Skip to main content
sharethis

"สมศักดิ์" เสนอ "ชัชชาติ" ใช้บริการผู้ต้องขังลอกท่อแก้น้ำท่วมเพิ่ม พร้อมโปรโมชั่นทำก่อนจ่ายทีหลัง แม้ยังไม่มีงบจ้าง ขอเพียง กทม. ประสานเข้ามา

หลังจากหลายพื้นที่ใน กทม. ต้องกลายสภาพเป็นทะเลย่อม ๆ จากฝนที่ตกกระหน่ำลงมาอย่างหนักเมื่อช่วงค่ำวานนี้ จนทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งคำถามถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า เหตุใดจึงยังมีเหตุการณ์นี้เช่นนี้เกิดขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ท่านผู้ว่าฯ ก็เทกแอคชั่น ลงพื้นที่หาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับกรมราชทัณฑ์นำผู้ต้องขังออกมาช่วยลอกท่อ

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาเสนอตัวช่วยกับ นายชัชชาติ เพิ่มเติม เกี่ยวกับการนำผู้ต้องขังลอกท่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์นำผู้ต้องขังลอกท่อในพื้นที่ กทม. ซึ่งช่วงนี้เกิดฝนตกและมีน้ำท่วมขังหนักจะเพิ่มจำนวนอีกหรือไม่ แม้ กทม. จะไม่มีงบประมาณจ้าง ก็สามารถที่จะพูดคุยช่วยเหลือกันได้ เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ในกรุงเทพฯ ก็มาพูดคุยกดดันตนว่า อยากจะให้ออกมาช่วย

ตนคิดว่า แม้ในปีงบประมาณนี้ งบ กทม.อาจจะหมด ก็สามารถมาหาทางออกด้วยกัน ตนก็พร้อมจะช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้มีเงินจ้าง 530 กม. แต่ถ้ายังไม่สามารถจะเคลียร์ปัญหาขยะที่ติดค้างได้ ก็จะไปช่วย เราจะไม่เน้นเรื่องค่าใช้จ่ายมาก เช่น อาจจะทำก่อนค่อยจ่ายที่เหลือก็ได้ เป็นต้น

ที่มา: Nation Online, 21/7/2022

รายงาน TIP Report 2022 ยกระดับประเทศไทยขึ้น Tier 2

รายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons (TIP) Report 2022 (2565) ของ สหรัฐฯ ยกระดับประเทศไทยขึ้นสู่ระดับที่ 2 (Tier 2) โดยขยับขึ้นจากการเป็นประเทศในกลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watchlist) ในปีที่ผ่านมา

การปรับสถานะครั้งนี้ ทำให้ไทยกลับสู่สถานะเดิมเหมือนปี 2563 แล้วถูกปรับสถานะลงมาในปี 2564

รายงานประจำปีฉบับดังกล่าว ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และถูกเผยแพร่เมื่อ 19 ก.ค. ตามเวลาในสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐบาลไทยยังไม่ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ แต่แสดงให้เห็นความพยายามอย่างที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรอบระยะเวลาการรายงานครั้งก่อน พร้อมทั้งระบุว่าในภาพรวม รัฐบาลไทยได้มีพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ จำนวนการสืบสวนคดีและการระบุตัวผู้เสียหายที่เพิ่มขึ้น และการจัดตั้งศูนย์คัดแยกและคุ้มครองผู้เสียหายแห่งใหม่

อีกทั้งยังมีการจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) เสร็จสมบูรณ์ โดยขยายระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรองก่อน การคัดแยกผู้เสียหายเป็น 45 วัน การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อคัดกรองผู้ที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและแรงงานบังคับตามกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ และ การดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

รายงานระบุว่าประเทศไทยได้รับการปรับระดับเป็นระดับ 2 ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการเพิ่มจำนวนการสืบสวนคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แนวทางการจัดหาแรงงานบังคับตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีการเริ่มต้นการสอบสวนผู้ต้องหาหาว่าสมรู้ร่วมคิดในปี 2564 รวม 17 รายและมีการพิพากษาจำคุก 2 ราย

นอกจากนี้รัฐบาลด้วยจัดตั้งศูนย์ระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์แห่งใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการส่งต่อผู้ต้องสงสัยที่ระบุว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไปที่ทีมสหสาขาวิชาชีพและระบุผู้เสียหายมากกว่าเดิม

รายงานยังกล่าวเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นต่ำมาตรฐานในหลายด้านที่สำคัญ และนั่นส่งผลให้จำนวนคดีค้ามนุษย์และความเชื่อมั่นลดลงเมื่อเทียบกับรอบระยะเวลารายงานในปีก่อนหน้า ถึงแม้จะมีรายงานว่าแรงงานบังคับเป็นที่แพร่หลายในหมู่แรงงานข้ามชาติ ในหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่การสอบสวนที่ไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพในช่วงการปฏิบัติในระหว่างการเข้าตรวจแรงงาน ทำให้เหยื่อการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้ประกาศรายชื่อ TIP Heroes 6 คน เพื่อเชิดชูผู้ที่ทำงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งปีนี้มีคนไทยได้รับรางวัลนี้ด้วยได้แก่ อภิญญา ทาจิตต์ จากองค์กร Stella Maris ในฐานะผู้ทำงานด้านการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาลักลอบค้าแรงงานเด็ก

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีต่อการที่สหรัฐฯ ยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปีนี้ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น

