ชำนาญ จันทร์เรือง: วัฒนธรรมการวิพากษ์แบบไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาที่น่าปวดหัวในยุคที่การสื่อสารเป็นไปด้วยความรวดเร็วสามารถเผยแพร่ไปทั่วโลกภายในแค่ระยะเวลาการคลิกส่งข้อความชั่วลัดนิ้วมือเดียว คือ การวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เป็นวิชาการและไม่ใช่วิชาการเป็นไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่มนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมจะต้องมีการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม ฯลฯ 

การแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ และภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นย่อมเป็นสิ่งที่ต้องเคารพโดยรัฐและโดยปัจเจกบุคคล ตราบเท่าที่ไม่เป็นการละเมิดต่อคนอื่น 

ประเด็นปัญหา

1. ใครที่เล่าเรียนศึกษาในเรื่องใดก็มักจะยกประเด็นความรู้ที่เรียนมาอันจำกัดนั้นวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์ เช่น เรียนมาทางการศึกษาก็จะแสดงความคิดเห็นว่าปัญหาในสังคมทั้งหมดเกิดจากการศึกษาตัวเดียวเท่านั้น ถ้าเป็นนักกฎหมายก็จะพูดประเด็นเดียวคือตัวแปรที่เป็นกฎหมาย ถ้าเป็นผู้ซึ่งฝักใฝ่ทางศาสนาก็จะใช้หลักการของคุณธรรม จริยธรรม เป็นตัวแปรเดียว ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า การวิเคราะห์โดยสรุปรวบยอดด้วยตัวแปรตัวเดียว (reductionism) จนมีลักษณะตื้นเขินและผิวเผิน (cursory, simple-mindness)

2. ใช้ความรู้สึกเผ่าพันธุ์นิยม วัฒนธรรมนิยม หรือชาตินิยม ในการสรุปปัญหา เช่น วัฒนธรรมไทยดีที่สุดในโลกและไม่จำเป็นต้องเลียนแบบฝรั่ง หรือภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อแม่เรา เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร เราจึงไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษ หรือเอาแบบไทยๆ เช่น ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ระบบอาวุโสหรือโซตัสแบบไทยๆ ทรงผมนักเรียนแบบไทยๆ เป็นต้น

3. การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อาจจะออกมาในลักษณะของการดันทุรัง ยืนกรานเป็นกระต่ายขาเดียวโดยไม่สามารถแสดงเหตุผลอันใดได้ ตัวอย่างเช่น ไม่เห็นด้วยกับที่พูดมา แต่เมื่อถูกถามว่าไม่เห็นด้วยในส่วนไหนก็จะตอบว่า ไม่เห็นด้วยและไม่จำเป็นต้องขยายความ เมื่อถูกถามบ่อยครั้งเข้าก็จะบันดาลโทสะ จนในบางครั้งจบลงด้วยการท้าตีท้าต่อยหรือใช้กำลังเพราะไม่สามารถถกเถียงด้วยเหตุผลต่อไปได้

ปัญหาในสังคมไทยเราก็คือ คนจำนวนมากไม่สามารถจะเข้าถึงความจริงได้ และมองทุกอย่างเป็นความถูกความผิด เป็นขาวเป็นดำ เป็นเหลืองเป็นแดงหรือส้ม เป็นฝักเป็นฝ่าย จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เต็มไปด้วยอคติ และบ่อยครั้งจะมีลักษณะเป็นการประฌาม (condemn) ยกตนข่มท่าน (condescending) และบางครั้งก็ใช้วิธีคุกคามข่มขู่โดยใช้มาตรฐานศีลธรรม (moral blackmail) เช่น การประฌามคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกับตนเองเป็นสัตว์ หรือคนไม่ดี โดยวิธีการดังกล่าวนั้นผสมผสานกับเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของคนที่ตนไม่ชอบ (character assassination) 

จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่ประเทืองปัญญา ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรต่อกัน จนนำไปสู่การแตกแยกในสังคม 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

1. ผู้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ ขาดข้อมูลข่าวสาร จึงแสดงความคิดเห็นอย่างผิดๆ เป็นต้นว่า พวกที่รณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเป็นคนที่มุ่งแบ่งแยกดินแดนหรือมุ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ฯลฯ

2. การขาดความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายอย่างยิ่ง เช่น การขาดความรู้ในเรื่องกฎหมายทำให้เกิดเห็นดีเห็นชอบกับกระบวนการออกกฎหมายที่ผิดหลักการสากล หรือการขาดความรู้เรื่องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะนำไปสู่การเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็น/การชุมนุมในที่สาธารณะ/การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ/สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของฝรั่ง เป็นต้น

3. ความมีอคติเป็นฝักเป็นฝ่าย ทำให้ไม่สามารถวางตัวเป็นกลาง ใครที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตนจะเป็นคนผิดและคนเลว

4. การมีปมด้อยทำให้การแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์จะออกมาในลักษณะข้างๆ คูๆ ไม่สามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหาของความคิดเห็น แต่จะโจมตีเรื่องส่วนตัว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของความคิดเห็นดังกล่าว 

5.การมีวาระซ่อนเร้น ที่ต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้แสดงความคิดเห็น ดังนั้น จึงมีการแสดงออกในลักษณะที่สรุปแบบไร้เหตุไร้ผลหรือยกตนข่มท่าน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเพราะไม่สามารถจะพูดตรงจุดได้

อย่าลืมว่าการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์นั้นบางครั้งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ ถ้าการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวมีนัยแอบแฝง เช่น การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในลักษณะวิพากษ์และยั่วยุจนมีการตอบโต้กัน ซึ่งจะกระพือความร้อนแรงทางการเมืองมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้กันระหว่างติ่งของพรรคการเมืองทั้งหลาย ฯลฯ

ที่กล่าวมาคือลักษณะที่พบกันบ่อยครั้งในสังคมไทยที่ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมไม่สอนให้คนคิดวิเคราะห์ คนไม่รักการอ่าน ศึกษาหาความรู้ แต่อยากแสดงความสามารถในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่รู้ตัวว่าได้สร้างความเข้าใจผิดกับผู้อ่าน 

การแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการ

การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทฤษฎีและการวิเคราะห์ในทางวิชาการ จะต้องมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่แตกต่างจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามปกติของคนทั่วไป โดยในทางวิชาการ นั้น การเสนอความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ จะต้องพยายามให้มีลักษณะวัตถุวิสัย (objective) หลีกเลี่ยงการมีลักษณะจิตวิสัย (subjective) หรือพยายามไม่ใส่ค่านิยมในการวิเคราะห์หรือการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ ที่เรียกว่า value free หรือ value neutral โดยผู้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวนั้นจะต้องสามารถวางตัวเป็นกลางได้อย่างเต็มที่

นักวิชาการที่พยายามวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของประเทศของตนเอง แม้ว่าตัวเองจะมีรสนิยมหรือทัศนคติเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าจะวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การทราบสมมุติฐานอย่างแท้จริง ก็ต้องวางตัวเป็นกลาง มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดเนื่องจากการวิเคราะห์ผิด อันมีสาเหตุมาจากการไม่เป็นกลาง การแยกบทบาทดังกล่าวนี้นักวิชาการหลายคนสามารถทำได้ดี แต่บางคนก็เป็นอย่างที่เรารู้ๆกันอยู่

ทั้งหมดทั้งปวงสรุปสั้นๆได้ว่า ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือไม่ใช่นักวิชาการก็ตาม ต้องใช้การคิด วิเคราะห์และแยกแยะให้ดีนั่นเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท