Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บางคนบอกว่า ฉันต้องการมี “ตัวตน” ของฉันในฐานะ “ปัจเจกบุคคล” ที่มีอิสรภาพทางศีลธรรม คือมีเสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตนเห็นว่าดีหรือใช่ และหากจะเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมสังคม ก็ต้องการที่จะเชื่อมโยงในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองบนหลักความยุติธรรมที่ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ โอกาส และสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เท่าเทียมกัน 

แต่บางคนบอกว่า ฉันไม่ต้องการมีตัวตนในฐานะปัจเจกบุคคล แต่ฉันต้องการมี “ตัวตน” ในฐานะที่ฉันเป็นส่วนหนึ่งของ “อัตลักษณ์” (identities) ของกลุ่ม ชุมชน สังคม หรือชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของฉัน 

ทว่าปัญหาคือ อัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ตามกรอบคิดชาตินิยม ศาสนา และวัฒนธรรมเป็นสิ่งประกอบสร้างโดยชนชั้นใด 

ฉันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์นั้นๆ มีสิทธิหรือมีส่วนร่วมประกอบสร้างมันขึ้นมาไหม หรือเพียงแค่ฉันเกิดมามีชีวิตรอด ฉันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชาตินิยมแบบนั้นๆ หรือเป็นชาวฮินดู ชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม ชาววัฒนธรรมปิตาธิปไตยเป็นต้นโดยอัตโนมัติแล้ว 

และถ้าวันหนึ่ง ฉันพบว่าอัตลักษณ์พวกนั้นคือภูเขาแห่งอำนาจที่กดทับตัวฉัน หรือเป็นเมฆหมอกที่บดบังฉันจากการมองเห็นความเป็นไปได้ของชีวิตที่เปิดกว้างมากกว่า ฉันจะมีเสรีภาพเลือกชีวิตในแบบที่ฉันเห็นว่าดีหรือใช่ ซึ่งตรงข้ามจากอัตลักษณ์รวมหมู่ที่ฉันถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งไปแล้วได้หรือไม่

ตัวอย่างเช่น เราถูกปลูกฝังผ่านสถาบันศาสนามายาวนาน เพราะเดิมทีสถาบันศาสนาคือสถาบันที่ให้การศึกษาความรู้ ความคิด ความเชื่อ “เชิงนามธรรม” ซึ่งถือกันว่ามีคุณค่าสูงกว่าความรู้รูปธรรม (เช่น วิชาที่ใช้ประกอบอาชีพต่างๆ) และความรู้ ความคิด ความเชื่อเชิงคุณค่านามธรรมที่สถาบันศาสนาเน้นมากและเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมมากเป็นพิเศษ ก็คือความรู้ ความคิด ความเชื่อที่ใช้สถาปนาให้กษัตริย์เป็นเทพ เทพอวตาร สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ทำให้บรรดาผู้ใต้ปกครองเชื่อสืบทอดกันมาจนฝังในจิตใต้สำนึกว่า พวกเขาไม่ได้ถูกปกปครองโดย “คนเหมือนกัน” หากแต่ถูกปกปครองโดยผู้มีบุญญาธิการเหนือกว่า หรือมาจากสวรรค์ชั้นฟ้า ชนชั้นปกครองจึงเป็นชนชั้นที่ผู้ใต้ปกครองต้องเชื่อฟัง เกรงกลัว และเทิดทูนบูชา

เมื่อสยามจำเป็นต้องปรับตัวในยุคอาณานิคม ชนชั้นปกครองเห็นว่าสถาบันกษัตริย์กับสถาบันศาสนาไม่อาจแยกขาดจากกันได้ แต่สถาบันทั้งสองต้องปรับตัวให้ทันสมัย 