"นายกรัฐมนตรีกำหนดนโยบายโดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแก้ไขปัญหาต่อต้านการค้ามนุษย์ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ปกป้อง คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยไทยพร้อมร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบ ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ทุกคน ทุกคนมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา โดยขอให้มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำจัดปัญหานี้ให้หมดจากประเทศไทย" นายธนกรกล่าว

ทั้งนี้ TIP Report ปี 2021 (2564) ของ สหรัฐฯ ดันไทยตกสู่กลุ่ม 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง ชี้รัฐบาลดำเนินมาตรการกำจัดการค้ามนุษย์ไม่ได้มาตรฐานแม้ในระดับต่ำสุด

รายงานฉบับนี้ชี้ว่าไทยมีความพยายามจัดการปัญหา ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์ การคุ้มครองเหยื่อ ให้การฝึกอบรมผู้พิพากษาและอัยการให้คำนึงถึงความบอบช้ำทางจิตใจของเหยื่อ รวมทั้งยังริเริ่มให้มีการสืบสวนเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ 9 คนถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์ และอื่น ๆ

แต่ถึงอย่างนั้น โดยรวมแล้วรัฐบาลไม่ได้แสดงความพยายามมากพอเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แม้จะนำข้อจำกัดในเรื่องผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาพิจารณาแล้วก็ตาม โดยรัฐบาลสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยน้อยลง และลงโทษผู้กระทำผิดน้อยลงกว่าเมื่อปี 2562 และแม้จะมีรายงานเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ายังคงมีการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมหลายประเภทในไทย แต่รัฐบาลกลับรายงานตัวเลขการค้าแรงงานข้ามชาติต่ำกว่าขอบเขตของปัญหา ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงขาดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้าแรงงาน และรัฐบาลก็ไม่มีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบกรณีที่เข้าข่ายเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อไป

รัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตามยังมีการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2563

ในปี 2564 รัฐบาลรายงานการสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ที่อาจเกิดขึ้น 188 คดี (133 คดี ในปี 2563) การดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยค้ามนุษย์ 125 ราย (302 ราย ในปี 2563) และการตัดสินลงโทษผู้ลักลอบค้ามนุษย์ 82 ราย (233 ราย ในปี 2563) ศาลตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ 75 คนในปี 2564 โดยประมาณ 97% ถูกตัดสินจำคุกสองปีขึ้นไป

สำนักงานปฏิบัติการอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตต่อเด็กของไทย ได้สอบสวนคดีอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตต่อเด็ก 79 คดีในปี 2564 (94 ในปี 2563) รวมถึงคดีการค้ามนุษย์ที่อำนวยความสะดวกทางอินเทอร์เน็ต 11 คดี (22 คดีในปี 2563)

รายงานระบุเพิ่มเติมว่ารัฐบาลได้เพิ่มความพยายามในการระบุตัวตนและการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ 414 คน ในปี 2564 เทียบกับ เหยื่อการค้ามนุษย์ 231 ราย ระบุในปี 2563 และ 868 ในปี 2562

โดยมีเหยื่อการค้ามนุษย์ 414 แบ่งออกเป็นชาย 151 ราย หญิง 263 ราย เด็ก 72 ราย เป็นเหยื่อชาวไทย 312 ราย ชาวเมียนมา 94 ราย ชาวลาว 2 ราย และจากประเทศที่ไม่ระบุจำนวน 6 ราย

เหยื่อการค้าประเวณี 181 ราย และเหยื่อการค้ามนุษย์ 233 ราย จากเหยื่อ 414 รายที่ระบุในปี 2564 รัฐบาลรายงานว่าให้บริการแก่ 354 ราย (เทียบกับเหยื่อ 148 รายที่ระบุในปี 2563)

จากเหยื่อการค้ามนุษย์แรงงาน 233 รายที่ระบุโดยทางการไทยในปี 2564 มี 109 รายเป็นเหยื่อชาวไทยที่ถูกบังคับให้ทำงานให้กับเว็บไซต์การพนันออนไลน์ที่ระบุโดยประสานงานกับทางการกัมพูชา เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรายงาน รัฐบาลได้ระบุเหยื่อชาวไทยจำนวน 227 รายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในกัมพูชา

รายงานของปีนี้ได้ให้คำแนะนำต่อประเทศไทยในการดำเนินการของรอบปีต่อให้ โดยมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล ดังนี้

- เพิ่มการดำเนินคดีและการลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้าแรงงาน

- ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และดำเนินการให้มีประสิทธิภาพในเรื่องแนวทางใหม่ในการดำเนินการตามมาตรากฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์

- สอบสวนเชิงรุกและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดในการอำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์และนักโทษ และลงโทษผู้ที่พบว่ามีความผิด

- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ขั้นตอนที่ได้รับข้อมูลกระทบกระเทือนจิตใจในระหว่างการสัมภาษณ์ผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะตกเป็นเหยื่อ รวมทั้งในระหว่างการตรวจแรงงาน

- ขยายทางเลือกทางกฎหมายให้เหยื่อต่างชาติอยู่ในที่พักพิง เช่น อนุญาตให้ผู้เสียหายออกจากระบบที่พักพิงได้เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะแสวงหาโอกาสการจ้างงานภายนอก

ที่มา: BBC Thai, 20/7/2565

ร้านอาหารแย่งพนักงานเสิร์ฟ ชูค่าจ้างวันละ 600 บาท คู่สวัสดิการจูงใจ

สื่อประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าแม้ธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากทางการมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ธุรกิจเริ่มค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่าธุรกิจร้านอาหารยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนพนักงานอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่ร้านอาหารรายใหญ่หลายรายได้นำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการเสิร์ฟอาหารในหลาย ๆ สาขา สะท้อนจากภาพของการปิดป้ายประกาศตามสาขาต่าง ๆ เพื่อรับสมัครพนักงานตำแหน่งต่าง ๆ พร้อมระบุรายได้ขั้นต่ำและสวัสดิการอย่างชัดเจน

