายามดักทางไว้ล่วงหน้าหนึ่งก้าวก่อนจะเกิดข้อถกเถียงอภิปรายในประเด็นต่างๆ

วิธีการที่พวกเขาใช้คือการให้คนดูแลควบคุมเนื้อหาเว็บไซต์คอยติดธงให้กับข่าวที่มีโอกาสกลายเป็นกระแสพูดถึงและให้มีการระบุถึงคำสำคัญที่จะสั่งแบน เพื่อให้หน่วยงานเซนเซอร์แอพฯ คัดกรองเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น

อิริก หลิว อดีตคนทำงานดูแลเนื้อหาบอกว่า เขาไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อนในตอนที่เขายังคงทำงานเป็นผู้ดูแลเนื้อหาให้กับเว็บไซต์โซเชียลมีเดียจีน เว่ยปั๋ว (Weibo) เมื่อปี 2554 ในตอนนั้นผู้ดูแลเนื้อหาจะแค่รับคำสั่งมาแล้วก็ลบเนื้อหาตามคำสั่งเท่านั้น ไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับเนื้อหาประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมือง ในตอนนี้หลิวทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับเว็บไซต์ไชนาดิจิทัลไทม์ที่มีฐานในสหรัฐฯ ผู้ที่ได้รับเอกสารที่เปิดโปงเรื่องการเซนเซอร์มาจากกลุ่มในแอพฯ เทเลแกรม

ถึงแม้ว่าเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย เสี่ยวหงซู มักจะถูกใช้เพื่อเผยแพร่เรื่องราวไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว แต่ผู้ดูแลเว็บก็จะคอยสอดส่องว่ามีการนำเสนอข่าวในเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภัยธรรมชาติ, เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน, การประท้วงและการนัดหยุดงาน, เรื่องอื้อฉาวทางการตลาด และช่วงเวลาสำคัญทางการเมืองต่างๆ ข้อมูลที่รั่วไหลของทางการจีนระบุว่าผู้ดูแลเว็บเหล่านี้รายงานเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้ว 30 เหตุการณ์ต่อวัน และได้รับคำสั่งว่าจะให้จัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้อย่างไร โดยมีวิธีการจัดการแตกต่างกันแยกย่อยไปในแต่ละเหตุการณ์

เช่นมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศที่ครูชายคนหนึ่งกระทำกับนักเรียนชายมากกว่า 20 ราย ตลอดช่วง 10 ปีแดงออกมา ผู้ดูแลเว็บไซต์ก็ได้รับการกำชับจากทางการว่าอย่าให้มีการโยงไปถึงเรื่องกรณีการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์รายอื่นๆ และห้ามไม่ให้ผู้คนได้รับความรู้เรื่องเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกั

เวลาที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในห้างสรรพสินค้าในฮ่องกง ผู้ดูแลเว็บไซต์ในจีนก็ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบฉากหลังของห้างสรรพสินค้าเหล่านี้เพราะกลัวว่าจะมีกราฟฟิตี้หรือคำขวัญในการประท้วงของฮ่องกงปนมาด้วย

เอกสารที่รั่วไหลนี้ยังทำการลิสต์แนวทางปฏิบัติการต่างๆ ในยามฉุกเฉิน เช่นการที่ให้ผู้ดูแลไม่เพียงแค่ลบเนื้อหาทิ้งเท่านั้นแต่ยังต้องระบุคำสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกลบไปแล้ว จากนั้นต้องทำการกวาดล้างเนื้อหาใหม่อีกครั้งด้วยคำสำคัญเหล่านี้เพื่อไม่ให้มีอะไรเล็ดลอดผ่านการเซนเซอร์ไปได้

หลิวบอกว่า สาเหตุที่พวกเขามีขั้นตอนเพิ่มขึ้นจากการเซนเซอร์แบบเดิม เพราะผู้ดูแลแอพฯ ต่างๆ ต้องคอยทำตามสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ แล้วรัฐบาลจีนก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

 

 

เรียบเรียงจาก

 

หมายเหตุ : 0.24 น. วันที่ 23 ก.ค.2565 ประชาไทดำเนินการปรับแก้พาดหัวและส่วนของโปรย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net