เริ่มจากรัชกาลที่ 4 เห็นว่า กษัตริย์สมัยใหม่ต้องไม่อยู่ใน “ที่รโหฐาน” และคนทั่วไปมองพระพักตร์ไม่ได้เหมือนยุคก่อนหน้า แต่กษัตริย์สมัยใหม่ต้องให้ราษฎรมองพระพักตร์ได้ และรับฎีการ้องทุกข์จากราษฎร นอกจากนี้ยังเป็นกษัตริย์ที่เชี่ยวชาญไตรปิฎก อรรถกถา ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และความรู้สมัยใหม่อื่นๆ เพื่อเท่าทันตะวันตก รัชกาลที่ 4 จึงเริ่มจ้างครูฝรั่งสอนภาษาอังกฤษให้ลูกๆ ถึงยุครัชกาลที่ 5 ก็ส่งลูกหลานไปเรียนที่ยุโรป (โดยเฉพาะอังกฤษ) จำนวนมาก

แต่รัชกาลที่ 4 ไม่เห็นด้วยกับการเลิกระบบไพร่ ทาส เพราะถือว่าเป็น “ประเพณี” ที่สืบทอดกันมายาวนาน การเลิกระบบไพร่ ทาสจะกระทบต่อโครงสร้างอำนาจทางการเมืองหลายส่วน อีกอย่างระบบทาสในสยามก็ไม่ได้ทารุณโหดร้ายเหมือนระบบทาสในตะวันตก เพราะมีพุทธศาสนาสอนให้นายทาสเมตตาต่อทาส

ต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ได้เลิกระบบไพร่ ทาส เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานไพร่ ทาสหมดความจำเป็น การเซ็นต์สัญญาการค้ากับอังกฤษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้ชาวสยามมีการค้าขายอย่างเสรีกับชาวต่างชาติ ตลาดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เริ่มก่อตัวต้องการแรงงานแบบใหม่ที่ไม่ใช่ไพร่ ทาส การเกณฑ์แรงงานไพร่และระบบทาสเป็นปัญหาต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จึงต้องเลิกไป

แต่ในด้านสถาบันศาสนากับสถาบันกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ได้ทำให้ศาสนามีความเป็น “สถาบันของรัฐ” อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วยการสถาปนา “มหาเถรสมาคม” เป็นองค์กรปกครองสูงสุดของพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร โดยกษัตริย์เป็นประมุขของมหาเถรสมาคม คล้ายกับกษัตริย์หรือราชินีอังกฤษเป็นประมุขของศาสนจักรนิกายอังกลิคาน หรือ Church of England พูดอีกอย่าง มหาเถรสมาคมก็คือ “ศาสนจักรของรัฐ” ที่กษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการเลียนแบบศาสนจักรอังกฤษในระดับหนึ่ง

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งจบการศึกษามาจากอังกฤษ ก็กำเนิดอุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เลียนแบบคำขวัญ “God, King and Country” ของอังกฤษยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

น่าสังเกตว่า ทั้งรัชกาลที่ 4, 5 และ 6 ต่างให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาสูงมาก พร้อมๆ กับการปรับตัวรับอิทธิพลความคิดตะวันตก หรือเลียนแบบตะวันตกในทางสนับสนุนความมั่นคงของระบบกษัตริย์และพุทธศาสนา 

เห็นได้จาก รัชกาลที่ 4 ซึ่งบวช 27 พรรษา เชี่ยวชาญไตรปิฎกและอรรถกถา ได้ก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย และเริ่มวางรากฐานการศึกษาพุทธศาสนาให้ทันสมัยกว่ายุคก่อน รัชกาลที่ 5 สร้างวัดเบญจมบพิตร และมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ทรงชื่นชมพระเจ้าอโศกมหาราชในฐานะจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของแผ่นดิน ส่วนรัชกาลที่ 6 ทรงแสดง “เทศนาเสือป่า” ว่าฝรั่งก็มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติของเขา ไทยก็ต้องมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย และสิ่งที่แสดงถึง “อัตลักษณ์ความเป็นไทย” คือ “ความจงรักภักดี” ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จนสามารถสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้