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เชนร้านอาหารรายใหญ่ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, อากะ, ซิว คาร์นิวอล, เทสซึ ร้านอาหารไทยอีสาน อาทิ ตำมั่ว ลาวญวน ร้านอาหารตามสั่ง เขียง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ขณะนี้ธุรกิจร้านอาหารในภาพรวมกลับมาแล้ว 100% หลังทุกอย่างคลายล็อก แม้โควิด-19 จะเริ่มกลับมาระบาดแต่ทุกคนรู้วิธีการอยู่กับมัน ประกอบกับภาครัฐไม่ได้กลับมาล็อกดาวน์เหมือนเดิม ทำให้ร้านอาหารค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยเฉพาะร้านในศูนย์ ที่ทราฟฟิกในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์คึกคักมาก

แต่ที่เป็นปัญหาในขณะนี้คือ ร้านอาหารต่าง ๆ ขาดพนักงานบริการค่อนข้างมาก หากสังเกตจะเห็นได้ว่า ร้านอาหารต่าง ๆ มีการขึ้นป้ายประกาศรับสมัครเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะคนย้ายงานบ่อย การเทิร์นโอเวอร์สูง ยิ่งตอนนี้ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา โรงแรมเริ่มมีการรับพนักงานเพิ่ม ภาพการย้ายงานก็จะเห็นชัด ที่ผ่านมาเคยมีน้อง ๆ จากโรงแรมมาสมัครงานในช่วงที่โรงแรมปิด พอโรงแรมเปิดก็กลับไป

สำหรับร้านอาหารในเครือเซ็น มีการเปิดรับพนักงานจำนวนมาก ทั้งเพื่อรองรับการเปิดสาขาใหม่และนำไปเสริมในสาขาเดิม และต้องอาศัยพนักงานพาร์ตไทม์เข้ามาช่วย ตำแหน่งที่รับมาก คือ พนักงานบริการ เพราะตำแหน่งนี้เข้า-ออกตลอดเวลา ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ผู้บริหาร ในครัว พนักงานที่ดูแลหลังบ้าน จะไม่ค่อยมีปัญหา

“ตอนนี้ในธุรกิจอาหารเราให้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 500 บาท นอกจากนี้ยังมีการปรับค่าแรงพิเศษ และหลังโควิดมาก็มีอินเซนทีฟเพิ่มให้ด้วย ยิ่งหาคนยากเท่าไหร่ การแข่งขันดึงตัวก็มีขึ้น จากนี้ไปเชื่อว่าค่าแรงมีแต่จะเพิ่ม และช่วงนี้ยังมีเรื่องเงินเฟ้อเข้ามาอีก ค่าแรงมีแต่จะเพิ่มขึ้น”

นายกรีฑากร ศิริอัฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการเงิน บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และอนุญาตให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 ผู้ประกอบการร้านอาหารกลับมาเปิดพร้อมกัน แต่พนักงานจำนวนหนึ่งไม่กลับมา

จนถึงขณะนี้พนักงานร้านอาหารยังขาดแคลนอยู่มาก โดยเฉพาะพนักงานบริการ จึงมีการแย่งตัวกันมาก สำหรับไมเนอร์ ฟู้ดเอง หลังกลับมาเปิดสาขาในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา พนักงานบริการก็มีไม่เพียงพอ ซึ่งเดิมทีใช้คนในท้องถิ่น แต่เมื่อเจอโควิดก็หันไปประกอบอาชีพอื่นหมด

การรับสมัครพนักงานของไมเนอร์ ฟู้ด นอกจากการรีครูตพนักงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องหากลยุทธ์และสวัสดิการเพื่อจูงใจ เพื่อรองรับการเปิดสาขาใหม่ของบอนชอน เบอร์เกอร์คิง และซิซซ์เล่อร์ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

บริษัทยังให้อำนาจกับ restaurant manager ในการจ้างพนักงาน เมื่อมีตำแหน่งว่าง restaurant manager สามารถรับพนักงานที่หน้าร้านได้ทันที ผู้ที่ต้องการสมัครงานร้านอาหารในเครือไมเนอร์ ฟู้ด สามารถเดินเข้ามาที่หน้าร้านได้เลย โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว

ขณะที่ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ร้านอาหารขาดคนมาก โดยเฉพาะพนักงานเสิร์ฟ นอกจากร้านอาหารแล้วโรงแรมก็ยังขาดพนักงานจึงเกิดการแย่งตัวกัน และวันนี้ในแง่ค่าจ้างของพนักงานร้านอาหารก็เลยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (วันละ 331-336 บาท) ไปแล้ว

แต่ก็ยังหาคนลำบากมาก บางคนกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด บางคนขายของออนไลน์ นอกจากนี้ ร้านอาหารเป็นงานหลายหน้า เป็นงานจุกจิก หลาย ๆ คนอาจจะไม่ชอบ ที่ผ่านมาธุรกิจภาคบริการ โดยเฉพาะร้านอาหารเติบโตมาก และทำให้มีความต้องการแรงงานมาก