จะเห็นว่าชนชั้นปกครองได้สร้าง “อัตลักษณ์ความเป็นไทย” บนฐานความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จากการเลียนแบบตะวันตก ตั้งแต่การเปลี่ยนสถานะกษัตริย์ที่อยู่ในที่รโหฐานเร้นลับมาเป็น “กษัตริย์ยอดนิยมของประชาชน” (popular king) การสถาปนาศาสนจักรของรัฐ และอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่เป็น “แก่นแกน” ของความเป็นไทย ล้วนแต่เลียนแบบตะวันตก หรือเลียนแบบอังกฤษยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้งการแต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี และการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง ก็ล้วนแต่เลียนแบบอังกฤษในสิ่งที่เขายกเลิกไปแล้ว เพราะปัจจุบันอังกฤษมีระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ประชาชนมีเสรีภาพวิจารณ์ตรวจสอบ กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ อังกฤษก็เลิกบังคับใช้มากว่าร้อยปีแล้ว เพลงสรรเสริญพระบารมีก็เลิกเปิดในโรงหนังไปนานมากแล้ว เพราะประชาชนประท้วงด้วยการไม่ลุกขึ้นยืน แต่ไทยยังตรงข้ามกับอังกฤษในแทบทุกด้านของความเป็นประชาธิปไตย 

ปัญหาอยู่ที่ระบบการปลูกฝัง “อัตลักษณ์ความเป็นไทย” ผ่านสถาบันศาสนาสถาบันการศึกษา ระบบราชการ สื่อมวลชน สถาบันทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้เราเชื่อฝังหัวว่า อัตลักษณ์ความเป็นไทยบนฐานความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์นั้น คือ “อัตลักษณ์ความเป็นไทยแท้” ที่สืบทอดมาแต่สมัยสุโขทัย (เป็นอย่างน้อย) แต่ที่แท้อัตลักษณ์ความเป็นไทยดังกล่าวเลียนแบบจากตะวันตก และเราก็อ้างความเป็นไทยที่เลียนแบบจากตะวันตก (ยุคเก่า) นั้น เพื่อต่อต้านการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกตลอดมา

หากนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงปัจจุบัน ก็กินเวลาเกือบ “หนึ่งศตวรรษ” แล้ว แต่เรายังมองการเสนอยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งขัดหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และมองข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นสถาบันกษัตริย์ที่ประชาชนวิจารณ์ตรวจสอบได้ว่า “ผิดกาละ-เทศะ” เหมือนที่เคยมองว่าคณะราษฎร “ชิงสุกก่อนห่าม” เมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว

แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” (ทั้งทางวัยและความคิด) พวกเขาไม่ได้มีปัญหากับ “อัตลักษณ์ความเป็นไทยแนวราบ” เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน ท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ความมีน้ำใจ อัธยาศัยยิ้มแย้มเป็นมิตร และอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือความหลากหลายที่ไม่ขัดกับความเป็นประชาธิปไตย แต่มีคำถามต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทยบนฐานความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ว่าเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่กดทับ “ความเป็นปัจเจกบุคคล” และ “ความเป็นพลเมืองเสรีและเสมอภาค” ในสังคมประชาธิปไตยหรือไม่

และขณะที่คนรุ่นใหม่ถูกวิจารณ์ว่า ไม่รู้กาละ-เทศะ ใจร้อน เรียกร้องในสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลา เราลืมมองความเป็นจริงไปหรือไม่ว่า อีกฝ่ายเร่งกระชับอำนาจทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม คุมกำลังทหาร ตำรวจ ศาล คุมระบบการศึกษา กระทั่งลบประวัติศาสตร์คณะราษฎร และอื่นๆ มากขึ้นๆ ตลอดเวลา พร้อมกับเน้นการปลูกฝังอัตลักษณ์ความเป็นไทยบนฐานความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ในทุกอณูของพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ส่วนบุคคลมากขึ้นโดยลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net