ตอนนี้แม้ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยเสริม แต่ต้นทุนการนำเข้าต่อหัวก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ประมาณ 15,000 บาทต่อหัว ส่วนใหญ่ก็ต้องยอม เพราะพนักงานคนไทยไม่มี ค่าแรงของคนไทยต้องจ้าง 500-600 บาทต่อวัน ด้วยแต่ลักษณะงานที่เป็นงานจุกจิก ทำให้คนไม่อยู่นาน

นางสาวจารุวรรณ งามพิสุทธิ์ไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) เปิดเผยว่า ตอนนี้ร้านอาหารในเครือ 18 แบรนด์ จาก 4 กลุ่ม ประเภทอาหาร กำลังเปิดรับสมัครงานพนักงานทีมบริหารร้าน 60 อัตรา (ผู้จัดการร้าน, ผู้จัดการร้านฝึกหัด และซูเปอร์ไวเซอร์) พนักงานปฏิบัติการหน้าร้าน 250 อัตรา (พนักงานบริการ/เสิร์ฟ, พนักงานครัว) ที่รับมากหลัก ๆ คือ มิสเตอร์โดนัท อานตี้แอนส์ และเคเอฟซี นอกจากนี้ ยังรับพนักงานสำนักงาน 20 อัตรา (การตลาด, บัญชีการเงิน, ทรัพยากรมนุษย์)

“การสรรหาพนักงานหลังจากที่มาตรการต่าง ๆ ผ่อนคลายลง ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากทุกธุรกิจสามารถกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ ธุรกิจร้านอาหารก็กลับมาให้บริการในรูปแบบให้นั่งทานที่ร้าน จึงเกิดความต้องการแรงงานที่แท้จริงในตลาดแรงงาน”

ล่าสุด ซีพีเอฟ ฟู้ด กรุ๊ป มีความเคลื่อนไหวในการรับสมัครพนักงานประจำร้านอาหารในเครือมากกว่า 200 อัตรา โดยประกาศเปิด walk interview สัมภาษณ์วันเดียวรู้ผล ในวันที่ 22 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ที่ฟอร์จูนทาวน์ ชั้น 18 ประกอบด้วย ธุรกิจห้าดาว ธุรกิจเชสเตอร์ ธุรกิจดัคกาลบี้ (ร้านอาหารเกาหลี) ธุรกิจฮาร์เบอร์ (ร้านอาหารบุฟเฟต์พรีเมี่ยม) รวมถึงธุรกิจฟู้ดคอร์ตและจัดเลี้ยง ธุรกิจสลัดและเครื่องดื่ม

และขณะนี้ร้านอาหารไมเนอร์ ฟู้ด มีการรับสมัครพนักงานมากกว่า 100 อัตรา อาทิ ซิซซ์เล่อร์ (กรุงเทพฯและปริมณฑล) เปิดรับประมาณ 20 อัตรา ทั้งฟูลไทม์ (11,000-16,500 บาท) และพาร์ตไทม์ (50-65 บาท/ชั่วโมง โอที 1.5 เท่า วันหยุดนักขัตฤกษ์ 2 เท่า) ทั้งพนักงานบริการ และพนักงานครัว (สลัดบาร์-ครัวร้อน),

เช่นเดียวกับสเวนเซ่นส์ ที่เปิดรับสมัครผู้จัดการร้านฝึกหัด (15,000 บาท) ขณะที่เบอร์เกอร์คิงรับพนักงานแคชเชียร์ 20 อัตรา (11,000-12,500 บาท) และส่วนบอนชอนเปิดรับพนักงานเสิร์ฟหลายสาขาอัตราค่า (11,500 บาท) รวมทั้งเดอะพิซซ่าคอมปะนี ที่เปิดรับพนักงานส่งดีลิเวอรี่ ทั้งฟูลไทม์ (9,500-12,000) และพาร์ตไทม์ (43-55 บาท)

เช่นเดียวกับเชนร้านอาหารขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการปิดป้ายประกาศรับสมัครพนักงานบริเวณหน้าร้านตามสาขาต่าง ๆ พร้อมระบุรายได้-สวัสดิการ เพื่อจูงใจ อาทิ แบล็คแคนยอนรับสมัครพนักงานหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้ช่วยผู้จัดการร้านฝึกหัด/ผู้จัดการร้านฝึกหัด (รายได้รวมประมาณ 15,000 บาท) ซูเปอร์ไวเซอร์ (12,000 บาท), พนักงานประจำร้าน/บาริสต้า/แคชเชียร์/บริการ (11,000 บาท), ผู้ช่วยกุ๊ก/หัวหน้ากุ๊ก (14,000 บาท) พร้อมชูเรื่องสวัสดิการ โบนัสประจำปี เงินรางวัลการขาย ค่าประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล จูงใจ

ส่วนเคเอฟซีรับสมัครพนักงาน ไม่จำกัดอายุ (มากกว่า 18 ปีขึ้นไป) ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ รายได้เริ่มต้นชั่วโมงละ 42-45 บาท รายได้เฉลี่ยวันละ 336-360 บาท หรือประมาณเดือนละ 10,080-11,000 บาท พร้อมสวัสดิการ-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เงินตอบแทนตามผลงาน (จ่ายทุกไตรมาส) ชุดยูนิฟอร์ม เป็นต้น

ส่วนบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด ผู้บริหารร้านอาหาร เกรฮาวด์ คาเฟ่, อนาเธอฮาวด์ คาเฟ่ และบ้านฮาวด์รับสมัครพนักงานประจำ (13,000-22,000 บาท) และพาร์ตไทม์ ตั้งแต่พนักงานล้างจาน พนักงานเสิร์ฟ/บริการ พนักงานชงเครื่องดื่ม/bartender กุ๊กหน้าเตา/ผู้ช่วยกุ๊ก (ครัวไทย-ครัวยุโรป)

นอกจากนี้ ยังรับสมัครพนักงานรายวัน รายได้ 424-520 บาท/วัน พนักงานรายชั่วโมง รายได้ 53-65 บาท/วัน และมีสวัสดิการต่าง ๆ จูงใจ อาทิ เซอร์วิสชาร์จ ค่าเงินทิป ค่าอาหาร+ข้าว วันพักร้อน โบนัสประจำปี ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เครื่องแบบพนักงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 20/7/2565

กมธ.งบประมาณ 2566 ถกปัญหาคนไทยไปทำงานเกาหลี พบเป็น 'ผีน้อย' 1.4 แสนคน

20 ก.ค.2565 ที่รัฐสภา นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แถลงว่า กมธ.งบประมาณฯปี 2566 ใช้เวลาในการพิจารณางบประมาณปี 2566 มาแล้วทั้งหมด 27 วัน รวม 245 ชั่วโมง ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาไปแล้ว รวม 16 กระทรวง 22 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 59 โดยในการพิจารณางบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน งบประมาณจำนวน 1,019,703,300 บาท

นายสัณหพจน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับ ปัญหาแรงงานที่เดินทางไปยังประเทศเกาหลีใต้ อย่างผิดกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ผีน้อย ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ไม่มีผู้ใดให้การ ช่วยเหลือได้ และมีกมธ.บางท่าน เสนอแนะว่า เนื่องจากมีคนไทยจำนวนมากที่ต้องการ หนีความยากจนและต้องการได้เงินเดือนที่สูงขึ้น จึงเดินทางไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกนายจ้างทำร้ายแต่ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมหรือความช่วยเหลือจากผู้ใดได้ ทั้งนี้ หากหน่วยงานมีแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานไทยให้สามารถเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายในเกาหลีใต้ได้ เช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทํางานในประเทศไทย ซึ่งเมื่อตรวจพบแรงงานที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย จะมีการจดทะเบียนเพื่อให้งานสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามหมาย

นายสัณหพจน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีคนไทยไปทำงานผิดกฎหมาย ประเทศเกาหลีใต้จำนวน 140,000 คน และมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย จํานวนประมาณ 30,000 คน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประเทศไทยได้หารือ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของประเทศเกาหลีได้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้คนไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย ให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการฝากให้สำนักงานแรงงานในประเทศเกาหลีใต้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้ นอกจากนี้ แรงงานไทย เดินทางไปทำงานต่างประเทศทั่วโลกส่งเงินกลับเข้ามาในประเทศไทย ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

โฆษกกมธ . กล่าวว่า นอกจากนี้ ในเรื่องของการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย มี กมธ.บางท่าน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ประเทศซาอุดิอาระเบีย และประเทศสหรัฐอเมริกา มีความต้องการแรงงานที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานจึงควรมีแผนเพิ่มบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของมหาวิทยาลัย ที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข และพยาบาลวิชาชีพ เพราะเป็นสาขาที่ขาดแคลน ทั้งในประเทศและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ เช่น ประเทศซาอุดิอาระเบียที่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และต้องการพยาบาลวิชาชีพเป็นจำนวนมากในขณะนี้ หรือประเทศสหรัฐอเมริกาที่อาชีพ พยาบาลมีค่าตอบแทนที่สูง

ที่มา: ไทยโพสต์, 20/7/2565

เผยบริษัทผลิตนมโฟร์โมสต์พาสเจอร์ไรซ์ เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 111 คน จ่ายเงินตามสิทธิประโยชนกฎหมายแรงงานแล้ว

20 ก.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้รับรายงานว่า บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งปิดกิจการยุติการดำเนินธุรกิจนมพาสเจอร์ไรซ์แบบถาวร โดยประกาศเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 111 คน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันและเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

โดยการเลิกจ้างในครั้งนี้ บริษัทได้จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างทุกคนแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว หากประสงค์จะใช้สิทธิประกันการว่างงาน การหาตำแหน่งงานว่าง และการฝึกทักษะทางด้านอาชีพตามความต้องการ สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่ากรณีเลิกจ้างนี้ กรมได้รับทราบก่อนการเลิกจ้างแล้ว จึงได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 9 เข้าไปชี้แจงสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายประกันสังคม รวมทั้งบริการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น การจัดหางาน การฝึกอาชีพ ให้นายจ้างและลูกจ้างได้รับทราบ

ที่มา: คมชัดลึก, 20/7/2565

สำนักงานสถิติฯ เผยลูกจ้างรัฐและเอกชนกว่า 42% ได้ค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท

จากรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2565 มีการเผยข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและเงินเดือน ที่เก็บรวบรวมเฉพาะผู้ที่มีสถานภาพการทำงานเป็นลูกจ้างเท่านั้น ประกอบด้วยลูกจ้างเอกชนและรัฐบาล สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลตามประเภทของค่าจ้างที่ได้รับ (รายชั่วโมง, รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน) แล้วนำมาแปลงเป็นค่าจ้างรายเดือนหรือเงินเดือน ในจำนวนลูกจ้างทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือน ซึ่งมีประมาณ 18.78 ล้านคน

พบว่าจำนวนผู้ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนมีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.4 รองลงมาคือ ผู้ได้รับค่าจ้าง 10,000 – 14,999 บาทต่อเดือน อยู่ที่ร้อยละ 20.9 และผู้ที่ได้รับค่าจ้าง 15,000 – 29,999 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 26.0 ในขณะที่มีลูกจ้างเพียงร้อยละ 10.1 ได้รับค่าจ้าง 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป

เมื่อเปรียบเทียบระดับค่าจ้างหรือเงินเดือนของลูกจ้างในภาคเอกชนและภาครัฐบาล พบว่า ในภาพรวมลูกจ้างเอกชนมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าลูกจ้างรัฐบาล (ลูกจ้างเอกชน : 13,468 บาทต่อเดือน ส่วนลูกจ้างรัฐบาล : 21,516 บาทต่อเดือน)

จากผลการสำรวจที่ปรากฏ การที่ลูกจ้างเอกชนมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่ารัฐบาล สืบเนื่องจากลูกจ้างเอกชนในที่นี้ได้รวมถึงลูกจ้างรายวันและกรรมกรผู้ใช้แรงงานทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนมากและส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยในส่วนของลูกจ้างเอกชนต่ำ

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของลูกจ้างเอกชนที่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และ 10,000 –14,999 บาทต่อเดือน มีสูงกว่าลูกจ้างภาครัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด ในทางตรงกันข้ามสัดส่วนของลูกจ้างภาครัฐบาลที่ได้รับเงินเดือนระหว่าง 15,000–29,999 บาทต่อเดือน และตั้งแต่ 30,000 บาท ต่อเดือนขึ้นไปมีสูงกว่าลูกจ้างเอกชน

ที่มา: Marketeer, 19/7/2565

พนักงานการท่าเรือฯ ขอความเป็นธรรม ดีเอสไอ ตรวจสอบถูกหลอกให้สมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เสียหาย 4,000 ล้านบาท เป็นคดีพิเศษ

19 ก.ค. 2565 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พาพนักงานประมาณ 100 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบการบริหารงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรณีหลอกลวงให้พนักงานสมัครสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้าข่ายความผิดมูลฐานฟอกเงิน มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท โดยขอให้รับเป็นคดีพิเศษ เพราะมีการบริหารงานที่ทำให้พนักงานกว่า 2,000 คน ได้รับความเสียหาย โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่เป็นผู้รับเรื่อง

นายกฤษฎา กล่าวว่า ขอให้ดีเอสไอช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของผู้บริหารการท่าเรือฯ หลังได้รับความเสียหาย คือ 1. การท่าเรือฯ และกองทุนสัญญาว่าในวันสมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น การท่าเรือฯจะจ่ายเงินประเดิมให้พนักงาน รวมเป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีของพนักงานในกองทุน แต่ความจริงแล้ว ขณะนั้นการท่าเรือฯ ไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายให้แก่พนักงานแต่ละคนได้ ซึ่งเงินประเดิมนั้น แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับอายุการทำงาน ตั้งแต่ปีที่เริ่มงานถึงปีที่สมัครเข้ากองทุน เช่น บางคนมีเงินประเดิม 3-5 ล้านบาท บางคนมีเงิน ประเดิม 1-2 ล้านบาท เป็นต้น แต่จากการหลอกลวงว่าการท่าเรือฯจะมีการนำเงินประเดิมไปเข้าบัญชีของพนักงานในกองทุนนั้น ทำให้พนักงานหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกกองทุนกว่า 2,000 คน ในปี 2548-2549

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า 2. เมื่อกองทุนได้จดทะเบียนในปี 2548 แต่ปรากฏว่า หลังจากสมัครเป็นสมาชิกแล้วนาน 5 ปี พนักงานจึงได้รับเงินประเดิมครบถ้วนในปี 2553 แต่ความเสียหายในช่วงเวลา 5 ปีนั้น ก็ทำให้พนักงานไม่มีเงินที่จะนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดหลักทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ และผลที่ตามมา คือ ขณะออกจากกองทุนพนักงานนับ 1,000 คนได้รับเงินน้อยกว่าพนักงานที่อยู่ในระบบบำนาญเดิมอย่างมาก แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผู้บริหารการท่าเรือ และผู้บริหารกองทุน จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายผู้บริหารได้รับเงินเมื่อออกจากกองทุนมากกว่าพนักงานหลายล้านบาท ทั้งที่ผู้บริหารบางคนเงินประเดิมน้อยกว่าหรือเท่ากับพนักงาน

การบริหารงานในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ไม่นำเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท ไปเข้าบัญชีของสมาชิกในกองทุนตั้งแต่วันสมัครตามข้อบังคับนั้น เป็นเหตุให้พนักงานได้รับความเสียหายเป็นกรณีพิเศษเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 “ความผิดมูลฐาน” (3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน (4) ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทําโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ สถาบันการเงินหรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทําโดยกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการดําเนินงานของสถาบันการเงินนั้น และ (5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรมหรือหน่วยงานของรัฐหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เบื้องต้น ดีเอสไอ รับหนังสือไว้ทำการตรวจสอบและเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/7/2565

ก.แรงงาน เตือนนายหน้าเถื่อนระบาดโซเชียล หลอกคนไทยใช้วีซ่าท่องเที่ยว เดินทางเข้า UAE ก่อนบังคับขายบริการทางเพศ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการโฆษณาชักชวนไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทางสื่อออนไลน์ ผ่านเพจ Facebook จำนวนมาก เช่น “แรงงานไทยในประเทศดูไบ” “หางานนวดต่างประเทศ” ชักชวนให้ไปทำงานในตำแหน่งนวดสปา งานการตลาด งานแอดมินดูแลเว็บไซต์การพนันออนไลน์ และพนักงานฝ่ายบุคคล

โดยอ้างว่าจะได้รับค่าจ้างสูง และจะเป็นผู้จัดการเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ก่อน พร้อมทั้งจะออกค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่าให้ โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) หรือวีซ่าเยี่ยมเยือน (Visit Visa) เดินทางเข้าไปในยูเออี และเมื่อเดินทางไปถึงจะมีคนมารับที่สนามบินให้เซ็นสัญญาการรับสภาพหนี้ และพาไปทำงานอื่นที่ไม่ได้ตกลงไว้

อาทิ งานในร้านนวดที่มีการลักลอบขายบริการทางเพศ งานด้านการพนันออนไลน์ ระหว่างนี้จะยึดหนังสือเดินทางไว้เพื่อไม่ให้เหยื่อหนี ซึ่งการโฆษณารับสมัครงานดังกล่าว เป็นโฆษณาชักชวนคนไทยให้เดินทางเข้ามาทำงานในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และมีหญิงไทยจำนวนมากตกเป็นเหยื่อถูกบังคับค้าประเวณี และถูกทำร้ายร่างกาย

รมว.ก.แรงงาน กล่าวต่อว่า ห่วงใยคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎหมาย ไปทำงานประเทศใดต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายประเทศนั้นอย่างเคร่งครัด กรณีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น มีกฎหมายที่เข้มงวดและรุนแรง ซึ่งการค้าประเวณีถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับหรือตามที่ศาลพิจารณาและจะถูกเนรเทศ

"ไม่เคยนิ่งนอนใจได้มอบหมายกรมการจัดหางาน ซึ่งมีภารกิจในการให้ความคุ้มครองคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศและมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดอยู่ทั่วประเทศ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนหางานในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ทันเล่ห์กลของนายหน้าเถื่อน สามารถช่วยสอดส่องผู้มีพฤติการณ์น่าสงสัยที่เข้ามาหลอกลวงคนในชุมชน และแจ้งเบาะแสต่อเจ้าหน้าที่ได้"นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้คนไทยที่กำลังหางานในต่างประเทศ ทำความเข้าใจว่าหากสาย-นายหน้ามีพฤติการณ์ชักชวนให้ทำงานผิดกฎหมาย แนะนำให้ลักลอบเข้าประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศโดยไม่แจ้งการทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหางาน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ

สำหรับยูเออีตำรวจเข้มงวดอย่างมากในการจับกุมผู้ใช้วีซ่าผิดประเภทในการลักลอบทำงานผิดกฎหมาย และผู้ถือวีซ่าหมดอายุ จนมีคนไทยหลายคนถูกจับกุม ติดคุกและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายท้องถิ่นจำนวนมาก และการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนดังกล่าวให้ได้เดินทางกลับประเทศไทยกระทำได้ยาก

เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตฯไม่สามารถไปก้าวก่ายกระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมของทางการยูเออีได้ จะต้องรอจนกว่ากระบวนการทางศาลสิ้นสุด โดยไม่สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ ได้เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมายตั้งแต่แรก นอกจากนี้ผู้ลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายหากประสบปัญหาใดๆ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศไทยเอง

“กรณีผู้ที่เดินทางเข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) หรือวีซ่าเยี่ยมเยือน (Visit Visa) และลักลอบทำงานมีโทษปรับ 50,000 ดีแรห์ม หรือประมาณ 475,000 บาท หากกระทำผิดซ้ำจะถูกปรับสองเท่าและถูกเนรเทศ

หากไม่มีเงินค่าปรับ ต้องจำคุกแทนค่าปรับวันละ 100 ดีแรห์ม กรณีอยู่เกินวีซ่า (Overstay) จะโดนปรับวันแรก 200 ดีแรห์ม หรือ 1,900 บาท และวันต่อไปวันละ 100 ดีแรห์ม หรือ 950 บาท และค่าธรรมเนียมอีก 100 ดีแรห์ม” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th หรือ www.doe.go.th/overseas เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ สำนักงานจัดหางานจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายโทรศัพท์ 0 2245 6708 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/7/2565

เครือข่ายแรงงานบุกทำเนียบ ตั้งวงกินข้าวกับมาม่าประชดรัฐหลังค่าครองชีพพุ่งสวนทางค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

18 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงาน นางศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนแกนนำเครือข่ายแรงงาน 8 องค์กร พร้อมด้วยผู้ใช้แรงงานกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมีข้อสั่งการไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เร่งรัดดำเนินการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมอย่างโปร่งใส ทั้งนี้เครือข่ายแรงงาน ได้มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำโหลยาดอง ซึ่งดองป้ายเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม มาเทเพื่อประชดความล่าช้า ความไม่จริงใจของ รมต.แรงงาน และได้นั่งกินข้าวเปล่ากับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อสะท้อนความยากลำบากของผู้ใช้แรงงาน ในยุคค่าครองชีพสูงข้าวของแพงแต่ค่าแรงยังต่ำ ทังนี้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เดินทางมารับหนังสือจากเครือข่ายฯ

นางศรีไพร กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 กำหนดให้คณะกรรมการการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มาจากการเลือกตั้งโดยให้มีผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนด้วย แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งบอร์ดสปส. ชุดใหญ่แทนชุดเก่า พร้อมออกคำสั่ง คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งตามมาตรา 8 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี แม้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งดังกล่าว เมื่อวันที่8กรกฎาคม 2564 และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงตอนนี้7ปีแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เลือกตั้งอย่างไร ยิ่งตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจข้าวของต่างๆ มีราคาแพง ค่าครองชีพสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นตาม ทั้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้กำหนดเป็นโยบายตอนหาเสียงว่าจะปรับค่าจ้าง 400-425 บาท นี่ผ่านมา 3 ปีกว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำตามที่พูดเมื่อไหร่

ด้าน นางสาวธนพร กล่าวว่า องค์กรแรงงานทั้ง 8 แห่ง ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้ สปส. เร่งรัดจัดเลือกตั้งบอร์ด สปส.ใหม่โดยมีสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 พ.ร.บ.ประกันสังคม 2.ขอให้ สปส.ยกเลิกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในข้อ16 (1) ของระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมพ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ควรให้สิทธิผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยมีสิทธิเลือกตั้งด้วย 3.ขอให้สปส.ยกเลิกและแก้ไข ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 3 และมาตรา 8 เรื่องที่มาของบอร์ดสปส.ในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตนมาจากการแต่งตั้ง เพราะขัดกับหลักการการมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนของผู้ประกันตนโดยตรง และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายของกองทุน สปส.ได้ และ 4.ขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่พรรคพลังประชารัฐได้กำหนดนโยบายในการหาเสียงไว้

“ที่ผ่านมาเครือข่ายได้ไปยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงานมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ทำให้มีคำถามว่าการเตะถ่วงแบบนี้มีวาระอะไรแอบแฝงอะไรหรือไม่ และมีใครได้ประโยชน์จากการยื้อไว้แบบนี้ ตอนนี้สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงการทำงานของประกันสังคม รวมถึงความโปร่งใสในนโยบายต่างๆที่ออกมา การมาในวันนี้ต้องการสื่อสารถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของรัฐบาลว่า รมต.แรงงานของตัวเองกำลังมีปัญหา และเร็วๆนี้เราจะไปยื่นข้อมูลให้ฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้ด้วย” นางสาวธนพร กล่าว

อนึ่งองค์กรเครือข่ายแรงงาน 8 องค์กร ประกอบด้วย 1.สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย 2.สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย 3.สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย 4.กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง 5.กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 6.กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก 7.สหภาพคนทำงาน 8.เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

ที่มา: สยามรัฐ, 18/7/2565

'พรรคแรงงานสร้างชาติ' ลุยเปิดสาขาภาคเหนือ จ.อุตรดิตถ์ ชี้หาร 500 จะไม่มีพรรคใดผูกขาด

17 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์ประชุมตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ นายมนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ เป็นประธานการเปิดการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคแรงงานสร้างชาติ พื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดอุตรดิตถ์ เขตที่ 1) ทางพรรคแรงงานสร้างชาติ ได้มีการเปิดสาขาพรรคครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เขต1 ตั้งตัวแทนเขตที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ตัวแทนเขตเลือกตั้งเขตที่ 1 และเขตที่ 2 มาแล้ว พื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลด่านแม่คำมัน อำเภอลับแล ถือเป็นการเปิดสาขาพรรค ครั้งที่ 2 และจะดำเนินการเปิดสาขาพรรค ภาคใต้ ที่ จ.ตรัง และภาคกลาง ที่ จ.สมุทรปราการ ต่อไป

การเปิดการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคแรงงานสร้างชาติวันนี้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ส่งตัวแทนร่วมสังเกตการณ์ พร้อมให้คำชี้แนะและแนะนำถึงการจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายการจัดตั้งสาขาพรรค

นายมนัส กล่าวว่า พรรคแรงงานสร้างชาติ เป็นพรรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ เป็นพรรคทางเลือกใหม่ของพี่น้องประชาชน อุตรดิตถ์เป็นสาขาภาคเหนือ ให้ประชาชนทางภาคเหนือได้มีทางเลือกใหม่ เรามีนโยบายชัดเจนเรื่องในเรื่องของด้านแรงงาน ด้านการเกษตร ด้านสังคมวัฒนาธรรม และด้านอื่นๆ อีกมากมาย วันนี้ เราได้แถลงนโยบายกับสมาชิกและประชาชนที่เข้าร่วมประชุมถึงการเปิดสาขาครั้งแรก พรรคแรงงานสร้างชาติ เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ มีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งกฎหมาย ผู้นำแรงงาน นักวิชาการ หลายส่วนมาผสมผสานเป็นพรรคแรงงานสร้างชาติ เป้าหมายคือทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนเข้าใจถึงบทบาททางการเมืองและประชาธิปไตย โดยเฉพาะจำนวน ส.ส. เขตพื้นที่เราคงไม่อาจเอื่อม แต่เราคิดว่าในระบบการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เป็นระบบบัตร 2 ใบ แบบบัญชีรายชื่อและส.ส.เขต แต่เราเน้นนโยบายของพรรคเพื่อให้พี่น้องประชาชนจับต้อง โดยเฉพาะในฐานล่าง ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนในเรื่องของเศรษฐกิจ

“สำหรับการเลือกตั้งระบบหาร 500 คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกับพรรคเล็กหรือพรรคที่เกิดใหม่ ให้ประชาชนสามารถเลือกได้ ถ้าชอบ ส.ส. เขตก็เลือกตัวบุคคลไป ถ้าชอบนโยบายพรรคก็เลือกพรรค นโยบายของพรรคแรงงานสร้างชาติ ชัดเจนในเรื่องของผู้ใช้แรงงาน ประกันสังคม เราสามารถเลือกทั้งบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ ปัจจุบันมีเฉพาะบำนาญ บำเหน็จไม่มี”

ที่มา: ไทยโพสต์, 17/7/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net